xs
xsm
sm
md
lg

ในรอยรัก...ไร้พรมแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ภรรยาของคุณสวยเหมือนนางฟ้า”
“ไม่ใช่แค่ ‘เหมือน’หรอกครับ แต่สำหรับผม เธอ ‘เป็น’ นางฟ้า”


เฟรดดี เอบเนอร์ นายแพทย์ปลดเกษียณชาวออสเตรียวัย 68 ปี ผู้หันมาทุ่มเทให้กับการวิจัยและคิดค้นสูตรยาสมุนไพร เอ่ยตอบคำชมของเราด้วยแววตาเปี่ยมไปด้วยรักล้นใจใน ราณี สมจิตร ศรีภรรยา เจ้าของร้านส้มตำรสเด็ดเจ้าหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกัน ผ่านและพบปัญหาทั้งหนาหนักและเบาหวิวเหลือทนมาด้วยกันยาวนานถึง 10 กว่าปีแล้ว

ครั้นได้ฟังเรื่องราวของเฟรดดีกับราณี ก็ชวนให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าจะมีสาวไทย-เขยฝรั่งสักกี่คู่หนอ ที่ได้พบรักและครองคู่กันยาวนานเช่นนี้ ช่วยกันทำมาหาเลี้ยง ไม่มีใครเอาเปรียบใคร ไม่ว่า พ่อหนุ่มตาน้ำข้าว สาวไทยของเราเอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ค่านิยม “เขยฝรั่ง” หรือสนับสนุนให้ลูกหลานแต่งงานกับชายชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน อาจเป็นการเปิดช่องให้ขบวนการอาชญากรรม เอื้อมมือเข้ามาขอมีเอี่ยวก็เป็นได้

หากเป็นเช่นนั้น รักไร้พรมแดนในห้วงฝัน คงไม่พ้นตกเป็นเหยื่อกามข้ามชาติ...ที่ไม่ต่างจากตกนรกทั้งเป็น
....

ในห้วงรัก
“ทำไมสาวอิสาน ถึงมัดใจฝรั่งได้ ก็เพราะว่า ธรรมชาติของเราคือ เอาใจเก่ง ยอมตามใจเขา ทำให้เขาได้ทุกอย่าง”

ราณี บอกเล่าพร้อมรอยยิ้มสวยหวานและคมขำในแบบของเธอ เมื่อถามต่อไปว่า การสื่อสารระหว่างเธอกับสามีอดีตนายแพทย์ชาวออสเตรีย เป็นไปอย่างราบรื่นหรือมากด้วยอุปสรรคอื่นใดบ้าง คำตอบที่ได้รับ ก็ชวนให้วงเสวนาเล็กๆ ณ ร้านส้มตำแห่งนี้ ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยหลักการครองเรือนของเธอกับเฟรด ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจในรักและพร้อมจะยืดหยุ่น

“ภาษาเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดค่ะ ถึงแม้เราจะพอพูดภาษา อังกฤษได้บ้างแต่ก็แค่งูๆ ปลาๆ เราไม่สามารถเข้าใจเขาได้ทั้งหมดหรอก แล้วก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายเขาได้ยังไง ให้เข้าใจอย่างที่เราต้องการจะบอกกับเขาจริงๆ ใช้เวลาเรียนรู้กันนานพอสมควรค่ะ กว่าจะสื่สารกันเข้าใจได้ เฟรดดีเองเขาก็พยายามเหมือนกัน เขาจะหัดฟังภาษาไทยจนเข้าใจได้ แม้จะยังพูดไม่เก่ง อย่างเช่น เขาเคยชมช่างไม้คนหนึ่งว่า คุณกินข้าวเก่งมาก แต่ก็ออกเสียงเพี้ยนเป็น คุณกินข้าวหมา จนเข้าใจผิดกันไป ก็เลยแกล้งบอกเขาว่า ยูอย่าพยายามพูดภาษาไทยเลย พูดก็พูดไม่ชัด”

เสียงหัวเราะรอบวง ปลุกให้ยามบ่ายที่ร้อนอบอ้าว มีสีสันขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เธอกับเฟรดอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่มาตราบทุกวันนี้

“เวลาเราไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกัน เราจะมานั่งเปิดอกพูดคุยกันค่ะ ถามกันตรงๆ ว่า “ใครผิด” คนที่รู้ตัวว่าผิดก็ต้องยอมรับและบอก “ขอโทษ” อีกฝ่าย แค่นั้นเอง แล้วเราก็จะจบ ไม่พูดถึงเรื่องนั้นอีก เริ่มต้นกันใหม่ ลืมเรื่องที่เคยทะเลาะ เพราะถือว่าอีกฝ่ายขอโทษแล้ว เราก็ต้องให้อภัยกัน”

