xs
xsm
sm
md
lg

“จุมพล เตชะไกรศรี” ผู้สร้างตำนานเพอร์คัสชั่นไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่ากันว่าหนุ่มมาดนิ่งที่ชื่อ ‘จุมพล เตชะไกรศรี’ ทายาทเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกชั้นนำของไทยคนนี้มิได้มีชีวิตเพียงด้านเดียว ขณะที่ภาคหนึ่งเขาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และกรรมการบริหาร บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) แต่อีกภาคหนึ่งเขาคือสมาชิกและหนึ่งใน 6 ผู้ก่อตั้งวง FANATIC PERCUSSION (เฟนาติค เพอร์คัสชั่น) ที่นอกจากจะเป็นวงเพอร์คัสชั่น(วงดนตรีที่บรรเลงเพลงด้วยเครื่องกระทบต่างๆ เช่น กลอง คีย์บอร์ด ฉาบ มาริมบ้า-ระนาดฝรั่ง ) วงแรกของเมืองไทยแล้ว ยังกลายเป็นต้นแบบให้กับวงเพอร์คัสชั่นในรุ่นต่อๆมาอีกด้วย

จากเด็กชายผู้หลงใหลเสียงกลอง


จากเด็กชายที่หลงใหลในเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะมาตั้งแต่เป็นนักเรียนประถมโรงเรียนอัสสัมชัญ จุมพลมุ่งมั่นฝึกฝนการตีกลองจนกระทั่งได้เป็นตัวจริงในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ด้วยฝีมือที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้เขามีโอกาสได้เข้าไปร่วมเล่นกับวงดุริยางค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะที่เขาเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น

ด้วยความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัวเขาจึงต้องเข้าศึกษาต่อในคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมสานต่อธุรกิจของตระกูล แต่จุมพลก็หาได้ละทิ้งความฝันในงานดนตรี เขายังคงฝึกฝนการตีกลองอย่างต่อเนื่อง และจุดพลิกผันที่ทำให้เขาก้าวเดินไปในท่วงทำนองของดนตรีเพอร์คัสชั่นอย่างเต็มตัวก็เกิดขึ้นเมื่อจุมพลได้สอบคัดเลือกเข้าร่วมเป็นสมาชิกวง Madison Scouts Drum and Bugle Corps วงเพอร์คัสชั่นชื่อดังของสหรัฐอเมริกา และตัดสินใจหยุดพักการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม เพื่อไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทัวร์คอนเสิร์ต และได้ฝึกปรือฝีมือกับ ัProf. Dr. Jeff Moore และอาจารย์ Brian Johnson นักดนตรีเพอร์คัสชั่นชื่อดัง

“ผมว่าเครื่องดนตรีเพอร์กัสชั่นมันมีเสน่ห์ตรงที่จังหวะ คือดนตรีมันมีอยู่ 2 ส่วนคือทำนองและจังหวะ เราอาจจะไม่ได้เล่นทำนองหรือเมโลดี้สวยงาม แต่เราคุมจังหวะของทั้งวงเอาไว้ คือเราเล่นจังหวะได้หลายแบบ จังหวะมันก็จะสนุก มันก็จะมีความโมเดิร์น ไม่ใช่ใช้เล่นเฉพาะในการสวนสนามอย่างเดียว แล้วมันท้าทายตรงที่ พอเราเล่นโน้ตอย่างนี้ได้เราก็อยากเล่นโน้ตที่มันยากขึ้นไปอีก อย่างตอนเด็กๆเราเห็นรุ่นพี่ที่เขาเล่นเก่งๆ เขาตีกลองคล่องๆ เราก็อยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง คือเรียกว่าอยากเป็นตัวจริง

