xs
xsm
sm
md
lg

รัชนี ธงไชย : กว่าสามทศวรรษของสตรีผู้สร้างทางเลือกด้านการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่า 3 ทศวรรษการศึกษาทางเลือกไทย สู่เป้าหมาย สู่ความสำเร็จ (วาระครบรอบ 60 ปี รีชนี ธงไชย)
ถ้าเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งจะต้องมีผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งอยู่เสมอ เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายที่ชื่อพิภพ ธงไชย ก็คงต้องมีผู้หญิงที่ชื่อ รัชนี ธงไชย อยู่อย่างแน่นอน
ด้วยความที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ ด้านการพัฒนาสังคมสาขาการศึกษาและพัฒนาจิตใจ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 'โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก' สถานที่ที่มีบทบาทในประเด็นการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) การเคลื่อนไหวเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายการศึกษาทางเลือก และเป็นศูนย์กลางรับจดทะเบียนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ 'โฮมสกูล (Home School)' แห่งแรกของไทย

นานาบทบาทดังกล่าว จึงช่วยลบค่านิยมเดิมที่ว่าผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงจะต้องดูแลบ้านเรือนอย่างเดียว เพราะเห็นจะไม่ครอบคลุมดีเอ็นเอของผู้หญิงยุคนี้เสมอไป นอกจากภาระหน้าที่ในบ้านของครอบครัวธงไชยแล้ว รัชนียังมีบทบาทนอกบ้านในการร่วมต่อสู้ผลักดันสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม เคียงบ่าเคียงไหล่สามีอย่างพิภพ และผู้ชายอกสามศอกอีกหลายๆ คนที่เธอได้ร่วมงานด้วย
ไม่ว่าตัวเลขอายุจะก้าวขึ้นสู่เลข 6 หรือเลขอะไร มันไม่เคยสำคัญ
เพราะหัวใจของเธอยังคงทำงานด้วย 'ไฟฝัน' ตลอดเวลา


*สตรี ชนชั้นกลาง กับการเคลื่อนไหว
บทบาทของการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอของรัชนี ได้ส่งผลเป็นระลอกคลื่นให้กลุ่มสตรีรุ่นต่อมานำไปเป็นแบบอย่าง
ภินันทน์ โชติรสเศรณี จากกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เล่าให้ฟังว่าเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้อิทธิพลทางความคิดจากรัชนี แรกเริ่มเธอได้รู้จักกับรัชนีในนามของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก แต่ได้มาพูดคุยสนิทสนมกันจริงๆ ช่วงที่รัชนีมาหารือเรื่องการวางท่อก๊าซพม่าที่ผ่านเมืองกาญจน์ ชวนเราไปลงดูพื้นที่เพื่อหาทางต่อสู้ ในช่วงนั้นรัชนีพาครอบครัวของเธอทั้งลูกและสามีไปนอนเฝ้าท่อก๊าซที่ห้วยปากคอก เป็นเวลากว่า 72 คืน 73วัน อย่างไม่เคยมีคำว่าย่อท้อให้เห็น
ภินันทน์เล่าว่าจริงๆ แล้วเราเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องท่อก๊าซ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราตั้งข้อสังเกตกันว่าการวางท่อก๊าซ ทำไมจะต้องเจาะจงมาผ่านทางเมืองกาญจน์ ทั้งๆ ที่หากเข้าทางราชบุรีจะสะดวกกว่า ทำไมต้องมาตัดต้นไม้ทำลายป่าไม้ แต่รัฐบาลไม่มีคำตอบให้เรา มันคล้ายกับว่านายทุนที่ทำเรื่องนี้ได้ประโยชน์ แต่ประเทศชาติกลับต้องแบกรับปัญหาคนพลัดถิ่นมากขึ้น เราจึงต้องต่อสู้
"ในการต่อสู้ครั้งนั้นกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวจะเป็นกลุ่มของชนชั้นกลาง ซึ่งกลุ่มชนชั้นกลางในยุคนั้นกับคนชนชั้นกลางในยุคนี้มีความแตกต่างกันมาก เปรียบเทียบง่ายๆ คือคนชนชั้นกลางในตอนนั้นยังไม่ถูกครอบงำจากวัตถุนิยมมากนัก ดังนั้นจึงไม่มีหนี้สินจึงมีเวลาออกมาเรียกร้องต่อสู้ แต่กลับกันกับคนชนชั้นกลางในปัจจุบันที่เป็นหนี้ธนาคาร เป็นหนี้บัตรเครดิตกันมาก ต้องทำงานตลอดเวลา คนค้าขายก็ไม่กล้าปิดร้านออกไปประท้วง ทำให้เราเห็นแต่คนชนชั้นล่างที่ออกมาต่อสู้ แต่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดกลับเป็นชนชั้นกลาง"
"ถามว่าจิตสำนึกของคนชนชั้นกลางยังมีไหม? ก็ต้องตอบว่ามันยังมี แต่อาจเป็นเรื่องของช่องทางที่ไม่มีมากกว่า เราจึงเห็นว่าคนที่ไม่มีเวลา เขาก็ยังทยอยส่งกำลังทรัพย์ไปบริจาคแทน" ภินันทน์กล่าวตบท้าย

