ปกติคนเราขับรถเปลี่ยนยางรถยนต์ก็ประมาณ 4 เส้น ต่อ 2 ปี หรือหากเกิดปัญหาก็ไม่น่าจะเกิน 8 เส้น แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ “จิระ สังข์แก้ว” ปีหนึ่งๆ เขากลับใช้ยางไปมากกว่า 3,000 เส้นต่อปี ฟังดูอาจจะบอกบ้าหรือเปล่า? ซึ่งหากอธิบายต่อว่าเขามีอาชีพเป็ “ขับรถทดสอบยางรถยนต์” ทีนี้คงพอจะเข้าใจได้ แต่หลายคนฟังแล้วก็อาจจะงง เพราะเคยได้ยินแต่คำว่านักทดสอบรถยนต์ แล้วมันเหมือนกันหรือไม่? อย่างไร?... และจะว่าไปหากจะเปรียบเทียบน่าจะคล้ายกับ นักชิมหรือทดสอบไวน์มากกว่า เนื่องจากเขาต้องอาศัยเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น ในการทดสอบสมรรถนะของยาง และที่สำคัญเขาเป็นคนสุดท้ายที่จะบอกได้ว่า ยางรุ่นนี้จะขึ้นไลน์ผลิตได้หรือไม่?
นั่นเป็นเพราะ “จิระ สังข์แก้ว” เป็นนักทดสอบยางรถยนต์คนไทยเพียงคนเดียวในปัจจุบัน ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตยางรถยนต์ ในฐานะผู้ประเมินประสิทธิภาพยางรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันเขาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกบริการอุตสาหกรรมยานยนต์ และสนามทดสอบ ฝ่ายบริการทางเทคนิค บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์บริดจสโตนในประเทศไทย
“บทบาทหลักของผม คือ ทำหน้าที่ประเมินประสิทธิภาพยางรถยนต์ ให้กับรถยนต์ทุกค่ายที่ผลิตในเมืองไทย โดยเฉพาะรถยนต์ที่ต้องติดตั้งยางของบริดจสโตน ด้วยการทดสอบยางรถยนต์ที่จะติดตั้งกับรถโมเดลใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาดในเมืองไทย หรือส่งออกต่างประเทศ โดยจะต้องจับความรู้สึกประสิทธิภาพของยางผ่านรถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความนุ่มนวล การยึดเกาะถนน เสียง ความกระด้าง การตอบสนองต่อการบังคับพวงมาลัย รวมถึงตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายตลอดการเดินทาง และต้องมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของบริษัทรถนั้นๆ ด้วย”
เมื่อเราถามเป็นการทดสอบที่ใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยหรือไม่? จิระได้อธิบายกระบวนการทดสอบยางให้ฟังว่า… “ยางที่จะผลิตออกมา จะผ่านกระบวนการทดสอบ 3 ขั้นตอน เริ่มจากการทดสอบในห้องแล็บ เป็นการใช้เทคโนโลยีและหลักทางวิศวกรรม จากนั้นจึงเป็นการทดสอบบนถนนจริง เพื่อหาสมรรถนะความทนทานของยางนั้นๆ อยู่ได้นานแค่ไหน และสุดท้ายเป็นการทดสอบประสิทธิภาพต่างๆ ของยาง ผ่านความรู้สึกจากการขับรถรุ่นและยางโมเดลใหม่ที่จะทำตลาดจริง ซึ่งผมจะอยู่ขั้นตอนทดสอบตรงนี้”
“จะว่าไปหน้าที่ผมก็คล้ายกับนักชิม หรือนักทดสอบไวน์ ที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์หลายสิบปี ซึ่งไม่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วย เป็นการใช้ความรู้สึกสัมผัสจากลิ้นอย่างเดียวว่า ไวน์มีรสชาติถูกต้องได้มาตรฐานหรือไม่? เช่นเดียวกับผมที่จะต้องจับประสิทธิภาพยาง จากความรู้สึกสัมผัสผ่านการขับขี่สะท้อนผ่านหู มือ หรือร่างกาย เพื่อให้ผู้ขับขี่และโดยสารรถเกิดความสะดวกสบาย หรือตอบสนองได้ตลอดการเดินทาง ฉะนั้นปีหนึ่งๆ ผมจึงใช้ยางทดสอบมากถึงกว่า 3,000 เส้นเลยทีเดียว”
ในเมื่อการทดสอบยางของจิระมาจากความรู้สึกอย่างเดียวเท่านั้น แล้วเขาเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์อย่างไร และมีอะไรมาเป็นตัวรับรองผลการทดสอบของเขา ถึงกับเป็นคนสุดท้ายที่จะบอกได้ว่า ยางรถยนต์รุ่นนี้จะขึ้นไลน์ผลิตได้หรือไม่?
