xs
xsm
sm
md
lg

ทันข่าว ทันเหตุการณ์ ผ่าน RSS เพราะข่าวสารเปลี่ยนแปลงบ่อย (เหลือเกิน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ RSS
ผ่านมาแล้วเกือบ 200 ปี จากวันที่หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทยเกิดขึ้น นับจากนั้นมาก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรากำลังเดินทางเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่เยอะแยะมากมาย และทุกสิ่ง ทุกอย่างเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น

แน่นอนที่สุดเวลานี้อินเตอร์เน็ตคือเส้นทางที่จะนำข้อมูลข่าวสารมาถึงตัวเรา ทำให้เราสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ นานาได้จากเว็บไซต์ที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากเราเลือกใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ แน่นอนว่าเราก็สามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้ และเมื่อมีความมั่นคงแล้ว เราอาจจะมีความอิสระเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

แต่เพราะไม่มีใครสะดวกที่จะติดตามข่าวสารได้ครบถ้วนทุกชนิด หรือทุกหัวข้อในเว็บไซต์ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่หลายๆ คนมักจะมีเว็บไซต์ประจำของตัวเอง ที่จะเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ และหากจะนับเวลาตั้งแต่เข้าเว็บไซต์แล้วค่อยๆ ไล่อ่านหัวข้อข่าว หาข่าวที่สนใจ รวมไปถึงการคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาในข่าวนั้นๆ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ แต่ถ้าเราต้องการรู้ว่าเวลานี้ข่าวอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือหัวข้อข่าวต่างๆ ว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจ ดังนั้นเราต้องหาผู้ช่วยที่มีลักษณะในการคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราสนใจ และส่งข้อมูลนั้นๆ มาให้เราถึงหน้าจอ ที่มีชื่อว่า อาร์เอสเอส (RSS)

รู้จักกับ RSS
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า อาร์เอสเอส (RSS) ย่อมาจากคำว่า Really Simple Syndication คือข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบภาษา XML เราเรียกรูปแบบในลักษณะนี้ว่า RSS Feed, WebFeed, RSS Stream หรือ RSS Channel ซึ่งใช้ในการกระจายข่าวทางเว็บไซต์ และเว็บบล็อก ใช้สำหรับดึงข่าวจากเว็บต่างๆ มาแสดงบนหน้าเว็บเพจ ซึ่งจะนำมาเฉพาะหัวข้อข่าว เมื่อผู้ใช้คลิกลิงค์ก็จะแสดงรายละเอียดข่าวในเว็บต้นทางนั้นๆ โดยหัวข้อข่าวจะอัปเดตตามเว็บต้นทาง มีหลักการคล้ายกับการรับอีเมลนั่นเอง โดยการดึงหัวข้อข่าวไปแสดงนี้จะมีส่วนประกอบทั้งหมด 3 ส่วน คือส่วนผู้ให้บริการดึงข่าว ส่วนผู้สร้างเว็บไซต์ใช้ทั่วไปที่ต้องการดึงข่าวไปแสดง และสุดท้ายคือส่วนผู้ใช้บริการทั่วไป

เทคโนโลยีของ RSS ทำให้สามารถรับข่าวสารจากเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารในรูปแบบ RSS ซึ่งตามปกติแล้วเว็บไซต์เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมเนื้อหาบ่อยๆ หากคุณต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ คุณต้องติดตั้งโปรแกรมรวมกลุ่มข่าวสารไว้ด้วย (News aggregator หรือ RSS aggregator) โดยหลักการของโปรแกรมลักษณะนี้ก็คล้ายกับโปรแกรมรับอีเมล หลังจากนั้นก็เพียงไปลงทะเบียนรับข่าวสารจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการ RSS

จุดเด่นของ RSS คือผู้ใช้จะไม่จำเป็นต้องเข้าไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อดูว่ามีข้อมูลอัพเดตใหม่หรือไม่ ขณะที่เว็บไซต์แต่ละแห่งอาจมีระยะความถี่ในการอัพเดตไม่เท่ากัน หรือบางครั้งผู้ใช้ยังอาจเข้าไปดูเนื้อหาที่อัปเดตใหม่ได้ไม่ครบถ้วน RSS จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับข่าวสารอัพเดตใหม่ได้โดยไม่ต้องเข้าไปดูในเว็บไซต์ทุกครั้งให้เสียเวลา ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายเจ้าของเว็บไซต์เอง

