เอ่ยชื่อ “โรงพยาบาลศิริราช” ขึ้นมา เชื่อแน่ว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะว่าโรงพยาบาลศิริราชได้ชื่อว่าเป็น โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อทำการรักษาประชาชนด้วยการแพทย์แผนใหม่ กล่าวได้ว่าตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันนี้โรงพยาบาลศิริราชได้ทำหน้าที่ของการเป็นโรงพยาบาลที่ดี ที่ช่วยรักษาชีวิตและความเจ็บป่วยของคนไทยมาเป็นอย่างดี
แต่ใครเลยจะล่วงรู้ว่านอกจากการที่โรงพยาบาลศิริราชจะเป็นสถานที่ประกอบการรักษาโรคแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย หลายคนอาจจะงงปนความสงสัยว่าโรงพยาบาลจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างไร?? เรื่องนี้เรามีคำตอบมาให้ ว่าที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้นั้น ก็เพราะว่าที่นี่มี “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจในเรื่องราวทางด้านการแพทย์ของประเทศไทย ที่น้อยคนจะรู้จักและได้รับรู้ ซึ่งในวันนี้เราจะขอพาทุกคนไปเที่ยวและสัมผัสกับความเรื่องราวทางด้านการแพทย์ ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชกัน
*ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช
แต่ก่อนที่เราจะออกเที่ยวให้ทั่วพิพิธภัณฑ์ฯ กันนั้น มาทำความรู้จักและทราบถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชกันสักนิดก่อนจะเป็นการดี สุรศักดิ์ สุวุฒโฑ นักวิทยาศาสตร์ภาควิชาปรสิตวิทยา และเป็นภัณฑรักษ์ของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ได้บอกถึงประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชให้ได้รับรู้กันว่า
พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราชนั้น ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาจาก การเริ่มมาจากการเก็บและจัดแสดงสิ่งของของแต่ละภาควิชามาเป็นเวลานานมาก เพื่อนำมาจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ โดยแต่ละภาควิชาก็มีการจัดแสดงเป็นของตนเอง โดยในปีพ.ศ.2525 มีพิพิธภัณฑ์ที่เปิดรวมกว่า 13 แห่ง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเหล่านั้นได้เหลืออยู่เพียง 6 แห่งเท่านั้น ที่ในปัจจุบันนี้ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวและเยี่ยมชมกัน คือ 1. พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส 2. พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน 3.พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์ 4. พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา ทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ภายในตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 และ 5. พิพิธภัณฑ์ ก่อนประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการ สุด แสงวิเชียร จะตั้งอยู่ภายในตึกกายวิภาคศาสตร์ ชั้น 1 ท้ายสุดพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน ตั้งอยู่ภายในตึกกายวิภาคศาสตร์ ชั้น 3
“เมื่อก่อนโรงพยาบาลศิริราชจะมีพิพิธภัณฑ์เยอะมากๆ แต่ละหน่วยงานก็มีมิวเซียมกันไป ปรากฎว่าทำไปทำมามิวเซียมแต่ละมิวเซียมก็มีพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน มีการบริหารจัดการที่ไม่เท่ากัน เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ และเมื่อศิริราชได้พื้นที่บริเวณหัวรถไฟจากการรถไฟยกพื้นที่ให้ 33 ไร่ ซึ่งตรงนั้นจะมีการสร้างมิวเซียมการแพทย์ที่ดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ก็เลยเกิดทีมมิวเซียมขึ้นมา เพื่อที่จะเก็บคอเล็คชั่นของศิริราชที่มันไม่ซุกอยู่ก็ตามมุมอับ มุมจุดบอดของศิริราช และดึงขึ้นมาจัดรวบรวมประวัติ รวบรวมเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้มาเที่ยวชมและได้ศึกษาหาความรู้กัน” สุรศักดิ์ สุวุฒโท กล่าว
* เที่ยวพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชอย่างสนุก พร้อมได้ความรู้ทางการแพทย์
และเมื่อได้รับรู้ถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ กันแล้ว ก็ได้เวลาที่จะขอพาทุกคนไปเที่ยวชมและสัมผัสกับเรื่องราวทางด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ อันน่าตื่นตาตื่นใจมากมายจากทั้ง 6 พิพิธภัณฑ์ฯ โดยเริ่มต้นการเที่ยวพิพิธภัณฑ์การแพยท์ศิริราชกันที่ ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 โดยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส เป็นที่แรก สำหรับพิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิสนี้จัดตั้งขึ้นโดย ศ.นพ.เอ.จี.เอลลิส ซึ่งเป็นพยาธิแพทย์คนแรกของไทย ได้ทำการรวบรวมอวัยวะที่เกิดพยาธิสภาพหรือเป็นโรคต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบการสอนวิชาพยาธิวิทยา และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น
