“สุนัข” หรือ“หมา” เป็นสัตว์เลี้ยงที่คนเรานิยมเลี้ยงมาไว้เฝ้าบ้าน หรือเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนผู้น่ารักและแสนจะซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ แต่หากวันใดยามที่เจ้าสุนัขที่เลี้ยงไว้นั้นได้ตายลงไป เชื่อว่าผู้เลี้ยงส่วนใหญ่นอกจากจะเศร้าโศกเสียใจแล้ว ยังทำอะไรไม่ได้นอกจากจะนำไปฝังหรือเผาเท่านั้น
แต่ว่าจากนี้ต่อไปหากสุนัขที่เลี้ยงไว้ได้ตายลง ขอบอกว่าร่างกายมันยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ได้อีก โดยเฉพาะโลกแห่งการศึกษาของเหล่านิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำซากสุนัขที่เสียชีวิต มาเป็น “อาจารย์ใหญ่สุนัข” ให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ศึกษากัน
*จากสุนัขตาย กลายมาเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัข
รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ เหลี่ยมศิริเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่คิดริเริ่มให้มีโครงการรับบริจาคสุนัขเสียชีวิต เพื่อนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่สอนให้แก่นิสิตสัตวแพทย์กล่าวว่า โครงการรับบริจาคสุนัขเสียชีวิตนี้ เริ่มมีการรับบริจาคมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ซึ่งการรับบริจาคอาจารย์ใหญ่สุนัขนั้น ไม่มีความแตกต่างไปจากการรับบริจาคอาจารย์ใหญ่ที่เป็นคน ที่เมื่อคนนั้นได้เสียชีวิตลง และได้แจ้งความจำนงก่อนเสียชีวิตว่ายินดีมอบร่างกายให้แก่นิสิตแพทย์ได้นำไปเรียน เพียงแต่ว่าอาจารย์ใหญ่สุนัขนั้น เป็นการที่เจ้าของสุนัขยินดีมอบร่างของสุนัขของตนที่เสียชีวิตลง เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาแก่นิสิตสัตวแพทย์ที่ต้องเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่จะเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกาย ที่จะต้องใช้สัตว์มาเป็นอาจารย์ใหญ่ในการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน
“ในโรงเรียนแพทย์นั้นจะใช้ศพอาจารย์ใหญ่ ที่บริจาคร่างกายไว้ก่อนเสียชีวิต พอเสียชีวิตแล้วจะนำร่างไปผ่านกระบวนการฉีดน้ำยารักษาสภาพและผ่านการแช่ในน้ำยา จึงเอาขึ้นมาให้นิสิตแพทย์เรียน ทีนี้ในทางสัตวแพทย์เราก็คิดว่าใช้ได้เหมือนกัน ก็เลยมองว่าจากนี้ไปเราจะไม่ใช้สัตว์เป็น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างหนึ่ง และเป็นการทุกข์ทรมานต่อสัตว์ด้วย แม้ว่าจะเป็นสุนัขจรจัดหรืออะไรก็ตาม”
“สมัยก่อนนั้นเราใช้ม้า ก็จะมีคนบริจาคมาจากที่ต่างๆ ที่เขาส่งมาให้ ทีนี้ม้าตัวใหญ่ เวลาเรียนนี่ลำบากมากเลย ต่อมาเลยใช้สุนัขเป็นสัตว์ต้นแบบ ซึ่งสุนัขในตอนแรกเราได้มาจากสุนัขจรจัด ต่อมาเราเห็นว่า ขณะนี้มีเรื่องจรรยาบรรณในการใช้สัตว์ทดลอง ทำให้เราก็ไม่อยากฆ่าสัตว์เพื่อเอามาเรียน ก็เลยคิดว่าการเปิดรับบริจาคให้เจ้าของสุนัขบริจาคซากสุนัขมาให้จะดีกว่า จึงมีการประชาสัมพันธ์ไปที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเชิญชวนให้เจ้าของสุนัขบริจาคซากสุนัข เพื่อจะใช้เป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขในการศึกษาของนิสิตสัตวแพทย์ต่อไป” รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ บอกถึงที่มาที่ไปของอาจารย์ใหญ่สุนัขให้ฟัง
