xs
xsm
sm
md
lg

Give and Take: พื้นที่นี้ไม่มีเงินตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Coolswop + Share Market สองพื้นที่ที่เงินไร้ความหมาย
ผมเป็นผู้ชายที่หัวโต ขนาดผิดจากมนุษย์ทั่วไป
เปล่า ผมไม่ได้เป็นเนื้อเยื่อบุสมองอักเสบ เพราะมีน้ำในหัวมากเกินความจำเป็น
หลายคนมองว่าผมอาจเป็นลูกมนุษย์ต่างดาวมาเกิดผิดท้อง แน่นอนว่าผมไม่เชื่ออยู่แล้ว
แต่ช่างมันเถอะ! ผมว่าช่วงนี้มีเรื่องอื่นน่าคิดมากกว่ากันเยอะ
ผมได้ยินมาว่าจะมีการขึ้นค่ารถเมล์ มันสร้างความสะเทือนใจให้คนเดินดิน กินข้าวแกงอย่างผมไม่น้อย หลังจากที่น้ำมัน ข้าวสาร น้ำตาล และอีกจิปาถะถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่ตัวผมดูเหมือนจะเล็กลงทุกที
เดี๋ยวนี้อะไรก็เงินๆ ทองๆ ไปหมด พูดไปก็ชวนถอนหายใจ ให้ใจหายเล่น

ขณะท่องเที่ยวอยู่บนโลกไซเบอร์ ผมพลัดหลงเข้าไปในดินแดนหนึ่ง
ที่นั้นมีสิ่งของที่ผมเคยหมายตาอยู่หลายชิ้น ด้วยความซุกซนบวกกับตัณหาที่ยังมี ผมตามหาราคาของสิ่งของชิ้นนั้น
“หุ่นยนต์สังกะสี สีน้ำเงิน ใช้ถ่านขนาด 2A 4 ก้อน ใครสนใจลองเสนอของมาแลกกันดูครับ”
“แลกกัน” โอ้แม่เจ้า! ไม่ต้องใช้เงินซื้อหรือเนี่ย?
เหมือนค้นพบโลกใบใหม่ มันช่างเป็นโลกที่เหมาะกับคนที่กระเป๋าเงินมีไว้แค่เสียบบัตรประชาชนอย่างผมเสียเหลือเกิน ผมสนุกกับมันอยู่พักใหญ่ ในใจคิดสงสัยใครกันเจ้าของไอเดียที่ไม่ต้องสะเทือนกระเป๋าตังค์เช่นนี้

*ตัวการของไอเดียสบายกระเป๋าตังค์
สืบไปสืบมาจึงเจอ ตัวการเป็นชายหนุ่มที่ชื่อว่า วราฤทธิ์ มังคลานนท์ เจ้าของไอเดียและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ CoolSwop.com ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ชายหนุ่มเจ้าของไอเดียนอนดูสารคดีเรื่องหนึ่งที่เล่าว่าสมัยก่อนคนจะเอาของมาแลกกัน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเงินใช้ เวลาอยากได้ของสักอย่างก็ต้องหาของไปแลก ชาวนาปลูกข้าวก็เอาข้าวที่ปลูกได้ไปแลกกับปลาของชาวประมง แลกกับไข่ของคนที่เลี้ยงไก่ (จริงๆ ผมว่าเรื่องพวกนี้เราก็รู้กันมาตั้งแต่สมัยเรียนตอนเด็กๆ แล้ว แต่ไม่ยักมีคนนำมาใช้ประโยชน์อะไร)
