สวนกล้วยไม้พชร หรือ “พชร ออร์คิดส์” (Pachara Orchids) ใน จ.สุพรรณบุรี มีชื่อเสียงอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสวนที่ให้กำเนิดกล้วยไม้พันธุ์ “พชร ดีไลท์” ซึ่งไปคว้ารางวัลระดับสากล ส่งให้กล้วยไม้ไทยชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั่วโลก
ชวินทร์ หงษ์สุนิรันดร หุ้นส่วนธุรกิจ และผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ เล่าว่า ผู้บุกเบิกธุรกิจสวนกล้วยไม้ “พชร ออร์คิดส์” คือ “พัฒน์พงศ์ พชรพงศ์” หรือที่รู้จักในวงการว่า “นก สุพรรณ” ซึ่งสะสมความรู้จากความชอบปลูกกล้วยไม้และไม้สวยงามเป็นงานอดิเรกมายาวนาน ก่อนเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จนเป็นจุดเปลี่ยนนำงานอดิเรกมาทำเป็นธุรกิจหลัก
“เมื่อก่อนพี่นก (พัฒน์พงศ์ พชรพงศ์) ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท แต่พอวิกฤตปี 40 ได้รับผลกระทบแทบไม่เหลืออะไรเลย มีแค่กล้วยไม้จำนวนหนึ่งที่สะสมไว้เท่านั้นพอจะเป็นช่องทางทำธุรกิจเลี้ยงชีพได้ จึงตัดสินใจเริ่มธุรกิจกล้วยไม้ ด้วยพื้นที่แค่ประมาณ 1 ไร่ในจ.สุพรรณบุรี”
ถึงจะไม่ได้เรียนจบด้านเกษตร แต่เพราะเป็นนักเล่นกล้วยไม้ตัวเอ้ ประกอบกับมีเพื่อนฝูงในวงการกล้วยไม้หลายคนคอยช่วยเหลือ จึงพลิกสถานการณ์มาประสบความสำเร็จกับธุรกิจใหม่ได้ โดยระยะแรกได้รับความช่วยเหลือจาก “เกษม บุญชู” เจ้าของสวนกล้วยไม้ชื่อดังย่านสะพานควาย มอบไม้นิ้วเพาะเมล็ด “กล้วยไม้แวนด้า โรเบิร์ต ดีไลน์” จำนวน 2,500 ต้น ให้เป็นทุนตั้งต้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของนักสะสม เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดจึงถูกใจลูกค้า ถึงขนาดตามมาหาซื้อที่สวน ชื่อเสียงของ “พชร ออร์คิดส์” จึงเริ่มเป็นที่รู้จัก
**คว้ารางวัลสร้างชื่อก้องโลก
ชวินทร์ เล่าต่อว่า ในวงการกล้วยไม้จะสร้างชื่อผ่านการประกวดตามเวทีต่างๆ เจ้าของสวนกล้วยไม้แต่ละแห่ง จะพยายามผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ ส่งแข่งขัน เช่นเดียวกับพชร ออร์คิดส์ คิดค้นกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ ส่งประกวดต่อเนื่องหลายร้อยเบอร์ ช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้ธุรกิจขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อ “พชร ดีไลท์” เบอร์ 1 ไปคว้ารางวัล FCC( First Class Certificate ) ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานประกวดกล้วยไม้ระดับโลก ทำให้กล้วยไม้ไทยพันธุ์นี้ เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างสูง ช่วยให้พชร ออร์คิดส์ก้าวสู่ตลาดโลกเต็มตัว และขึ้นเป็นธุรกิจสวนกล้วยไม้ รายใหญ่ที่สุดใน จ.สุพรรณบุรี
“ตลาดช่วงเริ่มต้น คือในประเทศ ส่งร้านขายไม้สวยงาม และโรงแรมต่างๆ กระทั่ง พชร ดีไลท์ สร้างชื่อจากงานประกวด พี่นกจึงชวนผมมาร่วมธุรกิจ เพื่อเน้นตลาดส่งออกจริงจัง ซึ่งเรารู้จักกันมานานแล้ว และผมเคยทำอยู่ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกประมาณปี 2548”