จินตนา แก้วขาว จากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด สตรีอีกหนึ่งคนที่ร่วมวงสนทนา เธอเล่าว่าช่วงที่มีการดำเนินเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เธอได้เชิญพิภพมาร่วมด้วย จากนั้นจึงได้รู้จักกับรัชนี พอได้รู้จักก็สัมผัสได้ถึงความโอบอ้อมอารีที่ล้นเหลือของเธอ
"มีครั้งหนึ่งเราเคยพาเด็กกำพร้าไปฝากไว้ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก คุณรัชนีก็รับอุปถัมภ์ไว้ด้วยความยินดี หลังจากนั้นไม่ว่าทางกลุ่มเราจะขาดแคลนในเรื่องใด คุณรัชนีก็ได้ให้การช่วยเหลืออย่างดีเสมอมาในทุกๆ เรื่อง"
จินตนาเล่าถึงช่วงการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าว่ามีการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติกัน สร้างผลกระทบให้ชาวบ้าน อีกทั้งยังมีการผลักดันโครงการ Western Seaboard ทั้งนี้มันเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผลักดันให้จังหวัดประจวบฯ เป็นจุดสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม มีการวางโครงการ กำหนดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย ทำให้จากที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า กลายเป็นต้องมาต่อสู้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับ กลายเป็นต้องสู้แบบไม่รู้จบ
แต่ด้วยความที่ยึดรัชนีเป็นแบบอย่างในการทำงาน ทำให้เธอมีแรงใจในการต่อสู้ต่อไป

