xs
xsm
sm
md
lg

อาสาสมัครเพื่อชาติ แนวรบเบื้องหน้าเพื่อประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่แรงประชาชนลุกกลับคืนสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอันชอบธรรมแก่มวลชนอีกครั้ง ผ่านเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามจะเข้าโจมตีอย่างโรมรัน
ความหวาดผวา กำลังใจที่ขาดหาย มีเกิดขึ้นกับประชาชนบางส่วนที่เข้ามาร่วมชุมนุม
แต่ไม่ใช่กับผู้พิทักษ์ในแดนหน้า เพราะความรู้สึกเหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสได้ย่างกายเข้าไปในจิตใจของพวกเขาได้เลยแม้แต่น้อย
มองผ่านสายตาลึกลงไป คุณจะเห็นจิตใจที่หาญกล้าของเหล่า ‘อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย’


*เพราะความนิ่งเฉย
“ที่มาของหน่วยรักษาความปลอดภัยเกิดจากการที่ตำรวจไม่เข้ามาดูแลพวกเรา” ศรายุทธ อภิชาติ อายุ 33 ปี หนุ่มกราฟิกดีไซน์ ผู้เดินทางมาไกลจากนครสวรรค์ เล่าถึงที่มาของการเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
เดิมทีศรายุทธเป็นเพียงหนึ่งในผู้ที่มาร่วมชุมนุม แต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมาระหว่างที่ทางกลุ่มเคลื่อนย้ายจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีการปองร้ายจากอีกกลุ่ม โดยที่ตำรวจไม่ยอมช่วยเหลือ ปล่อยให้อีกฝ่ายทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตรอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อมีการจะเข้าไปช่วยเหลือทางตำรวจกลับยิงแก๊สน้ำตาใส่กั้นไว้ คล้ายกับว่าให้ความช่วยเหลือกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนที่มาร่วมชุมนุมเริ่มมองว่าในเมื่อตำรวจไม่ช่วย พวกเขาคงต้องช่วยเหลือกันเอง จึงเกิดกลุ่มอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยขึ้น เพื่อให้คนในกลุ่มรู้สึกปลอดภัย
เอกราช ชายหนุ่มวัย 36 ปี ประกอบอาชีพอิสระก็เช่นเดียวกัน เขาเล่าว่า
“จริงๆ ผมมาร่วมชุมนุม แต่มาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยด้วยความจำเป็น เพราะผมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ผมช่วยกันไม่ให้เขาเข้ามา” เอกราชต้องคอยเดินดูตามแนวที่ประจำ ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 จุดอย่าง คอยตรวจตราสอดส่องระวังภัยซึ่งตามแต่ละจุดจะต้องคอยดูแลกันเอง ส่วนหัวหน้าของหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยจะประจำอยู่ที่กองกลาง
“การสังเกตคนภายนอกก็ดูได้ไม่ยาก เพราะผมจะตั้งแนวไว้ เขาไม่สามารถเดินเลยจากจุดที่เราตั้งไว้ได้ หากจะขว้างปาอะไรเข้ามา ก็จะติดแนวเต็นท์ที่วางไว้อยู่ผ่านไปไม่ได้”
“เหตุการณ์ครั้งนี้ต่างจากตอนปี 2548 เพราะเขาเล่นสงครามประชาชน ผมว่าเขาต้องการให้เกิดการปะทะกันกลางเมือง” เอกราชคาดการณ์สถานการณ์ให้ฟัง
