xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง ทางสว่างเพื่อผู้พิการทางสายตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์มณเฑียรกับเพื่อนต่างชาติขณะเข้าร่วมงานนิทรรศการเทคโนโลยี i-CREATe 2008
"การดำเนินชีวิตของคนตาบอดนั้นเหมือนกับคนปกติทั่วไป มีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งบัณฑิตและโจร ฉะนั้นการที่บุคคลคนหนึ่งตาบอดก็ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความผิดแปลกจากคนทั่วไป ปัญหาอยู่ที่โอกาสในการเรียนรู้มากกว่า"

คุณรู้หรือไม่ว่าเครื่องพิมพ์ดีดแบบสัมผัสที่เราใช้กันในยุคแรกนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้คนพิการทางสายตาสามารถเขียนข้อความได้อย่างสะดวก เช่นเดียวกับเครื่องสแกนเนอร์ที่ใช้สำหรับสแกนภาพและข้อความต่าง ๆ ซึ่งแนวคิดเทคโนโลยีเครื่องสแกนนี้มีพื้นฐานมาจากเครื่องอ่านเอกสารสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยใช้ OCR (Optical Character Recognition) เป็นสื่อกลางในการทำงานระหว่างสแกนเนอร์กับคอมพิวเตอร์

ผู้ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกของผู้พิการทางสายตาได้ดี คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบุคคลที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้พิการทางสายตา นายมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หรือที่รู้จักกันในนาม อาจารย์มณเฑียร ซึ่งที่มาของการก้าวมาเป็นอาจารย์นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้บุคคลทั่วไปเรียกกันติดปากจนถึงทุกวันนี้

อาจารย์เผยว่าในประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตาประมาณ 600,000 ราย ถ้านับรวมทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 6,000,000 กว่าราย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้พิการสามารถเผชิญอยู่บนโลกใบนี้ได้ มีด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. เรื่องของยูนิเวอร์แซลดีไซน์ 2. เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก 3.ความรู้ทักษะในการใช้งานของผู้พิการเอง 4.สังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการเป็นที่ยอมรับของคนปกติทั่วไป

เทคโนโลยีเพื่อผู้พิการทางสายตา

อ.มณเฑียร เล่าถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการทางสายตาว่า มีวิวัฒนาการมายาวไกลตั้งแต่ยุคโบราณกาล ที่ให้ผู้พิการฟังแล้วท่องจำเพียงอย่างเดียว ยุคต่อมาจึงมีการพัฒนาให้สามารถอ่านได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป โดยช่วงแรกนั้นเป็นการอ่านผ่านสลักไม้ โดยใช้มือสัมผัสไปตามส่วนโค้งต่างๆ

"ข้อดีของการอ่านลักษณะนี้คือสามารถอ่านข้อความได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป แต่ข้อเสียคืออ่านได้ช้า เพราะต้องใช้เวลาในการสัมผัสส่วนโค้งของตัวอักษรแต่ละตัว"

ยุคถัดมาประมาณ 200 ปี อักษรเบรลล์ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ครูตาบอดชาวฝรั่งเศส ซึ่งอักษรมีลักษณะเป็นจุดนูนเล็กๆ ภายใน 1 ช่องประกอบด้วยจุด 6 ตำแหน่ง นำมาจัดสลับกันไปมาเป็นรหัสแทนอักษรมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปหรือ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โน้ตดนตรี ฯลฯ โดยใช้เวลาร่วม 100 ปีถึงเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก

สำหรับประเทศไทยนั้นอักษรเบรลล์ได้เข้ามาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีนายเจนีวีฟ คอล์ฟิลด์ และนายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้วเป็นผู้ดัดแปลงประดิษฐ์ให้เป็นอักษรเบรลล์ภาษาไทย ใช้หลักการเทียบเสียง ซึ่งใช้ 2 ช่องต่อหนึ่งตัวอักษร
ทดลองการเล่นเกมโอเทโลกับนักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
นอกจากเรื่องการใช้ตัวอักษรเพื่อดำเนินชีวิตให้เหมือนกับคนปกติทั่วไปแล้ว อาจารย์บอกว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้พิการทางสายตาต้องมี นั่นคือการเคลื่อนไหว อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการใช้ไม้เท้านำทาง ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้ท่อนไม้ในการนำทางมานับพันปี กระทำโดยการแกว่งไปตามธรรมชาติ ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้พัฒนาการเคลื่อนไหวเข้ากับหลักทางวิชาการ ทำให้การแกว่งไม้เท้าไม่สะเปะสะปะมีหลักการมากขึ้น

"พื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา มีด้วยกันอยู่ 2 อย่าง คือ อักษรเบรลล์ กับ การเคลื่อนไหว ทั้ง 2 อย่างต้องควบคู่กันไป จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้"

ต่อมายุคสมัยใหม่ได้มีการใช้เครื่องบันทึก ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกชนิดหนึ่งที่เข้ามามีบทบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมาแทนที่อักษรเบรลล์ โดยในช่วงแรกนั้นเป็นในรูปของเทปคาสเซตระบบอนาลอก ถัดมาจึงใช้ระบบดิจิตอล มีการแปลงไฟล์ในรูปแบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยใช้ซอฟต์แวร์ Screen reader ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านจอภาพคล้ายกับตาในการมองเห็น ทำหน้าที่สแกนข้อความที่ปรากฎบนจอภาพ จากนั้นผู้ใช้จึงทำการสั่งโดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้ออกมาในรูปแบบของเสียง หรือปริ้นออกมาในรูปของอักษรเบรลล์บนแผ่นกระดาษ