*เด็กไทย กับโรงเรียนทางเลือก
นอกจากบทบาทการผลักดันเพื่อพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว รัชนียังมีบทบาทสำคัญต่อแวดวงการศึกษาทางเลือกของไทย
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาลานนา เล่าว่ารัชนีสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากให้เขาหันมาสนใจเรื่องการศึกษาทางเลือก การเรียนรู้ในช่วงแรกจะได้จากรัชนีมาก ได้ศึกษาจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ได้รู้จักเรื่องซัมเมอร์ฮิล แนวคิดของเปาโลแฟร์ รวมถึงการศึกษาเพื่อการปลดปล่อย
"ช่วงนั้นได้เรียนรู้มาแต่ยังไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ เพราะส่วนใหญ่เราจะอยู่แต่กับงานชนบท ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา แต่พอหลังๆ ได้คุยกับคุณรัชนีมากขึ้น ได้เข้ามาร่วมกับเครือข่ายด้านการศึกษา ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำไปทั้งหมดมันเป็นเรื่องการศึกษา อย่างเรื่องที่เราสู้กับเรื่องป่าไม้ นายทุนยึดป่า ชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ พอสู้ไปสู้มาเรากลับได้หลักสูตรที่น่าสนใจอย่าง 'ป่าชุมชน' ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยมีการพูดถึงในสารบบของการศึกษาไทยมาก่อน มันเป็นกระบวนการของชาวบ้านที่ต้องการรักษาป่า ต้องการให้ยกเลิกสัมปทาน ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องป่าชุมชนขึ้น ซึ่งตอนนี้เรื่องป่าชุมชนจึงกลายเป็นหลักสูตรที่สำคัญไปแล้ว"
"แม้แต่เรื่อง 'โฉนดชุมชน' พวกเราเองก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้กันมาก่อน เพราะโฉนดก็เป็นเรื่องของแต่ละคนไป พอมีปัญหาเรื่องที่ดินเกิดขึ้น ก็มีเรื่องโฉนดชุมชนตามมา ชาวบ้านจะดูโฉนดร่วมกัน มีคณะกรรมการดูแลร่วมกัน มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งที่คิดจะขายก็ขายได้เลย มุมแบบนี้คือสิ่งที่ควรช่วยกันผลักดันให้เกิดในสังคมมากขึ้น"
ชัชวาลย์เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่น่ากังวลสามเรื่อง หนึ่งคือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากำลังจะทวงหนี้จากนักศึกษาที่ศึกษาจบแล้ว 90,000 ราย ซึ่งเป็นไปได้ว่ากำลังตกงาน สองคือได้คุยกับพี่น้องชาวบ้านที่เขาทำบัญชีครัวเรือน จึงได้รู้ว่าหนี้สินทางการศึกษาเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เทียบเท่ากับหนี้สินทางการเกษตร และสามคือมีเพื่อนที่ทำงานในแวดวงการศึกษา เขาเล่าว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านๆ มาไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไร
"ฟังแล้ว มันทำให้เราใจหาย จะเห็นว่าวิกฤตของการศึกษากระแสหลักสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวิกฤตเยาวชน วิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันหมด ตราบใดที่เนื้อหาสาระของการศึกษาไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีทางที่จะแก้วิกฤตของประเทศได้ เมื่อใดก็ตามที่การศึกษาไม่ได้เอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง เอาแต่เรื่องนอกตัวเป็นเรื่องใหญ่ ก็ไม่มีทางแก้วิกฤตได้ เพราะคนไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักท้องถิ่น ไม่รู้จักสังคม ไม่มีจิตสาธารณะ และอีกหลายๆ เรื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้การศึกษากระแสหลักไม่ค่อยมีความหวังแล้ว" ชัชวาลย์กล่าว
ตอนแรกที่มาจับงานด้านการศึกษา คิดว่าการศึกษาคงมีไม่กี่รูปแบบ แต่พอได้มีโอกาสศึกษา รวบรวมข้อมูล ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นทางเลือกอื่นนอกจากการศึกษาในกระแสหลัก แต่หากเราเพ่งพินิจดูจริงๆ จะพบว่ามันมีเยอะมาก อย่างการศึกษาโดยศาสนาตามวัดต่างๆ มีการเปิดสอนทั้งเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม ศิลปวัฒนธรรม ภาษาพื้นบ้าน สมุนไพร แต่คนมักไม่ค่อยให้ความสนใจ ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึง ไม่ได้ถูกให้คุณค่า และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
"ตอนนี้การศึกษาที่ทำโดยพ่อแม่มีมากขึ้นกว่ายุคก่อน ซึ่งเกิดจากการที่คุณรัชนีได้ไปช่วยร่างกฎพ.ร.บ.การศึกษา ผลักดันกฎกระทรวงเรื่อง Home School ทำให้ตอนนี้พ่อแม่เริ่มมีการไปจดทะเบียนกันมากขึ้น การศึกษาในลักษณะนี้มีเยอะ แต่ว่าพวกเขาอาจไม่ได้มารวมตัวกันเท่านั้น
โรงเรียนลักษณะนี้จะเรียกว่าอิงระบบ คือเป็นแนวคิดใหม่แต่เอาไปจดทะเบียน อย่างเช่นโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ปัญโญทัย วิถีพุทธ รุ่งอรุณ สัมมาสิกขาของสันติอโศก ซึ่งโรงเรียนแบบนี้ในอนาคตจะมีเกิดขึ้นอีกมาก หรือแม้แต่การศึกษาที่เปิดโดยกลุ่มคนต่างๆ อย่างเช่น ตอนนี้มี 'โรงเรียนชาวนา' เกิดขึ้นเยอะมาก คือมีชาวนามาสอนชาวนากันเองในเรื่องการทำนา วิธีการคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์ หรือมีอีกที่หนึ่งทางอีสานชื่อ 'โรงเรียนโรงงาน' เป็นการสอนกันเองระหว่างพี่น้องกรรมกร
ในช่วงที่ผ่านมาทั้งพิภพ และรัชนีในฐานะประธานเครือข่ายการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย กับอีกหลายๆ คน ได้ช่วยกันผลักดันคำว่า การศึกษาทางเลือกเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในตอนนี้มันยังเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือ จึงมีการปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้สังคมได้รับรู้เรื่องนี้มากขึ้น เราจึงเสนอว่าน่าจะมีการมาช่วยกันยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาทางเลือก หมายความว่าไม่ว่าคุณจะเรียนในระบบใด จะเรียนแบบภาวนา เรียนแบบตื่นรู้ เรียนแบบซัมเมอร์ฮิล หรือเรียนแบบใดก็ตาม สังคมและรัฐบาลจะต้องสนับสนุน กระบวนการแบบนี้มันต้องเริ่มจากการที่พวกเราต้องเห็นค่า ให้ความสนับสนุน และเปิดประเด็นการศึกษาทางเลือกให้เป็นประเด็นสาธารณะ แล้วสังคมจะมีทางออก ชัชวาลย์กล่าวถึงช่องทางการแก้ไข

