xs
xsm
sm
md
lg

Fusion Food การปะทะทางอารยธรรมอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตาของอาหารฟิวชัน
ยามค่ำคืน, บรรยากาศอันแสนโรแมนติก น่านั่งจิบไวน์เคล้าเพลงแจ๊ซ ในร้านอาหารมีสไตล์เก๋ไก๋ล้ำยุค และดูทันสมัยเข้าไปอีกกับการสั่งเมนูแสนอร่อยที่มีความงดงามทางสายตาแบบ ‘ฟิวชันฟูด’ (Fusion Food) มารับประทาน แล้วเริ่มต้นลิ้มรสชาติอันกลมกล่อมและจัดจ้านกำลังดีของเหล่าวัตถุดิบจากทั่วทุกมุมโลกที่ผสมปนเปให้ลงตัวอยู่ในจานเดียว

ทุกวันนี้หนุ่ม-สาวคนรุ่นใหม่วัยเทรนดี้กำลังนิยมสรรหาอาหารที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งให้ความรู้สึกไม่ซ้ำซากจำเจเพื่อมอบเป็นรางวัลชีวิตให้กับตัวเอง หลังจากตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินอย่างหนัก และท่ามกลางความหลากหลายของอาหารนานาชาติที่พาเหรดกันเข้ามาเป็นตัวเลือก ‘อาหารฟิวชัน’ ที่สามารถดึงเอกลักษณ์ของแต่ละชาติมาผสมผสานให้เป็นเมนูใหม่จึงฮิตติดปาก เก๋ เท่ ติดตา กลายเป็นกระแสนิยมค้างฟ้า ซึ่งกำลังฮิตสุดฤทธิ์สุดเดชในเวลานี้

รสต่างชาติ หน้าต่างถิ่น

‘ฟิวชัน’ (Fusion) มาจากรากศัพท์ของคำกิริยาว่า ‘ฟิวส์’ ( Fuse) หมายถึงการรวมเข้าไว้ด้วยกัน ในทางดนตรี ฟิวชัน จึงหมายถึงการรวมของแนวดนตรี 2 แนวขึ้นไป และยิ่งไปกว่าการฟิวชันทางดนตรีมา พ.ศ.นี้ยังเกิดการฟิวชันในทางอาหารขึ้นซึ่งแน่นอนว่าน่าจะสร้างความสับสนได้ไม่รู้จบ

‘อาหารฟิวชัน’ (Fusion Food) เป็นการการปะทะกันทางอารยธรรมของอาหารนานาชาติ โดยใช้ความสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อเรียงร้อยวัฒนธรรมความอร่อยจากต่างที่ต่างถิ่นให้เชื่อมเข้าหากัน ในความหมายคือ การนำวัตถุดิบที่แตกต่างไม่ว่าจะด้านรสชาติ ถิ่นกำเนิด หรือประเภทอาหารคาว-หวาน มาผสานคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างดิบดี มีทั้งอาหารตะวันตกที่นำมาปรุงกับเครื่องเทศหรือวัตถุดิบจากโลกตะวันออก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และการนำอาหารตะวันออกรสจัดจ้านมาผสมผสานกันอาหารนานาชาติ โดยมี ชีส อะริกาโน่ โรสแมรี่ หรือซอสครีมขาว เป็นสื่อกลาง  

ซึ่งถือเป็นการสะท้อนถึงรสชาติของอาหารตามแบบคนเอเชีย รวมทั้งความงามของสีสันอาหาร ในขณะเดียวกันก็ได้แสดงทักษะการประดิษฐ์ตกแต่งอาหารอย่างสวยงามแบบเลิศๆ ให้เหมาะสมกับลูกค้าที่แตกต่างกัน และหลากหลายในด้านวัฒนธรรมการทานอาหาร พร้อมทั้งการปรุงอาหาร

ร้านอาหารแนวฟิวชันฟูดเป็นเทรนด์ซึ่งเกิดขึ้นในอเมริกา ยุโรป และแพร่หลายเข้ามาในเอเชียด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นร้านอาหารที่ไม่ใช่แค่การมานั่งรับประทานอาหาร แต่เป็นที่พบปะสังสรรค์ รีแลกซ์ โดยจะใช้รูปแบบของการดีไซน์และบรรยากาศในร้านมาเป็นตัวดึงดูด ถือเป็นแนวคิดใหม่ในการทำร้านอาหารที่ต้องการสร้างแรงดึงดูดจากอาหารที่เกิดจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม การมารับประทานอาการที่ร้านอาหารแนวนี้ไม่ได้เพียงมาชิมรสชาติของอาหารเท่านั้น แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นมาชิลกับบรรยากาศป็อปๆ ตามประสาพวกที่เรียกตัวเองว่า คนมีรสนิยม