ทั้งนี้ ราคาขายส่งของ “พชร ดีไลท์” ประมาณ 200 บาท/ต้น ถือว่าไม่สูง แต่สวยงามมีเอกลักษณ์ ทำให้ลูกค้าต่างชาตินิยมอย่างมาก มียอดสั่งซื้อต่อเนื่องตลอดทั้งปี ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 พันต้น และเพื่อรองรับตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้ลงทุนซื้อที่ดินอีกกว่า 20 ไร่ เปิดสวนกล้วยไม้พชร ออร์คิดส์ แห่งที่ 2 ในจ.สุพรรณบุรีเช่นเดิม โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูก 8 ไร่ สามารถปลูกกล้วยไม้ได้กว่า 10,000 ต้น รวมถึง กู้เงินจากสถาบันการเงินอย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจด้วย
ชวินทร์ เผยว่า สัดส่วนตลาดเวลานี้ ส่งออกประมาณ 70% ตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนในประเทศ มีช่องทางขาย ผ่านหน้าร้านของตัวเองที่สวนจตุจักร 2 และส่งให้ร้านขายไม้สวยงามทั่วประเทศ และส่งตามโรงแรมต่างๆ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักแสนบาทต่อเดือน
นอกจากนั้น ปัจจุบันไม่ได้มีแค่กล้วยไม้อย่างเดียว แต่ขยายการปลูกสู่กลุ่มไม้สวยงาม ไม้ใบ หน้าวัวใบ และต้นไม้เล็ก ฯลฯ รวมถึง สร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในท้องถิ่น อีกกว่า 10 ราย เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตเสริม และป้อนไม้พันธุ์อื่นๆ มาส่งให้ด้วย สำหรับรองรับความต้องการของลูกค้าได้กว้างที่สุด
**ประกาศตัวเป็นผู้นำเทรนด์ .
สำหรับกล้วยไม้ทั่วโลกมีรวมกันนับหมื่นสายพันธุ์ หากใครคิดค้นพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ จะนำไปจดทะเบียนชื่อที่ “Royal Horticulture Society” (RHS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการรับขึ้นทะเบียนพันธุ์กล้วยไม้ ฉะนั้น เพื่อให้ธุรกิจยั่งยืน แนวทางของพชร ออร์คิดส์ เน้นไม่หยุดคิดค้นกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ โดยเสนอตัวเองเป็นผู้สร้างเทรนด์ใหม่แก่ตลาดให้รายอื่นต้องก้าวตาม
“ในความเป็นจริง สายพันธุ์กล้วยไม้ก็จะลอกเลียนแบบกันไม่ยาก ดังนั้น ผู้ที่คิดพันธุ์ใหม่ได้ก่อนจะพยายามตั้งชื่อให้สื่อถึงสวนตัวเองมากที่สุด เพื่อให้คนที่จะเพาะตามก็ต้องใช้ชื่อเดิม เท่ากับประชาสัมพันธ์ให้เจ้าตำรับ ซึ่งนักสะสมกล้วยไม้ก็จะพยายามหาซื้อจากต้นตำรับจริงๆ ทำให้วงการนี้ การลอกเลียนสายพันธุ์ไม่น่ากลัว แต่สิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดที่จะพยายามพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ และรักษาคุณภาพให้ลูกค้ายอมรับสม่ำเสมอ”
ชวินทร์ ระบุด้วยว่า สำหรับคนที่สนใจจะมาทำธุรกิจนี้ หากไม่มีพื้นฐานมาก่อน และไม่มีทุนมากจริงๆ ควรจะเริ่มจากเล็กๆ ทำเป็นอาชีพเสริมเสียก่อน เพราะธุรกิจนี้ ใช้ทุนเริ่มต้นค่อนข้างสูง ทั้งค่าวางระบบน้ำ ค่าใช้จ่ายในการปลูกกล้วยไม้ เฉลี่ยกว่า 5 แสนบาทต่อ 1 ไร่ และความรู้ต่างๆ เป็นเทคนิคที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่สามารถจะอธิบายหรือบอกกันได้ รวมถึง ต้องรอ 3-4 ปี กว่าจะได้เก็บผลผลิตขายได้ ดังนั้น จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่หวังหากำไรระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตเริ่มอยู่ตัวแล้ว และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ธุรกิจสวนกล้วยไม้มีอนาคตค่อนข้างสดใส เพราะปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย อย่างกลุ่มตะวันออกกลาง ยังต้องการไม้สวยงามอีกมาก และมีศักยภาพพร้อมจะรับซื้อในปริมาณมหาศาล
***************
โทร.08 7711 3301 , 08 9819 0828 , 035 500 076 , www.pacharaorchidintertrade.com