นอกจากนั้น รัชนียังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเคลื่อนไหวชายหลายๆ คน ถึงขนาดที่คนเหล่านั้นเอ่ยเรียกนำหน้าชื่อเธอว่า 'แม่'
ชัยณรงค์ ฉิมชูใจ จากโรงเรียนอนุบาลสานรัก เล่าว่าเป็นเวลากว่า 33 ปีมาแล้วที่ได้รู้จักกับรัชนี เพราะเขาเป็นลูกศิษย์เก่าคนหนึ่งของรัชนี ชัยณรงค์เล่าว่ารัชนีจะคอยช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ลูกศิษย์เสมอทั้งปัญหาในโรงเรียนและปัญหาทางครอบครัว และยังเป็นครูคนแรกในโรงเรียนที่เหล่าลูกศิษย์ต่างพากันเรียกว่า 'แม่' เพราะรัชนีใช้วิธีการสอนลูกศิษย์แบบแม่สอนลูก
ชัยณรงค์เล่าไปถึงช่วงที่เริ่มเข้าสู่แวดวงการศึกษาทางเลือกว่า
"ตอนแรกเราก็ไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แม่แอ๊ว (รัชนี ธงไชย) ก็ยื่นหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง ให้เราเอาไปอ่าน เราก็นำกลับไปอ่าน ไปศึกษาระหว่างที่กลับไปเรียนต่อสองปี แล้วพบว่ามันน่าสนใจ เป็นแนวคิดที่แปลกดี พอเรียนจบ เราจึงเริ่มทำงานติดตามคุณรัชนีทันที ชอบแนวคิดที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนจากความสนใจ ไม่มีการบังคับ ทำไปทำมาเราจึงเริ่มเข้าใจแนวคิดของซัมเมอร์ฮิลมากขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น เข้าใจคุณพิภพและคุณรัชนีมากขึ้นว่าทำไมถึงเอาหลักการซัมเมอร์ฮิลล์มาใช้กับเด็กกลุ่มเหล่านี้ เป็นเพราะมันแก้ปัญหาได้จริงๆ"
จากนั้นพิภพและรัชนี มีความเห็นว่าน่าจะมีอีกส่วนหนึ่ง ไว้ดูแลเด็กปฐมวัยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จึงได้มีการพูดคุยกันและไปปรึกษาศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี คุณหมอก็เห็นด้วย จึงนำเอาแนวคิดของศาสนา แนวคิดของซัมเมอร์ฮิล และแนวคิดมอนเตสซอรี่ ของดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ เข้ามาลองทำดู จึงเกิดเป็น 'โรงเรียนอนุบาลสานรัก' ขึ้น ซึ่งตอนนี้ถือเป็นโรงเรียนระดับอนุบาลแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้หลักการสามข้อนี้ ปีหนึ่งเรารับนักเรียนจำนวน 60 คน เด็กที่มาเรียนก็มาจากครอบครัวที่ยากจน กำพร้าแตกแยก พอเด็กเรียนจบระดับอนุบาลจากที่นี่ ก็สามารถไปเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ มันเป็นการให้โอกาสแก่เด็กที่ไม่มีโอกาสทางสังคม ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ตอนนี้ทำมาเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว โดยมีรัชนีคอยเป็นที่ปรึกษาให้มาโดยตลอด
แนวคิดของซัมเมอร์ฮิล แนวคิดของพุทธ และแนวคิดของมอนเตสซอรี่ แต่ละแนวคิดแตกต่างกันไป อย่างถ้าเป็นแนวคิดทางพุทธจะยึดหลักการของไตรสิกขา มีเรื่องของศีล สมาธิ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการของมอนเตสซอรี่ คือในเรื่องของสมาธิเวลาเด็กทำงาน จะเน้นการทำซ้ำ ให้เด็กทำบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ ส่วนหลักการของซัมเมอร์ฮิลคือ ให้เด็กเลือกในสิ่งที่เขาต้องการ ให้อิสระในการเลือกทำกิจกรรม
อย่างเด็กนักเรียนอนุบาลอายุ 3 ขวบ กำลังสนใจเรื่องการตัก เพราะเด็กวัยนี้มือยังจับของไม่มั่นคง กินข้าวยังไม่ถนัด ดังนั้นกิจกรรมที่เขาต้องฝึกคือการตักเมล็ดข้าว อาจให้เขาฝึกตักจากซ้ายไปขวา ฝึกให้เขาทำบ่อยๆ ให้เกิดความชำนาญ พอเรียนรู้ฝึกฝนในห้องเรียนเสร็จ เวลาเขาออกจากห้องเรียน มันเป็นการเข้าสู่การปฏิบัติจริง อย่างเวลากินข้าวกลางวัน เขาก็จะกินได้เอง ที่นี่จะไม่มีการตักป้อนอาหารให้เด็ก หรือถ้าอยากให้มือเขาจับดินสอเขียนหนังสือได้ ก็ให้เขาฝึกปั้นดิน ให้ขยำดิน เพื่อฝึกกล้ามเนื้อของมือ เวลาที่เขาไปจับช้อน จับดินสอ มือของเขาจะจับสิ่งของได้อย่างมั่นคง พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ทำงานติดตามมานาน ความเหน็ดเหนื่อยคงจะมีบ้าง?
"ผมจะติดตามแม่แอ๊วมาตลอด มีช่วงหนึ่งที่แม่แอ๊วไปที่ไหนก็จะมีผมไปด้วย ไปลงพื้นที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่เสี่ยงอันตราย กลางค่ำกลางคืนดึกดื่น ผมไม่เคยเห็นแม่แอ๊วจะมีแววตาที่ท้อถอยเลย แม่ไม่เคยหยุด ไม่ว่ามันจะลำบากแค่ไหนก็ตาม ผมจึงเอามาเปรียบเทียบกับตัวผมเองว่ายังหนุ่มยังแน่นแท้ๆ แล้วจะหยุดได้อย่างไร แม่แอ๊วเป็นแรงผลักดันให้ผมมีพลังใจที่จะทำงานต่อไป" ชัยณรงค์เล่าถึงความประทับใจในตัวผู้หญิงที่เขาเคารพรักเฉกเช่นแม่ด้วยรอยยิ้ม

