xs
xsm
sm
md
lg

ฑัศ เชาวนเสถียร ปั้นแบรนด์ G-Net ฝันที่กำลังจะเป็นจริง !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เรามีทุกวันนี้เพราะลูกค้า และเราก็ทุ่มเททุกอย่างเพื่อลูกค้าของเราเช่นกัน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในตัวสินค้ามากที่สุด" คำพูดข้างต้นเกิดจากความรู้สึกลึก ๆ ที่มีต่อกลุ่มลูกค้าของ ฑัศ เชาวนเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวร์เลส แอ๊ดวานซ์ ซิสเต็ม ผู้นำเข้าเครื่องลูกข่ายมือถือยี่ห้อ “จีเน็ต” พร้อมเผยเคล็ดลับถึงการบรรลุเป้าหมายสำคัญว่า นอกจากจะต้องมีความอดทน, ความตั้งใจ และความแน่วแน่แล้ว จะต้องมีหลักวิชาความรู้ที่ถูกต้องด้วยจึงจะประสบความสำเร็จได้

ฑัศ เล่าย้อนให้ฟังว่า ตนเองได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาในเมืองไทย เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งเริ่มแรกเดิมทีได้ทำเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์เสริมโทรศัพท์ เช่น แบตเตอรี แท่นชาร์จ ส่วนของลูกข่ายนั้นได้ทำเกี่ยวกับเสาสัญญาณ เน็ตเวิร์กต่างๆ นอกจากนี้ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์จำพวกแมกกาซีนเกี่ยวกับเทคโนโลยี อย่างเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วได้ทำนิตยสารขึ้นมาชื่อว่า 'เฟิร์สโมบาย'

"จริง ๆ เริ่มทำหนังสือมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะช่วงที่เริ่มเรียนชั้นปี 1 นั้นไม่ได้ขอเงินคุณแม่ใช้ จึงหารายได้ด้วยการทำหนังสือขาย พิมพ์สมุดมาขายบ้าง เขียนหนังสือโดยการไปรวบรวมงานเขียนมาพิมพ์ขายบ้าง เป็นการหารายได้มาตั้งแต่เด็ก ขณะนั้นเรียนปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจซึ่งคนละทางกับการทำสิ่งพิมพ์ ส่วนเจตจำนงค์ที่ทำหนังสือเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากช่วงนั้นประเทศไทยไม่ค่อยมีข้อมูลจำพวกนี้ให้อ่านกัน จึงคิดทำขึ้นมาผนวกกับการมีความรู้ทางด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่ด้วย"

ฑัศ เล่าต่อว่า ธุรกิจในประเทศไทยที่ดูแลหลักๆนั้นมีทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ 1. เป็นบริษัทที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือยี่ห้อจีเน็ต 2. หนังสือเฟิร์สโมบายทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารอยู่ 3. เป็นกรรมการของบริษัทธรรมนิติ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับด้านกฎหมายเทคโนโลยี 4. ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล บริษัทนี้เป็นการเข้าไปดูร่วมกับหุ้นส่วน ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางที่ที่ดูแลอยู่นั้นอาจจะไม่กี่ยวข้องกันเลย

นอกจากธุรกิจในประเทศแล้ว ยังมีธุรกิจในส่วนของต่างประเทศ โดยทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ส่วนประกอบ เช่น ไอซีชิพที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งทำอยู่ในหลายประเทศด้วยกัน เช่นที่ไต้หวัน, ฮ่องกง และปัจจุบันได้เพิ่มบริษัทที่เซินเจิ้นประเทศจีน รวมถึงมีบริษัทอยู่ที่เกาหลีด้วย บริษัทส่วนใหญ่จะเป็นแบบเทรดดิ้งคอยสั่งสินค้าเข้า-ออก

ฝันอยากทำรถยนต์แบรนด์ไทย

ทุกคนเกิดมาต่างมีความฝันไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับฑัศที่แย้มความฝันให้ฟังว่า ถ้าเรียนจบปริญญาเอกแล้ว มีความตั้งใจอยากจะทำรถยนต์เป็นของคนไทยสักแบรนด์มาขาย ที่คิดฝันว่าจะทำสิ่งนี้เพราะเห็นว่าบ้านเราขาดดุลการค้า มีปัญหาเรื่องพลังงาน น้ำมันแพง และเล็งเห็นว่าน่าจะมีใครสักคนที่ทำรถยนต์แบบประหยัดพลังงานจริง ๆ จัง ๆ เช่น รถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีโดยเฉพาะ, ใช้พลังงานไฟฟ้า, ใช้พลังงานไฮโครเจนแบบเพรียวๆ เป็นต้น

