xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการซื้อสิทธิ-ขายเสียงในภาคอีสาน (1)

เผยแพร่:   โดย: มงคลเลิศ ด่านธานินทร์

ผมได้ยินทัศนะของคนกรุงเทพฯ เรื่องการซื้อสิทธิ-ขายเสียงทางการเมืองในแทบทุกระดับ (อบต., อบท., อบจ., ส.ส., ส.ว) ในภาคอีสานมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะของนักวิชาการเมืองกรุงซึ่งค่อนข้างจะเป็นที่เชื่อถือของคนจำนวนมาก

หลังจากการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 และปี 2549 เป็นต้นมา ผมไม่ได้เชื่อทัศนะในการมองปัญหาดังกล่าวของนักวิชาการอย่างมั่นเหมาะว่า ต้นเหตุของปัญหาก็เพราะคนในภาคอีสานส่วนใหญ่ยากจน หรือบ้างก็ว่าเมื่อชาวบ้านรับเงินจากนักเลือกตั้งแล้วก็จำใจต้องลงคะแนนเสียงให้ ไม่เช่นนั้นจะบาปเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา

ที่ผมอ้างการเลือกตั้ง ส.ว. 2 ครั้งนั้นก็เพราะผมลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดขอนแก่นด้วย ผมใช้เวลาคลุกคลีกับแกนนำเกษตรกรเป็นเวลาหลายปีในสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทั้งได้ลงพื้นที่ทั่วจังหวัดขอนแก่นอย่างทั่วถึงเป็นเวลานานหนึ่งปีก่อนจะถึงวันลงคะแนนเสียง ในการนี้ผมไม่เชื่อข้อสรุปว่าเพราะชาวบ้านกลัวบาปจึงลงคะแนนให้กับนักเลือกตั้งที่จ่ายเงินให้พวกเขา ผมรู้อย่างแน่นอนว่าชาวบ้านรับเงินจากนักเลือกตั้งหลายคน แต่โดยที่หน่วยเลือกตั้งของ ส.ว.กินพื้นที่ของทั้งจังหวัด มีผู้สมัครหลายคน แต่ผู้ลงคะแนนแต่ละคนมีสิทธิเลือกได้เพียงหนึ่งหมายเลขเท่านั้น ดังนั้นคำอธิบายที่ว่าเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่กลัวบาปจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นที่ว่าชาวบ้านขายเสียงเพราะความยากจน ผมเองไม่อยากจะเชื่อ ในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 นักการเมืองต้องระมัดระวังตัวมาก เพราะเริ่มใช้กฎหมายเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งแรก อีกทั้ง กกต. ก็ฟิตอย่างหนัก ดังนั้นต่างคนต่างไม่ค่อยกล้าใช้เงินซื้อเสียง แต่ก็นั่นแหละเมื่อใกล้วันลงคะแนนต่างก็อยากได้คะแนนจึงแอบซื้อเสียงๆ ระหว่าง 20-50 บาท พอถึงคืน “หมาหอน” มีการแจกผงชูรสซองเล็กๆ (ซองละ 10 บาท) เพื่อแลกกับ 1 คะแนน ข้อมูลนี้ผมยืนยันว่าเป็นจริง ครั้นถึงปีเลือกตั้ง 2549 มีการแจกเงินชนิดปิดหมู่บ้านกันเลย เงินแพร่สะพัดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เงินที่ชาวบ้านได้แก้ความยากจนได้หรือไม่ ภาพที่ผมเห็นทำให้ผมสงสัยจริงๆ คือในคืนหมาหอนหรือก่อนหน้านั้นสัก 1-2 คืน พอได้รับเงินพวกผู้ชายส่วนมากพากันล้อมวงดื่มเหล้าผสมลิโพวิตัน หรือเอ็ม – 100 กันอย่างสนุกสนาน หรือถ้าเผอิญมีมวยตู้เขาก็ใช้เงินที่ได้พนันมวยทันที ส่วนแม่บ้านนั้นอาจมีการเก็บเงินไว้บ้าง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำวันของครอบครัวแล้วก็ถือว่าเงินที่ได้น้อยนิด ดังนั้นจะเชื่อว่าเงินที่ได้ใช้แก้ความยากจนได้หรือ

ที่ผมเขียนอย่างนี้ใช่ว่าผมจะดูหมิ่นพี่น้องชาวอีสานก็หาไม่ หากแต่ต้องการจะเขียนเชิงวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจริงว่าอะไรเป็นอะไร ผมสงสัยจริงๆ ว่ากระบวนการซื้อสิทธิ- ขายเสียงที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะมีอิทธิพลเปลี่ยนทัศนคติโลกทัศน์ และระบบคุณค่าของพี่น้องชาวอีสานได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

