xs
xsm
sm
md
lg

ข้างหลังภาพ…ของช่างภาพข่าวมือรางวัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพหนึ่งภาพแทนถ้อยคำได้นับพัน ยิ่งเป็นภาพที่ใช้ในการสื่อสารต่อมวลชนที่เรียกว่า “ภาพข่าว” ด้วยแล้วนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อหาในข่าวสารนั้นเลย หลายครั้งที่ภาพทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านเลนส์แทนสายตาคนนับล้าน ตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงการเดินขบวนของชนชั้นกลางในเมืองหลวง วันรุ่งขึ้น คนไทยทั้งประเทศก็ได้เห็นภาพเหล่านั้นพร้อมกันบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์กรอบเช้า

แต่ทว่า ข้างหลังภาพข่าวแต่ละภาพ มิได้มีเพียงแค่ผู้คนหรือเหตุการณ์ในรูปเท่านั้น แต่ยังมีอีกบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง คนที่ทำหน้าที่คอยรายงานข้อเท็จจริงสิ่งที่เขาเห็น เป็นผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ที่จะกลายเป็นภาพหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญในอนาคต แต่ถ้าหากปลดกระเป๋าสะพายและกล้องในมือลง พวกเขาก็แทบไม่ต่างอะไรจากคนธรรมดาๆ เพียงแต่มีสายตาและสัญชาตญาณของคนข่าวอยู่ในตัว

ในแวดวงสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ มีช่างภาพอยู่นับร้อย แม้รางวัลอาจไม่ใช่เครื่องหมายการันตีฝีมือว่าช่างภาพคนหนึ่งคือสุดยอดของวงการ แต่นั่นหมายถึงการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ เป็นความภาคภูมิใจของช่างภาพข่าวอาชีพที่ได้รับเกียรตินี้ “ผู้จัดการปริทรรศน์” พาไปรู้จักพูดคุยกับสองช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพข่าวที่ได้รับรางวัลจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

จากเด็กส่งหนังสือพิมพ์สู่ช่างภาพมืออาชีพ ‘อร่าม ทรงสวยรูป’

เอ่ยชื่อของ อร่าม ทรงสวยรูป หลายคนอาจไม่คุ้น แต่สำหรับแฟนมวยไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนคงเคยผ่านหูกับอีกชื่อหนึ่งของเขาอย่าง “พายัพ ลูกอิสานใต้” เด็กหนุ่มลูกชาวนาจากสุรินทร์ที่เข้ามาต่อสู้ชีวิตบนสังเวียนมวยไทย จนก้าวสู่อาชีพช่างภาพข่าวกีฬา วันนี้เขาคือ “พี่อร่าม” หรือ “น้าหร่าม” ของใครหลายคน เป็นช่างภาพที่คลุกคลีอยู่ข้างเวทีมวยจนรู้จักคุ้นเคยตั้งแต่โปรโมเตอร์และนักมวยชื่อดังอย่างเขาทราย แกแล็คซี่ สมรักษ์ คำสิงห์ ฯลฯ ไปจนถึงบุคคลระดับนายกสมาคมกีฬารวมทั้งอดีตนายกสมาคมศิลปินตลก!? จึงไม่แปลกที่ความกว้างขวางของอร่ามจะทำให้เขารู้ข่าวระดับลึกวงใน ไปจนถึงแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างเซียนพนันข้างสนามมวย

ด้านฝีมือในการถ่ายภาพกีฬาของอร่ามก็ไม่แพ้ฝีมือการชกมวยของเขา อดีตนักศึกษาวิชาพละจากรั้ว มศว และแชมป์มวยสากลสมัครเล่นผู้นี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศภาพข่าวกีฬายอดเยี่ยมทั้งจากมูลนิธิช่างภาพสื่อมวลชนและสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยการันตี แต่ใครจะรู้ว่า กว่าที่จะก้าวสู่สนามข่าวกลายมาเป็นช่างภาพมือรางวัลในวันนี้ ครั้งหนึ่ง เขาเคยเป็นเพียงเด็กส่งหนังสือพิมพ์มาก่อน ห่างไกลจากการมีโอกาสได้จับแม้กล้องสักตัว นอกจากสองมือที่เปื้อนหมึกของหนังสือพิมพ์