การเกิดขึ้นของร้านในรูปแบบนี้ มาจากพฤติกรรมของคนทำงานทั่วโลก โดยเฉพาะผู้หญิงที่เวลาทำงานจะทำอย่างหนักเพื่อหาเงินและเมื่อถึงเวลาผ่อนคลายหรือพักผ่อนก็จะพักผ่อนแบบเต็มที่ เป็นการเน้นเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่จะดีไซน์ร้านให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่เป็นหลัก

อาหารยุคโมเดิร์น

“อาหารก็เหมือนสิ่งที่มีชีวิตดังนั้นจึงต้องเต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย”ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร (National Food Institute) กล่าว

เท่าที่มีโอกาสได้คลุกคลีในวงการอาหารไทยมาอย่างยาวนาน ดร.ยุทธศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า การพัฒนาของอาหารในแต่ละยุคสมัยนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกันโดยเริ่มต้นจากอาหารที่เป็น Authentic (ดั้งเดิม) หมายถึง อาหารที่มีมาแต่ดั้งเดิมเป็นต้นตำรับมาตรฐาน ซึ่งเวลาทำอาหารแล้วมีการเผยแพร่ไปเนื่องจากโลกเรามันก็แคบลง อาหารหลายชนิดก็ถูกนำไปบริโภคในต่างประเทศ ในส่วนของที่ระบุไว้ว่าจะต้องใช้ วัตถุดิบแต่ละชนิดตามรสชาติแบบที่เป็นแบบฉบับบางทีก็มีข้อจำกัดอย่างเช่น ไม่มี ราคาสูง นำเข้าไม่ได้ จึงต้องเกิดจากการปรับปรุงสูตรขึ้น

มาถึงด่านที่ 2 เรื่องของการ Customized (ปรับปรุง) เกิดขั้นจากที่วัตถุดิบไม่มีขาย ก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้มาใช้แทนตำรับเดิมให้ได้

สุดท้ายก็คือ Fusion (รวมเข้าด้วยกัน) ในทางอาหารอาจเรียกได้ว่าเป็นการผสมผสาน อาจไม่ใช่เรื่องของการปรับปรุง แต่เป็นการนำเอาอาหารมาประยุกต์รวมกันให้เกิดอาหารชนิดใหม่ขึ้นมา โดยเกิดจากจินตนาการ หรือความคิดจากเชฟผู้ปรุงรส

“ในเมืองไทยผมเข้าใจว่า อาหารแนวฟิวชันก็มีอยู่บ้าง และปัจจุบันกำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ในต่างประเทศเราจะเห็นอาหารไทยที่เป็นฟิวชันค่อนข้างมาก อย่างที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ อาหารอิตาลีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Kalamari (ปลาหมึกชุปแป้งทอด) ปกติผู้บริโภคมักจะทานกับ Tata source (ซอสที่ขาวๆ) แต่ว่าต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนมาทานกับซอสที่เป็นเหมือนน้ำจิ้มไก่กันเพิ่มมากขึ้น

“แต่เดิมอาหารฟิวชันจะมีการประยุกต์ใช้อาหารมาผสมกันตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไป แต่อย่างกรณีของพวกชูชิบาร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เราจะไม่สามารถไปหาชูชิบาร์ที่มีแบบในประเทศญี่ปุ่นได้ เพราะมันมีการประยุกต์เอาชูชิให้อยู่ในลักษณะที่คนอเมริกันชอบกินซึ่งวิธีนี้ก็คือฟิวชั่นอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่แค่การฟิวชันวัตถุที่ต่างสัญชาติกัน แต่รูปแบบการนำเสนออาหารก็ถือเป็นฟิวชันอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน

“จริงๆ แล้วเราต้องคำนึง และทำความเข้าใจให้ได้ด้วยว่าอาหารแต่ละประเภทเป็นการฟิวชันแบบไหน เกิดจากการนำอาหารสองอย่างมาร่วมกัน เป็นในแง่ของวัตถุดิบ หรือรูปแบบการนำเสนอ จนถึงกรรมวิธี ขั้นตอนการปรุงก็เป็นไปได้”