ในปัจจุบัน RSS ได้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันในเว็บไซต์ต่างประเทศ และเว็บไซต์ขององค์กรต่างๆ อีกมากมายเกือบทุกองค์กร สำหรับต่างประเทศนั้น เวปไซต์ที่เป็นสำนักข่าว เช่น CNN, ABC, BBC, CNET, ZDNet ล้วนสนับสนุน RSS แล้วทั้งนั้น ส่วนเวปไซต์ไทยที่สนับสนุน RSS ก็เริ่มทยอยปรากฎขึ้นแม้ว่าจะไม่คึกคักเหมือนต่างประเทศ ตัวอย่างเวปไซต์ไทยซึ่งสนับสนุน RSS ได้แก่ linux.thai.net แหล่งข้อมูลลีนุกส์ของเมืองไทย weblog.manager.co.th เวปบล็อกของผู้จัดการออนไลน์

สื่อสารผ่านสื่อใหม่
วรมน ดำรงศิลป์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเว็บไซต์
บริษัท ไทยเดย์ ดอท คอม จำกัด ได้พูดถึงการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ที่กำลังเข้ามามีบทบาทและความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นทุกวันให้ฟังว่า ถ้าพูดแบบเจาะจง ณ เวลานี้ คำว่า "สื่อใหม่"  คงหนีไม่พ้น “อินเทอร์เน็ต” และในอนาคตอันใกล้ "มือถือ" จะเข้าสู่ตำแหน่งสื่อมวลชนแขนงที่ 7 อย่างเต็มตัว มนุษย์ต้องหาสื่อใหม่ๆ เข้ามาใช้อยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นไปตามความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่ขาดไม่ได้ซึ่งการติดต่อสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ โลกเราได้ข้ามผ่าน ยุคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และในที่สุดคือ ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่ทำให้คนพบความรู้ใหม่ว่า โลกเรานี่แบน!

ปัจจุบันเรามักเห็นปัญหาข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมาก และเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ จนผู้รับสารอาจจะเกิดความสับสนวุ่นวาย หรือเข้าใจผิดได้ ดังนั้นต้องขั้นอยู่ที่ความสามารถของผู้รับสารส่วนหนึ่งที่จะต้องมีภูมิคุ้มกัน รู้จักเลือกเฉพาะข่าวที่เป็นประโยชน์ และสอดคล้องกับการดำเนินชีวตของตัวเอง

โดยสื่อใหม่ที่กำลังเขามามีบทบาททางด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเวลานี้สามารถพูดได้ใน 2 ระดับ ได้แก่ระดับมหภาค คือ ตัวสื่อ (Media) อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือกำลังมาแรง ส่วนระดับที่เล็กลงมา ลงรายละเอียด กล่าวคือ พาหนะ (Vehicle)

สำหรับอินเตอร์เน็ต คือ RSS ที่เป็นฮีโร่, Open source, แนวคิดของการใช้ผู้ใช้เป็นผู้สร้างเนื้อหา (Users Generated Content) สำหรับมือถือ คือ Widsets (mobile widgets), Mobile Internet

“เวลานี้ RSS กลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเว็บไซต์ทั่วโลก ได้ติดตามข่าวตลอด และตัวเองในฐานะที่เป็นนักเขียนบล็อกมืออาชีพ ก็ต้องใช้ RSS เป็นเครื่องมือหลักในการหาข่าวสาร และใช้บริการ RSS มาได้ประมาณ 3 ปี

“สำหรับตนเองคิดว่าปัจจุบันอินเตอร์เน็ตกลายเป็นสื่อหลัก ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ทุก ๆ ด้านของชีวิต ตลอดวัน และทุกเวลา อาทิ อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต ทำธุรกรรม ในการจ่ายซื้อสินค้า ชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นแหล่งค้นคว้า และสันทนาการ เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่งก็คือโทรศัพท์มือถือซึ่งจำเป็นมาก และขาดไม่ได้เหมือนอินเตอร์เน็ตเลย” วรมน กล่าว

