ฉันติดสารเสพติด
ฉันติดมันถึงขนาดที่จะต้องเสพมันอยู่ทุกๆ วัน ทุกๆ คืน
ฉันหวังอยากจะให้คนอื่นๆ เสพติดอย่างที่ฉันเป็นบ้าง ฉันพยายามชักชวนคนรอบข้างที่รู้จักทุกคน
เพื่อจะได้ลบล้างสถิติที่ว่า "คนไทยเราอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ไม่กี่บรรทัดต่อปี"
ได้ยินได้ฟังผลสำรวจนี้ทีไร ก็อดเสียใจไม่ได้
ในฐานะคนที่เสพติดตัวหนังสือขนาดหนักคนหนึ่ง
บุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญในช่วงก่อนและหลังการทำหนังสือคือบรรณาธิการ
หนังสือจะดีหรือไม่ดี ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านสายตาของบุคคลนี้มาแล้วทั้งสิ้น
แต่ฉันกลับได้ยินคำพูดหนาหูว่า "หนังสือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันนี้เป็นหนังสือขยะ"
ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไร?
...
*เรียนรู้แบบครูพักลักจำ*
"เมื่อก่อนต้องขโมยเงินจากเชี่ยนหมากเพื่อไปซื้อหนังสืออ่าน จึงถูกแม่ว่าแต่แม่ไม่ได้ว่าเรื่องอ่าน
หนังสือแต่ว่าเรื่องที่ขโมยเงิน" สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมช่อการะเกด เริ่มต้นชีวิตนักอ่านจากการอ่านหนังสือเล่ม เขาอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า สุชาติให้คำนิยามแก่โลกหนังสือที่เขาเติบโตมาว่าเป็น "ตลาดหนังสือระดับล่างเจือปนกับรสนิยมน้ำเน่า" เขามองการอ่านหนังสือว่าต้องอ่านให้ได้ทั้งเรื่องและภาพ การอ่านหนังสือจะทำให้เราได้เรื่องภาษา วิธีการผูกเรื่องให้น่าสนใจ ภาษาจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ซึมซับได้จากการอ่าน
สุชาติเล่าว่าน้าหมานผู้มีอาชีพเป็นคนขับรถเป็นผู้เปิดประตูสู่โลกการอ่านให้เขา ทุกครั้งที่น้าหมานอ่านหนังสือจบจะนำมาขายต่อให้เขาครึ่งราคา จากจุดนี้เองทำให้สุชาติได้รอบรู้มากขึ้น ได้รู้จักดอกไม้สด กุหลาบ สายประดิษฐ์ มนัส จรรยงค์ และในช่วงที่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3-4 เขาเคยทำหนังสือวาดภาพเล่าเรื่องให้เพื่อนร่วมชั้นได้อ่าน
ต่อจากนั้นเมื่อสุชาติได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทำให้โลกการอ่านของเขาเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม วรรณกรรมแปลจากต่างประเทศเริ่มก้าวเข้ามาสู่โลกการอ่านของเขา มันเป็นโลกที่แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เขาเริ่มอยากจะแสดงออก จึงลองส่งเรื่องไปตามหนังสืออนุสรณ์ของเพื่อนพ้อง ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ 'วัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาท' กำลังเติบโตขึ้น
สุชาติจึงเติบโตมาจากการอ่านและเรียนรู้กับโลกหนังสือในแบบที่ไม่ได้เป็นทางการ ไม่ได้เป็นระบบนัก
"ผมโตมาจากการทำหนังสือแบบเด็กวัด พอตกเย็นผมจะเดินไปที่โรงพิมพ์ ไปเรียนรู้การทำงานจากของจริง ได้สนิทกับช่างแท่น ได้รับความรู้เรื่องหนังสือ ตอนนั้นซึมซับทุกอย่างที่ขวางหน้า แบบครูพักลักจำ" เขาเล่าว่าถึงแม้ว่าจะไม่รู้ศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกกันในงานพิมพ์ แต่หากมีต้นฉบับสักเรื่องเขาก็สามารถเอาเข้าโรงพิมพ์แล้วไปทำให้เป็นเล่มออกมาได้ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนจบมาด้านวารสารศาสตร์ก็ตาม