“ร้านสปาเก็ตตี้ดังๆ ในประเทศญี่ปุ่นหลายต่อหลายร้านเขาจะเยาะน้ำปลาลงไปในอาหาร นั่นถือเป็นแนวโน้มวิธีการปรุงอาหาร ซึ่งเชฟต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาลองนึกภาพว่าหากเราทานอาหารหนึ่งร้านทุกๆ วัน เราก็ต้องเปลี่ยนเมนู และพอถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนร้าน เพื่อแสวงหาความแปลกใหม่ไม่มีใครสามรถทานอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ไปได้ตลอด ดังนั้นร้านอาหารในเมืองไทยจำนวนมากจึงต้องเร่งสร้างความแตกต่างโดยเอาเทคนิคของฟิวชั่นมาใช้เป็นทางออก”

ปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธความเป็นอาหารฟิวชันได้ เพราะการผสมผสานจำเป็นต้องเกิดขึ้น อาหารหลายๆ อย่างต้องมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเราติดต่อสื่อสารกันอย่างไร้พรมแดน การรับวัฒนธรรมจากซีกโลกหนึ่งมาสู่อีกซีกโลกหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งที่ยากอีกต่อไปด้วยสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต  ภาพยนตร์  ทีวี ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติตะวันตก  อาทิ  อเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส ทำให้อาหารแต่ละชาติได้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมในการปรุงแต่งอาหาร     และต่อมาได้มีการประยุกต์ดัดแปลงผสมผสานอาหารของชาติต่างๆ   เกิดเป็นอาหารจานใหม่ขึ้น 

ฟิวชั่นระบาด ต้นตำรับขาดหาย

ต้องยอมรับว่า ร้านอาหารที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันทางอารยธรรมของอาหารนานาชาติในบ้านเรา กำลังถูกจำกัดให้อยู่ในกลุ่มคนระดับบนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้มักมีโอกาสในการเดินทางบ่อย หรือมีประสบการณ์ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นการแสวงหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มันจึงกลายเป็นรสนิยมของคนกลุ่มนี้

“ตอนนี้อาหารฟิวชันมันระบาดในบ้านเรา ซึ่งในช่วงแรกนั้นผมคิดว่า จุดเริ่มต้นจะมาจากร้านค้า และลูกค้าระดับบนก่อน สำหรับคำว่า ‘อาหารแนวฟิวชัน’ เวลานี้อาจทำให้ร้านแต่ละร้านดูภาพลักษณ์ดี เนื่องจากสามารถสร้างความแตกต่างจากร้านธรรมดาๆ ทั่วไปได้ ถือเป็นแนวทางการทำการตลาดส่วนหนึ่งด้วย แต่เวลานี้คงยังไม่สามารถกระจายเป็นวงกว้างในเมืองไทยได้ เนื่องจากบ้านเรายังมีความแตกต่างทางด้านรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งในอนาคตผมคิดว่าต้องมีการพัฒนามากขึ้นสู่คนทุกระดับแน่นอน

“สุดท้ายมันก็อยู่ที่ความอยากสร้างความแปลกใหม่ การสรรหาอะไรมาความมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญที่เขาก็ใช้เทคนิค การผสมผสานแบบนี้ จนกลายเป็นที่นิยมก็กลายเป็นฟิวชันได้ และอีกอย่างคือการเรียนรู้และศึกษา ตั้งใจจะให้อาหารออกมามีลักษณะหน้าตา รวมถึงรสชาติในแบบที่ต้องการ”

เวลานี้ผัดไทในต่างประเทศส่วนมากใช้ซอสมะเขือเทศเป็นส่วนผสมเวลาปรุงรส แล้วเวลาชาวต่างชาติเดินทางมากินผัดไทที่เป็นแบบฉบับจริงๆ จึงพบว่า หลายคนบอกว่าไม่อร่อยเพราะไม่ได้ใส่ซอสมะเขือเทศ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็น Authentic, Customized หรือว่า Fusion ต้องคำนึงถึงด้วยว่าตำรับดังเดิมนั้นมีมายังไร ต้องแลหลังกลับมาดูด้วยจะได้สามารถเปรียบเทียบได้สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นดีไม่ดีอย่างไร แต่ว่าบ้านเราเรื่องของสั่งสมการการเก็บข้อมูลทำสถิติอาจจะยังน้อยไปอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นหากเกิดการฟิวชันกันเยอะๆ จะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากที่ไม่มีทางรู้ว่ารากฐานเดิมในแบบออริจินัลนั้นมายังไง

“ผมอยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรม และตัวพ่อครัวแม่ครัวเองในเรื่องของตำรับอาหารต้องพยายามรักษาสูตรดั้งเดิมไว้ให้ได้ เมื่อมีการพัฒนาไป หรือฟิวชันไปเยอะๆ ถึงเวลาหนึ่งที่เราย้อนกลับมาดูรากฐานอาหารไทยต้นแบบจริงๆ มันจะได้ทำให้ลูกหลานเกิดความภาคภูมิใจได้ว่ายังมีอาหารสัญชาติไทยแท้ๆ อยู่”

อย่างไรก็ตามถึงแม้กระแสการเกิดของฟิวชันจะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม แต่ผู้อำนวยการจากสถาบันอาหารยังเชื่อมั่นว่า อาหารก็เหมือนกับแฟชั่นที่สลับไปสลับมา สักพักความนิยมในอาหารไทยโบราณแบบสุดขั้วก็จะกลับมาอีก ส่วนในเรื่องความหลากหลายทางรสนิยมของคนนั่นไม่มีผลทำให้อาหารไปไทยในแบบฉบับออริจินัลด้อยคุณค่าลงแน่นอน

ผลผลิตจากการฟิวชัน

ผลผลิตจากการฟิวชันทางอาหารทำให้เกิดเมนูซึ่งมีชื่อแปลกหู รูปลักษณ์แปลกตา อาทิ แกะย่างกระเทียมจิ้มแจ่ว, สปาเก็ตตี้ปลาอินทรีเค็ม, พิซซ่าหน้าเขียวหวาน, แฮมเบอร์เกอร์ลาบไก่, ข้าวปั้นปลาทู, แซนด์วิชหมูย่าง, หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์จี๊ดจ๊าด, โรตีไส้พะแนงหมู, ปลาแซลมอนผัดพริกขิง, ก๋วยเตี๋ยวต้มโคล้ง, เกี๊ยวปูครีมชีส, ยำแอ้ปเปิ้ลเขียว, ไอศครีมทอด ฯลฯ

โทนนี่ เชฟฟิวชันฟูด จากสถาบันสอนการประกอบอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองไทย อธิบายให้ฟังว่า ฟิวชันฟูดเป็นอาหารที่ผสมผสานวัตถุดิบ รูปแบบ และวิธีการทำอาหารของหลายๆ เชื้อชาติเข้าไว้ในจานเดียวกัน ซึ่งคนที่จะมาเป็นเชฟฟิวชันฟูดได้ดีนั้น ทุกเมนูที่ทำเขาจะต้องเป็นคนคิดขึ้นมาใหม่เอง เพราะปัจจุบันตามร้านอาหารแนวฟิวชั่นหลายต่อหลายร้านได้มีการทำเมนูฟิวชั่นซ้ำๆ เป็นจำนวนมาก บางที่ก็ไม่ได้สร้างสรรอาหารขึ้นมาใหม่ ทำให้เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนของเมนูอาหาร และร้านอาหารไม่เกิดขึ้น

“การทำอาหารแนวฟิวชั่นนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเป็นอาหารชาติใดผสมผสานกับอาหารชาติใดใช้เครื่องปรุงอะไร รสชาติแบบใด วิธีการปรุงทำอย่างไร  มีวิธีการจัดจานอย่างไร ส่วนใหญ่อาหารฟิวชั่นนั้นเกิดขึ้นจากนักทำอาหารได้เรียนรู้จากเครื่องปรุงอาหารของชาติอื่นว่ามีรสชาติ สรรพคุณ คุณค่าทางอาหารอย่างไร แล้วนำมาปรับให้เข้ากับอาหารของชาติตนเอง

“การทำอาหารในแนวฟิวชันฟูดให้ออกมาดี และลงตัวได้นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชองเชฟแต่ละคนที่สามารถนำวัตถุดิบของแต่ละชาติมาผสมกันให้ออกมามีรสชาติที่ทุกคนรับประทานได้ แต่ต้องเกิดการลงตัวและเข้ากันได้ของอาหารด้วย  ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องรสชาติ 