รับรู้ข้อมูลจาก RSS
หลายคนคงกำลังทำความเข้าใจว่า RSS แตกต่างจาก SMS ข่าว อย่างไร ซึ่งหากตอบในเชิงวารสาร RSS เป็นแหล่วงรวมของ Media แต่ SMS เป็น Vehicle คือ ยานพาหนะที่ทำหน้าที่ส่งสาร ฉะนั้นหลายข่าวสารที่ส่งผ่าน SMS ผู้ส่งอาจจะได้ข้อมูลมาจากช่องทาง RSS ก็ได้ อาจกล่าวได้ว่า SMS เป็น Subset เล็กๆ ของ RSS นั่นเอง

“ส่วนในแง่การนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือต้องบอกว่าถ้า SMS ได้รับข้อมูลมาจากการรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เราเปิดรับชมผ่านทาง RSS ฉะนั้น เราต้องมาดูที่แหล่งข่าวที่เราเลือกรับสมัครมาในรูปแบบ RSS ว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าแหล่งข่าวนั้นน่าเชื่อถือ แล้วนำข่าวจากแหล่งข่าวนั้นมาส่ง SMS ข่าวนั้นก็น่าเชื่อถือ

“ประโยชน์ของ RSS เท่าที่ได้สัมผัสจากการใช้ คือได้รับข่าวสาร ตามไลฟ์สไตล์ของเรา อ่านข่าวได้ไว จากหลายแหล่งข่าว โดยไม่ต้องเสียเวลาเปิดที่ละเว็บไซต์ ได้เนื้อหาเน้นๆ ไม่ต้องคลิกดูที่ละเว็บไซต์ว่าเมื่อไหร่อัพเดทเนื้อหา เพราะทุกครั้งที่ อ่านจาก RSS จะชัวร์ได้ว่า เป็นข่าวที่อัพเดทล่าสุด


“ข้อด้อย ของการใช้ RSS เวลานี้ คือ เราอาจจะไม่ได้เห็นดีไซน์ ของเว็บนั้นๆ เพราะ RSS จะทำหน้าที่เพียงดึงแต่เนื้อหามา อาจจะไม่ได้อรรถรสในการเล่นอินเทอร์เน็ตเน็ต หรือชมเว็บไซต์อย่างเต็มที่”วรมน กล่าว

เมื่อถามถึงการให้ความสนใจหรือหันมาทำความรู้จักกับ Rss ของคนไทยในเวลานี้ว่ามีมากน้อยขนาดไหน วรมนได้ให้คำตอบว่า สำหรับคนไทยในปัจจุบัน RSS อาจจะยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานวงการเว็บไซต์ เช่น web content, และนักข่าวที่ต้องการบริโภคข่าวมากๆ ในเวลาเดียว และเลือกข่าวที่ดีที่สุดมานำเสนอต่อไป

“เหตุผลที่คนไทยไม่ฮิตใช้ RSS ก็เพราะยังไม่มีโปรแกรมอ่าน RSS ที่เป็นของคนไทยแท้ๆ ที่พัฒนาโดยคนไทยเลยสักเว็บไซต์เดียว”

ทดลองใช้ RSS
การติดตามข่าวผ่าน RSS อันดับแรกนั้นผู้ใช้บริการจำเป็นจะต้องมีซอฟต์แวร์ สำหรับการตรวจสอบข่าวสารอัตโนมัติติดตั้งอยู่ในเครื่อง ซึ่งปัจจุบันทั้งคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ท็อป และ พ๊อกเก็ตพีซี ต่างมีผู้ผลิตซอฟต์แวร์ประเภทนี้ออกมามากมาย

อย่างไรก็ดี ซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจคือ RssReader ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่นิยมใช้กันมาก โดยคุณสมบัติเด่นนั้น คือสามารถจัดหมวดหมู่ของข่าวสาร และสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะตรวจสอบ RSS ของเวปไซต์ แต่ละแห่งแยกออกจากกันได้ เช่น เวปไซต์ข่าวให้ทำการตรวจสอบทุกๆ 15 นาที ส่วนไดอารีเพื่อนให้มีการตรวจสอบทุก ๆ 1 ชั่วโมงเป็นต้น