“ทุกวันนี้ผมทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ ท่องอินเทอร์เน็ต ได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป โดยมี Screen reader เป็นสื่อกลางคอยอำนวยความสะดวกระหว่างการทำงาน”

ทิศทางเทคโนโลยีในอนาคต

ปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการใหม่ที่อยู่ในรูปของสื่อผสม ซึ่งเป็นมาตรฐานหนังสือมัลติมีเดียมีชื่อเรียกว่า "DAISY” โดยอาจารย์ให้ความเห็นแบบฟันธงว่า "เทคโนโลยีชนิดนี้น่าจะมีบทบาทมากในอนาคตอันใกล้นี้ และไม่ใช่ผู้พิการทางสายตาเท่านั้นที่ใช้ได้ คนปกติทั่วไปก็สามารถเรียนรู้ร่วมกับคนพิการควบคู่ไปได้ด้วย"

ส่วนอุปกรณ์นำทางนั้นอาจารย์บอกว่า ไม้เท้ามาตรฐานสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นอุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือได้มากสุด ถึงแม้ว่าจะมีไม้เท้าที่ใช้แสงเลเซอร์หรือเสียงในการนำทางออกมาเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเป็นจริงได้ โดยเฉพาะการแปรเปลี่ยนของสภาพแวดล้อม รวมถึงสุนัขนำทางที่ถือกำเนิดในเวลาไล่เลี่ยกับไม้เท้าด้วย

นอกจากนี้เทคโนโลยีไฮเทคอย่างจีพีเอสยังถูกนำมาใช้ในการนำทางด้วย โดยได้เข้ามามีบทบาทในหมู่คนพิการทางสายตาประมาณปี 1993 หรือประมาณ 15 ปีที่แล้ว สำหรับในประเทศไทยนั้นจีพีเอสยังไม่มีการใช้งานที่แพร่หลาย เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งคนที่จะใช้ต้องมีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี

ปัจจุบันอาจารย์ใช้โทรศัพท์มือถือระบบซิมเบียน คอยช่วยบอกว่าอยู่ที่ไหนโดยอาศัยคลื่นจากเสาสัญญาณของเครือข่ายบอกตำแหน่งเมื่ออยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งเหมือนกับที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอของผู้ใช้ทั่วไป ทั้งนี้ไม่ได้ใช้ในการวางแผนเพื่อการเดินทางหรือนำทางแต่อย่างใด
เครื่องอ่านหนังสือเสียงตามมาตรฐานDAISY” สำหรับผู้พิการทางสายตา
ชีวิตที่ไม่ต่างจากคนทั่วไป

อาจารย์เล่าถึงอุปสรรคที่ผ่านมา โดยให้หลักแนวคิดไว้ 3 ข้อดังนี้ 1. ในเรื่องของเจตคติที่คนในสังคมและคนตาบอดต่างไม่รู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง 2. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก 3. ปัญหาในการเดินทาง ในเรื่องของการใช้ทักษะ หลักข้อนี้จะสัมพันธ์กับหลักที่สอง เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลข่าวสารก็ไม่อาจจะเดินทางไปในที่ต่างๆได้อย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้ทั้ง 3 ข้อจะเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

“หนทางในการขจัดอุปสรรค คือ ใช้หลักการหลอมตัวของคนตาบอด เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการผลักดันให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน”

ชีวิตประจำวันของอาจารย์นั้นไม่ต่างจากคนทั่วไปเท่าใดนัก สามารถทำอาหารได้ อาหารอย่างแรกที่ทำได้คือการต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถเล่นกีฬาได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกกำลังกายในร่มมากกว่ากลางแจ้ง เบื้องหลังของการประสบความสำเร็จและกำลังใจที่ดีคือครอบครัว อาจารย์บอกว่าโชคดีที่มีบิดามารดาคอยอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี ไม่ให้เป็นคนเห็นแก่ตัว ที่สำคัญคือไม่ปล่อยให้ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ปัจจุบันอาจารย์มีครอบครัวพร้อมพยานรักเป็นบุตรสาวหนึ่งคน โดยมีคติประจำใจในการดำรงชีวิตว่า “ข้าพเจ้าปฏิเสธการยอมแพ้อย่างสิ้นเชิง”

อาจารย์มณเฑียรกล่าวทิ้งท้ายว่า ความจริงบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนตาบอดนั้นเหมือนกับคนปกติทั่วไป มีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งบัณฑิตและโจร ฉะนั้นการที่บุคคลคนหนึ่งตาบอดก็ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความผิดแปลกจากคนทั่วไปแต่อย่างใด ปัญหาอยู่ที่โอกาสในการเรียนรู้มากกว่า

คำตอบสุดท้ายของการที่ไม่สามารถมองเห็น อาจไม่ใช่การท้อแท้สิ้นหวังเพียงอย่างเดียว เนื่องจากทุกวันนี้ผู้พิการทางสายตามิได้ถูกจำกัดขีดความสามารถในการทำงานประกอบอาชีพเหมือนเช่นในอดีตที่เคยเป็นมา ซึ่งเห็นได้จากบทบาทหน้าที่ต่างๆที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนทั่วไป ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเพียงแค่ปลายนิ้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น