xs
xsm
sm
md
lg

พิราบน้อย...สนามข่าวฝึกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ถ้าเรามีความฝัน เราก็จะมีความหวัง"

ประโยคสั้นๆ ที่มีคำไม่กี่คำ กลับช่วยจุดประกายความหวังให้กับคนสิ้นหวังขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับพิราบน้อยที่ต่างโบยบินตามหาความฝัน ซึ่งมีพิราบน้อยรุ่นพี่ช่วยดลบันดาลเส้นทางสู่สนามข่าวฝึกหัดให้กับพวกเขา ที่สำคัญสนามข่าวดังกล่าวยังเปี่ยมไปด้วยขุมคลังความรู้และจิตวิญญาณของวิชาชีพสื่อเพื่อเป็นเบ้าหลอมให้พิราบน้อยรุ่นต่อๆ ไปเติบโตเป็นพิราบใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า


โครงการพิราบน้อยเกิดขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับบริษัททรู คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยเริ่มแรกเป็นรูปแบบของการทำหนังสือพิมพ์ส่งเข้าประกวดของมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เมื่อโครงการดำเนินไปได้ 2-3 ปีโครงการดังกล่าวจึงได้พัฒนามาเป็นรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการนอกสถานที่

กว่าจะมาเป็นพิราบน้อย
เดิมทีสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งระเทศไทย ไม่ได้ผนวกเข้าด้วยกัน แต่เพื่อความเป็นเอกภาพภายใต้การดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน จึงรวมทั้งสองสมาคมเข้าด้วยกันเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543

สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมานานอีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่สอนทางด้านวารสารศาสตร์โดยตรง เล่าให้ฟังในช่วงพักกลางวันว่า หลักสูตรการฝึกอบรมจะเน้นที่ภาคปฏิบัติ โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์และมุมมอง ทัศนคติของคนในวิชาชีพสื่อรุ่นพี่ การฝึกอบรมดังกล่าวทางสมาคมฯ เป็นองค์กรแห่งแรกที่อบรมพิราบน้อย โดยออกจากรั้วโรงพิมพ์เข้ามายังรั้วมหาวิทยาลัย

วิธีการคัดเลือกจะให้อาจารย์เป็นคนคัดเลือกมามหาวิทยาลัยละ 2 คน ช่วงแรก มี 50-70 คน ขณะที่เด็กบางคนไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม ทางสมาคมฯ จึงเปิดทางเลือกให้อีกทางหนึ่งคือ ส่งบทความเข้ามาคัดเลือกอีก ประมาณ 20 คน รวมกันแล้วก็เกือบ 100 คน

จากความสำเร็จของพิราบน้อยใน 1 ศตวรรษ ก็เกิดโครงการต่างๆ ตามมา เช่น พิราบสิ่งแวดล้อมที่จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สายฟ้าน้อยของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย และพิราบดิจิตอลของชมรมนักข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตัวโครงการมันดีอยู่แล้ว แต่อาจารย์อยากให้เพิ่มหลักการปลูกจิตสำนึกของคนทำอาชีพสื่อให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากจบหลักสูตรไปแล้วไปทำงานข่าว บอกว่าเป็นหนึ่งในพิราบน้อย แต่พอทำงานกลับขาดจิตสำนึก อันนี้ก็ไม่ดี คนเก่งๆ ในสังคมเรามีเยอะ แต่คนที่มีคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพกลับมีน้อยมาก แต่หากสามารถปลูกจิตสำนึกได้ เราก็จะสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ให้กับวงการได้ การเตรียมตัวสู่วิชาชีพสื่อ โครงการพิราบน้อยเป็นโอกาสหนึ่ง ที่นักศึกษาทุกคนสามารถเข้ามาร่วมได้ เพียงแต่เตรียมตัวเองให้พร้อม ซึ่งคนที่อยากจะเข้ามาเป็นนักข่าวก็ไม่ควรพลาดโครงการดี ดีแบบนี้

ขณะที่ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี หัวหน้าศูนย์ข้อมูล-ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เล่าให้ฟังว่า คณะกรรมการที่สมาคมร่วมหารือว่า เราจะต้องพัฒนาคน และบุคลากรโดยเริ่มต้นจากทางมหาวิทยาลัยก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วิชาชีพสื่อ