“ระหว่างที่เรียนพลศึกษาภาคสมทบที่ มศว ก็ไปรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยตื่นตั้งแต่ตี 4 ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งตามบ้านสมาชิก เสร็จประมาณ 8 โมงก็ไปโรงเรียน อยู่อย่างนี้มา 3-4 ปีจนเรียนจบ พอจบทางด้านนี้มีพี่ที่เป็นช่างภาพกีฬาเขาลาออกไปอยู่เดลินิวส์ แล้วช่างภาพกีฬาของแนวหน้าขาด เราก็เลยเข้าไปถ่าย เขารับคนภายใน ลองดูสิว่าทำได้ไหม เพราะเราก็ชอบกีฬาอยู่แล้ว เราไม่ได้เรียนถ่ายภาพแต่มาฝึกแบบปฏิบัติจริงเลย เมื่อก่อนเป็นกล้อง FM 2 ใช้ฟิล์มขาวดำถ่าย ก็มีพี่ตุ้ม วิศิษฐ์ แสงเมือง นักข่าวกีฬาแนวหน้าที่เคยโดนทหารกระทืบตอนพฤษภาทมิฬ เป็นคนสอนเทคนิคและเรียนรู้จากประสบการณ์เรามาเรื่อย อาศัยความขยัน อาศัยว่าเราอดทน คือเราเป็นคนต่างจังหวัด เป็นเด็กบ้านนอกก็สู้”

จำนงค์ จันทรสำเภา หัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์แนวหน้าขณะนั้นเป็นผู้ให้โอกาสอร่ามได้ทดลองเป็นช่างภาพข่าวกีฬาที่นั่นอยู่กว่า 3 ปี หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์มติชนได้เปิดหนังสือกีฬาหัวใหม่ชื่อว่า “สปอร์ตนิวส์” ขึ้น วันดี รุจินาถ ช่างภาพข่าวกีฬาอีกคนจึงแนะนำให้อร่ามไปพูดคุยกับบรรณาธิการหนังสือ อร่ามจึงเป็นช่างภาพกีฬาที่มติชนตั้งแต่นั้นมา กระทั่งเมื่อถูกย้ายให้ไปถ่ายข่าวอาชญากรรมซึ่งเขาไม่ชอบและไม่ถนัด อร่ามจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการตามคำชักชวนของบัญชา อ่อนดี

“ประจัญบาน” ภาพสะท้อนความรุนแรงใต้หน้ากากสันติวิธี

เหตุการณ์กลุ่มผู้ประท้วง นปก. ที่เดินขบวนไปยังบริเวณหน้าบ้านพักของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ย่านสี่เสาเทเวศร์จนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นข่าวใหญ่ที่ถูกเผยแพร่ออกไปทั้งโดยสำนักข่าวไทยและต่างชาติ อร่ามเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนช่างภาพและผู้สื่อข่าวที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเกิดการปะทะกัน หนึ่งในจำนวนหลายร้อยครั้งที่เขากดชัตเตอร์ กลายเป็นภาพที่สะท้อนความขัดแย้ง ทั้งระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ และความขัดแย้งระหว่างเสื้อที่สกรีนด้านหลังของผู้ประท้วงกลุ่ม นปก. รายหนึ่งที่สกรีนคำว่า “สันติวิธี” แต่ในมือกลับถืออิฐบล็อกขนาดใหญ่เตรียมขว้างใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้วยภาพที่สื่อถึงความรุนแรงขัดแย้งในวิธีคิดและปฏิบัติของผู้ประท้วงในเหตุการณ์นี่เอง ทำให้ภาพ “ประจัญบาน” ของอร่าม ได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในปีนี้