เมื่อย้อนกลับไปดูคนยุคก่อนที่ทำหนังสือจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมาจากอุดมคติ เป็นคนที่รู้ว่าหนังสือคือตัวเขา หรือตัวเขาคือหนังสือ อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ใด ตอนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เขาจะมีบุคลิกแบบหนึ่ง ตอนเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มเขาก็จะมีบุคลิกอีกแบบหนึ่ง หนังสือที่ทำออกมาต้องมาจากอุดมคติ ดังคำกล่าวของกุหลาบที่ว่า "การเป็นสุภาพบุรุษคือการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น"
สุชาติกล่าวว่าคนที่อยู่ในแวดวงหนังสือยุคก่อนจะมีบุคลิกที่ 'เป็นนักเลงนิดๆ เป็นศิลปินหน่อยๆ' ความเป็นนักเลงหมายถึงเป็นผู้ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า ส่วนความเป็นศิลปินคือการผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผิดจากการทำงานของบรรณาธิการยุคปัจจุบันที่ทำงานในลักษณะที่มีบรรณาธิการCEO ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือถ้าบรรณาธิการCEO มองว่าต้นฉบับเรื่องนี้เมื่อพิมพ์แล้วจะขายไม่ได้ก็ไม่ให้ผ่าน เมื่อเขาไม่ให้ผ่านเพื่อไปทำ ก็ต้องรอการจ่ายงานมาให้ คล้ายกับรอทำตามคำสั่งอย่างเดียว สุชาติกล่าวถึงปรากฎการณ์ของบรรณาธิการยุคปัจจุบัน
*เครื่องหมาย ใครว่าไม่สำคัญ*
เรืองเดช จันทรคีรี มองว่าการทำหนังสือต้องเริ่มต้นตั้งแต่หลักการคิด เราควรจะคิดเป็นภาษา ถ้าใครเก่งด้านภาษาให้คิดเป็น 2 ภาษา คือทั้งไทยและอังกฤษ เนื่องจากภาษาเป็นตัวนำภูมิปัญญา
อีกประเด็นคือรูปแบบการอ่านหนังสือในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านจากหนังสือที่เป็นเล่มๆ จะอ่านแบบใดมันก็ถือว่าเป็นการอ่านเช่นเดียวกัน หากแต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นนักอ่านหนังสือจริงๆ ยังคงถนัดที่จะอ่านตัวหนังสือจากหนังสือที่เป็นเล่มมากกว่า
เรื่องของวรรคตอนก็เป็นสิ่งสำคัญ การจัดหน้าหนังสือภาษาไทยจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะมันไม่มีเครื่องหมายที่เป็นตัวบอกเราว่ามันขึ้นประโยคใหม่หรือยัง
"เราน่าจะคุยกันว่าควรมีเครื่องหมายวรรคตอน อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทย พระองค์เป็นคนแรกที่แปลงานของ อกาธา คริสตี้ ทรงแปลทั้งภาษาและเครื่องหมายครบทุกตัวอักษร" ดังนั้นผู้เป็นบรรณาธิการควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้ด้วยไม่ใช่เน้นแค่เรื่องภาษา
หลักอิทธิบาท 4 น่าจะนำมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นบรรณาธิการได้ เพราะคนที่จะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางของบรรณาธิการควรจะมีสี่ข้อนี้คือ หนึ่งต้องใจรัก สองต้องมีความพากเพียรในสิ่งนั้นๆ สามเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้นอย่างไม่ทอดทิ้ง และสี่สอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จนั้นให้ลึกซึ้ง
*บรรณาธิการศึกษา*
ทิพภา ปลีหะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงที่มาของการเปิดภาควิชาบรรณาธิการศึกษาว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วในวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 มกุฎและคณะได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อเสนอแนวคิดหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาบรรณาธิการศึกษา
"ตอนนั้นเรารู้สึกว่าหลักสูตรนี้น่าสนใจ จึงนำไปศึกษาแนวทางต่อ โดยศึกษาจากเอกสารข้อมูลแวดล้อมและจากนั้นก็ทำการศึกษาจากการทำวิจัย ผลของการทำวิจัยทำให้เรารู้ว่ามีคนสนใจอยากเรียนสาขานี้กว่า 500 คน"
ด้วยความที่ศาสตร์ด้านบรรณารักษศาสตร์และบรรณาธิการศึกษา เป็นศาสตร์ที่มีความใกล้เคียงกันทางคณะจึงตัดสินใจเปิดสาขาใหม่คือบรรณาธิการศึกษานี้ขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตให้ออกมาเป็นบรรณาธิการที่มีคุณภาพ
มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ หนึ่งในผู้ร่วมร่างหลักสูตรแผนการเรียน รวมทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนในโครงการนี้กล่าวไว้ว่า ขนาดของชั้นเรียนที่กำลังเหมาะสมคือชั้นเรียนที่มีผู้ศึกษาประมาณ 10 คน โดยบรรณาธิการสายพันธุ์ใหม่ควรมีลักษณะ 'ปากหมา ตาผี หูปีศาจ'
ทิพภากล่าวว่า อนาคตความสำเร็จของภาควิชาคงต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ที่ให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือในด้านการสอนจากประสบการณ์จริงด้วย เพราะการจะเป็นบรรณาธิการที่ดีเป็นเรื่องยากต้องมีทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์และทักษะความสามารถ การจะทำหนังสือที่ดีมันต้องเริ่มต้นมาจากการมีทีมงานที่ดี ที่ผ่านการบ่มเพาะปลูกฝังที่ดี
*Art&Craft*
สุชาติ กล่าวว่าคนที่ทำงานไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดไม่ควรขาดสองสิ่งนี้คือ นับถือตัวเองและนับถือผู้อื่น การเป็นบรรณาธิการเป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่ง คล้ายๆ กับการเป็นช่างฝีมือที่ต้องมีทั้งจิตใจที่ทุ่มเทและความเชี่ยวชาญ เรียกว่าต้องมีทั้งความ Art&Craft
การทำหนังสือจะให้ดีนั้นเราต้องรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการทำหนังสือ เพราะรากเหง้าการทำหนังสือของเรามีวัตถุดิบที่เต็มอุดมมาก ควรรับรู้ภาพรวมการทำหนังสือของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบเหล่านี้ถูกตัดตอนไปในหลายลักษณะ อาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษารากเหง้าของประวัติศาสตร์การทำหนังสือของคนยุคหลัง
ลักษณะของการเป็นบรรณาธิการนั้นควรจะรู้ด้านกว้างให้มากที่สุดและรู้ด้านลึกเฉพาะเรื่อง เรียกว่าได้ว่าต้อง 'รู้แบบเป็ด' ควรมีความรู้รอบตัวให้มาก รอบรู้ทั้งเรื่องหนังสือ เรื่องนักเขียน
"แต่คุณสมบัติประการแรกที่ขาดไม่ได้เลย คือต้องเป็นนักอ่าน ถ้าไม่ได้รักการอ่านก็อย่ามาเป็นดีกว่าเพราะมันไม่มีความหมาย พอมีเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามา เราเลยขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการพิมพ์ แต่ด้วยความสงสัยผมจึงนึกย้อนกลับไปว่า ถ้าบ้านเรามีวัฒนธรรมการพิมพ์ก็แล้ว แต่วัฒนธรรมการอ่านมันหายไปอยู่ที่ไหน?"
หรือมันไม่ได้หายไปไหน แต่มันไม่เคยมีอยู่จริงเลยต่างหาก ฉันนั่งนิ่งคิดในใจ
หรือจะเป็นเพราะในบ้านเรามีหนังสือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นหนังสือขยะ? สุชาติพูดขึ้นต่อเหมือนตั้งใจจะสนทนากับความคิดของฉัน
...