“ผู้ที่จะเริ่มต้นใช้บริการ Rss ต้องเริ่มจาก ติดตั้งโปรแกรมอ่าน RSS สามารถเข้าไปโหลดฟรีได้ที่ Feedreader.com จากนั้นก็ไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่เราชอบที่สุด หาปุ่มสีส้มๆ ที่เขียนว่า RSS ก็กดที่ปุ่มนั้น คัดลอก URL ด้านบน มาแปะไว้ที่โปรแกรมอ่านที่เรียกภาษาอังกฤษว่า RSS FEED Reader

“หรือหากใครไม่อยากลงโปรแกรมก็สามารถใช้งานอ่านข่าวผ่าน RSS แบบออนไลน์ได้ที่บริการ Google Reader ของกูเกิล เข้าใช้ได้ฟรีทันที ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ โดยไม่ต้องลงโปรแกรม เพียงแค่มีบัญชีของ Gmail เข้าไปใช้ได้ที่ www.google.com/reader โดยทุกอย่างฟรีหมด”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเว็บไซต์การันตี

ปัจจุบันถ้าเข้าไปท่องเว็บไซต์ต่างๆ จะเห็นสัญลักษณ์ RSS ที่มีไว้บริการ คงมีหลายคนกำลังสงสัยว่า อย่างนี้ทางเจ้าของเว็บไซต์ได้อะไรตอบแทนหรือป่าว คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเว็บไซต์ ก็คือ ได้ตอบแทนแน่ๆ เพราะเท่ากับว่า การที่เราเลือกรับสมัครอ่านข่าวของแต่ละเว็บผ่าน RSS สามารถการันตีได้ว่า มีผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำของเว็บไซต์ของเราเท่าไหร่ นับได้จากจำนวนผู้สมัครรับข่าวสารจากเรา ผ่าน RSS ทำให้เว็บไซต์นั้นสร้างฐานผู้อ่านที่มีความจงรักภักดีต่อเว็บไซต์ต้นทางได้

“ในอนาคตถ้าข้อมูลข่าวสารยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีในคัดกรองข้อมูลควรจะผันไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน รู้ได้ว่า แต่ละคนชอบเรื่อง เนื้อหาอะไร ก็ส่งมาแต่เนื้อหาที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์เขา คิดว่าผู้นำสื่อออนไลน์ของไทย กำลังจะมีแผนเปิดให้บริการ RSS Reader ที่เป็นภาษาไทยในเร็วๆ นี้ โดยที่ใช้มาตรฐานกลางของ RSS ในการเปิดชมทั้งเว็บและมือถือได้อย่างสะดวกที่สุด อีกทั้งยังมีการคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้อ่านด้วย (Personalized News)” วรมน ฝากทิ้งท้าย

สนใจใน RSS
ทางด้าน เมธินี ไชยพังยาง นักศึกษาปริญญาโทที่กำลังให้ความสนใจในการใช้สื่อใหม่อย่าง RSS เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากเธอเห็นสัญลักษณ์ตัว RSS นี้มานานมากแล้ว ตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันใช้งานยังไง มีความสำคัญยังไง มีประโยชน์ยังไง เห็นแล้วก็ผ่านไป จนมาวันหนึ่ง มีอาจารย์มาแนะนำเกี่ยวกับเจ้าตัว RSS นี้ ก็เอะใจขึ้นมาว่า มันมีประโยชน์แบบนี้นี่เอง แล้วทำไมคนไม่ค่อยรู้จักกันเลย ก็เลยอยากจะศึกษาให้มันลึกซึ้งไปอีกขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้ว RSS มีประโยชน์ในการสื่อสารยังไงและมีประโยชน์ต่อสื่อมวลชนยุคใหม่อย่างไร

“ในส่วนสำคัญที่กำลังสนใจศึกษาอยู่ก็คือ การที่สื่อมวลชนรู้จักที่จะนำเจ้าตัว RSS มาประยุกต์ใช้และเหมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำข่าวอีกตัวหนึ่ง เพราะปัจจุบันสื่อมีแนวทางในการได้มาซึ่งข่าวแตกต่างจากสื่อยุคเก่าๆ เยอะ ซึ่งความยากในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ตรงที่ ยังไม่เคยมีใครทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาร์เอสเอสมาก่อน เวลาจะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมันก็ยากที่จะนำมาอ้างอิง”