เช่นเดียวกับ ธัชมัย สังปนุกิจ วัย 35 ปี อาชีพรับจ้างอิสระที่เดินทางมาจากสุโขทัย ธัชมัยได้ยินข่าวจึงสนใจเดินทางมาร่วมชุมนุม และเข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย เพื่อปกป้องพี่น้องร่วมอุดมการณ์
“อุดมการณ์ของผมมาคือ เพื่อชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ เราทำแล้วไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น” ธัชมัยเล่า
การปะทะกันของสองกลุ่มความคิดอาจเกิดขึ้นได้ หากมีการก้าวล้ำเขตแดน และมีการมุ่งหวังทำลายล้างอีกฝั่งฝ่าย แต่ผู้พิทักษ์เขตแดนอย่างเขา ขออยู่แบบสันติวิธีจะไม่โต้ตอบจนกว่าจะถูกรุกล้ำข้ามแดน และถูกทำร้าย
“ผมไม่ตีแน่นอนเพราะ มันจะทำให้ภาพพจน์ของฝั่งเรากลายเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ถ้าเขาล้ำเส้นเข้ามา เราจะเรียกน้องๆ ให้ไปบอกที่เต็นท์ว่าเจอบุคคลที่มีพิรุจ ซึ่งบางคนจะเดินเข้ามามองเราตาขวางๆ บางคนก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาก็มี แต่ผมจะไม่เข้าไปต่อสู้นะ แค่ไม่ให้เขารุกล้ำเข้ามา เราต่อสู้ด้วยสันติวิธี แต่ถ้าเข้ามาเพื่อหวังที่จะทำลายแล้ว เราก็ต้องปกป้องตัวเอง หากเขาล้ำเส้นเราก็ต้องต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของเราเอง”

*ก้าวแรกในฐานะกองกำลังหน้า
ศรายุทธ หนุ่มจากนครสวรรค์เล่าต่อว่าวันแรกที่เกิดเหตุ ตอนนั้นยังไม่มีการเซตทีมรักษาความปลอดภัยเพราะไม่มีเวลามานั่งตั้งทีม ณ ตอนนั้นใครที่คิดว่าตัวเองพอจะช่วยดูแลด้านนี้ได้ก็อาสาสมัครมาช่วย แม้แต่บางคนที่เป็นผู้หญิงก็ยังมาช่วย เพราะในเรื่องรักษาความปลอดภัยการค้นหาอาวุธ ผู้หญิงจะช่วยในส่วนนี้ได้สะดวกกว่า
“มีคุณป้าคนหนึ่งแกออกไปยืนอยู่ข้างหน้าเลย คอยช่วยคอยกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามา นาทีนั้นใครคิดว่าช่วยได้ก็เข้ามาช่วยกันหมด เพราะวันนั้นคนของเราที่อยู่ด้านในมีทั้งผู้หญิงมีทั้งเด็ก การที่เขามาปิดทางและไล่ตีเราก็ทำให้กลุ่มคนที่ยอมไม่ได้ต้องออกมาช่วยกัน ต้องดูแลกันเองเพราะตำรวจไม่ช่วย”
ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีการจัดระบบกันจริงจังในวันถัดมา การกระจายกำลังจะแบ่งเป็นโซน ดูแลกันตามแต่ละโซนประตู ส่วนของใครก็ดูแลรับผิดชอบในส่วนนั้น ในเรื่องการวางกำลังก็มีการตั้งรับให้ความปลอดภัยที่ดี คนที่มาชุมนุมสามารถอุ่นใจได้ เพราะสิ่งที่พันธมิตรทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ฝ่ายตรงข้ามจะชอบเอาความกลัวมาบีบบังคับคนข้างใน ให้รู้สึกไม่มั่นคง ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันนั้น มีประชาชนที่มาร่วมชุมนุมบางส่วนเกิดความกลัว เขาก็จะหายไปสักพัก แต่พอทางทีมอาสาสมัครชัดเจนขึ้น สร้างความมั่นใจให้เขาได้มากขึ้น พวกเขาก็อุ่นใจและกลับมาร่วมชุมนุมด้วยอีกครั้ง
“ผมได้คุยกับหลายๆ คนที่กลับมา เขาก็เล่าว่าตอนเกิดเหตุเขารู้สึกกลัวจริงๆ แต่พอคิดไปคิดมา ถ้าทนยอมให้เขาหยิบความกลัวมาใช้เป็นข้อต่อรอง ยอมครั้งนี้ครั้งหน้าก็ต้องยอมต่อไป แต่ถ้าสู้ครั้งนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะชนะได้” มันเป็นการสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อต้องการลดจำนวนผู้ชุมนุมลง ศรายุทธกล่าวเสริม
“เหนื่อยขึ้น ทำงานยากขึ้นเหมือนกันเวลาที่มีคนมาร่วมมากขึ้น ต้องจัดทีมเพื่อไปคอยเดินตรวจดูว่ามีใครแอบแฝงเข้ามาอีกหรือเปล่า แต่สิ่งที่อยากจะย้ำให้กับผู้ชุมนุมได้มั่นใจคือเราจะดูแลรักษาความปลอดภัยให้ท่านอย่างเต็มที่” ศรายุทธเสริมก่อนเล่าต่อว่า การดูแลมีทั้งด้านหน้าและด้านใน ครบหมดทุกด้าน มีการประชุมงานกันทุกวัน แบ่งกะทำงานกันเป็นชุดๆ เซตเวลาเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ครอบคลุม มีอาสาสมัครใหม่ๆ เข้ามาช่วยอยู่ทุกวัน ด้วยความที่เป็นงานอาสา ความหลากหลายจะมีมากทั้งคนหนุ่ม คนสาว ผู้สูงอายุ แต่จุดร่วมใหญ่ที่หน่วยอาสาของเราคิดเห็นตรงกันคือมองเห็นความไม่ถูกต้อง
“ถ้าหากพันธมิตรมาชุมนุมแล้วคุณไม่เห็นด้วย คุณก็แยกไปชุมนุมของคุณ แล้วก็พูดเหตุผลมาว่าพันธมิตรไม่ดีอย่างไร ถ้าคิดว่าถูกก็ให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่มาใช้กำลังมาแทรกแซง ใช้ความป่าเถื่อนกันอย่างนี้ เพราะตั้งแต่ชุมนุมกันมาเราจะยึดหลักอหิงสามาโดยตลอด เห็นจากครั้งที่แล้วที่ชุมนุมกันมาถึงจะยืดเยื้อแค่ไหนก็ไม่มีความรุนแรงให้ได้เห็นเลย”
ศรายุทธเล่าถึงประสบการณ์กับการชุมนุมครั้งก่อนให้ฟังว่า
“รอบที่แล้วมาเกือบทุกวัน ตอนเช้าก็ไปทำงานตามปกติ พอเลิกงานก็จะนั่งรถมาชุมนุมต่อ เสร็จก็นอนที่นี่ ตื่นตอนเช้าตีห้าก็กลับไปอาบน้ำแล้วไปทำงานต่อ แต่รอบที่แล้วมาในฐานะผู้ชุมนุมเฉยๆ รอบนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มาช่วยในฐานะรักษาความปลอดภัย ส่วนทางบ้านเมื่อวันก่อนพ่อแม่ก็มาชุมนุม เอาเสื้อผ้ามาเพิ่มให้ ในแง่ความเป็นห่วงก็ยังมีเพราะเราเป็นลูกเขาก็ต้องห่วงเป็นธรรมดา แต่ไม่มีการห้ามอะไร ล่าสุดพ่อบอกไว้ว่า “ให้อยู่จนกว่ามันจะเลิก อยู่ไปจนกว่ามันจะออก ที่บ้านทุกคนเห็นด้วยกับทางพันธมิตรทั้งหมด”

*เหล่าหญิงแกร่งแห่งกลุ่มพันธมิตร
หนึ่งในหญิงสาวที่หัวใจเต็มไปด้วยความหาญกล้ารักชาติไม่แพ้ผู้ชาย กธมณฑ์ อรชุนวงศ์ กับอาชีพแม่บ้านที่ไม่ได้แค่นั่งดูละครอยู่บ้านเฉยๆ
“มีชุมนุมตรงไหนเราก็ไปทุกครั้ง เราจะมีกลุ่มของเรา คอยช่วยประสานงานให้ ถึงเราจะไม่มีทุนแต่เราจะรู้จักบางคนที่เขาพอจะซับพอร์ตให้ได้ เราจะช่วยเหลือได้ในส่วนนี้ ช่วยกระจายข่าวกันว่าตรงไหนมีอะไร มีตามข่าวจากmanageronline ตามจากASTV หรือตามข่าวจากเพื่อนๆ ด้วยกันเอง มีกลุ่มมันดีมันทำให้เราไม่ตกข่าว”
หญิงสาวที่เข้ามาช่วยดูแลในส่วนรักษาความปลอดภัยเล่าให้ฟังว่า เดิมทีหน่วยรักษาความปลอดภัยชุดเก่าจะเป็นพวกการไฟฟ้า ประปาและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตอนนี้เขาลอยลำไปแล้ว ก็ไม่ได้มาช่วยแล้ว ทีมใหม่นี้แรกๆก็ไม่รู้งานอะไรเลยมาด้วยใจกันอย่างเดียว เราเองเคยมีประสบการณ์มาก่อน เลยมาช่วยจัดทีม ได้เห็นเขาประชุมกันทุกวัน พอจะรู้ความเคลื่อนไหวบ้าง อีกอย่างคือกองทัพธรรมเขาจะอึดทน และสมถะมาก พอเราอยู่กับเขามากๆ เราจะซึมซับจุดนี้ไปใช้โดยไม่รู้ตัว ทำให้เราอยู่กับธรรมชาติได้มากขึ้น
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่25 พฤษภาคม 2551 เราเองเป็นผู้หญิงก็มีวูบหนึ่งที่กลัวเหมือนกัน แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง ความกลัวมันก็ไม่มี
“ถามว่าจะหนีกลับบ้านไหมก็คงไม่หนีกลับแน่นอน อย่างถ้าสมมติเรากำลังจะกลับบ้านไปอาบน้ำแล้วมีข่าวมาว่าเขากำลังจะสลายม็อบนะ เราแทบจะกลับมาหาม็อบกลางทางเลย มันบอกความรู้สึกไม่ถูก”
มีคนเคยถามเราเหมือนกันว่าไม่ห่วงลูกหรือ?
“เป็นห่วงนะ อย่างตอนที่เกิดการปฏิวัติคืนนั้นเราเก็บซื้อผ้าแล้วก็มองหน้าลูกแล้วคิดไปอีกว่าเราจะได้กลับมาเห็นหน้าลูกอีกไหมนะ มือก็เก็บของใส่กระเป๋าไป แต่ก็ต้องตัดสินใจว่าเอาน่ะ ถึงเราเป็นอะไรไป ลูกๆ ก็ยังมีพ่ออยู่ ถึงไม่ได้ตายจากกันวันนี้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องตายจากกันอยู่ดี” กธมณฑ์ทิ้งท้ายอย่างคนที่เข้าใจโลก
ใบพุทธ อโศกตระกูล พยาบาลสาวจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในพยาบาลประจำฝ่ายปฐมพยาบาลกองทัพธรรมผู้พิทักษ์ชีวิตของกลุ่มพันธมิตร
การทำงานของห้องพยาบาลเคลื่อนที่มีทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่เข้ามา คือมีการรักษาทั้งแบบแผนโบราณที่ใช้สมุนไพรในการรักษา และแพทย์แผนปัจจุบันที่มีการรักษาแบบสากลทั่วไป
ห้องพยาบาลเคลื่อนที่นี้มีผู้พิทักษ์ชีวิต 4-5 คนเท่านั้น แต่การทำงานไม่ถือว่าหนักหนา เป็นเพียงการดูแลผู้ป่วยทั่วไปที่เข้ามาขอยา ซึ่งเหล่าพยาบาลอาสาจะมีการผลัดเปลี่ยนผลัดเวรกันตลอด ช่วงเวลาในการพักผ่อนบางครั้งก็ไม่เต็มที่ มีพยาบาลอาสาที่ทำหน้าที่จากฝ่ายอื่นๆ ที่ว่างก็เข้ามาร่วมช่วยเหลือตลอด
จากเหตุการณ์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ทำให้มีการตั้งหน่วยนี้ขึ้นมา เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
“คนไข้ที่มารักษามักจะมาขอยา ขอวัดความดันเลือด ขอทำแผล บางคนเป็นหอบหืดมาก็มี ช่วงเย็นถึงกลางคืนจะมีการรวมตัวกันมาก ทำให้การทำงานค่อนข้างวุ่นวาย ยาที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสมุนไพรฟ้าทลายโจร รังจืด เพราะที่นี่จะมีร้อนในกันมาก เนื่องจากถนนมันร้อน กลางวันร้อนมาก คนไข้ส่วนมากจะปวดหัวเป็นไข้ ร้อนใน จุกเสียด แน่นท้อง ท้องเสีย ผื่นคัน เรามีอุปกรณ์เตรียมพร้อม แต่ถ้าอาการหนักเราจะส่งโรงพยาบาลที่มีการประสานงานกันอยู่”
“ทุกคนก็บอกว่า รักประเทศไทยแต่ยืนกันคนละจุดทั้งที่เราน่าจะคุยกันดีๆ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องพยายามปรับให้อีกฝ่ายเข้าใจความคิด ให้ความคิดเห็นมันตรงกัน”
ใบพุทธ กล่าวว่าเธอจะยืนหยัดช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นการกตัญญูต่อประเทศ กตัญญูต่อบรรพบุรุษที่รักษาแผ่นดินให้อาศัยอยู่ เติบโตจนปัจจุบัน ความลำบากที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น แต่ยังสบายกว่าบรรพบุรุษที่กอบกู้เอกราชมา
“ลูกปืนมันไม่ได้เลือกนะ ว่าเราเป็นพยาบาลถึงจะวิ่งหลบเรา แต่เราก็จะพยายามให้ถึงที่สุด”

อีกหนึ่งบุคคลหนึ่งที่เป็นทั้งผู้ดูแลและจัดการเสบียงอาหารของกองทัพธรรมซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ศิริลักษณ์ ศรีเมือง ภรรยาของคุณจำลอง ศรีเมืองคือผู้ที่เข้ามาดูแลส่วนนี้
เธอเล่าว่า “โดยส่วนตัวปลูกผักไร้สารพิษที่กาญจนบุรี ครั้งนี้จึงได้มีโอกาสนำวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผักผลไม้มาร่วมทำอาหาร”
นอกจากนี้ยังมีคนบริจาควัตถุดิบต่างๆ เข้ามาให้กองทัพธรรมอีกมากมาย โดยมาจากจังหวัดชลบุรี เพชรบุรีและราชบุรี ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่มีการร่วมชุมนุมกัน เธอรู้สึกปลื้มในความสามัคคีนี้ของคนไทย
ศิริลักษณ์ ฝากบอกถึงประชาชนที่มาให้กำลังใจว่า “การมาร่วมชุมนุมคราวนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้าเขาล้มรัฐธรรมนูญไปประชาชนจะแย่ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จึงอยากให้ร่วมฟังอภิปรายร่วมชุมนุมกัน ซึ่งจะได้ความรู้เพิ่มเติมกลับไปอีกมากมาย”

*ศูนย์กลางทัพหน้า ปราการหลักความปลอดภัย
เอกภพ เจียมอนุกูลกิจ
คือหนึ่งในนาวิกโยธินเก่า เดินทางมาจากจังหวัดระยอง ด้วยแรงสนับสนุนของผู้เป็นแม่ที่กล่าวว่า “ตายเพื่อชาติ มันไม่น่าเสียดายชีวิต แต่ถ้าต้องตายเพื่อคนจัญไรแค่เจ็บนิดเดียวยังไม่ยอมเลย”
ด้วยวัย 45 ปีแต่ไม่ได้ทำให้ทหารเก่าผู้นี้หมดไฟ เอกภพใช้ประสบการณ์จากการรับข้าราชการทหารมาปฏิบัติงานครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
การทำงานของหน่วยอาสารักษาความปลอดภัยทำงานกันด้วยใจ ไม่มีการบังคับแต่ต้องเป็นไปตามกรอบที่กำหนด คือรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องที่จะเข้ามาร่วมกู้ชาติ คำว่ากู้ชาตินี้หมายความถึงการป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ป้องกันไม่ให้ระบบทักษิณกลับมากลืนชาติของเรา “ปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่คิดเห็นตรงกันคือ รัฐบาลไม่ทำงานแก้ไขเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่กลับจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อใครซึ่งทุกคนก็รู้กันอยู่ คำถามคือที่พวกเรามาช่วยกันนั้นเพื่ออะไร เพื่อตัวเราเองหรือ เปล่าเลยเราทำเพื่อคนร่วมชาติของเรา ไม่ได้ทำเพื่อคนต่างชาติคนไหน”
พูดถึงการทำงาน เอกภพเล่าว่า
“มีสายลับจากฝั่งตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาก็มี เรารู้แต่ลองทำเฉย แล้วคอยจับตาดูพฤติกรรมไว้ เพราะแผนบางอย่างเราก็ไม่ได้เปิดเผยออกไป เขาจะเข้ามาป่วนแนะนำนั่นนี่ พยายามที่จะเข้ามาเป็นสต๊าฟในทีมให้ได้ เพราะถ้าได้เป็นสต๊าฟจะสามารถกำหนดทิศทางอะไรบางอย่างได้ เคยจะนำคนออกไปตีข้างนอก เราก็ตอบว่าไม่ นโยบายที่รับมาจากผู้นำห้าเสือพันธมิตรของเราคือไม่ให้ออกนอกเขต ดูแลความปลอดภัยข้างใน เราเจ็บได้แต่อย่าให้พี่น้องของเราเจ็บ ฝ่ายตรงข้ามเขาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เราไม่ได้คิดอยากให้เขาต้องเจ็บ แต่ถ้าเขามาทำก่อน เราก็มีมาตรการตอบโต้อย่างเฉียบพลันเช่นกัน”
“การรักษาความปลอดภัยในตอนนี้อาจใช้คำว่าแข็งแรงไม่ได้ คำว่าแข็งแรงมันหมายถึงการตอบโต้
แต่เราใช้การป้องกัน มันคือความอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ เราจะสกรีนคนที่เข้ามาอย่างถี่ถ้วน การป้องกันของเราเตรียมพร้อมมา 100 เปอร์เซ็นต์ มันเหนื่อย แต่ทำเพื่อความปลอดภัยของคนที่มาชุมนุม และเพื่อประเทศชาติ ส่วนตำรวจเราก็รู้ว่าเขาทำตามหน้าที่ ตามคำสั่ง แต่อยากรู้เหมือนกันว่าเขาคิดกับพวกกู้ชาติอย่างไร เขาจะคิดบ้างไหมว่าที่เราทำเพื่ออะไร บางทีตำรวจที่เข้ามาสลายกลุ่มชุมนุมอาจจะเจอแม่ของตัวเองเข้ามาฟังอยู่ด้วยก็ได้”
ในฐานะที่อยู่ในเหตุการณ์เอกภพเล่าย้อนไปถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551ให้ฟังว่าตอนเริ่มเคลื่อนขบวนมาที่สะพานมัฆวาน ท้ายขบวนยังอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีตำรวจอยู่แถวนั้นประมาณ 40 คน กลุ่มก่อกวนทำร้าย ขว้างปาก้อนหินใส่กลุ่มเรา แต่ตำรวจกลับนิ่งเฉย จากนั้นกลุ่มก่อกวนเข้าทำร้ายผู้หญิง หน่วยรักษาความปลอดภัยที่ตอนนั้นเดินถึงสะพานมัฆวานแล้วต้องย้อนกลับไปช่วยเหลือ ผลคือกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยเจ็บเข้าโรงพยาบาล 2-3 คน ขาหัก 3-4 ท่อน แต่ถ้าถามถึงสภาวะจิตใจต้องบอกว่ากลุ่มพันธมิตรได้เปรียบ เพราะถึงแม้เจ็บแค่ไหนแต่ความภูมิใจมันเกิด ไม่เหมือนคนที่ถูกจ้างมาต้องเจ็บเจียนตาย มันก็ไม่คุ้มกัน