ถึงตรงนี้คนเลี้ยงสุนัขหลายคนๆ ที่มีใจอันเป็นบุญเป็นกุศล คงกำลังมีความคิดว่าหากสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงไว้เกิดเสียชีวิตลง ก็คงอยากจะนำสุนัขของตนมาบริจาคบ้าง แต่ว่าการที่จะนำสุนัขที่เสียชีวิตมาบริจาคเพื่อให้เป็นอาจารย์ใหญ่นั้น ก็ไม่ใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะมาเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ เพราะว่าสำหรับโครงการรับบริจาคสุนัขเสียชีวิต เพื่อนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขสำหรับสอนนิสิตสัตวแพทย์นั้น ต้องบอกว่าในระยะแรกนี้ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเปิดรับบริจาคซากสุนัขที่เสียชีวิตลง จากทางโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพียงเท่านั้น อีกทั้งสุนัขที่จะนำมาบริจาคได้นั้น ยังต้องผ่านข้อหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้แล้วด้วย
* กว่าจะมาเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัข
รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ ได้บอกถึงหลักเกณฑ์ของสุนัขที่จะนำมาบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขได้ ว่าต้องมีข้อกำหนดอยู่หลายข้อด้วยกัน โดยลักษณะซากสุนัขที่สามารถบริจาคได้นั้น 1. สุนัขต้องเสียชีวิตแล้ว ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพราะถ้านานกว่านั้นอวัยวะภายในจะเสียหาย ใช้ศึกษาไม่ได้ (และนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส) 2. สุนัขต้องไม่ได้เสียชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคเลปโตสไปโรซีส หรือมีเนื้องอกที่ทำลายอวัยวะต่างๆ เป็นต้น 3. สุนัขต้องไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ทำให้อวัยวะภายในฉีกขาด กระดูกแตก ผ่าตัดอวัยวะภายในออก เช่น มดลูก หรือได้รับการผ่าซาก เนื่องจากไม่สามารถฉีดน้ำยารักษาซากได้ และ4. สุนัขที่จะบริจาคได้ต้องมีน้ำหนักไม่ควรต่ำกว่า 7 กิโลกรัม หรือไม่ควรหนักกว่า 40 กิโลกรัม เพราะไม่เหมาะแก่การนำมาศึกษา
“บางทีมีคนที่ไม่เข้าใจ ก็ไปเอาสุนัขกลางถนนที่นอนตายมาให้เรา เราก็เลยบอกว่าไม่ได้ๆ ในระยะแรกนี้ เรารับเฉพาะสุนัขที่มารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีประวัติอยู่ที่นี่แล้วเสียชีวิต เพราะว่าไม่อย่างนั้นเราจะตรวจเช็คไม่ได้ มันจะเป็นอันตรายกับนิสิตที่เรียนได้ เราต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก จึงต้องคอยบอกไป เพราะไม่อย่างนั้นคนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ นึกว่าตายที่ไหนก็อุ้มมาได้เลย มันจะใช้ไม่ได้” รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ กล่าวพร้อมอธิบายต่อว่า หากว่าเมื่อมีสุนัขที่มารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเกิดเสียชีวิตขึ้นมา และทางเจ้าของทราบว่ามีการรับบริจาค ซึ่งสุนัขนั้นก็ตรงกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทางโรงพยาบาลสัตว์ฯ ก็จะมีเอกสารให้กับเจ้าของกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งแบบฟอร์มนี้เป็นการแจ้งความจำนงว่า เจ้าของสุนัขมีความประสงค์ที่จะต้องการบริจาคสุนัขให้ แล้วก็จะต้องมีหมอเจ้าของไข้เซ็นชื่อกำกับด้วย หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนต่างๆ ที่ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์จะนำซากสุนัขที่ได้รับบริจาคนั้น มาทำให้เป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขที่จะนำไปให้นิสิตสัตวแพทย์ได้เรียนกันต่อไป
“เมื่อทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แจ้งมาว่ามีคนบริจาคสุนัข เราก็จะบอกให้เจ้าหน้าที่ของเราไปรับสุนัขมาทันที แต่ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ทางโรงพยาบาลสัตว์ เขาจะเก็บรักษาสุนัขไว้ให้ก่อนในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4 องศา ซึ่งเราก็จะแนะนำว่า ให้ช่วยเอาสุนัขใส่ในถุงและยืดขาให้ตรง เพราะว่าเดี่ยวเราเอามาฉีดน้ำยาจะได้ไม่ยาก”