“คนเราเริ่มให้ความสำคัญกับการบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งการบริโภคน้อยๆ โดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพก็เป็นแนวทางของฟิวชันอย่างหนึ่ง และนอกจากบริโภคด้วยการรับประทานโดยตรงแล้วยังบริโภคด้วยสายตา ซึ่งเหล่านี้เราก็ได้รับวัฒนธรรมการบริโภคมาจากตะวันตก


"เชฟฟิวชันฟูดแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน เพราะแน่นอนว่าประสบการไม่เท่ากัน บางคนแค่ชมว่าอาหารสวยก็มีความสุขแล้ว บางคนก็ต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่ส่วนตัวจะมีความสุขมากที่สุด เวลาผู้บริโภครับประทานอาหารที่เราทำแล้วเขายิ้มออก เพราะเราต้องใส่อารมณ์และความรู้สึกไปกับอาหารด้วย คิดเสียว่าทำให้คนที่เรารักที่สุดได้รับประทาน ถ้าทำออกมาแล้วเขาทานอย่างมีความสุข เราดีใจไปด้วย”

ถูกปากแบบอินเทรนด์

อาหารไทยทุกวันนี้เป็นที่รู้จักของทั่วโลกค่อนข้างมาก โอกาสที่ผู้ปรุงรสอาหารจะนำเอาอาหารไทยไปผสมผสานกันอาหารประเภทอื่นๆ นั้นเป็นไปได้สูง ซึ่งยืนยันโดย ทิพยรัตน์ คล้ายสุบรรณ สาวผู้ชื่นชอบการรับประทานอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ว่า ต่อไปของกินจะไม่มีสัญชาติแล้วมันจะเป็นฟิวชันฟูดไปหมด แต่จะปรับเปลี่ยนให้ถูกปากคนพื้นที่เท่านั้น และสิ่งสำคัญอาหารที่เปลี่ยนแน่คือ จะเน้นสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากคนกลัวตาย และกลัวโรคภัยใหม่ ๆ รวมถึงมีความรู้มากขึ้น ต่อไปใครเปิดร้านอาหารเฉยๆ ไม่ใส่อะไรประเภทเพื่อสุขภาพ เข้าไปจะไม่อินเทรนด์แน่

“ร้านอาหารแนวฟิวชันกระจัดกระจายอยู่มากในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา ย่านสุขุมวิท แถวสีลม และร้านอาหารนานาชาติบนห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแนวฟิวชันไปเกือบหมดแล้ว จนเวลานี้หาร้านอาหารไทยแบบฉบับดั้งเดิมทานจริงๆ นั้นยากมาก”

ทิพยรัตน์มองว่า เวลานี้อาหารแนวฟิวชั่นนั้นกลับกลายเป็นเพียงแค่อาหารที่วัยรุ่นกินเอาเท่ กินเอาเก๋ กินเอาบรรยากาศ กินเอาดีไซน์ จนทำให้ร้านอาหารฟิวชันฟูดผุดขึ้นมาเต็มเมือง จนทำให้ฟูดสไตลิสท์เวลานี้กลายเป็นอาชีพสุดฮิป

“เวลานี้คนส่วนมากที่กระเป๋าไม่ได้หนักอะไรมาก ถ้าจะสั่งอาหารแนวฟิวชันฟูดแต่ละทีจะกินก็เกรงใจ กลัวว่าตักไปทานคำหนึ่งแล้วอาหารที่จัดวางในจานมาอย่างดีจะเสียองค์ประกอบทางศิลปะ เรื่องรสชาติกับปริมาณก็มักไม่สอดคล้อง ต้องคิดเสียว่าเป็นอาหารตาเพื่อปลอบใจตัวเอง ซึ่งการรับประทานที่ถูกและดีนั้นต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องวัตถุดิบ รสชาติ สถานที่ ความสะอาด คุณภาพอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ ความเหมาะสมของราคาและปริมาณ และอีกหลายๆ

“ตามหลักเศรษฐศาสตร์ของทุกอย่างเมื่อถึงเวลาที่มีคนนิยมมากๆ ราคาก็จะถูกลง จากที่เคยอยู่ตลาดระดับบนก็จะลงมาสู่ระดับล่าง ซึ่งอาหารแนวฟิวชันที่เคยอยู่ระดับบนก็เช่นกัน ถึงเวลาที่ป๊อปมากๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ไป ถึงตอนนั้นตาสี ยายสา คนธรรมดาๆ ก็จะได้รับประทานฟิวชันฟูดกันอย่างเพลิดเพลินแน่นอน” ทิพยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

***************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ






กำลังโหลดความคิดเห็น