“หนังสือพิมพ์ผู้จัดการตามข่าวเรื่อง นปก.มาตลอด แล้วช่างภาพก็ต้องเปลี่ยนเวรกันตลอด ไม่ให้ขาดเลย เหตุการณ์ในวันนั้นมี 2 ช่วง ช่วงแรกที่มีปัญหาผมยังไปไม่ถึง คือช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปจับจักรภพ เพ็ญแขลงมาจากรถ แล้วก็โดนถีบลงมา ช่วงนั้นสลายม็อบไปครั้งหนึ่งแล้ว อีกประมาณสัก 20 นาที ผมไปถึงสัก 2 ทุ่มกว่าๆ ข่าวภายในบอกว่าจะมีการสลายม็อบแล้วนะ ตอนนั้นต่างคนต่างก็หามุมตัวเองทำข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลก็มีโล่ นปก.เขาก็เตรียมพร้อม มีกระบองอะไร ซึ่งมันชุลมุน เสี้ยววินาทีที่เราต้องถ่ายภาพ ต้องป้องกันตัวเองด้วย ทั้งก้อนหินและขอนไม้ที่ นปก.เขาขว้างมา ได้สัก 5 นาทีม็อบก็สลาย ผมโดนแก๊ซน้ำตาเข้าไปต้องไปล้างหน้า ร้องไห้ด้วยถ่ายไปด้วย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เจอแก๊ซน้ำตาตั้งแต่ถ่ายม็อบมา ตอนนั้นไม่ทันคิดว่าต้องหาอะไรมาปิดหน้า คิดแต่ว่าทำยังไงจะให้ได้ภาพมา อย่างแรกหนึ่งเราต้องมีสติ และเราต้องเตรียมพร้อม ดูกล้องดูแสงให้หมดแล้วทำงาน ผมได้หมวกกันน๊อคของ นปก. ที่เขาทำหล่นมาใส่ แล้วก็ถ่ายรูปไป อย่างน้อยถ้าเขากว้างก้อนอิฐก้อนหินมาถูกเราก็ยังป้องกันได้พอสมควร”

“วันนั้นมันเป็นเหตุการณ์ที่ถ้าถามผมจริงๆ ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับบ้านเรา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสลายม็อบก็คือคนไทย นปก. ก็คนไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุผมว่ามันน่าจะเจรจาและคุยกันได้ มันน่าจะมีการตกลงกันได้ ซึ่งการปะทะตรงนั้นเพราะว่า นปก.เขาย้ายมาจากสนามหลวงมาเรื่อยๆ พอมันมาถึงจุดๆ หนึ่ง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เขาคงเห็นว่ามันเกินกว่าเหตุ เพราะปัญหาเรื่องการจราจรและอยู่ใกล้วังพอสมควร เขาก็ต้องสลาย ซึ่งผมเห็นว่ามันน่าจะเจรจากันได้ เพราะหลังจากเกิดเหตุขึ้นถามว่าเอางบประมาณจากไหนไปซ่อมแซม ทั้งหน้าบ้านป๋าเปรม ทั้งตู้โทรศัพท์ ก็เอาภาษีจากประชาชน แล้วถามว่าตรงนี้ใครรับผิดชอบ ซึ่งผมว่าประเทศไทยตอนนี้เราต้องมาคุยกันทีหลัง ผมไม่อยากให้เกิดถึงแม้ว่าผมจะได้รางวัลจากภาพเหตุการณ์นี้ก็ตาม ผมอยากถ่ายคนไทยประสบผลสำเร็จกับการประดิษฐ์ทดลองวิทยาศาสตร์มากกว่า ผมว่ามันเป็นความภูมิใจแต่แบบนี้มันไม่ได้อะไรเลย ตั้งแต่ผมถ่ายพฤษภาทมิฬจนถึงทุกวันนี้ คนไทยทะเลาะกันเองทั้งนั้นเลย แล้วมันได้อะไรขึ้นมา หลังจากวันนั้นผ่านมา 16 ปีประชาธิปไตยเราเจริญขึ้นไหม ก็ไม่เห็นอะไรจะดีขึ้น มันไม่มีประโยชน์อะไรกับคนไทย มีแต่ความสูญเสียและรุนแรง”

