สถานการณ์ยามนี้ สำหรับใครหลายคน การเมืองอาจเป็นเรื่องน้ำเน่า แต่สำหรับ สุวิทย์ หลีดุลย์ การเมืองนั้นเป็นเรื่องศิลปะ
เพราะนับตั้งแต่ช่วงเวลาของการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 เป็นต้นมา การเมืองก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาหันหน้าเข้าเฟรมผ้าใบตวัดพู่กันเขียนภาพด้วยความเมามันอีกครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพของบรรดานักการเมืองที่เขานำไปติดโชว์หน้าร้าน ยังส่งผลให้ร้านรับจ้างเขียนภาพเหมือนของเขา ณ ห้อง 157 ชั้น 1 เจ.เจ.มอลล์ ถนนกำแพงเพชร พลอยคึกคักขึ้นมาด้วย หลังจากที่เงียบเหงาไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาระยะหนึ่ง
“เขียนขึ้นมาสนุกๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่พอเขียนแล้วก็เกิดความมัน อยากจะเขียนของผมไปเรื่อย เขียนได้ประมาณ 8-9 ภาพ ก็นำไปโชว์ไว้หน้าร้าน เพื่อดึงคนที่ผ่านไปผ่านมาให้เข้ามาดูภาพอื่นๆ ในร้าน คนที่เขาชอบ บอกว่าไม่เคยเห็นภาพเหมือนสไตล์นี้มาก่อน เลยอยากจ้างให้เราเขียนภาพพ่อ ภาพแม่ของเขาในสไตล์นี้ให้บ้าง ผมก็พลอยได้มีงานทำเพิ่มขึ้น เพราะช่วงนั้นมันเงียบๆ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เหมือนเป็นการโปรโมทร้านโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ”
สุวิทย์ยอมรับว่า คนเขียนภาพเช่นเขานั้นถือเป็นคอการเมืองคนหนึ่ง เฝ้าติดตามข่าวสารทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ โดยก่อนหน้าที่จะมุ่งมั่นเขียนภาพนักการเมืองรายอื่นๆ ช่วงเลือกตั้ง ในช่วงที่มีเหตุการณ์ประชาชนรวมตัวกันขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เขาได้เริ่มต้นเขียนภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นภาพแรกและตามมาติดๆ ด้วยภาพของ พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผู้ทำให้ประโยค “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ติดหูประชาชนชาวไทย ท่ามกลางภาวะอกสั่นขวัญแขวนว่าประเทศจะก้าวไปในทิศทางไหน
สุวิทย์นำภาพของคนทั้งคู่ติดประชันกันหน้าร้าน สร้างทั้งรอยยิ้มและความตกใจให้แก่ผู้พบเห็นในคราวเดียวกัน
“แรกๆ ตัวผมเองก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่มาคิดว่ามันเป็นแค่ภาพเขียนคงไม่เป็นไร”
ที่ผ่านมาสุวิทย์บอกเล่าว่า มีผู้ตามตื๊อขอซื้อภาพนักการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบมาโดยตลอด ถ้าไม่นับรวมภาพของนักร้องสาว ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา ผู้หญิงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นคนเดียวที่สุวิทย์เลือกเขียนภาพ ซึ่งมีบรรดาแฟนคลับของเธออยากได้ไปครอบครองไม่น้อย
อันดับหนึ่งที่เป็นที่ต้องการ คือภาพของนักการเมืองหน้าหล่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยภาพของ อดีตนายกฯ ทักษิณ และภาพของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน สมัคร สุนทรเวช
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้คนเหล่านี้ยังเป็นกระแสให้ใครต้องพูดถึงเขาก็ยังไม่คิดอยากขาย
“ตอนนี้ยังไม่คิดขาย ถ้าหมดกระแสคงต้องรีบขาย เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ไม่ใช่รูปเรา”
แต่ถ้าเจ้าของภาพอยากได้ เขาเต็มใจยกให้ฟรีๆ โดยไม่คิดมูลค่า มีข้อแม้ว่าห้ามขอผ่านใครอื่น ต้องเป็นเจ้าของภาพมาขอและรับภาพด้วยตัวเองเท่านั้น