ตอนแรกอบรมเชิงปฏิบัติการที่ กทม. เราไปขอใช้ห้องประชุมของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และในปีนั้นก็เป็นปีที่มีความวิกฤติทางเศรษฐกิจมาก เราใช้งบประมาณในการจัดเพียง 7 หมื่นบาท นักศึกษาหลักที่เราคัดเลือกก็มาจากมหาวิทยาลัยที่ส่ง นสพ.ฝึกปฏิบัติเข้าประกวดเสียส่วนใหญ่ ในปีนั่นมีประมาณ 40-50 คนได้ มีเด็กต่างจังหวัดเพียง 20 คน

เมื่อค่ายแรกผ่านพ้นไป เด็กที่เข้าร่วมโครงการจึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้เด็กๆ ทั้ง กทม. และต่างจังหวัดได้นอนค้างคืนที่เดียวกัน เพื่อให้มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันมากขึ้น ทางเราจึงนำความคิดดังกล่าวมาทำให้เป็นจริง ที่สำคัญต้องขอบคุณอาจารย์บรรณยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ ที่เข้ามาช่วยขอทุนสนับสนุนในโครงการดังกล่าว

คนที่เข้าร่วมจะดูจากเกณฑ์การเรียนการสอนวิชาวารสารศาสตร์ ซึ่งเท่าที่ผ่านมามหาลัยไหนส่ง นสพ.เข้าร่วมโครงการก็จะมีสิทธิก่อน หรืออาจจะเป็นสถาบันที่ไม่มีการเรียนการสอนแต่อาจารย์สนใจ เราก็จะเชิญเขาเข้าร่วม ขณะที่พิราบน้อยรุ่น 5 ได้ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ของรุ่น จากนั้นก็เริมมีเว็บบอร์ด บางรุ่นถึงกับจัดเวรมาเป็นเว็บมาสเตอร์กันเลยทีเดียว

ปัญหาของพิราบน้อยคือ ไม่ค่อยสนิทกัน ไม่มีความเป็นรุ่น เนื่องจากสาเหตุที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่อยากมาถูกบังคับให้มา ส่วนใหญ่ก็มาเพราะความไม่ตั้งใจ มันเลยเป็นการไม่ค่อยรักในวิชาชีพสื่อมากเท่าไหร่ มาก็ฟรี ไม่เสียตังค์ ซึ่งแตกต่างจากโครงการยังเว็บมาสเตอร์แคมป์ ที่ให้แต่ละคนแข่งขันกันสมัครเข้ามา แถมยังเสียเงินอีกต่างหาก แต่สิ่งที่เราได้คือ พวกเขาสามารถรวมรุ่นกันได้อย่างเหนียวแน่น พอเสร็จจากค่าย พวกเขาก็มารวมตัวกันเพื่อจัดให้รุ่นน้องเข้าอบรมต่อไป มันสะท้อนให้เห็นว่า คนที่มีใจรัก และมุ่งมั่นมักจะรวมตัวกันได้มากกว่าคนที่ถูกบังคับมา

โครงการไซเบอร์ รีพอตเตอร์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยากจะให้พิราบน้อยรุ่นต่างๆ ที่อยากจะกลับมาพบเจอเพื่อนๆ ในรุ่นโดยการส่งข่าวเข้าประกวดในเว็บ ใครที่ส่งข่าวประจำ ก็จะสามารถกลับมาเจอเพื่อนได้อีกครั้ง ซึ่งถ้าใครขี้เกลียดก็จะไม่ได้กลับมาเจอเพื่อนอีก เป็นการวัดว่าใครที่รักกันจริง เขาก็จะอยากที่จะส่งข่าวเข้ามา แต่ก็ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่ผ่านทางคณะกรรมการ ตอนนี้ก็ลองทำพิราบน้อยต่างจังหวัด เปิดโอกาสให้เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการบ้าง เด็กกรุงเทพฯ มีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว ซึ่งก็ลองทำมาสองปี อยากขยายให้กว้างมากขึ้น

เรือจ้างที่ร่วมปูทางสู่ความสำเร็จ
ในช่วงเวลาที่พิราบน้อยแต่ละคนต่างเคร่งเครียดกับการทำหนังสือพิมพ์ ฝึกปฏิบัติอยู่นั้น ยังมีคู่หูดูโอ้ที่มากด้วยอารมณ์ขัน แถมยังน่ารักน่าหยิก เปิดตัวมาแต่ละทีก็มีอะไรแปลกๆ มาให้น้องๆ ได้สนุกกัน ที่กล่าวมานี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก มนตรี จุ้ยม่วงศรี หรือพี่โอ๋ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน อดีตพิราบน้อยรุ่น 6 ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าจำไม่ได้จริงๆ ว่าตนเองอยู่รุ่นที่เท่าไหร่ อีกหนึ่งหนุ่มอารมณ์ดีคือ อนิรุท มีสกุล หรือพี่เอก ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ และพี่เลี้ยงสันทนาการ