แต่ไม่ใช่กับวราฤทธิ์เพราะเขาจุดประกายความคิดขึ้น เขารู้สึกว่ามันน่าจะทำอะไรได้กับยุคนี้ที่ข้าวของแพงเหลือเกิน น้ำมันแพงกระฉูด ข้าวก็แพงมาก ประกอบกับความชอบในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาจึงลงมือทำเว็บไซต์นี้ขึ้น สาเหตุที่มันใช้เวลานานเพราะใช้เวลาในการ Research เยอะว่าทำมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีคนเข้ามาใช้ไหม เขาจะเอาของที่มีไปขายในเว็บไซต์ขายของมือสองหรือเปล่า นานาความกังวลในช่วงแรกดูจะสร้างความอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย
นอกจากนั้นแล้วเขายัง Research ดูเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ พบว่าเว็บไซต์ลักษณะนี้มีเฉพาะในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่มี จะมีแค่เป็นฟังก์ชันหนึ่งในเว็บไซต์ขายของมือสองเท่านั้น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะคนส่วนใหญ่จะซื้อขายกันมากกว่า ด้วยเหตุนี้เขาจึงไปปรึกษาหาไอเดียกับเพื่อนหลายคน หาคนเขียนโปรแกรม หาคนดีไซน์ ดูอยู่นานพอสมควร เพราะยังไม่เจอที่คลิกกัน สุดท้ายมาลงตัวกับเพื่อนที่ทำงานที่ ThaiEShop ก็ได้ระบบที่ใช้งานง่ายมา
ได้ฤกษ์เปิดทำการวันแรกวันที่ 18 เมษายน 2551 ช่วงแรกอาศัยประกาศทางคลื่นวิทยุก่อนเพราะเป็นช่องทางที่พอจะเผยแพร่ได้ จากนั้นจึงลองชวนเพื่อนให้เข้ามาใช้ดูว่ามีข้อดีข้อเสียตรงไหนบ้าง จะสำรวจความต้องการของผู้ใช้ตลอด ปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ
“ตอนแรกๆ ที่คิดจะทำมีคนรอบข้างกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เขามองว่าจะมีคนเข้ามาใช้เยอะแค่ไหน ของบางอย่างสู้เอาไปตั้งขายเป็นของมือสองไม่ดีกว่าหรือ ทำเอาผมหมดความมั่นใจไปเลย แต่กลับมาคิดใหม่ว่ามันคงไม่ได้มีอะไรดีกว่ากัน เราจะแลกของหรือจะขายของ มันเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้นเอง ถ้าคนคิดเหมือนเรา อยากประหยัดเหมือนเรา ไม่อยากฟุ่มเฟือย ก็มาใช้เว็บไซต์นี้ แต่ถ้าอยากได้เงินก็ไปเว็บไซต์ขายของมือสอง แค่อยากชวนเชิญคนที่มีไอเดียคล้ายๆ กันเข้ามาใช้"
“ประกอบกับความคิดของเราที่อยากลดบทบาทความสำคัญของเงินเอาไว้ เพราะตอนนี้ทุกคนเวลาจะทำอะไรก็ต้องเงินมาก่อน เราน่าจะลดมันไปบ้าง แล้วลองเข้ามาเว็บไซต์นี้ดู เอาข้าวของที่คุณมีมาแลกกัน เพราะคิดจากตัวเองว่าเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ตอบตามตรงว่าชอบและยึดถือในหลักเศรษฐกิจพอเพียง อาจยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่ถึงยังอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ แต่ดันอยากได้ของแบบไม่ต้องใช้เงิน อยากประหยัด แต่ยังสนุกกับมันได้ เราแค่เอาของที่เปล่าประโยชน์ที่วางไว้เฉยๆ ของเราไปโพสต์ไว้ เพราะมันอาจสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ อีกอย่างผมคิดถึงเรื่องขยะด้วย แนวทางนี้น่าจะช่วยลดขยะได้ส่วนหนึ่ง” วราฤทธิ์เจ้าของเว็บไซต์สุดคูลเล่าให้ผมฟัง