แต่ว่า ณ ตอนนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำการเก็บส่วนจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพยาธิวิทยาไว้ในคลังก่อนชั่วคราว และได้ทำการปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นนิทรรศการ " พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ " เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวงในปีที่ทรงครองราชครบ 60 ปี ซึ่งถือว่าเป็นที่เดียวในเมืองไทยที่กล่าวถึงในหลวงกับด้านเรื่องการแพทย์ เมื่อเดินเข้ามาชมภายในห้องได้แบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรกจะได้พบกับเรื่องราวของในหลวงที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับการต่อสู้โรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นโรควัณโรค เรื้อน โปลิโอ อหิวา และคอพอก มีเครื่องปอดเหล็ก ที่ในหลวงทรงพระราชทานให้แก่รพ.ศิริราช เพื่อนำไปรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอให้ได้ชม
โซนที่สอง เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงมีต่อวงการแพทย์และวงการสาธารณสุข พระองค์ท่านสร้างทุนอานันทมหิดล ส่งคนเรียนเก่งไปเรียนศึกษาต่อทางด้านแพทย์ โซนที่สามเป็นเรื่องราวของในหลวงกับศิริราช อาทิ ในหลวงทรงเสด็จเปิดตึกต่างๆ ที่ศิริราช เสด็จมาทรงดนตรีที่ศิริราช แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในศิริราช ปี2549 ทรงมารักษาพระอาการป่วยที่ศิริราช และยังมีอีกหนึ่งโซนที่จัดแสดงเรื่องราวของในหลวงกับพระราชกรณียากิจภาพรวมต่างๆ เป็นการนำเสนอเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษล้วนๆ เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวชมได้รับรู้
หลังจากได้ซาบซึ้งกับพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงมีต่อการแพทย์ไทยแล้ว ก็มาชม พิพิธภัณฑ์ นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน กันต่อ พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ฯ แห่งนี้ มี ศ.นพ.สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานด้านนิติเวชศาสตร์ของศิริราช เป็นผู้ก่อตั้ง ภายในพิพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ฯ นี้ ทุกคนจะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการตายผิดธรรมชาติของมนุษย์ โดยมีจุดจัดแสดงที่น่าสนใจมากมาย อย่างนิทรรศการชุด "ศิริราชกับสึนามิ" ที่จัดแสดงให้เห็นถึงบทบาทของแพทย์ศิริราชในการรักษาผู้ประสบภัยสึนามิ และขั้นตอนวิธีการชันสูตรศพโดยใช้หลักฐานทางนิติเวชศาสตร์และดีเอ็นเอ ซึ่งจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจและได้ความรู้ไปด้วยในตัว
และไฮไลท์ที่เป็นจุดเด่นในพิพิธภัณฑ์นี้ที่ถ้ามาแล้วจะพลาดชมไม่ได้นั่นก็คือ ศพซีอุย แซ่ตั้ง ที่เป็นคดีดังมนุษย์กินคน และมีเสื้อผ้าเปื้อนเลือดของคดีฆาตกรรมพยาบาลสาวนวลฉวีจัดแสดงไว้ด้วย นอกจากนั้นก็มีการจัดแสดงกะโหลกศรีษะจำนวนมากที่ได้จากการทดลองยิงเพื่อการศึกษาทิศทางบาดแผลในระยะต่างๆ รวมถึงมีเครื่องมือบางส่วนที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ให้ได้ชมกัน
และภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ยังมีอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ซ่อนตัวอยู่ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดตั้งโดยศ.นพ. อวย เกตุสิงห์ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยไว้มากมายให้ได้ศึกษากัน ตั้งแต่ประวัติและวิวัฒนาการการแพทย์ของไทย มีการจำลองร้านขายยาไทยสมัยโบราณให้ได้ชม มีตัวอย่างสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ อุปกรณ์ในการปรุงยาไทย มีภาพจำลองการรักษาโรคเบื้องต้นด้วยท่าฤาษีดัดตน มีหุ่นจำลองการคลอดลูกและการอยู่ไฟของคนสมัยก่อนให้ได้ชมกันด้วย เรียกว่ามาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะได้รับรู้เรื่องการแพทย์แผนไทยประดับสมองกัน
จากนั้นก็เดินมาที่อีกห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน ห้องนี้เป็นส่วนของ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดย ศ.นพ. วิจิตร ไชยพร ที่ได้ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งแสดงจากผู้ป่วย จากการตรวจศพ ฯลฯ ไว้ใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาหลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ และก็ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเที่ยวชมด้วย เพื่อเป็นแหล่งความรู้ที่ต้องการ ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตราย และโทษของการบริโภคแบบผิดๆ
เมื่อเข้ามาเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์ปรสิต จะได้พบกับการจัดแสดงที่แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ที่น่าสนใจ มีตั้งแต่เรื่องของพยาธิตัวแบน อย่างพยาธิใบไม้ตับที่คนไทยเป็นกันเยอะจากการกินปลาน้ำจืดดิบๆ พยาธิตัวกลมที่เป็นเชื้อก่อให้เกิดโรคเท้าช้าง มีอัณฑะของผู้ป่วยโรคพยาธิเท้าช้างหนักถึง 35 กก.ให้ได้ชม และมีพยาธิของจริงให้ได้ดูด้วย มีการจัดแสดงเริ่องไรฝุ่นที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในคน มีการจัดแสดงสัตว์มีพิษต่างๆ อย่างแมงมุมพิษ ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ ไว้ให้ได้ศึกษาหาความรู้และรู้จักวิธีการป้องกันภัยจากสัตว์ร้ายพวกนี้