นอกจากนั้นเมธินียังเล่าต่อไปว่า หากพูดถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของ RSS น่าจะแยกออกเป็น น่าเชื่อถือ 50 เปอร์เซ็นต์ และไม่น่าเชื่อถืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าไม่น่าเชื่อถือเพราะเดี๋ยวนี้นักข่าวที่ขี้เกียจมีอยู่เยอะแยะ อาจอาศัย RSS ในการรีวิวข่าวแล้วมารีไรท์เขียนใหม่ ไม่ออกไปหาข่าวเองทำให้ความน่าเชื่อถือลดน้อยลงไป ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ในเรื่องความน่าเชื่อถือ ถ้ามองในแง่คนทำข่าวน่าเชื่อถือตรงที่พอนักข่าวออนไลน์อัปเดตข่าวปุ๊บ เราก็จะรู้ปั๊บทันทีทันใด แทบไม่ต้องผ่านอะไรเลย

“เวลานี้ยังไม่แน่ใจว่าปัจจุบันมีคนเปิดรับ หรือนิยม RSS มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่หาข้อมูลมา ส่วนใหญ่คนที่รับบริการอาร์เอสเอส น่าจะเป็นคนที่ทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์และออนไลน์อินเตอร์เน็ตเสียส่วนใหญ่ แล้วตอนนี้คนหันมาอ่านข่าวสารหรือหาข้อมูลทางเน็ตกันหมดแล้ว ส่วนคนที่ไม่ใช่อาจจะยังไม่รู้ว่า RSS มีประโยชน์และทำงานยังไง ส่วนหนึ่ง และบางทีอาจจะเป็นเพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์มากมายเนื่องจากตัว RSS สามารถรับได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” เมธินี กล่าว

RSS ผู้ช่วยคนใหม่
จากการทดลองใช้ RSS มาสักระยะหนึ่งของเมธินีทำให้เธอรู้สึกว่า ที่ผ่านมาเธอคิดว่าข้อดีของ RSS ก็คือช่วยร่นระยะเวลาในการดึงหรือหาข้อมูลหัวข้อข่าวที่มีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลาโดยที่เธอไม่จำเป็นไต้องวิ่งไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เช้ามาเปิดเว็บแค่เว็บเดียวคือ Google Reader เท่านี้ก็รู้ในสิ่งที่อยากรู้ โดยไม่ต้องเข้าเว็บไซต์อื่นอีก ส่วนข้อเสียสำหรับการใช้ RSS สำหรับเมธินีก็คือ ตอนนี้ตัว RSS สำหรับภาษาไทยยังไม่เป็นที่หลากหลาย คนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่

ทางด้าน อติชาติ ยืนยงจงเจริญ วิศวกรไฟฟ้า ที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูลเป็นประจำทุกวันหลังจากที่ผมรู้จักอาร์เอสเอสทำให้ชีวิตการทำงานสะดวกขึ้น และดีขึ้นมาก

“ปรกติผมจะต้องเข้าไปค้นหา และตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา เมื่อมี RSS เข้ามาทำให้การหาข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้นมาก ประหยัดเวลาลงไปเยอะ ไม่ต้องมานั่งเปิดเว็บไซต์หลายๆ หน้า

“RSS สามารถคัดสรรสิ่งที่เราสนใจมาเสนอให้ทันทีที่เรื่องนั้นๆ มีการอัปเดต ที่สำคัญ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ส่วนมากเราสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานกันได้ฟรี ๆ นอกจากต้องการความสามารถอื่นๆ เพิ่มเติม จะต้องดาวน์โหลดตัวซอฟต์แวร์ประกอบอื่นๆ มาใช้ซึ่งอาจจะต้องเสียตังค์ ตอนนี้ RSS เริ่มเป็นที่สนใจในหมู่ Bloggers ชาวไทยขึ้นมาทุกขณะแล้ว”

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เรายังต้องดูแลสุขภาพให้ดี ดังนั้นเมื่อข่าวสารเปลี่ยนแปลงบ่อย เราก็ต้องมีผู้ช่วยฝีมือดีในการคัดกรอง และส่งข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน...

***************



หน้าเว็บไซต์ที่ให้บริการ RSS
การทำงานของ Rss
กำลังโหลดความคิดเห็น