*อยากแลกบ้าง
ด้วยความที่เพิ่งเข้ามาใช้ (ข้ออ้างของคน Low Technology อย่างผม) ผมจึงยังไม่สันทัดกับวิธีการใช้มากนัก ผมถามหาวิธีการเข้าสู่วัฒนธรรมแลกเปลี่ยนนี้
ชายหนุ่มใจดีไม่รอช้า เสิร์ฟรายละเอียดให้ผมทันทีว่าก่อนอื่นต้อง Register ก่อน จากนั้นก็เอาของที่เราอยากจะแลกไปโพสต์ไว้ หรือถ้าคุณมีของที่คุณอยากได้อยู่ คุณก็ไปโพสต์ทิ้งไว้ได้ ถ้าเกิดคลิกกันขึ้นมาก็กดปุ่ม ‘Swop’ ในหน้ารายการสินค้านั้น จากนั้นทางเว็บไซต์จะส่งอีเมลไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่ให้ลูกค้าติดต่อกันโดยตรง เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ อีกส่วนคือเพื่อทราบข้อมูลว่าเขาแลกอะไรกันไปบ้างแล้วเพื่อนำขึ้นโชว์บนเว็บไซต์ เมื่ออีกฝ่ายมาเช็คอีเมลก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะแลกหรือไม่แลก ซึ่งข้อมูลนี้จะมาอยู่ในส่วน ‘Swop Watch’
ในกรณีที่มีการตอบรับแลกเปลี่ยน ทางเว็บไซต์จะส่งอีเมล์ของแต่ละฝ่ายไปให้ เพื่อให้ทั้งคู่ได้ติดต่อกันเอง คุณจะไปแลกกันที่ไหนก็ตามสะดวก แต่หากถึงเวลาไปแลกแล้วเกิดไม่พอใจขึ้นมา ทำไมมันไม่เห็นเหมือนรูปในเว็บไซต์เลย เราก็สามารถกลับมาคลิกปุ่ม ‘ถอน’ ของชิ้นนั้นก็จะกลับไปอยู่ที่รายการสินค้าเหมือนเดิม เพราะในตอนที่คุณคลิกปุ่ม Swop สินค้าก็จะถูกตัดออกจากรายการโดยอัตโนมัติเลย สำหรับเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนที่นี่ก็ไม่ต้องใช้อะไรมาก พกมาแค่ ‘ความพอใจ’ ล้วนๆ ยังเคยมีคนที่เอาของแพงมาแลกของถูกก็มีให้เห็นเหมือนกัน
แสดงให้เห็นว่า ‘มูลค่าไม่มีความสำคัญ’ เมื่อเข้ามาที่นี่

*ไม่มีของอะไรมาแลก
อ้าว...แล้วถ้าเกิดผมไม่มีอะไรให้แลกนอกจากฝาบ้านทั้งสี่ล่ะครับ?
ไม่มีปัญหา แค่คุณมี ‘ทักษะความสามารถ’ ด้านใดก็ได้ คุณก็สามารถใช้มันเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนได้แล้วไม่เคยเห็นมาก่อนทักษะก็เอามาใช้แลกของได้ด้วย ผมนึกประหลาดใจ ไม่ต้องรอให้ผมงงไปอีกสามวัน ชายหนุ่มรู้ทันจึงขยายความให้ฟังต่อ
