บทบาทการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดของผู้ชายที่ชื่อ "ธเนศ ตั้งเจริญมั่นคง" อาจได้รับการยอมรับในหลายวงการ แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป วันนี้ เขากลายเป็นคุณพ่อ และเลือกที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในบทบาทใหม่ ด้วยการนำเข้าแคมป์อินเตอร์สำหรับนักเรียนรุ่นเล็กจากแดนลุงแซม ภายใต้ชื่อ SuperCamp ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนกรกฎาคมนี้
ธเนศเปิดเผยถึงที่มาของการ "นำเข้า" หลักสูตรบริหารจัดการสำหรับเด็กจากเมืองนอกว่า "สังคมไทยในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้นทุกวันเกี่ยวกับวิธีคิดของเด็ก เด็กหลายคนก้าวร้าวมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น เด็กสมัยนี้ต้องเจอกับภาวะการแข่งขันสูง และผู้ปกครองเองก็อยากให้เด็กแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อจะได้ยืนหยัดต่อสู้ในเวทีโลกได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราห้ามเขาได้ยาก ดังนั้น เป้าหมายของผมในการจัด SuperCamp ในเมืองไทยก็คือ การเตรียมเครื่องมือเพิ่มทักษะในการดำรงชีวิตให้กับพวกเขา เพื่อให้เขาออกไปสู่โลกภายนอกและนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้จริง เขาจะมีชีวิตที่สุขมากขึ้น"
หลักสูตรของSuperCamp เกิดขึ้นเมื่อ 27 ปีก่อนโดย บ๊อบบี้ เดอร์พอร์ตเตอร์ ผู้นำวิธีการเรียนแบบควอนตัม (Quantum Learning Methods) มาใช้ ซึ่งในช่วงแรก ธเนศเล่าว่า มีเด็กในคลาสของบ๊อบบี้เพียง 3 - 4 คน แต่แล้วกลุ่มของ SuperCamp ก็ขยายใหญ่ขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้น จนในปัจจุบัน มีหลายประเทศทั่วโลกนำแคมป์ดังกล่าวไปเปิดสอน
แก่นสำคัญของค่ายคือหลักคิด 8 ประการที่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร ได้แก่ การเรียนรู้จากความล้มเหลว การมองโลกในแง่ดี การสร้างความสมดุลในชีวิต ความซื่อสัตย์ ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ การรู้จักยืดหยุ่น และการเอาใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ซึ่งข้อคิดเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติเด่นของบุคคลที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในระดับโลกกันทั้งนั้น
"ตัวผมเองสนใจวิธีการของแคมป์นี้ เพราะเราชอบพัฒนาลูกของเรา หลักสูตรของแคมป์จะให้เครื่องมือในการจัดการชีวิต หรือก็คือทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสอนวิธีให้เด็กหยิบเอาความรู้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้เร็วและสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งผมเองก็เคยบินไปสังเกตการณ์การจัดแคมป์ที่ประเทศสิงคโปร์ และเห็นพัฒนาการของเด็ก ๆ ในค่ายเช่นกัน"
"ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังใช้สตางค์ไปทุ่มให้เด็กมีเกรดดี ๆ เรียนรู้เยอะ ๆ แต่ในฐานะที่ผมเป็นคุณพ่อเหมือนกัน ผมบอกได้เลยว่า การที่เด็กคนนึงต้องเติบโตขึ้น เขาจำเป็นต้องมีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ทักษะในการตั้งเป้าหมายของชีวิต มีวินัยในตัวเอง เผลอ ๆ อาจต้องการในปริมาณมากกว่าความรู้ด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปจัดการความรู้ของตัวเอง ไปทำให้ความรู้เหล่านั้นมันเกิดประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมรอบข้างครับ"
ทั้งนี้ การถ่ายทอดหลักคิด 8 ประการให้กับเด็กนั้นจะถูกแทรกอยู่ในทุก ๆ วันของการอยู่ร่วมแคมป์