พี่โอ๋บอกว่าแต่ก่อนก็เป็นนักศึกษาภาคค่ำและก็ทำหนังสือพิมพ์ฝึกหัดเหมือนน้องๆ ที่ เรียนวารสารศาสตร์นี่แหละ และอาจารย์ก็ส่งชื่อเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่า คงได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ พอกลับมาก็นำความรู้มาปรับใช้ เอาเทคนิคมาใช้ในการทำข่าว และส่งหนังสือพิมพ์ที่ทำเข้าประกวด ก็ได้รางวัลยอดเยี่ยมมาครองสองปีซ้อน งานนี้พี่โอ๋เป็นบรรณาธิการเอง

"พี่ชอบตอนที่ อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง สอนตอนเรื่องการจัดหน้า การวางรูป เลือกรูป และเอาความรู้กลับมาใช้ในการทำ นสพ. โดยเน้นเรื่องของการคิดประเด็น และลงภาคสนามเป็นหลัก ประทับใจนักข่าวเก่งๆ อย่างพี่อิศรินทร์ หนูเมือง ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล นสพ.ประชาชาติธุรกิจ หรือพี่สวน เคยบอกพวกพี่ว่า "ของที่เหมือนกันมักจะไหลมารวมกัน" เปรียบเหมือนพวกเราที่ชอบงานข่าวเหมือนกัน และพวกเราก็ได้มาพบกันที่นี่ พี่สวนยังสอนให้น้องๆ มีทั้งศาสตร์หรือความรู้ และมีศิลป์ หรือจินตนาการโลกทัศน์ที่กว้างขวาง

ปัจจุบันนี้นักศึกษาประสบปัญหา เรื่องของการคิดประเด็นไม่เป็น และมักมองข้ามการทำข่าว ซึ่งเมื่อมาเข้าค่ายแล้วแต่ไม่เอาความรู้และประสบการณ์กลับไปทำกิจกรรมในมหาลัย ไม่กี่วันก็ลืมหากเราไม่เอาไปทำ หากเราไม่สนใจจริงๆ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวเด็กเองมากกว่า เหมือนการทำประตูเข้าบ้าน หลักสูตรที่มีให้ดีหมด ประตูที่สร้างก็ดีมีคุณภาพ แต่ถ้าผู้อยู่อาศัยไม่ดูแลรักษาประตูหรือความรู้ที่มีอยู่สักวันก็จากไป อยากให้เราถามตัวเองว่าอยากเป็นอะไร ถ้าอยากเป็นนักข่าว ก็เริ่มทำข่าวตั้งแต่ในสถาบันเลย

เด็กที่มาน่าจะเป็น ปี 1 ปี 2 มากกว่า พอกลับไปจะได้ไปฝึกงานทำหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัยเลย จะได้มีประสบการณ์ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาลัย แต่ปัจจุบันเด็กที่มาเป็นปี 3 ปี4 อย่างนี้ พอเข้าค่ายเสร็จก็เรียนจบ แล้วก็ไปฝึกงานต่อ ไม่ได้มีโอกาสนำความรู้มาใช้ในสนามข่าวในมหาลัยเลย

"วันเวลาเปลี่ยนไป สถานะของเราก็เปลี่ยนไป แต่ความสุขที่เราได้อยู่ในโครงการมันสามารถสร้างได้เหมือนเดิม จากวันนั้นพี่เคยเป็นเด็กที่เข้าร่วมโครงการ และเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเมื่อก่อนพี่มารับความรู้ ได้รับโอกาสดีๆ พี่ก็จะเข้าใจเด็กๆ ที่เข้ามาร่วมโครงการว่าเขารู้สึกอย่างไร เหมือนเป็นวัฎจักร เวลาเราไปรับของอะไรเขามาเราก็ต้องตอบแทน ที่สำคัญเหมือนกับพี่ได้มาเพิ่มเติมวิชาความรู้ที่เรียนมา บางที่อาจจะลบเลือนไป เหมือนปลุกไฟให้ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมาเห็นเด็กๆ ได้ร่วมกันทำกิจกรรม" พี่โอ๋ บรรยายภาพความรู้สึกเมื่อวันวาน
ก่อนกลับ พี่โอ๋ยังฝากทิ้งท้ายว่า ถ้าเด็กที่มาเรียนทางนี้ อยากทำอะไรก็ทำเถอะ เชื่อมั่นว่าหากใครที่มีความมุ่งมั่นและมีความฝันจะต้องได้ทำในสิ่งมี่เราต้องการแน่ เพียงแต่เราต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และใช้ชีวิตให้มีความสุข