“เมื่อผมจบคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเครื่องกล ในปี 1987 ได้เข้าทำงานที่ไทยบริดจสโตนในฝ่ายออกแบบโครงสร้างยางรถยนต์ ควบคุมการผลิตยางให้ได้โครงสร้างตามกำหนด ทำงานอยู่ 5 ปี ขณะนั้นตลาดกำลังเติบโตและมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น ทางไทยบริดจสโตนอยากสร้างบุคลากรที่มีความชำนาญด้านการผลิต มารองรับตำแหน่งที่จะต้องดูแลยางสำหรับส่งเข้าโรงงานผลิตรถยนต์ หรือ OEM Technical Service และที่สำคัญจะต้องเป็นนักทดสอบควบคู่กันไปด้วย”
“ทางไทยบริดจสโตนรู้ว่าผมชอบและรักรถยนต์ เพราะผมคลุกคลีกบรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก ทางบ้านทำธุรกิจจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า และอีซูซุในจังหวัดสระบุรี เวลาปิดเทอมผมก็ไปอยู่ในศูนย์บริการซ่อมรถมาตั้งแต่ชั้นมัธยม เหตุนี้ผมจึงถูกเลือกให้ย้ายมาดูงานทางด้านนี้ โดยไทยบริดจสโตนและบริษัทแม่บริดจสโตนประเทศญี่ปุ่น ส่งไปเทรนนิ่งคอร์สต่างๆ เริ่มตั้งแต่ไปญี่ปุ่นเรียนรู้พื้นฐานการขับขี่รถยนต์ ซึ่งเป็นคอร์สแรกที่จะพิสูจน์ว่าเราสามารถที่จะก้าวเป็นนักทดสอบรถได้หรือไม่ ใช้เวลาอบรมเรียนรู้ทักษะต่างๆ อยู่ 1 ปี ผมก็ผ่านหลักสูตรนี้ และจากนั้นไทยบริดจสโตนก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้ไปอบรมหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”
“จนกระทั้งปี 1996 จึงได้เป็นนักทดสอบที่สามารถประเมินประสิทธิภาพรถยนต์ หรือที่เรียกว่า Evaluator โดยสามารถประเมินสมรรถนะในการขับขี่ มาตรฐานเทียบเท่านักทดสอบของสนามทดสอบยางรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งในเมืองไทยมีผมเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนยี่ห้ออื่นๆ จะต้องใช้นักทดสอบจากต่างประเทศในการทดสอบสมรรถนะของยางที่ผลิตออกมาแต่ละครั้ง”
เมื่อเป็นนักทดสอบยางรถยนต์ที่จะต้องใช้ความรู้สึก ในการทำงานจะต้องร่วมกับคนอื่นหรือไม่? จิระบอกว่ามีแน่นอนอย่างน้อยก็ต้องบริษัทรถที่เขาจ้างเราผลิตยาง หรือย่างยางที่จะต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ ก็จะต้องเดินทางไปทดสอบยังประเทศนั้นๆ ร่วมกับนักทดสอบของเขา ฉะนั้นจึงต้องเป็นคนที่รู้และมีประสบการณ์จริงๆ เท่านั้น
“ตลอดการเป็นนักทดสอบมา 16 ปี รวมแล้วอยู่บริดจสโตนมา 21 ปี ผมมีความภูมิใจมากที่สุด คือการได้ทดสอบร่วมกับนักทดสอบหลายประเทศทั่วโลก และทุกคนยอมรับในผลการทดสอบของผม ว่าเป็นนักทดสอบที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนักทดสอบชั้นนำทั่วโลก ซึ่งนั่นก็มาจากความมุมานะและอดทนที่จะเป็นนักทดสอบที่ดี รวมถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของทางไทยบริดจสโตน”
ดูเหมือนว่าจิระจะเป็นที่ไว้วางใจของบริษัทไทยบริดจสโตนเป็นอย่างมาก จากสนับสนุนเขาให้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากบทบาทหน้าที่ล่าสุด ที่ให้เขาร่วมเป็นผู้ดูแลโครงการก่อสร้างสนามทดสอบแห่งใหม่ของบริดจสโตน ว่ากันว่าจะเป็นสนามทดสอบที่ใหญ่และมีมาตรฐานที่สุดในภูมิภาคเอเชีย บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยเป็นรองจากญี่ปุ่นเท่านั้นในเรื่องของขนาดสนาม มูลค่าการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในต้นปี 2552
นอกจากนี้จิระยังต้องแบ่งภาระหน้าที่ มาทำโครงการ Potenza Driving Lesson หรือ PDL ของบริดจสโตน ซึ่งเป็นโครงการอบรมให้ความรู้เข้มข้นไปด้วยเทคนิคการขับขี่แบบสปอร์ตอย่างถูกต้อง ให้กับผู้ใช้ยางบริดจสโตน จากการวางรากฐานโดย Stefano Modena อดีตนักขับรถแข่งสูตร1 หรือ F1 จึงนับเป็นหลักสูตรที่นักขับและผู้ฝึกสอนชั้นนำล้วนให้การยอมรับ และให้เกียรติมารวมกันเป็นทีมผู้ฝึกสอนหลักสูตรนี้ โดยมีจิระเป็นหัวหน้าทีมผู้ฝึกสอนและเป็นหนึ่งในผู้ที่กำหนดหลักสูตร
นับว่าภาระทางหน้าที่การงานของเขามากทีเดียว เราจึงสงสัยว่าเขาแยกชีวิตส่วนตัวอย่างไร… “ภาระหน้าที่ค่อนข้างเยอะไม่เป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางบริดจสโตนที่ไว้วางไว้ ขณะที่ชีวิตส่วนตัวผมก็พยายามอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด โดยเฉพาะลูกชายลูกสาวน้องเนียร์ กับน้องเนย ที่ตอนนี้กำลังโตอายุ 12 และ 10 ปี บางทีผมไม่มีเวลาว่างต้องมาดูแลการก่อสร้างสนามทดสอบแห่งใหม่ ลูกๆ เขาก็จะขอตามมาช่วยด้วย นับว่าเป็นชีวิตที่ลงตัวพอสมควร”
“สิ่งหนึ่งที่ผมจะต้องทำให้บรรลุ คือสร้างนักทดสอบรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบต่อจากผม เพราะผมเองก็เริ่มอายุเยอะแล้ว และบทบาทหน้าที่ต่อไปจะเน้นที่การบริหารจัดการมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีนักทดสอบรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้บริดจสโตนและผมกำลังฝึกฝนอยู่ รวมถึงส่งไปอบรมคอร์สต่างๆ ฉะนั้นผู้ใช้รถมั่นใจได้ว่าจะมีนักประเมินประสิทธิภาพยางรถยนต์ ที่ได้มาตรฐานต่อเนื่องแน่นอน”
นั่นคือคำกล่าวปิดท้ายของจิระ ผู้ชายที่น้อยนักในประเทศไทยนี้จะมีโอกาส และสามารถเดินตามรอยเขาได้ง่ายๆ…