*แบบสดแบบแห้ง*
สุชาติกล่าวว่าบ้านเราแม้จะไม่เคยมีโรงเรียนทำหนังสือที่สอนอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่ก็ยังมีการเรียนรู้การทำหนังสืออยู่ ซึ่งมักเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
คำว่าวิชาหนังสือมันมีความหลากหลาย ตัวบรรณาธิการเองก็มีความหลากหลายไม่แพ้กันมีทั้ง 'บรรณาธิการแบบสดและบรรณาธิการแบบแห้ง' ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในรูปแบบและสไตล์การทำงาน ตัวอย่างบรรณาธิการแบบสดจะเป็นพวกหนังสือพิมพ์ ส่วนบรรณาธิการแบบแห้งจะเป็นการทำงานในลักษณะการรวบรวมต้นฉบับอย่างพวกนิตยสาร
การทำงานในแบบฉบับของหนังสือพิมพ์นั้นจะเน้นไปที่ความสด เป็นการทำไปตามวาระนั้นๆ อย่างช่อการะเกดก็เป็นลักษณะการทำงานของบรรณาธิการแบบสด ว่ากันเป็นวาระๆ ไป ซึ่งต้องอิงตามรสนิยมส่วนตัวของบรรณาธิการด้วย
*Ontology Language*
สุชาติกล่าวถึงลักษณะงานออนโทโลจี (Ontology) ว่าในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สังคมมองข้ามไป ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะทำงานในลักษณะนี้ ซึ่งสุชาติมีความเห็นว่ามันค่อนข้างสำคัญ โรงเรียนวิชาหนังสือน่าจะมีตรงส่วนนี้ใส่ไว้ในหลักสูตรด้วย เพราะจะทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่านักคิด นักเขียนในยุคก่อนๆ เขาคิดอ่านอะไรกัน ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงภาพรวมของสิ่งที่ผ่านพ้นมา ได้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย มันจะส่งผลดีในด้านที่จะทำให้วัฒนธรรมการอ่านเจริญเติบโตขึ้น
งานแบบอัดกระป๋องที่ไม่ได้อ้างอิงเวลาตีพิมพ์ครั้งแรก ถือเป็นออนโทโลจีที่ไม่มีคุณภาพ ตัวอย่างงานออนโทโลจี อย่างหนังสืองานศพถือเป็นการทำหนังสือในแบบออนโทโลจี ที่ทำเพื่อรักษาต้นฉบับเก่าที่หายากเชิงประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ทั้งนี้ก็เพื่อต่ออายุของมันไว้ แต่งานออนโทโลจีในปัจจุบันมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นการสรรเสริญประวัติของตระกูลตัวเอง ไม่เหมือนแต่ก่อน
"เคยมีเด็กเข้ามาถามว่ามนัส จรรยงค์ได้รางวัลซีไรต์หรือเปล่า?" คือเขาได้อ่านหนังสือของคุณมนัสที่ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2512 ตรงนี้จะไปโกรธเด็กก็ไม่ได้แต่ต้องโกรธที่ระบบวรรณกรรมในบ้านเราไม่ดีมาตั้งแต่แรกทำให้เด็กรุ่นหลังไม่รู้ถึงความจริงว่ามนัส จรรยงค์เสียชีวิตไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2508 แล้ว
*โรงเรียนวิชาหนังสือ จุดเริ่มต้นของหนังสือดีๆ*
เป็นที่รับรู้กันโดยถ้วนหน้าแล้วว่าสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยถูกจำกัดเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดต่อปี
ที่ใช้คำว่าจำกัดนั้น คงไม่ได้เกิดจากการละเมิดสิทธิของใครต่อใคร แต่อาจเป็นเพราะการจำกัดด้วยตัวเอง หรืออาจถูกจำกัดด้วยขอบเขตที่ใหญ่กว่านั้นอย่างรัฐ
สำนักพิมพ์ผีเสื้อสเปนอันเป็นสำนักพิมพ์ย่อยที่แตกแขนงมาจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เพิ่งถูกก่อตั้งได้ไม่นานนักโดยวัตถุประสงค์ของการแยกออกมาในครั้งนี้ก็เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการแปลวรรณกรรมต้นฉบับจากภาษา สเปนโดยเฉพาะ