สิ่งหนึ่งที่อร่ามฝังใจในประสบการณ์อาชีพช่างภาพข่าวของเขา คือ เหตุการณ์ในช่วงพฤษภาทมิฬ “ตอนนั้นพลตรีจำลอง ศรีเมืองถูกจับขึ้นรถไปที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน นักข่าวก็ไปดักรอ ช่างภาพเราก็อยากได้ภาพที่ดี แบบเราลืมตัวก็เข้าไปถ่าย พอทหารมองเห็นก็วิ่งหนี พี่วิศิษฐ์ แสงเมือง แกอายุมากแล้ววิ่งไม่ทันก็ล้มลง ทหารก็รุมกระทืบ ตอนนั้นผมเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ว่าเราช่วยพี่เขาไม่ได้ แล้วผลตอบแทนจากการถูกกระทืบไปเข้าคุกคลองเปรมแล้ว วิศิษฐ์ แสงเมือง ก็ยังเป็นวิศิษฐ์ แสงเมืองคนเดิม ยังเป็นช่างภาพถ่ายรูปกีฬา วิถีชีวิตก็ไม่ดีขึ้นจากนั้น เป็นวีรบุรุษแค่ไม่กี่วัน มีคนมาทำข่าวให้กระเช้าดอกไม้เต็ม หลังจากนั้นก็เป็นวิศิษฐ์ แสงเมืองคนเดิม

บ้านเรามองไม่เห็นความสำคัญต่อช่างภาพที่เป็นแนวหน้าที่จะเอาภาพมาให้คนทั้งประเทศ พอผ่านไปก็กลายเป็นแค่หมึกที่เปื้อนสีผ่านไปอีกทีหนึ่ง คนบ้านเราลืมง่ายและไม่จำประวัติศาสตร์ ที่จริงแล้วอาชีพนักข่าวช่างภาพต่างประเทศให้ความสำคัญมาก แต่บ้านเราผมว่าไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญ เพราะแต่ละภาพที่เราถ่าย เราต้องใช้ความสามารถ ต้องเสี่ยงทั้งชีวิตเพื่อวินาทีเดียว ถ้าไม่ทันก็คือจบเลย แค่วินาทีเดียวถ้าเราไม่อยู่ก็ผ่านไปแล้ว

แม้การถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงจะเสี่ยงอันตรายแทบไม่ต่างอะไรจากการทำข่าวสงคราม แต่อร่ามบอกว่า เขาและเพื่อนๆ รวมทั้งช่างภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยคุยกันว่าแม้การทำงานจะเสี่ยงแต่ที่ยังทำอยู่ก็เพราะ “ทุกก้าวของการถ่ายภาพ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่ยังทำอยู่เพราะใจรัก มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”

บนถนนชีวิตของช่างภาพการเมือง ‘สันติ เต๊ะเปีย’

รถโดยสารประจำทางพาเด็กหนุ่มวัย 14 จากชัยนาทคนหนึ่งมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ก่อนที่ถนนสายชีวิตจะหักเหนำพาเขาสู่หนทางขรุขระที่ต้องสู้ จากลูกคนสุดท้องที่พ่อแม่ไม่ค่อยรักเท่าพี่ๆ สันติตัดสินใจออกจากบ้านมาเผชิญโชคในเมืองหลวง เขาเคยผ่านงานตั้งแต่เป็นกรรมกรก่อสร้าง คนขับรถเมล์ จนกระทั่งได้มาขับรถตระเวนข่าวที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ที่นี่เองที่เขามีโอกาสได้จับกล้องเป็นครั้งแรก