"การทำอะไรก็ตามที่เราสามารถผลิตเองได้เป็นเรื่องที่น่าขบคิด เพราะห่วงอนาคคนรุ่นหลัง แต่ตราบใดที่บ้านเรายังไม่แก้ปัญหาโลจิสติกส์ แถมยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานอีก เราคงจะเติบโตทางเศรษฐกิจลำบาก ที่จริงช่วงนี้บ้านเราเศรษฐกิจดี มีการส่งออกเกินดุล แต่เกิดจากปัญหาที่ราคาน้ำมันโลกเปลี่ยนราคาอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศเราที่กำลังมั่นคั่ง กลับพลิกผันไปเป็นประเทศที่มีปัญหาขาดดุลการค้าเหมือนเดิม"

ฑัศ บอกถึงมุมมองของตนให้ฟังว่า ทุกวันนี้โลกของเราคงไม่ใช่การทำธุรกิจที่คิดถึงแต่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่คงต้องคิดถึงสิ่งที่เป็นผลกระทบสภาพแวดล้อมด้วย รวมถึงการทำโปรดักต์สักอย่าง ต้องคำนึงถึงผู้อื่นรวมถึงโลกด้วย เช่นเดียวกับสินค้าของจีเน็ต ที่ตอนนี้กำลังมองเรื่องการทำรีไซเคิล หรือทำแพ็กกิ้งที่เป็นพลาสติก และมีแนวคิดว่าจะทำให้อุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องทั้งหมด สามารถนำไปย่อยสลายได้ทุกชิ้น

ธุรกิจมือถือไวกว่าแฟชันเสื้อผ้า

ความยากในการบริหารงานนั้น ฑัศเผยว่า หลัก ๆ เป็นเรื่องของการแข่งขัน ที่มีแบรนด์มาก รวมถึงรุ่นมีมากจนผู้บริโภคจำไม่ได้ว่ามีรุ่นอะไรบ้าง และมีแต่ละรุ่นความแตกต่างกันอย่างไร ธุรกิจมือถือทุกวันนี้จึงเป็นการทำทุก ๆ เซกเมนต์ คือการทำ STP (Segmentation Targeting Positioning) และคิดว่าตลาดได้ก้าวจากคอนซูเมอร์โปรดักต์ไปเป็น FMCG (Fast Moving Consumer Goods) คือเป็นยิ่งกว่าแฟชัน เพราะมือถือแข่งขันและเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าแฟชัน มีเซกเมนต์มากกว่าเสื้อผ้าอีก

"ใครที่จะอยู่ในธุรกิจนี้ต้องพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา ยกตัวอย่าง ที่วันนึงเราพูดถึงอารยธรรมโซนี วอล์กแมน พอมีไอพ็อตเข้ามาเพียงแค่โมเดลเดียว อารยธรรมโซนีหายไปชั่วพริบตา และนี่ก็เป็นโปรดักต์ที่เรียกว่า FMCG คือเป็นยิ่งกว่าคอนซูเมอร์โปรดักต์ จากที่เปลี่ยนราคาแค่สัปดาห์ละหน เป็นเปลี่ยนแปลงเช้าบ่ายราคาไม่เท่ากัน"

โดยจุดเด่นการทำธุรกิจของจีเน็ตนั้น ฑัศบอกว่าทางจีเน็ตมีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน อย่างแรกคือ Love at first sight เห็นปุ๊บรักปั๊บ เหมือนรักแรกพบ อย่างที่สองคือ Good quality good price คุณภาพดีราคาดี ดังนั้นราคาของจีเน็ตจึงไม่แพง สามารถจับต้องได้ อย่างในต่างประเทศมีรุ่นที่เป็น3Gแต่เราไม่นำเข้ามา เพราะมองว่าบ้านเรายังไม่รองรับ ซึ่งเป็นการมองที่แตกต่างอย่างชัดเจน อย่างที่สามที่มองมากคือเรื่องบริการหลังการขาย ในต่างประเทศเองมีการประกาศเรื่อง First Class Service ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการบริหารการจัดการด้านอะไหล่มาก่อน

