“…การทำงานเพื่อบ้านเมืองนั้น เป็นความฝันอันสูงสุดของคนไทยทุกคน บัดนี้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ผ่านไปแล้ว ภาพทุกภาพกลายเป็นอดีต ที่จารึกลงในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ สำหรับให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้พลิกดู ด้วยความสนใจ ด้วยความภูมิใจ ถ้าพลิกต่อไปอีกสักนิดที่ “ข้างหลังภาพ” นั้น บางทีเขาอาจจะมองเห็นพวกเราทุกคนก็เป็นได้…”
นั่นคือข้อเขียนบางส่วนของ “บุญพีร์ พันธ์วร” ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ “ภาพแห่งความทรงจำ” สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเมื่อพลิกไปดูข้างหลังภาพตามที่เขาบอกไว้ เราก็ได้พบกับหลายแง่มุมจากภาพชีวิตของเขา โดยเฉพาะบทบาท “ช่างภาพ” ที่น้อยคนนักจะมีโอกาส ทั้งที่งานประจำจริงๆ ของเขา กลับอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท สยามกลการ จำกัด
“ผมเกิดและเติบโตในวังสุโขทัย แต่กลับชอบใช้ชีวิตอยู่ป่าเขาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเวลาปิดเทอมเป็นต้องตามไปอยู่กับน้าชายชื่อ ‘บุญเหลือ เหมหงษา’ ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงในสมัยนั้น จึงได้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ ป่าเขา และสัตว์ป่าอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็ไปช่วยน้าปลูกป่า นอกจากนี้น้าชายยังสอนถ่ายภาพให้ จนเรื่องธรรมชาติและการถ่ายภาพ ได้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมในเวลาต่อมา”
และนี่คือปฐมบทของผู้ชายชื่อ… บุญพีร์ พันธ์วร ผู้ซึ่งบิดาทำงานรับสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งจากความผูกพันในวัยเด็ก และเมื่อเติบโตเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงเดินตามรอยฝันก่อตั้งชมรมถ่ายภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ริเริ่มจัดทริปถ่ายภาพนอกสถานที่ เพื่อถ่ายทอดความงดงามและมีคุณค่าของธรรมชาติ ให้ผู้สนใจรู้สึกรักและหวงแหนเช่นเขา
“การทำงานชมรมถ่ายภาพ ทำให้ต้องประสานงานกับผู้ทรงคุณวุฒิ มาช่วยงานจัดบรรยายทางวิชาการหรือประกวดภาพถ่าย โดยเฉพาะสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ แหล่งรวมช่างภาพฝีมือระดับประเทศ จนได้รู้จักและเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพจากมืออาชีพอย่างจริงจัง”
ผลจากการฝึกฝนด้วยความรัก ทำให้บุญพีร์สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยคว้ารางวัลชนะเลิศประกวดภาพถ่ายนักศึกษานานาชาติทั่วโลกเมื่อปี 1980 จัดโดยวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ สถาบันที่ผลิตช่างภาพมืออาชีพของไทย กับภาพถ่ายชื่อ “ล่องแก่งแม่กก”
เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย บุญพีร์ได้เข้าทำงานที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ในส่วนของฝ่ายเคลมประกันวินาศภัยทางทะเล ก่อนจะย้ายมาดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ในส่วนของศูนย์ส่งเสริมธุรกิจ BPC (Business Promotion Center) และตรงนี้เองทำให้บุญพีร์ได้จับงานใหญ่ระดับประเทศ ที่ทั้งสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรและตนเอง
“ช่วงอยู่ที่อาคเนย์ประกันภัย ผมยังมุ่งมั่นฝึกฝนเรื่องการถ่ายภาพ และทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ด้วย พอดีเมื่อปี 2527 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต ทางอาคเนย์ประกันภัยเห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีความผูกพัน โดยทรงถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกของอาคเนย์ประกันภัย จึงมีโครงการทำสไลด์มัลติวิชั่นพระราชประวัติของพระองค์ และได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้จัดทำ”