“ผมให้ได้หมด ไม่เสียดาย แต่คนที่มาขอต้องเป็นเจ้าของภาพเท่านั้น คนอื่นมาขอเอาไปให้ ผมไม่ให้ เดี๋ยวเขาจะเอาไปหลอกว่ามาจ้างผมเขียน แล้วเอาความดีความชอบใส่ตัว”
ภาพทุกภาพสุวิทย์ยังไม่เคยรวบรวมไปจัดแสดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่ไหนมาก่อน มีเพียงวันเด็กแห่งชาติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาเคยนำภาพเขียนจำนวนหนึ่งไปจัดแสดงในนิทรรศการที่ศูนย์การค้าเอสพลานาด ด้วยเหตุผลว่า
“อยากให้เด็กๆ ได้ดูได้รู้ว่านักการเมืองในยุคปัจจุบันนี้มีใครบ้าง”
ภาพนักการเมืองรายสุดท้ายที่สุวิทย์เพิ่งละสายตาจากการเขียนไปเมื่อไม่นาน เป็นภาพของของอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายาใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง ชวน หลีกภัย และยามนี้กำลังคันมืออยากจะเขียนภาพ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เฉลิม อยู่บำรุง และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จักรภพ เพ็ญแข แต่ยังหาแบบที่พอใจไม่ได้
“ตอนนี้คนที่ดีๆ ผมไม่อยากเขียนเท่าไหร่ (หัวเราะ) เขียนแล้วไม่ดัง ต้องเขียนคนที่ดูแล้วตื่นเต้นอย่าง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เขียนไปคนรู้สึกธรรมดา ไม่มีใครตื่นเต้นหรอก ต้องเขียนคนไม่ดี คาบลูกคาบดอก คนดูเมืองไทยจะเป็นสไตล์นี้”
ศิษย์เก่าเพาะช่าง เจ้าของผลงานภาพประกอบวรรณกรรมเรื่องเพชรพระอุมา ของ พนมเทียน ผู้ผ่านการออกแบบตราไปรษณียากรให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตลอดจนพ็อกเกจบุ๊กและใบปิดหนังเมื่อครั้งอดีต บอกเล่าว่า ความสนุกของการเขียนภาพนักการเมืองเหล่านี้ คือการได้ปลดปล่อยอารมณ์สร้างสรรค์ของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่
“ได้สะบัดพู่กันตามใจเรา โดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง เพราะด้วยงานที่เราต้องทำตามออเดอร์เป็นส่วนใหญ่ ต้องทำอย่างโน้นต้องอย่างนี้ตามผู้ว่าจ้าง มันทำให้เราอึดอัด แต่เขียนภาพพวกนี้เรารู้สึกสบาย ปล่อยฟรีๆ ได้เต็มที่ ทั้งในเรื่องของสีสันและทีพู่กัน ทิ้งเส้น ทิ้งอะไรได้ตามใจเราหมด มันเป็นงานที่มันส์มาก ใครเห็นก็ต้องมันส์ตาม”
เขาเขียนภาพในรูปแบบของงานอิมเพรสชั่นนิสต์ เน้นเก็บรายละเอียดให้ดูเนี้ยบเหมือนภาพเหมือนคนที่เคยเห็นทั่วๆ ไป คนในภาพแต่ละคนอยู่ในอิริยาบถที่ดูสุขุม จิตใจดี มากกว่ามากไปด้วยพิษสง ทว่า สีของแบ๊กกราวน์ดของภาพมันได้ซ่อนความหมายบางอย่างไว้
“อย่างภาพชวนและอภิสิทธิ์ สีเขียวสื่อถึงความสงบ ร่มเย็น แต่อย่างภาพสมัครแบ๊กกราวน์ดจะดูมืดมน บางภาพมีสีแดงโผล่มาหน่อย แทนการครุ่นคิดว่าต้องกลับไปแก้แค้น ภาพของผมมันแฝงปรัชญานิดหน่อย คนเราปากกับใจไม่ตรงกันไง เวลาพูดอีกอย่าง แต่ใจคิดอีกอย่าง”
ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง สิ่งที่เขาอยากจะสะท้อนถึงเหล่านักการเมืองที่เขาเลือกเป็นแบบเขียนภาพคือ
“เห็นแก่ประชาชนบ้าง อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป เห็นแก่ประชาชนให้มากๆ อย่าเอาคำว่าประชาชนมาเป็นโล่บังตัวเอง แล้วคอยไปหลอกเขาอยู่เรื่อย อยากให้ช่วยเหลือเขามากกว่า สิ่งที่ต้องเร่งรีบทำ ทำไมไม่ทำ ตอนนี้ค่าแรงขึ้น 9 บาท น้ำตาลขึ้นกิโลนึง 5 บาท ดูก็รู้แล้วว่าเพื่อใคร”