"อย่างเวลานำเครื่องไปซ่อม ส่วนใหญ่จะได้ยินว่าต้องรออะไหล่ก่อน เนื่องจากต้องสั่งของเข้าจากต่างประเทศ แต่ถ้าซื้อเครื่องของจีเน็ต ปัญหานี้ตัดไปได้เลย เพราะว่าอะไหล่ทุกชิ้นจะถูกส่งมาก่อนที่ตัวเครื่องจะวางขาย นอกจากนี้ยังเห็นถึงความสำคัญที่ผู้บริโภคต้องใช้สินค้าทุกวัน จึงมีนโยบายออกมาเลยว่า ถ้าหากเครื่องเสียแล้วอาการไม่ได้หนักมาก ให้ซ่อมเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง"

ส่วนกลยุทธ์วางแผนกลยุทธ์นั้นเน้นที่สินค้าดี ราคาเหมาะสม ยิ่งปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้นี้ต้องเห็นใจคนไทย ซึ่งเราทำดีมาตลอดแต่เจอปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ และเชื่อว่าต้องพยายามทำให้สินค้ามีการแข่งขันไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด แต่การแข่งขันนั้นต้องเป็นธรรม มีคนคุมกฎกติกา เหมือนมีกรรมการอยู่ตรงการคอยคุมการแข่งขัน

แบรนด์เล็กใจใหญ่

ฑัศ ยอมรับว่าอุปสรรคหลักๆในบ้านเรา อยู่ที่เรื่องของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์หลักๆในตลาดยังเป็นที่นิยมมาก แต่แบรนด์จีเน็ตเป็นเพียงแบรนด์เล็กๆ ต้องใช้เวลาในการจัดภาพรวมของตลาด แต่ต้องยอมรับอีกว่าแบรนด์ของจีเน็ตเอง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็วเหมือนกันในทุกวันนี้ ซึ่งเกิดจากการเน้นสไตล์ของบริโผู้ภคที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะจุดสำคัญที่มีการให้บริการที่ดีและได้การยอมรับ

"คิดว่าการเติบโตของจีเน็ตในทุกวันนี้ เป็นเพราะลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีลูกค้าที่ใช้จีเน็ตกันค่อนข้างหลากหลาย ถึงกระทั่งมีการใช้งานกันเกือบทุกคนภายในบ้าน เรียกว่าเป็นครอบครัวจีเน็ตก็ว่าได้"

ส่วนมุมมองทิศทางการใช้โทรศัพท์มือถือในอนาคตนั้นบอกได้เต็มปากว่า ผู้บริโภคคนไทยจะมีการเปลี่ยนแบรนด์ได้ง่าย และมีความเชื่อว่าคนทุกคนที่ใช้โทรศัพท์อยู่ขณะนี้ อยากได้โทรศัพท์ที่เป็นมากกว่าโทรศัพท์ที่ถืออยู่ อย่าง 10 ปีที่แล้ว มีความคิดว่าถ้าดูมือถือผ่านทีวีได้ก็ดีนะสามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา แต่เพิ่งมาเป็นจริงหลังจาก 10 ปีอย่าง จีเน็ต ที่เป็นทีวีโมบายได้สำเร็จ อีกเรื่องหนึ่ง คือราคาต่อเครื่องจะถูกลงเรื่อยๆ คล้ายกับคอมพิวเตอร์ที่มีการใช้กันมากราคาจะยิ่งถูก

"หลังจากมีทีวีโมบายแล้ว ยังมีความหวังอยากให้มือถือทำหน้าที่เสมือนหนึ่งมินิคอมพิวเตอร์ เช่น การสื่อสารต้องแก้ปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงระบบไวเลส และมีความหวังเรื่องไวแมกซ์ ถ้าหากเกิดขึ้นจริงการเชื่อมต่อต่างๆจะได้ต้นทุนที่ต่ำ ทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ได้สะดวกขึ้น อันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทุกวันนี้สามารถเชื่อมต่อได้แต่ต้นทุนสูง และยังไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่"

ทุกวันนี้ฑัศคิดอยู่เสมอว่า เราต้องทำวันนี้ ให้ดีกว่าเมื่อวาน จริง ๆ ขณะนี้อายุ 50 ปีแล้ว แต่ยังต้องเรียนหนังสืออยู่ ซึ่งตอนนี้ใกล้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ด้านการสื่อสารการตลาด เหตุผลที่ยังต้องเรียนก็เพราะมีความเชื่อว่า ความรู้ไม่มีวันจบสิ้น รวมถึงมีความต้องการที่จะให้ให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน และเมื่อเราเรียนมากขึ้น รู้มากขึ้น เราจึงทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปช่วยประเทศชาติได้มากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น