"จริงๆ แล้วงานทำหนังสือ ตั้งโรงเรียนวิชาหนังสือ การแปลวรรณกรรมคลาสสิก มันเป็นเรื่องและหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาผมพยายามจะเข็นประเด็นนี้มานานแล้ว ถ้าเราอยากจะตามทันประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียในเรื่องการอ่านหนังสือ คงต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 100 ปีเผลอๆ อาจต้องใช้เวลายาวนานถึงล้านปีก็เป็นได้ เพราะไม่มีใครในรัฐบาลที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนในประเทศของเรามีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดขึ้น หรือเป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่อยากให้คนในประเทศไทยฉลาด?" มกุฎ ตัดพ้อถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องผลักดันเปิดโรงเรียนวิชาหนังสือขึ้น
การที่รัฐบาลมีนโยบายไปสร้างห้องสมุดในห้างสรรพสินค้าที่ต้องเสียค่าเช่าปีละหลายสิบล้านบาท หากรัฐเอาเงินค่าเช่าห้องสมุดในห้างสรรพสินค้าของ 2 ปี จะสามารถตั้งโรงเรียนวิชาหนังสือได้ทันที หรือหากรัฐเอาเงินค่าเช่าห้องสมุดในห้างสรรพสินค้าของ 10 ปี จะสามารถวางระบบการอ่านหนังสือที่ดีให้ทั่วทั้งประเทศได้ทันที
นับว่าเป็นเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปอย่างไม่คุ้มค่านัก ฉันคิดถึงอย่างเสียดาย
มกุฏเล่าให้ฟังต่อไปว่า ปัจจุบันนี้นักเขียนเริ่มละเลยบรรณาธิการ ไม่เห็นว่าบรรณาธิการจำเป็นอีกต่อไป ทำให้เราได้งานวรรณกรรมที่มีลักษณะอย่างปัจจุบันออกมาให้เห็น ทั้งๆ ที่ตัวบรรณาธิการยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการทำหนังสืออยู่เสมอ
"เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอย่างจำนวนบรรทัดในหนึ่งหน้าหนังสือ โดยปกติจำนวนบรรทัดในแต่ละหน้าจะต้องมีประมาณ 23-25 บรรทัด นั่นหมายความว่าถ้าหนังสือมีจำนวน 300 หน้า เขาจะขายให้เราได้ในราคา 150 บาท หรือถ้าหนังสือมีจำนวน 150 หน้า เขาจะขายให้เราได้ในราคา 75 บาท ซึ่งหมายความว่าเราจะสามารถประหยัดค่ากระดาษ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ทำให้โลกร้อนน้อยลง เราสามารถประหยัดสิ่งเหล่านี้ไปได้กว่าครึ่ง แต่ราชบัณฑิตฯไทยกลับกำหนดมาตรฐานให้มีจำนวนบรรทัดเพียง 15 บรรทัด มันเกิดอะไรขึ้น เห็นได้จากพจนานุกรมราชบัณฑิตฯฉบับปัจจุบัน สิ่งนี้มันทำให้ผมตัดสินใจทำโรงเรียนวิชาหนังสือนี้ขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเด็กรุ่นใหม่จะคิดว่าจำนวนบรรทัด 15 บรรทัดนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง และมันยังทำให้ชาติอื่นๆ มองการทำหนังสือของบ้านเราว่าเขลา เรากำลังวิกฤตเรื่องหนังสือ วิกฤตเรื่องรัฐบาลยังไม่เท่าไหร่ยังมีกลุ่มคนที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้พร้อมจะช่วยเหลือ แต่ถ้าวิกฤตเรื่องหนังสือมันไม่มีใครช่วย"
เรื่องปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านเป็นเรื่องที่ใหญ่ระดับชาติ
แต่การเริ่มต้นของมันไม่ยากเลย ง่ายแค่หยิบหนังสือข้างตัวมาเปิดอ่าน
'เริ่มต้นอ่านที่ตัวเอง' จุดเล็กๆ ที่ทำได้ตั้งแต่วันนี้ ฉันคิด
คิดจบประโยค ก็หยิบหนังสือข้างตัวมาเปิดอ่านต่อ ด้วยความติดขนานหนักต่อไป
**********************
เรื่อง - วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม