xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงโง่ย้ายภูเขา” ขี่จักรยาน 30,000 กม. กับการรณรงค์เพื่อโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการลดโลกร้อนและการณรงค์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต่างก็ช่วยกันทำการประชาสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลาย แต่จะมีสักกี่คนที่อุทิศตนอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อการนี้

เช้าวันหนึ่งของต้นฤดูฝน ‘ลุงต่ง’ หรือ ต่ง เป่า อี้ว์ ชาวเจียงซู วัย 59 ปี ขี่จักรยานสามล้อสีเขียวเข้ามาที่บ้านพระอาทิตย์เพื่อมาบอกกล่าวถึงการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติของเขา โดยคุณลุงตั้งฉายาตัวเองว่า ‘ลุงโง่เพื่อสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเจ้าตัวได้อธิบายว่า มาจากนิทานจีนเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ลุงโง่ย้ายภูเขา’ ที่เดิมใครๆ ก็หัวเราะเยาะว่าทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อมีความมุ่งมั่นจริงใจ ลุงโง่ก็สามารถสร้างทางผ่านภูเขาที่สะดวกให้แก่คนในหมู่บ้านได้สำเร็จ

ลุงต่งแนะนำตัวเองว่า คุณลุงเป็นชาวมณฑลเจียงซู ปัจจุบันอายุ 59 ปี และเกษียณแล้ว เดิมทีทำงานในฝ่ายประชาสัมพันธ์ในบริษัทค้าส่งพืชผักที่หวยไห่ หลังจากเกษียณจึงนำเงินที่ได้จากเกษียณมาเป็นทุนในการออกมาขี่จักรยานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม

“ผมเริ่มออกแบบแล้วให้ช่างช่วยดัดแปลงจักรยาน 3 ล้อ จากนั้นก็ขี่ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อบอกกล่าวให้คนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น มาถึงวันนี้ก็ขี่ต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว”

เมื่อเราถามถึงเหตุผลของคุณลุงในการตัดสินใจออกมารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ลุงก็ตอบว่า

“ที่ผมเลือกออกมารณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ เพราะผมรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องคิดถึงคนในอนาคต คิดถึงคนในรุ่นลูก รุ่นหลานของเรา คนทุกวันนี้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองมาก ดังนั้น ต้องมองว่าทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างในโลกเรา ใช้แล้วก็หมดไป ไม่สามารถที่เกิดขึ้นมาใหม่ หรือเกิดขึ้นให้ทันใช้ได้ ถ้าหากพวกเราในรุ่นปัจจุบันใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปจนหมด ลูกหลานในอนาคตก็จะไม่มีทรัพยากรให้ใช้อีก

“นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมในโลกของเราก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ อย่างเช่นภัยพิบัติจากสึนามิหรือว่าจากพายุในพม่าที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบนิเวศที่ถูกทำลาย เมื่อเราทำลายธรรมชาติ มันก็เกิดผลสะท้อนกลับมา ภัยพิบัติในหลายๆ ครั้งมีคนตายนับพัน นับหมื่น มีครอบครัวที่ต้องพลัดพรากถูกทำลายเป็นหมื่นๆ

“สิ่งที่ผมต้องการก็คือการกระตุ้นจิตสำนึกของคนในโลก ในสังคม ให้หันมาเอาใจใส่กับธรรมชาติให้มากขึ้น ใช้ทรัพยากรในโลกอย่างสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น”

*4 ปี 30,000 กม. กับเป้าหมาย 15 ปี 150,000 กม.

คุณลุงบอกกับเราต่อว่า การขี่จักรยานรณรงค์ครั้งนี้นั้นเป็นแนวคิดส่วนตัวล้วนๆ ไม่ได้มาในนามภาครัฐหรือได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น โดยสาเหตุที่เลือกการขี่จักรยานรณรงค์ก็เนื่องมาจาก จักรยานเป็นพาหนะที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงาน อีกทั้งไม่สร้างมลพิษให้แก่อากาศ นอกจากนี้ ในจักรยานสามล้อก็สามารถบรรจุข้าวของที่จำเป็นในการดำรงชีพได้ทุกอย่างทั้งหม้อ จาน ชาม ช้อน ส้อม เก้าอี้ รวมถึงกล่องเอกสารสำหรับการรณรงค์

“อย่างวันก่อน ผมเอาเอกสารรณรงค์ไปยืนแจกตามสวนสาธารณะ ก็มีคนให้ความสนใจไม่น้อย” ลุงต่งบอกกับเราด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อถามถึงระยะทางที่คุณลุงกับเจ้าสามล้อผ่านมา และเป้าหมายในอนาคต คุณลุงตอบเราว่า ตนเองเริ่มต้นขี่รณรงค์ตั้งแต่ปี 2547 ขี่ไปทั่ว 17 มณฑลของจีนผ่าน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู ซันตง เหอเป่ย เทียนจิน ปักกิ่ง เหอหนัน หูเป่ย เจียงซี หูหนัน อันฮุย เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) กว่างตง (กวางตุ้ง) ฮ่องกง ไห่หนัน กว่างซี (กวางสี) จากนั้นก็ขี่ต่อเข้าไปในเวียดนาม 26 จังหวัด กัมพูชา 10 จังหวัดแล้วก็มาถึงประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4

“ผมมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ตั้งเป้าว่าจะไปให้ครบทุกทวีป ซึ่งคำนวณคร่าวๆ แล้วคิดว่าใช้เวลาประมาณ 15 ปี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็ขี่มาแล้วประมาณ 30,000 กิโลเมตร พอครบ 15 ปีคิดว่าคงจะเป็นระยะทางประมาณ 150,000 กิโลเมตร”

“เฉลี่ยแล้วผมเดินทางประมาณวันละ 30-40 กิโลเมตร คือถ้าทางดีๆ จะขี่ได้ประมาณ 40 กิโลเมตร อย่างตอนอยู่ในเวียดนาม ไปเจอกับทางภูเขาเยอะ บางทีก็ต้องขี่อ้อมไปอย่างนี้จะขี่ได้วันละไม่มากนัก แถมบางครั้งก็เจอพายุ อย่างตอนอยู่ที่จีนหรือเวียดนาม ก็ต้องรีบขี่หลบพายุ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เกือบถูกพัดตกคลองเหมือนกัน นอกจากนั้น ผมก็จะพกพวกอุปกรณ์สำหรับการซ่อมจักรยานเอาไว้ในจักรยานสามล้อมด้วย แค่ล้อรถนี่ผมก็เปลี่ยนมา 3 รอบแล้ว” คุณลุงเล่า

*ส่ง SMS กลับบ้าน

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามคุณลุงถึงทัศนะของครอบครับต่อการเดินทางรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก คุณลุงตอบว่า

“ทางครอบครัวผม ทั้งภรรยาแล้วก็ลูกๆ ก็ให้การสนับสนุนดี ผมเองยังพกโทรศัพท์มือถือติดมาด้วย แล้วก็ส่งเอสเอ็มเอส (ข้อความสั้น) ติดต่อกันบ้างเป็นระยะๆ เพราะการส่งเอสเอ็มเอสจะถูกกว่า แค่ครั้งละ 2 หยวน แต่ถ้าโทรศัพท์จะนาทีละ 17 หยวน ผมจำเป็นต้องประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากเงินสะสมกับเงินบำนาญที่มีอยู่ บางที่ที่ไปก็มีคนที่เห็นดีเห็นงามด้วย อยากจะสนับสนุนก็ให้ความช่วยเหลือมาบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก ผมจึงทำอาหาร กินอยู่ แล้วก็นอนบนรถจักรยานสามล้อคันนี้ บางทีก็เก็บเศษไม้มาทำฟืน ใช้อิฐตั้งเป็นเตาก็หุงหากินได้แล้ว ส่วนเรื่องห้องน้ำ อาบน้ำ ก็จะอาศัยเวลาที่ไปรณรงค์ที่ไหนก็อาจจะขอเขาใช้บ้างเป็นครั้งคราว”

*ซึ้งน้ำใจคนไทย

คุณลุงเล่าให้เราฟังด้วยว่า สาเหตุที่ไม่นำเงินสะสมและเงินบำนาญไปจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อรณรงค์เรื่องนี้ก็อันเนื่องมาจากความคิดและความเชื่อที่ว่า ‘ลงมือทำดีกว่าแค่คำพูด’

“สำหรับคนจีนมีคำพูดที่ว่า ‘สอนด้วยการกระทำ รณรงค์ด้วยคำพูด’ ตัวผมเองก็ใช้จักรยานสามล้อ ดำรงชีวิตด้วยการประหยัดทรัพยากรและไม่ทำลายธรรมชาติ สมมติว่าผมจัดกิจกรรม เช่น การสัมมนาหรือการปาฐกถาสักงาน แล้วผมก็บินมาบรรยาย มันอาจจะได้ผลไม่มากเท่าที่ควรและเข้าถึงคนได้น้อย แต่การขี่จักรยานของผม ผมไปที่ไหนก็ได้บอกกล่าวให้คนรู้ได้ถึงที่นั่น ยกตัวอย่างเช่นก่อนจะมาถึงกรุงเทพฯ มีอยู่หลายวันที่ผมผ่านจังหวัดต่างๆ ของไทย หลังจากที่ผมทำการไปรณรงค์แล้ว ก็มีชาวบ้านเลี้ยงข้าวผม ชวนให้ผมนอนพักที่บ้าน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นกำลังใจที่ดี และทำให้ผมซาบซึ้งมาก”

*‘ภาษา’ อุปสรรคที่ต้องเอาชนะ

สำหรับปัญหาเรื่องการเดินทางกับภาษาที่คนในแต่ละประเทศที่คุณลุงเดินทางไปต่างก็ใช้ผิดแผกกันทั้งสิ้นนั้น คุณลุงยอมรับว่าเรื่องภาษาเป็นอุปสรรคพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ถึงกับทำให้ต้องล้มเลิกความตั้งใจ

“ตอนที่อยู่ในประเทศจีนไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ พอไปที่เวียดนาม ผมจะเลือกมุ่งเป้าไปที่คนจีนที่พอจะรู้ภาษาจีนที่นั่นก่อน จากนั้นก็จะขอให้เขาช่วยเขียน แล้วก็สอนคำที่ใช้บ่อยๆ ซึ่งคำพวกนี้ตอนนี้ผมก็พอเขียนได้ ส่วนประเทศไทย จะลำบากกว่าหน่อย แต่ผมก็ใช้วิธีมองหาคนจีน หาสถานที่ที่มีป้ายเป็นภาษาจีน แล้วก็ใช้วิธีแจกเอกสารรณรงค์ เอกสารของผมมีภาษาจีนกันที่ขอให้คนช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ที่รถ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องภาษาเป็นอุปสรรคที่ใหญ่พอสมควร แต่ผมก็จะพยายามหาวิธีผ่านมันไปให้ได้”

*คนจีนกับจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม

เมื่อเราถามกลับว่า ระหว่างการออกมารณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับชาวต่างประเทศ เคยโดนถามกลับไหมว่า แล้วชาวจีนเองมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน? คุณลุงตอบเราว่าตอนนี้ชาวจีนเองก็มีพัฒนาการเรื่องจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมมากผิดกับในยุคก่อนๆ

“ผู้บริหารประเทศทุกวันนี้ไม่เหมือนคนในรุ่นเก่าๆ ที่สนใจแต่เรื่องการเมือง คนจีนในปัจจุบันมีความรู้ ความเข้าใจระบบนิเวศมากกว่าเมื่อก่อน จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการยกระดับกรมรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ขึ้นมาเป็นกระทรวงรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง นอกจากนั้น ประธานาธิบดีหู จิ่น เทา กับนายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่า ก็ได้พยายามผลักดันนโยบายประหยัดทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่ามากที่สุด”

เมื่อเราถามกลับว่า โอลิมปิกปักกิ่ง ก็มีการผลาญทรัพยากรโลกไปไม่น้อยมิใช่หรือ? คุณลุงแก้ตัวว่า

“การจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง นอกจากจะถือเป็นกิจกรรมใหญ่ของจีนแล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมใหญ่ของโลกด้วย ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องของโลกก็จำเป็นจะต้องทำให้ดีที่สุด ดังนั้น ประหยัดไม่ได้แปลว่าไม่ได้ใช้เงิน

“ส่วนในเรื่องทรัพยากร เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วจีนอาจจะใช้ทรัพยากรมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา มักจะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ในขณะที่จีนยังมีไม่เท่า จีนจึงจำเป็นต้องลงทุนทำการปรับปรุงขนานใหญ่ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น จีนยังมีความจำเป็นในอีกหลายด้าน อย่างเช่นจีนไม่มีสนามกีฬามาตรฐานระดับโลกขนาดใหญ่ หรือสนามแข่งว่ายน้ำที่เพียงพอสำหรับการแข่งกีฬาโอลิมปิก ก็เลยต้องสร้างขึ้นมา”

*ป้ายหน้า ‘มาเลเซีย’

คุณลุงคุยกับเราต่อว่า “ก่อนหน้านี้ผมก็ไปเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางในแผนที่ พอมาถึงกรุงเทพฯ ผมก็ดูจากร้านหรือสถานที่ที่มีป้ายภาษาจีน แล้วก็เลือกไปที่เหล่านั้น เมื่อเช้าผมไปที่สำนักพิมพ์ซื่อเจี้ยรื่อเป้า (หนังสือพิมพ์สากล) ที่เป็นหนังสือพิมพ์จีน แล้วเขาก็แนะนำต่อ เพราะยังไงคนอ่านหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยก็มีจำกัด ผมเลยอยากจะมารณรงค์กับหนังสือพิมพ์ภาษาไทย โดยเฉพาะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีบุคลากรด้านภาษาจีนอยู่ ก็เลยเปิดแผนที่แล้วตรงมาที่นี่ ผมมีทั้งแผนที่ประเทศไทย แล้วก็แผนที่กรุงเทพฯ

“หลังจากนี้ก็ผมจะขี่ไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ สักระยะ จากนั้นก็จะเดินทางต่อไปทางภาคใต้ แต่คงจะหลบอ้อม 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ไป เพราะมีคนบอกผมว่าที่นั่นไม่สงบและค่อนข้างอันตราย แล้วก็ไปประเทศมาเลเซีย จากนั้นค่อยต่อไปที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ซึ่งผมได้ขอวีซ่ามาเลเซียล่วงหน้ามาแล้ว ส่วนวีซ่าของประเทศไทยผมได้มา 60 วัน”

เมื่อเราเปิดโอกาสให้ฝากคำพูดรณรงค์ไปถึงคนไทยคุณลุงก็กล่าวว่า

“โดยส่วนตัวผมอยากจะบอกกับคนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ว่าเราควรจะลดปริมาณการใช้รถยนต์ลง อยากจะให้ลดลงสักครึ่งหนึ่ง แล้วหันไปใช้รถโดยสารสาธารณะแทน เพราะจากสภาพถนนกรุงเทพฯ ที่เห็น ต่อให้ขับรถเองก็ไม่แน่ว่าจะเร็วกว่ากันมากนัก

“หลายคนอาจจะรักความสบาย แต่อยากให้รู้ว่าการได้ขี่จักรยาน การได้เดินนั้น นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย อย่าคิดว่าต่อให้เราไม่ขับ คนอื่นก็ขับ ต่อให้เราไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็ช่วยอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากสิ่งเล็กๆ มันถึงจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้”

ก่อนจาก คุณลุงกล่าวคำร่ำลา “ไจ้เจี้ยน (แล้วพบกันใหม่)” พร้อมใบหน้าที่เปื้อนด้วยรอยยิ้ม ก่อนกระโดดขึ้นคร่อมอานจักรยานสามล้อ หักเลี้ยวและถีบรถออกจากบ้านพระอาทิตย์มุ่งหน้าไปตามท้องถนน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายและไอดินที่ลอยขึ้นมาในช่วงต้นฤดูฝนของกรุงเทพมหานคร

**********************

เรื่อง-ยุทธชัย อนันตศักรานนท์


กำลังโหลดความคิดเห็น