ด้วยความรักความเข้าใจที่ทั้งคู่มีต่อกัน ช่องว่างระหว่างวัยจึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด “ผมอายุ 68 ปี แต่ใจของผมยังหนุ่มครับ แค่ 35 เท่านั้น” เอ่ยขึ้นแล้ว เฟรดดีก็หัวเราะดังลั่นอย่างชอบอกชอบใจกับมุขไม่ยอมแก่ของตัวเอง หรืออาจเพราะเหตุนี้ แม้มีร่างเลยแซยิดมานานปี ทว่า เมื่อเทียบกันระหว่างหัวใจวัย 35 กับภรรยาสาววัย 34 พวกเขาก็ห่างกันเพียงขวบปีเท่านั้นเอง

“ผมรักคนไทย ผมรักคนอิสาน คนอิสานยิ้มเก่ง อารมณ์ดีและเป็นมิตรมากๆ ผมรักทุกอย่างที่นี่”

“เฟรดเขารักอุดรฯ ค่ะ เขาจะมีความสุขมากเวลาที่เราพาเขาไปเกี่ยวข้าว ยิ่งได้วิ่งลุยขี้โคลนในสวนในไร่ เขาจะหัวเราะอารมณ์ดี”

พวกเขาผลัดกันย้ำถึง “รัก” ที่มีในกัน แต่เฟรดนั้น ขยายความไปถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมอันเรียบง่ายสงบงามของชาวอิสาน ที่มัดใจเขาได้ไม่แพ้รอยยิ้มหวานๆ ของคนข้างเคียง

ผลพวงสายสัมพันธ์ข้ามชาติ
“ทุกวันนี้ ค่านิยมของคนที่นี่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อน เวลาใครๆ เห็นเราเดินกับเฟรด เขาก็จะมองในภาพลบ มองว่าเราเป็นเมียเช่า ซึ่งยุค 10 กว่าปีก่อน ผู้หญิงต่างจังหวัดคนไหนเดินกับฝรั่งก็มักจะถูกมองแบบนั้น แต่มาดูตอนนี้สิ แทบทุกบ้านมีเขยฝรั่งกันทั้งนั้น”

ราณี บอกเล่าภาพวิถีชีวิตและค่านิยมของชาวอุดรธานีในปัจจุบันและเมื่อ 10 ปีก่อน จากมุมมองของเธอ
“ช่วงหลายปีมานี้ เหมือนกับว่าเขาแข่งกันเพื่อที่จะมีสามีเป็นฝรั่ง บางคนอาจจะคิดว่าทำให้ฐานะดีขึ้น แฟนฝรั่งจะดูแลดี คอยเลี้ยงดูเรา เลี้ยงดูครอบครัว ไม่รู้เหมือนกันนะ เราก็แค่คาดว่าเขาอาจจะคิดอย่างนั้น ”

นั่นคือมุมมองของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเสียงของเธอก็สะท้อนได้น่าสนใจเมื่อมองภาพในปัจจุบันว่า สาวอิสานนิยมแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า จังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีสิถิติผู้หญิงแต่งงานกับสามีชาวยุโรปมากที่สุด รองลงมาตามลำดับ คือ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีษะเกษ สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์และจังหวัดเลย

น่าสนใจกว่านั้น คือข้อมูลจากเวทีเสวนาสัญจร ว่าด้วยประเด็น “เขยฝรั่ง ทางสวรรค์หรือนรก”จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี , รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวศุ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกายแก้ว รัตนนาคะ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชน จังหวัดอุดรธานี และ นคร อิ่มบริบูรณ์ พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุดรธานี

“บ้านไหนลักษณะดี สวยงาม แล้วคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น แต่งกายดี นั่นแหละ คาดเดาได้เลยว่า นั่นคือบ้านที่มีเขยฝรั่ง บางหมู่บ้านมีเขยฝรั่งเยอะมาก มีแต่บ้านสวยๆ เต็มไปหมด”

“กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เคยแต่งงานมาแล้วกับผู้ชายไทย แต่เรียกได้ว่าสถานภาพทางการสมรสของพวกเขาล้มเหลว พวกเธออยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว ก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยให้ความสำคัญกับ ความประพฤติอยากได้ลูกเขยที่ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มีความรับผิดชอบ ขยันขันแข็ง ก็เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับสถานะทางเศรษฐกิจ เขามองว่าถ้าฐานะทางเศรษฐกิจดี เรื่องอื่นๆ ก็จะดีตามไปด้วย แล้วจากที่เคยพูดคุยตอนฃลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย ชาวอิสานในหมู่บ้านหนึ่ง กว่า 85 เปอร์เซ็นต์อยากให้ลูกสาว หลานสาว แต่งงานกับชาวต่างชาติ ต่อเมื่อถามเขาว่า ทำไมถึงอยากให้แต่ง เขาก็ตอบว่า ก็เห็นคนอื่นเขาแต่งแล้วดี ”