“คือของเราก็แลกกันไปแล้วมากมาย ผมเลยคิดต่อไปว่าพลังงานที่มีอยู่ในตัวเรา มันสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะ ไอเดียในส่วนนี้ได้มาจากแรงบันดาลใจจากเว็บไซต์ต่างประเทศ จึงหยิบมาดัดแปลงใช้กับเว็บไซต์ของเรา ก็มีคนสนใจมาโพสต์ไว้เยอะ ที่แลกกันไปแล้วคือมีน้องคนหนึ่งเขาตีกลองเป็น สามารถสอนกลองได้ อีกคนหนึ่งพูดญี่ปุ่นได้ สอนภาษาญี่ปุ่นได้ สองคนนี้ก็ตกลงแลกกันไปแล้ว ส่วนอื่นที่เห็นเข้ามาโพสต์เพิ่มเติมจะมีหลากหลายมาก มีทั้งคนที่สามารถดูแลระบบไฟฟ้าภายในบ้านได้ จัดงานแต่งงานได้ สอนการหมุนปากกาได้ (ซึ่งเป็นอะไรที่ฮิตมากที่ประเทศญี่ปุ่น) มีน้องคนหนึ่งน่ารักมาก เขาเก่งภาษาเยอรมัน สอนและแปลให้ได้ กำลังอยากได้คนมาแนะนำเรื่องแฟชั่นให้ อะไรทำนองนี้ ผมว่ามันเป็นกิจกรรมที่สนุก และยังให้อะไรดีๆ แก่สังคมด้วย”
นอกจากนี้ โครงการต่อไปที่คิดจะเพิ่มเติมเข้ามามีอยู่หลายโครงการ อันแรกคือ ‘Celebrity Swop’ คือจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงมาแลกของด้วย โครงการที่ 2 ที่คิดจะทำคือ ‘ให้ไปเลย’ เช่น ที่บ้านมีโซฟาเก่าๆ ที่ไม่รู้จะไปวางไว้ไหนก็มาโพสต์ไว้ ยกให้คนที่อยากได้ไปเลย เวลาให้มันมีความสุข คนที่รับเขาก็สุข
โครงการต่อไปอาจไปติดต่อกับพวกเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เขามีสินค้าในสต๊อกเหลือเยอะ อาจจะชวนเขามาทำบุญในลักษณะแบบขอสินค้าเขาสัก 10 ชิ้น จากนั้นเราก็คิดโครงการให้สมาชิกของเว็บไซต์ทำสักโครงการหนึ่ง อย่างเดือนนี้ทางเว็บอยากได้คนอัดเทปนิทานให้คนตาบอด ใครทำมาเราก็ให้สินค้านั้นเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ และยังได้ทำบุญไปด้วย
…...
เหมือนติดลมบน กึ่งๆ ยังไม่หมดสนุก ผมบอกต่อเรื่องราวที่รู้มา รวมถึงเที่ยวตามหากิจกรรมรูปแบบนี้ต่อ เรื่องไปสะดุดลงรูหูของรุ่นพี่คนหนึ่งเข้า
“ถ้าสนใจกิจกรรมแบบนี้ มีอีกที่หนึ่งที่เรียกว่า‘ตลาดแบ่งปัน’        
???
“ถ้าอยากรู้ลองไปตามดูเอง” รุ่นพี่ผู้แสนดีทิ้งท้ายประโยคเดิมแบบนี้ทุกครั้งที่ต้องการให้รุ่นน้องตัวดีอย่างผมรู้จักอะไรให้มากขึ้นด้วยตัวเอง
ไม่เกี่ยงอยู่แล้วครับ ‘ภาวะงานเข้า แต่เพิ่มความรู้’ แบบนี้
.......
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สมาชิกกลุ่ม WE CHANGE ผู้ริเริ่มตลาดแบ่งปัน ตลาดที่มีแต่ให้ ช่วยไขความกระจ่างด้วยการปันคำตอบให้ผม

*อะไรคือตลาดแบ่งปัน?