จากการอ่านหนังสือเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาบ้าง ทำให้ผมหวนคิดถึงระบบวรรณะในประเทศอินเดียซึ่งจนถึงปัจจุบันในความเป็นจริงมีอยู่ 4 วรรณะ โดยเรียงอำนาจทางสังคมจากสูงไปหาต่ำคือ พราหมณ์ – กษัตริย์ – แพศย์ – ศูทร ส่วนคนจัณฑาลนั้นในสังคมฮินดูถือว่าไม่มีวรรณะ เป็นคนก็จริงแต่นับว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าอะไรทั้งสิ้น

ระบบวรรณะเป็นระบบปิด คือ คนวรรณะอื่นไม่อาจข้ามวรรณะเข้ามาปะปนได้ พราหมณาจารย์ในอดีตคิดค้นกลไกทางสังคมให้คนในวรรณะใดต้องอยู่ในวรรณะนั้นตลอดไปหลายร้อยหลายพันปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อความสงบและมั่นคงของสังคม ดังนั้นคนแต่ละวรรณะจึงต้องนึกถึงอำนาจ ศักดิ์ศรี หรือความต่ำต้อยของตนเอง

คนวรรณะต่ำ เช่น พวกศูทรหรือพวกจัณฑาลซึ่งไม่มีวรรณะเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อย่างไม่มีอะไรทำให้เสื่อมคลายได้ พราหมณาจารย์สอนว่าพวกเขาถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิพากษาในอดีตชาติว่าเป็นผู้มีกรรมจนไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีอื่นใด หากแต่ต้องอดทนใช้กรรมชาติแล้วชาติเล่าอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้รับรางวัลตอบแทน โดยการขยับสถานะทางวรรณะให้สูงขึ้นในชาติต่อๆ ไป ด้วยเหตุนี้คนยากจนและคนจัณฑาลจำนวนมหาศาลจึงหันหลังให้กับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ เพราะเชื่อว่ารางวัลตอบแทนแก่ชีวิตในชาติหน้าย่อมสำคัญกว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองอย่างแน่นอน (เอกสารเรื่องนี้หาอ่านได้จาก Barrington Moore, Jr. Social Origins of Dictatorship and Democracy, 1972 )

ย้อนกลับมาเรื่องของภาคอีสาน เพื่อเปรียบเทียบกันบ้าง หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขียนโดย ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว อดีตรองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียชีวิตหลายปีแล้ว) เขาเขียนขึ้นจากผลการตรวจสอบข้อมูลจำนวนมากในภาคอีสาน พบว่าคนภาคนี้เชื่อกันมานานแสนนานแล้ว ในเรื่องโครงสร้างอำนาจรูปลักษณ์สามเหลี่ยมปลายแหลมตั้ง โดยที่ยอดแหลมนั้นเป็นสถานะของผู้มีบุญบารมี มีอำนาจในการปกครองสังคม สถานะรองลงมาได้แก่ผู้อุดมด้วยทรัพย์สมบัติ จนกระทั่งผู้มีสถานะต่ำสุดในสังคมอยู่ที่ฐานของสามเหลี่ยม เขาเหล่านี้มีจำนวนมากเป็นผู้ใช้แรงงานทำมาหากิน เป็นผู้รับใช้ของคนสถานะที่สูงๆ ขึ้นไป

ดังนั้นถ้าผู้จงรักภักดีได้รับเงิน หรือทรัพย์อื่นใดจากผู้มีบุญบารมี ถือว่าเขาได้รับความเมตตาจากผู้มีอำนาจแล้ว ทั้งนี้โดยไม่แยกว่าผู้มีเงินนั้นเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการ (เอกสารเล่มนี้ ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว เขียนขึ้นในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของสมาคมชาวอีสาน, 2534 ,643 หน้า)

ข้อมูลที่ผมอ้างนี้เป็นผลจากการวิจัยของผู้เขียนชาวอีสาน แต่นักการเมือง ไม่ค่อยรู้เรื่องหรือรู้แต่นักการเมืองเอง อาจเห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์เพราะความเชื่อนั้น ส่วนพี่น้องภาคอีสานรับเงินจากนักการเมือง เพราะเขาเชื่อว่าคนพวกนี้มีบารมีและมีทรัพย์มากมาย จึงถือเป็นบุญของคนยากจนเช่นเขาพึงจะได้รับ ผมหวังว่าข้อเขียนนี้จะมีปฏิกิริยาทั้งด้านลบและด้านบวกจากผู้อ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น