“พอหลังจากที่ได้สุนัขมาแล้ว เราก็จะเปิดเส้นเลือดที่คอ แล้วก็จะฉีดน้ำยารักษาสภาพเข้าไป ซึ่งจะมีเครื่องปั้มช่วยในการฉีดน้ำยา สำหรับน้ำยาที่ฉีดเข้าไปก็จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลิน กรีเซอรีน คาร์บอลิคแอซิค และแอลกฮอลล์ ทั้งหมดนี้จะถูกฉีดเข้าไปให้ทั่วตัวสุนัข สุนัขจะได้ไม่เน่า วันรุ่งขึ้นก็เอาน้ำยางดิบผสมสี แล้วฉีดตามเข้าไปที่เส้นเลือดใหญ่อีกที น้ำยางผสมสีมันก็จะเข้าไปทุกหนทุกแห่งของเส้นเลือด เพราะว่าเวลาที่นิสิตมาเปิดเรียนดู ก็จะรู้ได้ว่าเส้นเลือดเส้นนี้ มันไปเลี้ยงอะไร แตกแขนงไปที่ใดบ้าง จากนั้นนำสุนัขไปดองน้ำยา ในน้ำยานั้นก็ต้องมีฟอร์มาลิน กลีเซอรีน และมีคาร์บอลิคแอซิค ป้องกันเชื้อราด้วย ซึ่งวิธีการทำแบบนี้ เป็นแบบเดียวกับศพอาจารย์ใหญ่ที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ทุกอย่าง” รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ อธิบายให้เห็นภาพ พร้อมกับพาไปดูการเรียนการสอนของนิสิตสัตวแพทย์ที่กำลังเรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัขอยู่
* เรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่สุนัข อย่างคุ้มค่า และให้เกียรติ
รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่นำเอาสุนัขมาเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษานั้น นิสิตสัตวแพทย์ที่ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข จะให้ความเคารพและให้เกียรติว่าเป็นอาจารย์ที่มาให้ความรู้ ไม่แตกต่างไปจากนิสิตแพทย์ที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ที่เป็นคน
“ในความรู้สึกของคนที่เรียนกับศพอาจารย์ใหญ่ที่เป็นคน ก็จะให้ความเคารพในระดับหนึ่ง เพราะว่าถือว่าเป็นคนด้วยกัน แต่ในสัตว์นั้นถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง แต่เราก็ให้เกียรติเขา ว่าเขาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเรา เราก็ดูแลเขาอย่างดี ยิ่งเป็นสัตว์ที่เจ้าของเขารัก เขาให้เราแบบนี้แสดงว่า เขายอมให้เอามาใช้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราก็จะบอกกับนิสิตตลอดเลยว่า เมื่อได้สุนัขมาตัวหนึ่งแล้ว เจ้าของเขามาบริจาคให้แล้ว เรียนต้องเรียนให้เต็มที่ เรียนให้รู้หมดทุกอย่าง เพราะว่าอยู่ดีๆ เราจะไปเที่ยวจับสุนัขที่ไหนมาผ่าดูอย่างนี้ไม่ได้” รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ บอกให้ได้รับรู้
และได้อธิบายต่อว่านิสิตสัตวแพทย์ที่จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัขนั้น จะเป็นนิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 1 ซึ่งจะได้เรียนในเทอมที่ 2 และพอขึ้นชั้นปีที่ 2 ก็จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข ทั้งเทอม 1 และเทอม 2 เรียกว่านิสิตสัตวแพทย์จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัขทั้งหมด 3 เทอม ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการเรียนทางกายวิภาคศาสตร์ เรียนรู้ทุกระบบต่างๆ จากร่างกายสุนัขอย่างเต็มที่ และเรียนอย่างคุ้มค่ามากที่สุดจากอาจารย์ใหญ่สุนัขนี้
“นิสิต 4 คน จะใช้อาจารย์ใหญ่สุนัข 1 ตัวในการเรียนตลอดทั้ง 3 เทอม เราจะให้นิสิตเลือกเองว่าจะเอาอาจารย์ใหญ่สุนัขตัวไหน เราจะเตรียมมาให้นิสิตเลือกจำนวนหนึ่ง อย่างสมุมติว่ามี 120 คน ก็เอาขึ้นมา 25-30 ตัว ให้เลือกเอง และสุนัขที่เราเอามาให้เรียนในแต่ละครั้ง เราจะต้องเอาขึ้นมาจากบ่อดองนำมาแช่น้ำไว้ก่อน 24 ชม. เพราะไม่อย่างนั้นกลิ่นฟอร์มาลินนั้นจะแรงมาก อาจจะเป็นอันตรายต่อนิสิตได้ เมื่อนิสิตเลือกสุนัขตัวไหนแล้ว กลุ่มของเขามีเบอร์อะไร เขาก็จะผูกเอาไว้กับสุนัข และจะใช้สุนัขนั้นเป็นอาจารย์ใหญ่เรียนไปตลอด”