Nikon F 601 คือกล้องตัวแรกที่สันติควักกระเป๋าซื้อเป็นเจ้าของ เขาอาศัยเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพด้วยตนเองจากหนังสือเกี่ยวกับกล้อง รวมทั้งแมกกาซีนอย่างนิตยสารไทม์ เมื่อออกไปทำข่าวครั้งใด สันติจึงทำหน้าที่เป็นทั้งคนขับรถและช่างภาพพ่วงไปด้วย

หลังออกจากฐานเศรษฐกิจ สันติก็ย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐพร้อมกับทีมข่าวฐานสัปดาห์วิจารณ์เดิมอย่าง ศักดา นพเกตุ ครั้งนั้นสันติมาสมัครที่สยามรัฐด้วยตำแหน่งช่างภาพ แต่ปรากฏว่าเต็ม เขาจึงยังต้องทำหน้าที่คนขับรถตระเวนข่าวไปก่อน พร้อมกับถ่ายภาพไปด้วยเหมือนตอนที่อยู่ฐานเศรษฐกิจ

“ผมไม่ได้คิดว่าเป็นคนขับรถมันเท่ห์หรือไม่เท่ห์ แต่คิดว่าเราทำได้ บางทีถ้าเรามัวแต่กังวลว่าคนอื่นจะคิดยังไงก็ไม่ได้ทำ เพราะเราไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้ เราจบแค่ ม.5-6 แต่เรามาถึงจุดนี้ เรามีความทะเยอทะยานที่เราอยากเป็น เทียบกับคนที่เขาเรียนมาแล้วเขาได้เป็นเลย กับเราไม่ได้เรียน แต่เราศึกษาจากการปฏิบัติด้วยและทำไปด้วย เรารู้สึกว่าเราภูมิใจกว่า” สันติตอบอย่างไม่รู้สึกน้อยใจหรือเห็นว่าอดีตของเขาเป็นปมด้อย ตรงข้าม มันกลับเป็นแรงผลักดันให้เขามีวันนี้ได้

“ในชีวิตผมใช้เงินของพ่อแม่ไม่ถึงห้าพันบาท” สันติบอกเรียบๆ หลังออกจากบ้านเขาก็ทำงานส่งตัวเองเรียนมาตลอด ไม่เคยรบกวนทางบ้านหรือคนในครอบครัวอีกเลย เมื่อได้บรรจุเป็นช่างภาพที่สยามรัฐ สันติได้เริ่มส่งภาพถ่ายของเขาเข้าประกวดและได้รางวัลตั้งแต่ครั้งแรก คือ ภาพที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ล้มลงที่พรรคชาติไทยเป็นจังหวะเดียวกับที่เขาจับภาพไว้ได้พอดี หลังจากนั้นภาพของสันติก็ยังได้รับรางวัลอีกหลายภาพ แต่ภาพที่สันติภาคภูมิใจที่สุดคือ ภาพพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพฯ ขณะที่ทรงดำนา ซึ่งภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อเขาย้ายมาเป็นช่างภาพที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

“การถ่ายภาพพระราชกรณียกิจของสำนักพระราชวัง ช่างภาพทุกคนจะถูกจัดให้อยู่มุมเดียวกันหมด จะถ่ายภาพยากเพราะมีกฎระเบียบ เราก็ต้องทำตาม วันนั้นก็มีช่างภาพหลายคน แต่การที่เราได้ภาพนั้นอยู่คนเดียว เพราะเป็นจังหวะที่เราภาวนาอยู่ในใจ ขอให้พระองค์หันมาและทรงยิ้ม จังหวะที่เราโฟกัสอยู่ เหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ ท่านทรงหันพระพักตร์มาและยิ้ม ก็กดชัตเตอร์ได้คนเดียว คนอื่นไม่มีใครได้ ผมเองก็ได้รูปเดียว นั่นคือภาพที่ภูมิใจ”

ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขามาไกลจนถึงจุดนี้ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นผลมาจากความขยันทุ่มเท และไม่อายที่จะเรียนรู้