ฝ่ายตรงข้ามจะส่งข่าวมาก่อกวนทุกวันบอกว่าจะก่อหวอด จะเผาเพื่อให้ประชาชนไม่กล้าเข้ามา จุดประสงค์ของเขาคือเพื่อลดคนที่จะมาชุมนุม บางทีเขาจะใช้หนังสติ๊กใส่น๊อตใส่ลูกหินแล้วยิงมา ฝั่งเราก็ใช้โล่รับอย่างเดียว ปรากฏว่าการที่เขายิ่งทำอย่างนี้ คนยิ่งมาสนับสนุนเราเพิ่ม เขายิ่งแสดงอะไรออกมามาก ชาวบ้านยิ่งไม่ชอบ
ถามถึงความเหน็ดเหนื่อย เอกภพเล่าว่า
“เหนื่อยก็นอนตรงนี้ จะอาบน้ำก็เอาหมวกตักน้ำชุบเช็คๆ เอา ได้นอนวันละชั่วโมงสองชั่วโมง อยู่เป็นหลักให้น้องๆ แต่ถ้าเราไม่อยู่เขาก็แบ่งงานกันทำได้ มีอะไรเดี๋ยวเขาก็เข้ามาขอคำปรึกษาเอง งานก็เบาลง ที่บ้านเขาก็ห่วง แต่ก็เข้าใจ เราจะโทรไปบอกแม่ทุกวันว่าวันนี้เราเตรียมพร้อมดี ไม่ต้องกังวล มันเป็นเรื่องปกติ เพราะเราเองเคยเป็นทหารจะต้องมีภารกิจแบบนี้บ่อยที่บ้านจะชิน ส่วนลูกๆ กับแฟนก็ไม่มีปัญหาเขาเข้าใจ เพราะเมื่อไหร่ที่ย่าโอเค คนอื่นก็ไม่กล้าขวาง เป็นคุณย่าทันสมัย บางทีคนแถวบ้านก็ถามหาว่าเราไปช่วยตรงไหน เขาจะตามมาสมทบ เราฟังแล้วก็ดีใจ”
ชายผู้เป็นแกนนำหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยทิ้งท้ายว่า
อยากให้มองด้วยสายตาเป็นธรรม ใช้วิจารณญาณให้มาก จงเชื่อเพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อ เพราะความดีความชั่วมันแยกกันชัดเจน ขาวคือขาว ดำคือดำ
**************************
เรื่อง – ทีมข่าวปริทรรศน์


เอกภพ เจียมอนุกูลกิจ  หัวหน้าหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
ศรายุทธ อภิชาติ  เจ้าหน้าที่หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
กชมณฑ์ อรชุนวงศ์  เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประสานงานหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
นิติธร ธรรมศาล และ หมู่ บ้านบึง สองเจ้าหน้าที่หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
ป้ายของเหล่าอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
ป้ายของเหล่าอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย
หมวกกันน็อก อุปกรณ์ป้องกันสิ่งขว้างปา
หมวกกันน็อก อุปกรณ์ป้องกันสิ่งขว้างปา
โล่ไม้ อุปกรณ์ป้องกันสิ่งขว้างปา
เจ้าตูบออกมาร่วมกู้ชาติ
เตรียมตั้งรับด้วยหลักอหิงสา
เตรียมตั้งรับด้วยหลักอหิงสา
เตรียมตั้งรับด้วยหลักอหิงสา
ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตแดนของตน
ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตแดนของตน
ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตแดนของตน
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง
เขตแดนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น