“มันเริ่มมาจากแนวคิดของกลุ่ม WE CHANGE ที่มองว่าเราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ โครงการจึงเริ่มต้นที่ ‘ตลาดแบ่งปัน’ แนวคิดแรกของตลาดแบ่งปันคือเราเชื่อกันว่าตลาดมีหลายแบบ แต่เท่าที่ผ่านมามันแทบจะเหลือตลาดแค่รูปแบบเดียวคือตลาดที่นำไปสู่การสร้างกำไร ซึ่งการสร้างกำไรก็จะโยงไปถึงเรื่องการสะสม แล้วก็จะมีเรื่องกำไรขาดทุนเข้ามา ทั้งที่จริงแล้วตลาดมันมีมากกว่านั้น ตลาดที่ให้เฉยๆ ให้เปล่าๆ ก็มี ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าหรือกำไรขาดทุน จึงคิดอยากจะสร้างตลาดลักษณะนี้ขึ้นใหม่” ชายหนุ่มมาดขรึมเล่าให้ฟัง
ตลาดที่ว่านี้มีแนวคิดที่ว่าคนเราต่างก็มีของที่ไม่ได้ใช้เป็นจำนวนมาก การสะสมมันเป็นทุกข์ ในระยะยาว เริ่มต้นตอนได้มันมาอาจจะสุข แต่หลังๆ จะเริ่มเป็นทุกข์ตอนเก็บรักษา หรือเกิดความปรารถนาที่จะได้มันมาอีก ถ้ามีของที่เก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์ จะขายก็ไม่มีใครเอา น่าจะเอามาแลกกันให้สิ่งของเหล่านั้นได้ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
กิตติชัยผู้ริเริ่มตลาดแบ่งปันเล่าต่อว่า แนวคิดที่ 2 มองว่าทุกวันนี้เราอยู่ในระบบผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม แต่มีของจำนวนน้อยชิ้นมากที่เราจะรู้จักถึงผู้ผลิต เพราะส่วนใหญ่มันผลิตออกจากโรงงาน ผ่านการเดินทาง การที่เราจะได้พวกโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์สักเครื่อง มันเกิดจากการที่เราหาเงินเพื่อมาซื้อ มันจึงเป็นเรื่องราวระหว่างเรากับสิ่งของเท่านั้น ซึ่งมันส่งเสริมความเป็นปัจเจกชนให้มากขึ้น
“อันที่จริงสิ่งของมันมีเรื่องราวของมัน เราอาจไม่รู้ว่าสิ่งของมาจากไหน แต่เรารู้ว่าเราได้มันมาจากใครไม่ใช่จากพ่อค้าที่เราได้เจอหน้าเขาแค่ครั้งเดียว อย่างผมมีย่ามใบหนึ่งได้มาจากค่ายที่เชียงใหม่ ตอนนั้นผมไปสนิทกับน้องคนหนึ่งที่นั่น ซึ่งเขานั่งทอย่ามอยู่ พอเขาทอเสร็จเขาก็ยกให้ผมใบหนึ่ง มันจึงเป็นย่ามที่มีความผูกพันอยู่ ผมก็อยากจะมอบย่ามที่มีความผูกพันนี้ส่งต่อให้คนอื่นต่อไป สิ่งของก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้น เราน่าจะหันมาใส่ใจกับที่มาของสินค้าให้มากขึ้น เพราะมันจะโยงไปถึงเรื่องการผลิตว่าผลิตมาอย่างไร กดขี่แรงงานหรือเปล่า ผลิตมาทำลายสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน มันจำเป็นต่อมนุษย์จริงๆ ไหม“
น่าจะเป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ต้นทางของบางสิ่งบางอย่าง หรือหากจะมีก็คงน้อยคนนัก ผมนึกภาพตาม
“แนวคิดที่สามผมได้มาจากงานบุญของไทย งานบุญปีใหม่ งานบุญข้าวจี่ งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ คืองานบุญของไทยจะมีเกือบทุกเดือน ทุกภาค งานพวกนี้มันทำให้คนได้มารวมกัน มันช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ได้ทำบุญร่วมกัน ทำงานร่วมกันตามโอกาสต่างๆ เลยยึดแนวคิดนี้ด้วย วางแผนรณรงค์ลักษณะนี้ 3 ครั้งต่อปี เท่ากับ 4 เดือนจัดครั้งหนึ่ง เพื่อให้เราได้เจอกัน” กิตติชัยสรุปแนวคิดให้ฟัง

*เปิดตลาดแห่ง ‘การให้’
ถ้าเกิดผมอยากร่วมด้วย จะต้องทำอย่างไรบ้าง มือใหม่อยากแบ่งปัน พาปากของตัวเองให้ถามออกไป
“ตอนเปิดตลาด เราจะให้คนที่เคยมาร่วมแล้วเป็นคนเปิดก่อน จะให้เขาพูดว่าในความคิดของเขาตลาดแบ่งปันคืออะไร เพราะมันไม่ได้มีนิยามผูกขาด จากนั้นก็ให้เขาเล่าที่มาเล่าเรื่องราวสิ่งของว่าไปได้มาอย่างไร ประโยชน์มีอะไร ถ้ามีคนอยากได้แค่คนเดียวก็ง่ายยกให้เขาได้เลย แต่หากมีหลายคนก็อาจสร้างเงื่อนไขสนุกๆ ที่ไม่ซีเรียสมาตัดสิน เช่น เป่ายิ้งฉุบ โอน้อยออก เล่นกันสนุกๆ แล้วยกให้เขาไป เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องได้อะไรกลับคืนมา เพราะมันเป็นตลาดแบ่งปัน ไม่ใช่ตลาดแลกเปลี่ยน จากนั้นคนที่ได้ของเราไป เขาจะเป็นผู้นำเสนอสิ่งของที่เขาเตรียมมาต่อไป ก็เวียนกันไปจนครบวง ไม่ใช่ลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง” ชายหนุ่มเสียงขรึมหน้าใจดีตอบ
ตลาดแบ่งปันถูกจัดมาหลายครั้งแล้ว ทำมาได้ 3 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ครั้งล่าสุดจัดตอนช่วงงานสัปดาห์ไม่ซื้อ เปลี่ยนเป็นไม่ต้องซื้อมาแลกกันแทน ช่วงแรกๆ ที่จัดจะใช้วิธีชวนเพื่อนฝูงกันเอง บวกกับการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ Wechange555.com ทำให้เริ่มมีเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วย พอช่วงหลังๆ ก็มีนักศึกษาเอาไปจัดกันเอง คือเขาเคยมาร่วมด้วยแล้วเกิดชอบในแนวคิด ก็เอาไปจัดต่อที่มหาวิทยาลัยของเขา รู้สึกจะเป็นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แนวคิดนี้ไม่มีลิขสิทธิ์เพราะอยากให้ลองไปใช้กันเองอยู่แล้ว เอาไปออกแบบดัดแปลงสนุกๆ ไม่ต้องซีเรียสว่าจะไม่ตรงกับแนวคิดของตลาดแบ่งปัน อย่ายึดติด เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครสนใจก็เอาไปใช้ได้เลย ชายหนุ่มต้นความคิดเริ่มแบ่งปันอีกครั้งแล้ว
เด็กมหาวิทยาลัยก็มาร่วมด้วย ผมนึกดีใจที่มีคนรุ่นราวคราวเดียวกันสนใจในกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ปากจึงถามออกไปอย่างรวดเร็ว “จัดครั้งต่อไป เมื่อไหร่ครับ?”
“ครั้งต่อไปที่คิดจะจัดจะเป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2551 เรื่องสถานที่ยังไม่แน่นอนเพราะแต่ละครั้งเราก็เวียนจัดหลายที่ อย่างสวนเงินมีมา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานสัปดาห์ไม่ซื้อที่สวนสันติชัยปราการ ไม่มีที่เฉพาะ ใกล้ๆ วันงานน่าจะลงรายละเอียดไว้ที่เว็บไซต์” ชายหนุ่มทิ้งรอยยิ้มเมื่อปิดคำตอบ

*ต้องมีกี่คนถึงจะสนุก
ปัญหาของตลาดแบ่งปันคือพอเป็นกลุ่มใหญ่ มันจะคุยกันได้ไม่ทั่วถึง ขนาดที่เหมาะสมน่าจะสัก 20 คน กำลังสนุก ได้แย่งกันแบบน่ารักๆ หยอกล้อเล่นกันได้ทั่วถึง