“เป็นช่างภาพ ไม่มีใครที่เก่งเหนือใคร มันขึ้นอยู่กับจังหวะของใครจะดีกว่า และจังหวะนั้นต้องมีโชคด้วย ถ้าคุณมีโชคและคุณมีจังหวะ คุณก็จะได้ตรงจุดนั้นไป มันแค่ชั่วเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง”

จากราชดำเนินถึงรั้วทำเนียบ ภาพสะท้อนพลังประชาชนถึงหอคอยงาช้าง

ภาพคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลบนถนนราชดำเนินมุ่งหน้าสู่สี่แยกมิสกวันและลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองโดยสันติวิธี นับเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกหน้าหนึ่ง ภาพนี้เป็นผลงานที่สันติลงทุนปีนขึ้นไปถ่ายบนดาดฟ้าของตึกสำนักงานการบินไทย จนสามารถเก็บภาพนาทีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งนี้ได้อย่างงดงามและทรงพลัง

สันติบอกว่า การถ่ายภาพวันนั้นมีเหตุการณ์การเดินขบวนของประชาชน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันสูง แต่เหตุที่เลือกเก็บภาพในมุมสูงนั้น เพราะเขาเห็นว่าเส้นถนนราชดำเนินมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประดับอยู่ตลอดเส้นทาง

“ในใจคิดว่า ทำยังไงที่จะสื่อว่า การที่มีเหตุการณ์แบบนี้ คนไทยเกิดทะเลาะกันแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่บังเอิญเส้นที่ผ่านมายังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งเราคิดว่าอย่างน้อยถ้าหากเกิดมีการปะทะกันขึ้นมา ทุกคนก็ยังคิดถึงพ่อของเรา คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งสันติบอกว่าบังเอิญรูปนั้นออกมาเป็นรูปที่ชัดทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และเห็นกลุ่มผู้ที่เดินขบวน รูปดังกล่าวนี้ สันติจึงตัดสินใจส่งประกวดและบรรยายภาพด้วยตนเอง โดยใช้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์โลก”

“จากประวัติศาสตร์โลก ทุกประเทศที่มีการประท้วงกันเป็นนานๆ วัน ต้องมีการปะทะกันถึงขั้นนองเลือด แต่พันธมิตรชุมนุมโดยใช้สันติวิธีจนมีชาวต่างประเทศอย่างไต้หวันมาดูวิธีการประท้วงอย่างสันติด้วย”

ปัจจุบัน สันติเป็นช่างภาพข่าวการเมือง จึงได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล นั่นเอง ที่ทำให้เขาประสบเหตุการณ์ประท้วงของม็อบเกษตรกรที่พยายามปีนรั้วทำเนียบ ในวันที่ 2 ส.ค.2550 ภาพเหตุการณ์นั้นทำให้สันติได้รับรางวัลล่าสุดคือ รางวัลชนะเลิศภาพข่าวต่อเนื่องของสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

“รางวัลที่ได้รับผมภูมิใจ ถึงมันไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่หนักหนาแต่มันภูมิใจ เหมือนกับว่าเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของเรา ทุกครั้งที่จับกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ มันจะออกมาดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ ผมจะเน้นทุกช็อตที่ถ่าย แต่ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ก็แล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าดีก็เป็นโชคดีของเรา การทำงานอาชีพสื่อ ไม่เคยมีเวลาเป็นของตัวเอง 5 โมงเย็นคนอื่นเขากลับบ้านแต่หากงานยังไม่จบเรากลับไม่ได้ ยิ่งอยู่ในสถานการณ์ที่มันไม่นิ่ง เรายิ่งต้องตื่นตัวตลอด ผมทำงานสนุกตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการเหนื่อย คงจะทำไปเรื่อย ไม่ทะเยอทะยานมากไปกว่านี้” สันติทิ้งท้าย








กำลังโหลดความคิดเห็น