ขณะเล่าย้อนไปในอดีต แววตาของบุญพีร์ดูสดใสเปล่งประกาย ด้วยความเคารพและสำนึกในพระกรุณาธิคุณ โดยเขาบอกว่า... “งานครั้งนั้นผมทุ่มเททั้งแรงกายและใจ เพราะสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อผมและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งชื่อ ‘บุญพีร์’ พระองค์ท่านก็พระราชทานให้ รวมถึงชื่อเล่น ‘ปอกระเจา’ เนื่องจากขณะนั้นพระองค์ท่าน ทรงทำเสื่อจันทบูรณ์ที่ทำมาจากปอกระเจา ที่พระตำหนักสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี”
“ในการจัดทำพระราชประวัติพระองค์ท่าน ผมได้รับการสนับสนุนจาก ‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ให้นำภาพเก่าของพระองค์ท่าน มาก็อปปี้ทำเป็นสไลด์มัลติวิชั่น โดยมีอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้ทำบทบรรยายพระราชประวัติ ในโอกาสนี้ยังได้นำเสนอสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว จึงได้รับสั่งให้ปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกต้อง และนำออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ในชื่อ ‘ราชินีราตรีประดับดาว’ ซึ่งถือเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเรื่องแรก ที่เผยแพร่ทางทีวีพูลของผม”
จากผลงานดังกล่าวทำให้ชื่อของบุญพีร์ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น พร้อมกับได้มีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ในบางงาน รวมถึงได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ฉายภาพทำส.ค.ส.ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจในชีวิตของเขา
และต่อมาเมื่อปี 2530 เขายังได้ทำงานใหญ่ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ติดต่อให้ร่วมเป็นผู้จัดงาน “วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งบุญพีร์ก็รับอาสาเป็นผู้ดำเนินงานตั้งแต่ต้น รวมถึงตั้งชื่องานสำคัญนี้ด้วย โดยงานดังกล่าวถือได้ว่าประสบความสำเร็จมาก มีประชาชนจากทั่วประเทศนับแสนคน ร่วมวิ่งข้ามสะพานแขวนที่เปิดเป็นแห่งแรกในไทย
จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้บุญพีร์ได้รู้จักกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ข้าราชการ ทหาร และตำรวจ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกสาขา ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างมาก แต่ทุกอย่างก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยบุญพีร์ได้ย้ายไปทำงานกับบริษัทกลุ่มสยามกลการ โดยมี “พรเทพ พรประภา” เป็นนายใหญ่ และที่นี่เองนอกจากหน้าที่หลักดูแลงานประชาสัมพันธ์แล้ว ยังได้รับภาระสำคัญจัดตั้งโครงการ “Think Earth” ในตำแหน่งเลขานุการโครงการฯ เพื่อทำงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูจะเข้าทางเขาที่มีความรักและผูกผันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว
“ช่วงนั้นกระแสสีเขียวทั้งในและต่างประเทศกำลังแรง โดยเฉพาะเมื่อ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งยิงตัวตาย เมื่อเดือนกันยายน 2533 ยิ่งทำให้กระแสสีเขียวขณะนั้นแรงสุดๆ เกิดกลุ่มองค์กรเอกชนออกมาเคลื่อนไหวอนุรักษ์ป่ากันอย่างคึกคัก และส่งผลให้โครงการไดอารี่สีเขียว เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ที่กลุ่มสยามกลการจัดพิมพ์เพื่อช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเพื่อคนรักษ์ป่าของคุณสืบ ที่เข้ามาขอการสนับสนุนให้ช่วยก่อนจะเสียชีวิต สมุดบันทึกธรรมชาติเล่มแรกนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ ดังกล่าวอยู่ในมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และช่วงเวลานั้นเองคุณพรเทพได้ตัดสินใจ ตั้งโครงการ Think Earth เพื่อทำงานด้านสังคมตั้งแต่นั้นมา”