ช่วงที่สอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกวง Madison Scouts Drum and Bugle Corps ผมพยายามอยู่ 2 ปีนะ ปีแรกเล่นดนตรีอัดใส่วิดีโอส่งไปก่อน แต่ไม่ผ่าน ปีที่ 2 ผมเลยแพ็คกระเป๋าบินไปสอบที่อเมริกาเลย เตรียมตัวไปค่อนข้างพร้อม กลุ่มที่ผมไปสอบเขาเรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดเพอร์คัสชั่น(กลุ่มเครื่องเคาะที่มีระดับเสียง) คือเป็นพวกระนาดฝรั่ง เซโลโฟน(Xylophone) ปรากฏว่าสอบติด จากนั้นก็ตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตไปกับวงของเขาเป็นเวลา 1 ปี ตระเวนไป 30 กว่ารัฐ แต่วงแบบนี้เขาไม่มีเงินเดือนให้เรานะ มีแต่อาหารกับที่พัก คือเป็นลักษณะขององค์กรที่ไม่แสวงกำไร เขาจะนำรายได้จากการขายบัตรมาเป็นค่าใช้จ่ายของสมาชิกในวง เป็นการทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อเปิดโอกาสให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้หาประสบการณ์และพัฒนาฝีมือ ซึ่งคนที่เคยร่วมงานกับวงนี้จะได้รับการยอมรับในแวดวงดนตรี” จุมพลเล่าถึงแรงผลักดันที่ทำให้เขาก้าวเดินบนเส้นทางสายดนตรี

ก่อตั้งวง FANATIC PERCUSSION

หลังจากการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนั้น จุมพลจึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานด้านดนตรีเพอร์คัสชั่นอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงานและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับดนตรีประเภทนี้ โดยเป็นได้เขาเดินสายบรรยายให้ความรู้แก่เยาวชนตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และแม้ว่าหลังจากเรียนจบบัญชีจุฬาฯและจุมพลต้องเข้าไปรับหน้าที่บริหารกิจการบริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ชายหนุ่มคนนี้ก็ยังมุ่งมั่นสานฝันงานดนตรีไปพร้อมๆกับการบริหารงานด้านธุรกิจ

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว จุมพลและเพื่อนๆมือเพอร์คัสชั่น อีก 5 คน อันประกอบด้วย ชาลี เพ็งจิ๋ว, สุนทร ยอดศรีทอง, อัตถ์สิทธิ์ วัฒนาวงศารัตน์, เอกพงษ์ เชิดธรรม และเกษม ทิพยเมธากุล ได้ร่วมกันก่อตั้ง วง FANATIC PERCUSSION (เฟนาติค เพอร์คัสชั่น) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และนำเสนอดนตรีเพอร์คัสชั่นในรูปแบบใหม่ๆที่เน้นความหลากหลายและแตกต่างจากการแสดงดนตรีทั่วไป เป็นการทำลายข้อจำกัดทางดนตรีชนิดที่คาดไม่ถึงทีเดียว

“ สมัยก่อนคนไทยยังรู้จักดนตรีเพอร์คัสชั่นน้อยมาก เพราะเครื่องดนตรีประเภทนี้มักเป็นเพียงเครื่องกำกับจังหวะให้แก่วงดนตรีต่างๆ เช่น วงร็อก วงออร์เคสตร้า ผมมองว่าถ้าเราอยากให้เพอร์คัสชั่นมันโดดเด่นขึ้นมาเราก็ต้องออกมาเป็นทำเป็นวงแบบนี้ แล้วที่จริงเครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่นเนี่ยมีเป็นพันชนิดนะ เพราะมันคือเครื่องกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เครื่องตี เครื่องเคาะ เครื่องเขย่า มันสามารถเอามารวมกันตั้งเป็นวงได้เลย อย่างจะทำเพลงแจ๊สเราก็สามารถเลือกได้ว่ากลองแบบไหนนำไปเล่นกับเครื่องดนตรีอะไรแล้วฟังออกมาเป็นแจ๊ส ผมกับเพื่อนๆที่มาร่วมกันทำวง FANATIC PERCUSSION ต่างก็เป็นนักดนตรีเพอร์คัสชั่นจากวงดนตรีหลากหลายแนว ทั้ง พ็อพ แจ๊ส คลาสสิก และซิมโฟนิค แบนด์ เราก็เอาความถนัดของแต่ละคนมารวมกันเพื่อสร้างงานดนตรีเพอร์คัสชั่นตามแบบฉบับของเราออกมา” จุมพล อธิบายถึงที่มาของการก่อตั้งวง FANATIC PERCUSSION