“ในการเรียนก็จะเรียนตามระบบต่างๆ ครั้งแรกจะเรียนเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อ และต่อไปก็จะต้องเปิดผ่าเข้าไปข้างในดูเส้นเลือด เส้นประสาท ระบบหายใจ ระบบสูบฉีดโลหิต อวัยวะภายในช่องอก ช่องท้อง ช่องเชิงกราน จนกระทั่งเรื่องของระบบสืบพันธุ์ ส่วนบริเวณหัวก็จะเรียนเรื่องตา เรื่องหู และสมอง สุดท้ายแล้วในเวลา 1ปีครึ่ง นิสิตก็จะเรียนอาจารย์ใหญ่สุนัขตัวนี้ครบหมด เรียนอย่างคุ้มค่ามากที่สุดจากสุนัขที่ได้รับบริจาคมา” รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ บอกให้ทราบ
ถึงตรงนี้ทุกคนคงจะได้รู้แล้วว่าอาจารย์ใหญ่สุนัขนั้น มีประโยชน์ต่อนิสิตสัตวแพทย์ต่อการเรียนมากแค่ไหน แต่หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าหลังจากที่นิสิตสัตวแพทย์เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัขจนจบสิ้นแล้ว หลังจากนั้นแล้วได้ปฏิบัติอย่างไรกับซากอาจารย์ใหญ่สุนัขนี้ เรื่องนี้ รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ ได้ตอบให้คลายความสงสัยและความแคลงใจลงว่า “พอเรียนจบครบทั้ง 3 เทอมแล้ว สุนัขทั้งหมดนี้เราก็จะส่งให้ทางโรงพยาบาลไปกำจัดซากให้ถูกต้องตามระเบียบ ว่าจะมีการส่งไปที่ไหน หรือจะส่งไปเผาทำลาย เพราะฉะนั้นจะไม่มีการติดเชื้ออะไร และเราก็จะมีการทำพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้สัตว์ที่นำมาใช้เพื่อการศึกษาด้วย บางทีก็ไปถวายสังฆทานให้กับสัตว์ คือเราจะมีการทำพิธีอยู่ 2 อย่าง คือไม่ทำก่อนเรียน ก็ทำหลังเรียน แต่ตอนนี้เราจะสะดวกว่าทำก่อนเรียน มีการนิมนต์พระมาทำพิธีทำบุญ เพื่อเป็นการทำให้สบายใจทั้งคนเรียน และเจ้าของที่บริจาคมาด้วย”
* เปิดใจนิสิตสัตวแพทย์ กับความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ใหญ่สุนัข
กล่าวได้ว่าการที่มีโครงการรับบริจาคสุนัขเสียชีวิต เพื่อมาเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ศึกษานั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการศึกษา เพราะถ้าไม่มีอาจารย์ใหญ่สุนัขเหล่านี้แล้ว นิสิตสัตวแพทย์ก็คงจะไม่ได้เรียนรู้จากของจริง และนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไปในอนาคต
สำหรับเรื่องราวความรู้สึกที่ดี ที่มีต่ออาจารย์ใหญ่สุนัข คงจะไม่มีใครมาตอบความรู้สึกที่ดีที่มีต่ออาจารย์ใหญ่สุนัขเหล่านี้ ได้ดีไปกว่าบรรดานิสิตสัตวแพทย์ที่กำลังได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัขอยู่
อนุษรา เอื้ออารีมิตร หรือน้องอุ๋ย นิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 2 เป็นหนึ่งในนิสิตสัตวแพยท์ที่ได้มาถ่ายทอดความรู้สึกอันดีที่มีต่ออาจารย์ใหญ่สุนัข เธอพูดด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสว่า “หนูไม่กลัว เพราะว่าเคยได้ยินมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่า อาจารย์ใหญ่ คือ สุนัขที่ดองแล้ว หนูก็เลยไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ แต่ก็ตื่นเต้นนะคะ เพราะว่าตอนแรกเราจะเรียนแต่ในหนังสือ พอรู้ว่าจะได้มาเรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข เราก็อยากจะเห็นของจริงเหมือนกันว่า มันจะเหมือนกับในหนังสือไหม พอได้มาเห็นก็ตื่นเต้นมาก“