ส่วนคำว่า Think Earth บุญพีร์บอกว่า เป็นคำที่มาจากเข็มกลัดเน็คไทของโคมัตสุที่ส่งมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถขุดที่อยู่ในธุรกิจของกลุ่มสยามกลการในไทย แต่ความหมายของเขาหมายถึง “หากนึกถึงงานดิน...ให้นึกถึงเครื่องจักรกลหนักโคมัตสุ” แต่ในความหมายของโครงการ Think Earth เป็นอะไรที่มากกว่านั้น โดยครอบคลุมหมดเรื่องสังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ดังสโลแกนที่ว่า… “Think Earth คืนชีวิต คิดห่วงใยในผืนโลก”
จากนั้นมาโครงการ Think Earth ก็เป็นที่รู้จักของสังคม และได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน แต่บุญพีร์ก็ไม่ได้หยุดบทบาทงานเพื่อสังคมเท่านั้น เขายังร่วมเป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้มีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสเสด็จเยี่ยมชมนิทรรศการ “อวดภาพและของหายาก ในรัชกาลที่ 7” ที่พิพิธภัณฑ์ฯ ด้วย
นอกจากนี้บุญพีร์ยังเป็นผู้มีบทบาท ในกิจกรรมถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญของเมืองไทย โดยเป็น 1 ใน 100 ช่างภาพ ที่กรมประชาสัมพันธ์เลือกให้ร่วมถ่ายภาพ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และต่อมาภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ฉายโดยบุญพีร์เมื่อคราวนั้น ได้ถูกเลือกให้ขึ้นปกวารสารอสท. ฉบับเดือนธันวาคม 2537
จากนั้นบุญพีร์ก็เป็น 1 ใน 50 ช่างภาพ ร่วมนำเสนอผลงานภาพถ่าย ในหนังสือชุด “ราชอาณาจักรไทย” ของการท่องท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. โดยบุญพีร์ได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพ “ในหลวง และชีวิตไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา”
“ปัจจุบันอายุและสุขภาพที่ไม่อำนวย คงไม่สามารถถ่ายภาพลุยๆ ได้เหมือนก่อน แต่ทุกวันนี้ก็ยังถ่ายภาพอยู่ เป็นภาพที่เดินทางไปง่ายๆ อย่าง ดอกไม้ ต้นไม้ หรือชีวิตผู้คน เป็นต้น งานประจำที่สยามกลการค่อนข้างลงตัว เพราะได้วางทิศทางให้น้องๆ ทีมงานหมดแล้ว โดยบทบาทต่อไปจะเป็นแกนกลางที่รวบรวม และเป็นผู้ผลิตงานภาพถ่าย งานผลิตวิดีทัศน์และสื่อประชาสัมพันธ์ โดยนำประสบการณ์ที่ผ่านมาออกมาเผยแพร่สู่สาธาณชน อย่างเช่นโครงการ Think Earth ตอนนี้ก็กำลังผลิตสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อน”
“ปัญหาโลกร้อนอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วอยู่ใกล้ตัวเรามาก เป็นเรื่องที่น่ากลัว เราจึงต้องรณรงค์ให้คนไทยช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะต้องเรียนรู้และรู้จักรักษาแหล่งธรรมชาติที่เหลืออยู่นี้ไว้ เพราะสภาวะโลกร้อนนี้ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือคนรุ่นอนาคต เรียกโครงการที่กำลังดำเนินอยู่นี้ว่า Think Earth :Think Global Warming For The Next Generation”
นี่คือข้างหลังภาพของ “บุญพีร์ พันธ์วร” ซึ่งดูเหมือนจะสรุปรวมอยู่ในคำกล่าวของเขา ในหนังสือ “ภาพแห่งความทรงจำ” สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ว่า…
“...การทำงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่น โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยอย่าง เช่นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ผ่านไปคราวนี้ จะเป็นแบบอย่างในการทำงานที่สำคัญของชาติสืบไปในภายภาคหน้า งานของแผ่นดินนั้นไม่ต้องกะเกณฑ์ ไม่ต้องบังคับคนไทยทุกผู้ทุกนาม ก็พร้อมยอมพลีให้จนสิ้นกำลัง บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา เคยคิดอย่างนี้ คนรุ่นปัจจุบันก็คิดอย่างนี้ และย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ลูกหลานของเราเบื้องหน้าก็จะมีความคิดจิตใจ อย่างต้นสกุลของเขาด้วย...”