คอนเสิร์ต One Man’s Dream

กล่าวได้ว่าการแสดงคอนเสิร์ตของ FANATIC PERCUSSION ทั้ง 8 ครั้งที่ผ่านมานั้นล้วนได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างท่วมท้น ซึ่งนับเป็นการประกาศอิสรภาพทางดนตรีว่าทุกสิ่งในโลกใบนี้สามารถสร้างให้เกิดจังหวะและท่วงทำนองที่ไพเราะ ตื่นเต้น สนุกสนานและทรงพลังได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเร็วๆนี้ก็กำลังจะมีคอนเสิร์ตของพวกเขาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ซึ่งครั้งนี้จุมพลบอกว่าอาจจะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีสมาชิกของวง FANATIC PERCUSSION ร่วมแสดงเพียง 3 คน คือ เกษม ทิพยเมธากุล , เผ่าพันธุ์ อำนาจธรรม และตัวเขา (จุมพล เตชะไกรศรี) เนื่องจากเพื่อนๆอีก 3 คนติดภารกิจจึงไม่สามารถมาร่วมสร้างสรรค์งานดนตรีในครั้งนี้ได้ แต่จุมพลเชื่อว่าผู้ชมจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไปเพราะจะมีน้องๆนักดนตรีฝีมือจัดจ้านจากสมาคมวงดนตรีเยาวชนสยามมิตร ดรัม แอนด์ บิวเกอ คอร์ อีกกว่า 10 ชีวิต มาร่วมบรรเลงเพลงเพอร์คัสชั่นกันอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยสไตล์ดนตรีที่สนุกสาน เร้าใจ และทรงพลังด้วยเครื่องดนตรีกว่า 250 ชิ้น ทุกคนจะประทับใจไปกับความไพเราะของบทเพลงมากมายที่นำเสนอผ่านเครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่นหลากหลายสไตล์ทั้งคลาสสิค พ็อพ ลาติน แจ๊ส และฟังค์ ซึ่งนับเป็นการแสดงดนตรีที่หาชมได้ยากในเมืองไทย

“ ครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตครั้งที่ 9 ของเรา ซึ่งเราใช้ชื่อคอนเสิร์ตว่า One Man’s Dream คือมันเป็นงานเพลงที่เกิดมาจากความฝันของลูกผู้ชาย ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากการแสดงทุกครั้งที่ผ่านมาคือเราจะไม่พยายามสื่อแค่เรื่องดนตรีอย่างเดียว เพราะสิ่งหนึ่งที่นักดนตรีมักมองข้ามไปคือเราคิดว่าคนอื่นมักจะ enjoy กับดนตรีเหมือนเรา แต่จริงๆไม่ใช่ นักดนตรีอาจจะฟังดนตรีได้เป็นชั่วโมงโดยไม่เบื่อ แต่คนทั่วไปฟังแค่ 5-10 นาทีก็เบื่อแล้ว คอนเสิร์ตครั้งนี้เราจึงเน้นเรื่องการสื่อสาร เราจะดูอารมณ์ของเพลงแต่ละเพลงและดึงเอาคอนเซ็ปของเพลงนั้นๆออกมาแล้วใช้แสงและสีเป็นตัวช่วยสื่ออารมณ์ เพลงบางเพลงเราถ่ายทอดเรื่องของความเหงา บางเพลงถ่ายทอดเรื่องของความรัก บางเพลงเป็นความรู้สึกกดดัน บางเพลงสนุกสนานรื่นเริง แสงสีก็จะแตกต่างกัน บางเพลงเราอาจจะมีมัลติมีเดียประกอบ คนดูก็จินตนาการไปพร้อมกับเสียงดนตรี

โดยเราจะเปิดการแสดง 3 รอบด้วยกันคือ วันที่ 17, 18 และ 19 กันยายนนี้ เวลา 19.30 น. ที่หอประชุม AUA ซึ่งบัตรจะมีหลายราคาด้วยกัน ตั้งแต่ 300 – 500 -1,000 บาท ส่วนนักเรียน-นักศึกษาเราเก็บแค่ 150 บาท การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้เราจะนำรายได้ไปมอบให้แก่สมาคมวงดนตรีเยาวชนสยามมิตร ดรัม แอนด์ บิวเกอ คอร์ เพื่อนำไปใช้ในเพื่อการสร้างสรรค์กิจกรรมทางดนตรีเพื่อเป็นประโยชน์แก่เยาวชนที่ชอบดนตรีเพอร์คัสชั่นเหมือนพวกเรา ” จุมพล กล่าวตบท้ายถึงจุดมุ่งหมายในการการสร้างงานงานดนตรีเพอร์คัสชั่นครั้งล่าสุดของเขาด้วยดวงตาเป็นประกายและหัวใจที่อิ่มเอม

* * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน


กำลังโหลดความคิดเห็น