“หนูรักสุนัขที่มาเป็นอาจารย์ใหญ่สุนัขหนูมากเลยนะคะ หนูจะคอยดูแลเหมือนว่าเป็นสุนัขของหนูตัวหนึ่งนะคะ และเป็นทั้งอาจารย์ใหญ่ ที่หนูต้องใช้เรียนไปตลอด เพราะฉะนั้นหนูจึงดูแลให้ดีที่สุด เรียนให้เต็มที่ และถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขหนูก็ให้เกียรติว่ายังไงก็มาเป็นอาจารย์ใหญ่ ที่มาให้ความรู้แก่หนูคะ” น้องอุ๋ยบอกความรู้สึกออกมาจากใจ
ซึ่งความรู้สึกของน้องอุ๋ยนั้น ไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของน้องปาล์ม หรือ ทศพล เดชยง นิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังว่า “ในวันแรกที่เข้ามาเรียนผมก็ยอมรับว่ากลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าไม่ถูกดดันเท่ากับอาจารย์ใหญ่ของคนนะครับ อาจารย์ใหญ่สุนัขก็เคยเป็นสิ่งมีชีวิต พอมาเห็นกล้ามเนื้อ มาเห็นอวัยวะอย่างนี้ ผมก็กลัวๆ เหมือนกัน แต่ว่าพอเรียนๆ ไป ผมก็รู้สึกว่าคุ้นเคยมากขึ้น ก็ไม่ได้กดดันอะไรมาก”
น้องปาล์ม ยังบอกความรู้สึกต่ออีกว่า ตัวเขาเองมีความรู้สึกที่ดี และรู้สึกเคารพอาจารย์ใหญ่สุนัข ซึ่งเปรียบได้ดั่งเป็นอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้
“ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัข แต่ผมก็เคารพเหมือนอาจารย์ เพราะว่าถ้าไม่มีอาจารย์ใหญ่สุนัขนี้ ผมก็จะเรียนแบบไม่เห็นภาพ เพราะแน่นอนว่าทางการสัตวแพทย์ ยังไงเวลาที่ผมไปรักษาก็ต้องเจอของจริงอยู่แล้ว ถ้าเรียนแล้วไม่เคยเจอของจริงก็จะไม่สามารถที่จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อย่างผมเรียนในเอกสารหรือในชีท หรือในหนังสืออะไรก็ตาม รูปวาดแม้ว่าจะทำเหมือนจริงอย่างไร แต่ว่าต่อให้ไม่เคยผ่าจริง หรือได้ลงมือทำจริง เวลาที่ไปเจอของจริงผมว่าก็จะทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข" น้องปาล์มเผยความรู้สึกออกมา
และยังบอกอีกด้วยว่า บางครั้งเมื่อหลังจากที่ได้เรียนและทำงานส่งอาจารย์ผู้สอนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำเอาพวงมาลัยมาไหว้อาจารย์ใหญ่สุนัขที่ได้เรียน เป็นการแสดงความเคารพและความขอบคุณที่ได้เสียสละร่างกายมาให้ได้ศึกษา และถ้าเรียนจนจบเทอมเมื่อไหร่ พอปิดเทอมก็จะมีการนัดเพื่อนๆ ไปทำบุญที่วัดให้แก่อาจารย์ใหญ่สุนัขกัน
มีอีกหนึ่งคำถามที่ได้แอบกระซิบถามน้องปาล์ม ด้วยความใคร่อยากรู้มากๆ ว่า การที่ได้มาเรียนเรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข ที่ก็ถือว่าเป็นซากสัตว์แบบนี้ เคยเจอเหตุการณ์อะไรแปลกๆ ที่ชวนขนหัวลุกจากอาจารย์ใหญ่สุนัขบ้างไหม? น้องปาล์มครุ่นคิดสักนิด ก่อนจะตอบออกมาว่า “ไม่เคยเจอครับ ตั้งแต่มาเรียนผมเคยได้ยินแต่เรื่องเล่ามากกว่า ว่ามีได้ยินเสียงม้าร้องอะไรบ้าง แต่ก็ถ้ากับตัวเองแล้ว ก็ยังไม่เคยเจอ แบบว่าได้ยินเสียงเห่าหอนของสุนัขยังไม่เคยเจอครับ” น้องปาล์มตอบแบบยิ้มๆ ก่อนที่จะขอตัวกลับไปเรียนต่อกับอาจารย์ใหญ่ที่นอนอยู่บนโต๊ะเบื้องหน้า
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการบริจาคสุนัขเสียชีวิต เพื่อมาเป็นอาจารย์ใหญ่ให้แก่นิสิตสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระยะแรกนี้ทางคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะขอรับบริจาคเฉพาะสุนัขที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สัตวแพทย์ตรวจแล้วว่าไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อร้ายแรงเท่านั้น
สามารถติดต่อได้ที่หน่วยประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลสัตว์ฯ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2579-058-9 ต่อ 6201 โทรสาร 0-2579-7539
***********************