*โรงเรียนนี้ ไม่ต้องมีกระดานดำ
"การศึกษาทางเลือกต้องหลุดพ้นไปจากห้องเรียน ไปจากครูบาอาจารย์ เพราะถ้าพูดว่าการศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้ ขณะที่เราใช้ชีวิต มันก็จัดเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งที่สร้างให้เราเติบโตทั้งความคิด และเติบโตจากจิตวิญญาณข้างใน ถ้าเราเข้าใจในสิ่งนี้มันก็เท่ากับว่าเราได้รับการศึกษาแล้ว" นั่นคือหนึ่งในความคิดของผู้หญิงที่ชื่อว่ารัชนี ธงไชย
"อย่างในตอนเด็ก จำได้ว่าพอเรากลับมาจากโรงเรียน แม่จะเรียกเรามานั่งตำน้ำพริกกับแม่ แล้วแม่ก็จะเล่าชีวิตของแม่ เล่าถึงปัญหาอุปสรรคในชีวิต เป็นเรื่องของครอบครัวบ้างอย่างกรณีสะใภ้กับญาติทางสามี แม่จะเล่าว่ามีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ใช้ความรู้สึกในการผูกมิตรกับเขาแบบใด เราจึงได้เรียนรู้จุดนั้นจากแม่ ทุกวันนี้เวลามีใครพูดถึงเราว่ามีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ในตัว เราเองจะหวนคิดถึงแม่ตลอด เพราะเราได้สิ่งนั้นมาจากการนั่งตำน้ำพริกกับแม่ ได้เห็น ได้ฟังชีวิตของแม่ ต่อจากนั้นมาเรายังได้เห็นได้ฟังชีวิตของคนอื่นๆ อีกมากมาย เราได้สัมผัสได้เรียนรู้จากคนที่หลากหลาย แล้วมันทำให้เรานำมาเป็นแม่แบบเพื่อปรับใช้กับชีวิตของเราได้" เธอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของเธอ
รัชนีกล่าวต่อไปว่า จากการที่เธอได้สัมผัสกับการศึกษาในระบบมา เธอบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่ แต่การที่เราเรียนรู้จากชีวิตของคนอื่นแล้วมันกลายมาเป็นตัวเราได้ อันนี้คือใช่ ฉะนั้นการศึกษาทางเลือกแบบนี้มันเปิดพื้นที่การศึกษาให้เราได้เรียนรู้มากกว่า ถ้ามีอิสระเราจะสามารถเรียนรู้อะไรได้กว้างขวางขึ้น
"เราก็เถียงกับกระทรวงศึกษาธิการว่าเราไม่เห็นด้วย กับการที่เด็กจะต้องใส่เครื่องแบบ หรือความคิดที่ว่าความรู้จะต้องได้จากห้องเรียนเท่านั้น บางทีการที่เราอยู่ในสนามเด็กเล่นเราก็สามารถเรียนรู้ได้ แม้แต่การนั่งพับผ้าเก็บใส่ตู้ก็จัดเป็นการเรียนรู้ได้ มีผ้าเยอะ ตู้มันเล็กใส่ได้ไม่หมด ก็หยิบเอามาพับใหม่ เรียนรู้จากการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ จะมีผ้ากองใหญ่แค่ไหนก็สามารถเก็บใส่ในตู้ใบเล็กนิดเดียวได้ ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังจากการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน"
"แต่ปัญหาตอนนี้คือ เราพยายามจะทำให้คนอื่นๆ ได้มองเห็นการศึกษาในมุมนี้ว่ามันสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ อนาคตเราต้องมานั่งคุยกันให้มากขึ้น จะต้องปรับเจ้าสิ่งอิสระนี้ให้คนอื่นได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้มันสื่อสารกับสังคม สื่อสารกับคนอื่นๆ ที่ชินกับระบบการศึกษากระแสหลัก เพราะเขาอาจยังมองไม่เห็นภาพ และต้องสร้างกระบวนการชี้วัด การประเมินผลให้มันชัดเจนมากขึ้น การปรับแบบนี้จะช่วยให้แนวทางการศึกษาทางเลือกเจริญเติบโตต่อไปได้" รัชนีตอบด้วยน้ำเสียงที่มีความหวัง

ไม่ว่าตัวเลขอายุจะเพิ่มไปขนาดไหน ก็ไม่เคยมีคำว่า 'หยุดพัก' ในพจนานุกรมของเธอจริงๆ

********************************
เรื่อง - วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม

รัชนี ธงไชย
พิภพ ธงไชย และ รัชนี ธงไชย คู่ชีวิตที่ร่วมสร้างสิ่งดีๆสู่สังคม
จินตนา แก้วขาว จากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภินันทน์ โชติรสเศรณี จากกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี
 ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาลานนา และ ชัยณรงค์ ฉิมชูใจ โรงเรียนอนุบาลสานรัก
รัชนีรับมอบภาพวาด
นักเรียนจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็กอ่านบทกวี เนื่องในงานกว่า 3 ทศวรรษการศึกษาทางเลือกไทย (วาระครบรอบ 60 ปี รีชนี ธงไชย)









กำลังโหลดความคิดเห็น