ด้านอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ โปรเจคเมเนเจอร์โครงการพิราบน้อยและผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า โครงการพิราบน้อยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกพี่เลี้ยงที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการนักข่าวใหม่ ที่มีอายุการทำงาน 3-5 ปี ผ่านกฎกติกาที่เขาวางกรอบเอาไว้ เพื่อมาคัดเลือกดูว่าใครที่เหมาะสมที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงมากที่สุด เราจะเน้นในเรื่องคุณสมบัติของคนที่มีจิตวิญญาณของคนข่าว ไม่ใช่ว่านักข่าวทุกนจะสามารถมาเป็นพี่เลี้ยงได้นะ ต้องดูอุดมการณ์จิตวิญญาณของนักข่าว มีใจรัก เน้นในเรื่องของการเข้าใจการสอนน้อง มีประสบการณ์ความรู้ในระดับหนึ่ง ในการทำข่าวและการทำงาน ต้องดูแลน้องๆ หากน้องมีความคิดเห็นที่เคยแยกกันหรือมีปัญหาในเรื่องประเด็น ต้องสามารถเชื่อมโยงให้น้องๆ มาช่วยกันชี้แจงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

เรื่องของหลักสูตรมีการปรับปรุงทุกปี ตามแต่สถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น อย่างเช่นรุ่นที่ผ่านมาเราได้เพิ่มหลักสูตรการถ่ายภาพเข้าไป และขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละช่วง
ช่วงที่ผ่านมาทางคณะกรรมการได้ร่วมหารือว่าจะมีการประชุมพิราบน้อยทั้ง 10 รุ่นโดยตั้งใจไว้ว่าจะจัดในปลายปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ด้วยเหตุขัดข้อง จึงเลื่อนมาปีนี้เดือน กุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากติดงานสมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงเลือนออกไปอีก ซึ่งก็ตั้งใจว่าจะเป็นกลางปีนี้ หรือไม่ก็ให้หลังจากการเข้าค่ายพิราบน้อย รุ่น 11 เป็นต้นไป รูปแบบการจัดงานจะเป็นเวทีร่วมพูดคุยกัน ในเชิงพบปะสังสรรค์กันในเวทีก็จะให้พิราบน้อยแต่ละรุ่น มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันว่าที่ผ่านมาได้ไปทำอะไรมาบ้าง

อย่างไรก็ตามพี่รัตน์ บอกว่า คนที่เคยเข้าร่วมโครงการพิราบน้อย ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีปัจจุบันมีเพียง 20% เท่านั้นเองที่กลับมาทำอาชีพหนังสือพิมพ์ โดยส่วนใหญ่จะหันไปอยู่ในองค์กรสื่อมวลชนโทรทัศน์มากกว่า อาจเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ด้วยที่นิยมทำงานด้านโทรทัศน์มากกว่าหนังสือพิมพ์

ผู้สนับสนุนเพียงรายเดียว ยังยินดีให้การสนับสนุนต่อไป
เสาวนีย์ ลิมมานนท์ รองผู้อำนวยการ, หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มทรู ที่ได้สนับสนุน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโครงการพิราบน้อยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งมั่นและความตั้งใจของทรูที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกเหนือไปจากการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารภายในกลุ่มทรูเพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทั่วโลก ทรู ตระหนักดีว่าข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างสรรค์คนในสังคมให้มีความรู้มากขึ้นคิดได้ ตัดสินใจได้บนพื้นฐานของเหตุผลดังนั้น เยาวชนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร นอกจากจะต้องมีความรู้และทักษะ

มิตรภาพ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ
ด้านพนัสชัย คงศิริขันต์ หรือกุ๊กพิราบน้อยรุ่น 10 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เล่าให้ฟังว่าได้ รู้จักโครงการพิราบน้อยมานานแล้วจากเพื่อนที่เคยไปเข้าค่าย พอเปิดเทอมมาก็รอตลอดว่า เมื่อไหร่อาจารย์ จะบอกเสียทีว่ามีโครงการดังกล่าว ในเวลาต่อมาอาจารย์ ก็สั่งให้เพื่อนในห้องทุกคน ส่งบทความโดยมีหัวข้อว่า "การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง เอเอสทีวีและพีทีวี" และเขาก็ได้เป็นหนึ่งในพิราบน้อยรุ่น 10 ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากการเขียนบทความ

จากการเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้การหาประเด็น ในช่วงเวลาอันจำกัดคือ มีเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้นต้องปิดข่าวให้ได้ ซึ่งเขาเป็นบก. ของกลุ่มสีขาวด้วย จึงต้องตามดูประเด็นที่เพื่อนๆ ในกลุ่มทำให้หนังสือพิมพ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ประโยคที่เขาประทับใจคือ "ภาพที่ดีที่สุด คือภาพที่ยังไม่ได้ถ่าย" ของพี่นันทสิทธิ์ นิตย์เมทรา ช่างภาพหนังสือพิมพ์จากเครือเดอะเนชั่น หรือพี่ออฟออฟ ที่เคยบอกเอาไว้ เวลาทำข่าว หากเรารอคอยเวลาสักนิด ภาพที่ดีกว่าอาจจะเกิดขึ้นก็ได้

ส่วนกิจกรรม Monato เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มาจากกว่า 30 สถาบันทั่วประเทศ เป็นกิจกรรมที่เราสามารถบอก ความรู้สึก รัก และห่วงใย ผ่านข้อความไปยัง Monato ที่เราดูแลอยู่เหมือนสายลับที่คอยดูความเคลื่อนไหวของ Monato เราดีดีนี่เอง กุ๊กบอกอีกว่าประทับใจเพื่อนๆ ทุกสี ต่างรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว และมิตรภาพที่เพื่อนๆ ทุกคนมีให้กัน วันสุดท้ายกุ๊กยอมรับว่า ไม่เคยเสียน้ำตาให้กับการเข้าค่ายที่ไหนเลย แต่พอมาค่ายนี้ เขาถึงกับน้ำตาไหล คิดว่า "อะไรวะ วันสุดท้ายแล้วหรอ ทำไมเร็วจัง เขายังรู้จักเพื่อนไม่ครบทุกคนเลย จะกลับกันแล้วหรอ" และพี่เลี้ยงก็เปิดเพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน มันยิ่งทำให้ผมซาบซึ้งเข้าไปอีก

"บางทีการมุ่งมั่นก็อาจจะปกป้องผลส่วนรวมได้ ผมขอนำวาทะของ ศรีบูรพา - กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยกล่าวไว้นานแล้วในหน้าบทนำของ นสพ.สุภาพบุรุษ - ประชามิตร ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม 2487 ว่า "ในเวลาสงบท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตะวัน ใคร ๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้าฟ้าคะนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาศ ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบ ฟ้าสว่าง ใคร ๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เรายืนอยู่ที่เดิม และจักอยู่ที่นั่น" ไม่ว่าจะมีอิทธิพลมืดของใครเข้าปกคลุม ผมก็จะพยามต่อสู้ ด้วยกำลังความสามารถโดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลมืดดังกล่า;

"ผมเองก็ฝันที่จะเป็นหนึ่งที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์เพราะเรียนมา ถึง 4 ปี ฝึกงานก็ฝึกแล้ว คืออยู่กับมันมานานหลายปี หากอนาคต ผมไม่ได้ ทำงานหนังสือพิมพ์ ผมคงนอนตายตาไม่หลับ ชีวิตของเหล่าพิราบน้อยในวันนี้กำลังจะเติบใหญ่รอการกระพือปีกเป็นพิราบใหญ่ในวันข้างหน้า เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของปวงชน เป็นปากเป็นเสียงให้ปวงชน คาบข้อเท็จจริงด้วยความสัตย์ซื่อ และพร้อมสืบสานเจตนารมณ์เสมือนเหล่าพิราบใหญ่ในวันนี้ ซึ่งกำลังมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องแลกมาด้วยการเสียสละก็ตาม" ก่อนจะจากกันในวันนั้น กุ๊กหนุ่มนักวารสารศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของคนข่าว ส่งยิ้มให้อย่างอบอุ่น

*******************

คนที่เคยเข้าร่วมโครงการพิราบน้อยทั้ง 10 รุ่น ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะจัดให้มีการรวมรุ่นทั้ง 10 รุ่น หากใครที่ขาดการติดต่อสามารถติดต่อไปที่ทางสมาคมฯ โปรดแจ้งชื่อ ที่อยู่ของท่านไว้ เพื่อจะได้ทำเป็นทำเนียบรุ่นต่อไป

อ้างอิงข้อมูล
ข้อมูลบางส่วนจาก ข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

*******************

เรื่อง - ออรีสา อนันทะวัน










กำลังโหลดความคิดเห็น