"เทคนิคของเราคือการเปลี่ยนเด็กด้วยกิจกรรม และการสร้างการมีส่วนร่วม ตลอดจนเทคนิคการสร้างบรรยากาศในแคปม์ที่จะสามารถดึงความสามารถของเด็กออกมาได้มากขึ้น เราไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์ แต่สอนเรื่องการจัดการตัวเอง และพบว่า หลังจากจบค่ายไปเด็กนำเอาวิธีเหล่านั้นไปใช้ถึง 98 เปอร์เซนต์ และ มีเด็ก 78 เปอร์เซ็นต์เรียนได้ดีขึ้น (วัดจากผลการเรียน)"
ธเนศเล่าถึงรูปแบบและความแตกต่างของการจัดแคมป์ในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันนี้ว่า การจัดแคมป์ในสหรัฐอเมริกานั้นจะเปิดรับบุคคลทุกช่วงอายุ เนืองจากเล็งเห็นว่าแต่ละช่วงอายุต่างก็พบเจอปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้ว ในสหรัฐอเมริกายังมีแคมป์สำหรับผู้ปกครองด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้ควบคู่กันไปกับเด็ก ๆ และสามารถนำพาครอบครัวไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างกลมกลืน
"แคมป์สำหรับพ่อแม่เป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกันครับ เพราะเด็กที่มาเข้าแคมป์จะได้รับการพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้านไปอีกขั้นหนึ่ง แต่เมื่อกลับไปบ้านและพบว่าผู้ปกครองยังมองเขาเหมือนเดิม ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเดิม เด็กก็จะเจอปัญหา และไม่สามารถนำวิธีปฏิบัติจากแคมป์มาใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ควรจะเป็น"
ขณะที่แคมป์รุ่นที่ 1 ของเมืองไทยนั้น ธเนศเลือกที่จะเปิดรับเฉพาะเด็ก โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุได้แก่ 9 - 12 ปี และ 13 - 16 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องไม่ธรรมดา เพราะว่าเขาต้องสามารถสื่อสารด้วย "ภาษาอังกฤษ" ได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่การจัดแคมป์มีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงซัมเมอร์ของโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในเมืองไทย กระนั้น ธเนศก็ยังเผยว่า ในอนาคต SuperCamp มีแนวโน้มที่จะเปิดหลักสูตรในภาษาไทยด้วยเช่นกัน
เมื่อถามถึงเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเข้าแคมป์ในครั้งนี้ เขาเปิดเผยว่า ควรเป็นเด็กที่ดูแลตัวเองได้เป็นสำคัญ เพราะตลอด 7 วันที่มาร่วมแคมป์จะต้องดูแลตัวเองตลอด ส่วนจะมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมหรือไม่ไม่สำคัญ เพราะทีมงานของ SuperCamp ทุกคนสามารถรับมือได้ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านจิตวิทยา ได้รับการอบรมมาโดยตรง สำหรับสถานที่จัดกิจกรรมนั้น ทีมงานผู้จัดได้เลือกสถานที่ของโรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์ (Harrow International School) เป็นที่รองรับ
เมื่อขอให้กัปตันแคมป์หัวนอกฝากทิ้งท้ายถึงผู้ปกครองสำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ในอนาคต และการปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องแก่บุตรหลาน ธเนศกล่าวว่า "ถ้าให้พูดถึงการเลี้ยงลูกแบบไทย ๆ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดีครับ แต่พ่อแม่ของเราพยายามโฟกัสไปที่การเรียน ทำให้เราให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตน้อยไป ทั้ง ๆ ที่จริง เราอาจใช้เวลาในส่วนนั้นมากกว่าการเรียนเสียอีก ส่วนเด็กที่เป็นปัญหาสังคม SuperCamp พยายามสอนให้เด็กเข้าใจชีวิตและแก้ปัญหาชีวิตด้วยตัวเอง สอนให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ คิดในแง่บวก และนำความรู้ของตัวเองออกไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็น และยังไม่เคยเห็นหลักสูตรที่เป็นรูปธรรมในบ้านเรา"