“บางทีเราเองยังต้องคอยเตือนว่านี่มาแบ่งปันกันนะไม่ได้มาแย่งกัน” กิตติชัยเล่าเรื่องแถมเสียงหัวเราะ แต่ถ้ามากันเยอะจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาตอนนี้กำลังพยายามคิดรูปแบบอยู่ แบบแรกคือแยกเป็นหลายวง แบบที่ 2 คือถ้ามีคน 40-50 คน เราจะหาผู้ดำเนินรายการคนหนึ่ง พอมีผู้ดำเนินรายการมันจะช่วยรันให้เร็วขึ้น แต่แบบนี้มันจะไม่ค่อยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเท่ากับพูดคุยกันวงเล็กๆ
คล้ายกับว่าถ้าเชื่อในความสัมพันธ์ระหว่างคน ก็ต้องพึงใจกับขนาดวงที่ต้องเล็กลง

*ระบบ (แบ่ง) ปันนิยม
ตลาดแบ่งปันไม่เน้นการแลกเปลี่ยน มีแต่ให้เขาไปฟรีๆ แบบนี้คนให้ก็เสียเปรียบสิ ใจด้านอกุศลของผมตะโกนออกมา ในหัวพานโยงไปถึงเรื่องกำไรขาดทุน
“แนวคิดดั้งเดิมคือไม่เอาทุนนิยมเลย ไม่คิดว่าเงินเป็นสิ่งที่จะนำพาทุกอย่างได้ จะต่อต้านระบบทุนนิยมที่ชอบให้กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เน้นการสะสม เน้นกำไร แต่พอหลังๆ ได้คุยกับกลุ่มเพื่อนที่ศึกษาด้านพุทธศาสนา จึงได้ยินคำพูดที่ว่า ‘ถ้าเราสู้กับมาร เราจะกลายเป็นมาร’ คือมันจะทำให้เราสร้างความเกลียดชังขึ้น ถึงแม้จะกับตัวระบบที่ไม่ใช่คนก็ตาม"
“ผมฝันอยากจะสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่คู่ขนานไปกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งวันข้างหน้ามันอาจจะกลืนกินระบบทุนนิยมจนหายไปเลยก็ได้ ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟัน แค่สร้างพื้นที่แบบนี้ให้มันขยายตัวมากขึ้น ที่ผ่านมาผมไม่ได้ทำแค่ตลาดแบ่งปันอย่างเดียว ผมยังทำสัปดาห์ปิดทีวี สัปดาห์ไม่ซื้อ ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่สวนกับทุนนิยมแน่ๆ อยู่แล้ว ในอนาคตยังคิดอยากทำเงินท้องถิ่น สร้างระบบเงินตรา เป็นเศรษฐกิจของการแบ่งปัน แต่เรื่องข้อกฎหมายยังไม่ผ่านอยู่” กิตติชัยบรรยายแนวคิดให้ผมฟัง
........
ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหน ที่สุดแล้ว มันคงเป็นเพียงช่องทางในการมอบสิ่งดีๆ โดยไม่ใช้ ‘เงิน’ ที่คนต่างบูชาเป็นพระเจ้ามาเป็นเงื่อนไข
แค่เปลี่ยนเป็น ‘แลก’ หรือจะเปลี่ยนเป็น ‘แบ่ง’ มันก็ดีทั้งนั้น .......
ผมรู้สึกได้ว่าหัวผมเบาลงบ้างแล้ว ไม่แน่ว่าการได้รับรู้เรื่องราวดีๆ วันละเรื่องสองเรื่อง
อาจช่วยปลดเปลื้องความเขลาในหัวให้หลุดลอกออกไป...ก็เป็นได้

**********************
เรื่อง-วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม

วราฤทธิ์ มังคลานนท์ เจ้าของไอเดียและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เก๋ๆCoolswop.com
 หน้าเว็บเพจ Coolswop.com
Hot Items จากเว็บไซต์CoolSwop
Skills ที่แห่งนี้ ทักษะ ใช้แลกของได้
Swop Watch เขาแลกอะไรกันไปแล้วบ้าง
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สมาชิกกลุ่ม WE CHANGE ผู้ริเริ่มตลาดแบ่งปัน
เว็บไซต์ Wechange555.com ของกลุ่ม WE CHANGE
แนวทางของกลุ่ม WE CHANGE
 WE CAN CHANGE THE WORLD แนวคิดหัวใจหลักของกลุ่ม WE CHANGE
โครงการตลาดแบ่งปัน ตลาดที่มีแต่ให้
แนวคิดและที่มาของตลาดแบ่งปัน
กำลังโหลดความคิดเห็น