หลังจากที่เที่ยวจนครบทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ที่ตึกอดุลยเดชวิกรมกันแล้ว เราก็เดินทางมาที่ตึกกายวิภาคศาสตร์กันต่อ ซึ่งที่นี่มี 2 พิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจให้มาเที่ยวชม คือ พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยศ.นพ.สุด แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีเรื่องราวที่ชวนให้ศึกษาหาความรู้มากมาย อาทิ มีการจัดแสดงเรื่องราววิวัฒนาการของมนุษย์ มีแผนภูมิวิวัฒนาการของสัตว์กลุ่มไปรเมทตั้งแต่ 70 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน มีหุ่นจำลองซากชิ้นส่วนโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการขึ้นเป็นมนุษย์ในระยะต่างๆ มีเครื่องมือหินอายุเก่าแก่ที่หาชมได้ยาก และยังมีพวกเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีแบบต่างๆ เรียกว่ามาที่พิพิธภัณฑ์นี้เหมือนกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปสู่โลกก่อนประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ ที่น้อยคนจะรู้ แต่ถ้ามาที่นี่ได้รู้แน่
และพิพิธภัณฑ์สุดท้ายที่จะพาไปเที่ยวชมกันนั้นคือ พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดย ศ.เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน ซึ่งเป็นผู้เข้ามาปรับปรุงการศึกษาแพทย์เมื่อ พ.ศ. 2470 เมื่อมาเที่ยวในพิพิธภัณฑ์นี้จะได้พบกับอาจารย์ใหญ่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจำนวนมาก ที่ได้จัดแสดงไว้ให้ศึกษาถึงระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ครบทุกระบบ ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์มีส่วนจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ห้อง
ห้องแรกเป็นการจัดแสดงสิ่งแสดงทางกายวิภาคทั่วไป อาทิ มีการจัดแสดงการเจริญเติบโตตามอายุ ของทารกในครรภ์ขนาดต่างๆ จนถึงระยะคลอด มีทารกแฝดติดกัน มีการจัดแสดงอวัยวะตามระบบต่างๆ มีร่างกายมนุษย์ตัดตามขวางตลอดตัวให้ได้ชม และมีสิ่งจัดแสดงที่สำคัญอย่าง เส้นประสาททั้งร่างกาย หลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย ที่ถือว่าเป็นสิ่งแสดงทางกายวิภาคที่มีอยู่ชิ้นเดียวในโลกที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เท่านั้น และห้องที่ 2 เป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องกระดูกทุกชิ้นของร่างกายมนุษย์ และมีโครงกระดูกมนุษย์ที่ผิดปกติให้ได้ชม และยังมีการจัดแสดงโครงกระดูกของบุคคลในวงการแพทย์ท่านต่างๆ ไว้ในห้องนี้ด้วย
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” ที่มีถึง 6 พิพิธภัณฑ์ ซึ่งแต่ละพิพิธภัณฑ์นั้นต่างก็มีความน่าสนใจให้มาเที่ยวชม ซึ่งนอกจากจะได้รับความสนุกแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวความรู้ทางด้านการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้มาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก เรียกว่าเป็นขุมคลังแห่งปัญญาทางด้านการแพทย์ไทย
สำหรับผู้ที่สนใจมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชก็สามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ตามสะดวก โดยสามารถมาเดินเที่ยวชมได้เอง แต่ถ้าใครมาชมแล้วเกิดสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ ในแต่ละพิพิธภัณฑ์ก็จะมีภัณฑรักษ์ที่มีความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง ที่จะคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยความยินดี
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนิสิตแพทย์ศิริราช ที่มีความตั้งใจดีในการที่จะมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์คอยนำชมให้ด้วย โดยนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “ชมรมพิพิธภัณฑ์ศิริราช” ขึ้นมา นิสิตแพทย์เหล่านี้นั้นมีความรักและความตั้งใจที่ดีเยี่ยม ที่ต้องการจะมาเป็นไกด์คอยให้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นความรู้และความน่าสนใจต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ศิริราช ให้แก่ผู้ที่ได้มาเที่ยวชมได้เกิดการรับรู้ที่มากขึ้นกว่าการมาเดินเที่ยวชมเอง ถือว่าเป็นกลุ่มนิสิตแพทย์ที่มีความรักต่อศิริราช และรักต่อพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ที่สมควรยิ่งแก่การปรบมือให้กำลังใจในความตั้งใจจริงของนิสิตแพทย์เหล่านี้
*************
“พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดทำการ วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9.00 - 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 40 บาท เด็กและนักเรียนในเครื่องแบบเข้าชมฟรี
ทั้งนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อปรับปรุงตึกกายวิภาคศาสตร์ เป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช บริจาคทุก 2,000 บาท จะได้รับ หนังสือที่ระลึก 120 ชิ้นเอกของศิริราช จำนวน 1 เล่ม ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2419-7000 ต่อ 6363, 6440
***********