บางสิ่งที่ซุกซ่อน
วงเสวนาเต็มไปด้วยความคิดเห็นและสถิติที่น่าสนใจซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่า ถกถาม หารือ ค้นหาความหมายของปรากฏการณ์นิยมชมชอบเขยฝรั่ง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว และห้ามไม่ได้ นคร มีมุมมองที่น่าสนใจ ถึงวิธีการอยู่ร่วมกับปรากฏการณ์ที่ว่านั้น

“ทำไม ถึง อยากได้เขยฝรั่ง เขาบอกว่าผู้ชายไทย ชอบกินเหล้า เมายา เที่ยวเตร่ ไม่รับผิดชอบครอบครัว ประเด็นที่สองคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ผมไม่ได้มองว่าการมีสามีฝรั่งเป็นสิ่งไม่ดี อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวที่เป็นเขยฝรั่งของชาวอุดรก็มีมากมาย แต่สิ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือความคิดที่ว่า เราจะดึงเอา อะไรมาจากคนเหล่านี้ได้บ้าง ดึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ของเขาออกมา ประการแรกเราต้องรู้ข้อมูลของเขาต้องทำการสำรวจว่า ว่า ตอนอยู่ที่บ้านเขาเขาประกอบอา ชีพอะไร มีวุฒิการศึกษาระดับไหน เกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งใด เพื่อที่เมื่อรู้แล้ว เราจะได้นำความรู้ความสามารถของเขามาช่วยกันพัฒนาสังคม เช่น ผมเคยขอความร่วมมือจากอาสาสมัครต่างชาติให้เขาไปช่วยสอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ซึ่งเขาก็ยินดี เต็มใจ”

ว่ากันตามตรง ปรากฏการณ์ “เขยฝรั่ง” นั้นเก่าแสนเก่า มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงข้ามวันคืน หากไม่ว่าอย่างไร การมุ่งสะท้อนภาพเบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวก็จำเป็นไม่น้อย โดยเฉพาะการมุ่งสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนัก ว่าค่านิยมเหล่านั้นนำมาซึ่งปัญหาใด หรืออาจนำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายอันเกินจะคาดคิดในรูปแบบใดบ้าง

สำคัญยิ่งกว่านั้น การเสวนาดังกล่าว ยังจัดขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับบางสิ่งที่อาจซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังของภาพความสุขสม ชื่นมื่น ของสาวไทยกับหนุ่มตาน้ำข้าวอีกจำนวนไม่น้อย ดังรายงานสถานการณ์ การค้ามนุษย์ ของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จังหวัดอุดรธานี นับแต่ปี 2545 ถึงกลางปี 2551 พบว่ามีหญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากถึง 4,208 คน

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา มีหญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นสถิติสูงถึงเกือบสองหมื่นคน และมีจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

“เราไม่มีอำนาจไปจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ได้โดยตรง มันนอกเหนือบทบาทและหน้าที่ของเรา แต่สิ่งที่เราตั้งใจและพยายามอย่างมากก็คือการมุ่งสร้างความเข้าใจ ให้ผู้ที่คิดจะแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจนั้น ได้ฉุกคิดบ้าง ว่า บ้านเราที่เราเห็นเป็นบ้านนอก เป็นชนบทนั้น จริงๆ แล้ว ฝรั่งเขาถือว่าคนที่มีที่ดิน มีไร่นานี่เขาถือว่าเป็นเศรษฐีเลยนะครับ อย่าไปวัดค่ากันที่วัตถุ เงินทอง เห็นไหมว่าเขาตื่นเต้นขนาดไหนเวลามาเที่ยวอิสานแล้วเห็นไร่นาสุดลูกหูลูกตา” นคร เน้นย้ำอย่างหนักแน่น

แม้การมุ่งสร้างความเข้าใจดังกล่าว อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเปลี่ยนทัศนคติ หากก็คงไม่เกินเลยความจริงไปมากน้อย ถ้าจะเปรียบการเสวนาสัญจรเป็นกลยุทธ์ หรือแนวรบอีกด้านของภาครัฐ ที่พร้อมเปิดฉากรับมือกับขบวนการค้ามนุษย์ ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุความผิดฐาน “ค้ามนุษย์” ไว้ชัดกว่ามาตรการเดิมของพระราชบัญญัติ ปี 2540
...

2 แสนล้านบาท คือตัวเลขมหาศาลของธุรกิจค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเมืองไทย คือหนึ่งในประเทศที่ช่วยให้วงจรอุบาทว์ขับเคลื่อนไป
ดูท่าว่าการต่อสู้อันยาวนานจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น และเมื่อเริ่มแล้วก็คงต่อเนื่องยาวนานไม่สิ้นสุด

...

#########################
เรื่อง - รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล




กำลังโหลดความคิดเห็น