ผมเป็นผู้ชายที่หัวโต ขนาดผิดจากมนุษย์ทั่วไป
เปล่า ผมไม่ได้เป็นเนื้อเยื่อบุสมองอักเสบ เพราะมีน้ำในหัวมากเกินความจำเป็น
หลายคนมองว่าผมอาจเป็นลูกมนุษย์ต่างดาวมาเกิดผิดท้อง แน่นอนว่าผมไม่เชื่ออยู่แล้ว
แม่ปลอบใจผม “เพราะลูกเป็นคนช่างคิดต่างหาก”
วันนี้ผมไปร้านหนังสือ
เสียงความคิดหนึ่งดังขึ้น พร้อมกับเท้าที่เดินผละจากร้านหนังสือและมือเปล่า
ทำไมนิตยสารถึงหน้าตาเหมือนกันไปหมดทั้งแผง?
ทันใดนั้น เหมือนไวเท่าความคิด ชายหนุ่มนิรนามยื่นนิตยสารเล่มหนึ่งใส่มือผม
…....
“ผมสังเกตเห็นคนรุ่นใหม่กับการเมืองดูเป็นสิ่งที่ห่างไกลกันมาก”
เสียงตอบของชายหนุ่มหน้าตี๋ในเสื้อเชิ้ตเขียวคู่เน็กไทด์ชมพูสดใส แสงธรรม ชุนชฎาธาร บรรณาธิการนิตยสารแนวการเมืองน้องใหม่จับใจกลุ่มวัยรุ่นที่มีชื่อเท่ๆ ว่า ‘DemoCrazy’ ตอบคำถามว่าทำไมถึงอยากทำนิตยสารการเมือง?
แสงธรรมหยิบความหลังมาเล่าต่อว่าจากการที่เขาได้สัมผัสกับคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มจึงรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่ว่าไม่สนใจการเมืองถึงขนาดนั้น ถ้าในแง่ปริมาณถึงแม้ว่าคนสนใจจะยังมีไม่มากก็จริง แต่คนที่สนใจมากๆ มีความรู้เรื่องนี้ดี ก็เป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้เราคิดอยากจะเป็นสื่อกลาง อยากจะหาเวทีให้กับคนที่สนใจการเมืองได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน อยากจะดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรื่องของการเมืองให้มากขึ้น เลยคิดว่ามันน่าจะมีนิตยสารการเมืองที่นำเสนอแง่มุมความเห็นของคนรุ่นใหม่ให้คนในวงกว้างรู้ เปลี่ยนความคิดที่ว่าการเกาะติดการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนสามารถมาร่วมกับ DemoCrazy เราได้ มาร่วมกันอ่านมาร่วมกันแสดงความเห็น และจากนี้ไปจะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมา เพราะเราอยากทำให้การเมืองเป็นเรื่องเท่ๆ อยากให้ใครที่ถือนิตยสารเล่มนี้แล้วดูเท่ ไม่อยากให้มองว่าพวกที่บ้าการเมืองเป็นพวกที่คร่ำครึ จริงๆ แล้วเขาก็หล่อเหมือนคนที่ร้องเพลงเพราะ หล่อเหมือนคนที่เตะฟุตบอลเก่ง
(ผมเริ่มอยากรู้จัก) ทีมงานว่าเป็นใครบ้าง?
แสงธรรมบอกผมว่าสมาชิกในกองบรรณาธิการมีไม่ตายตัว ตามแต่ละฉบับว่ามีใครเข้ามาช่วย ใช้วิธีคุยงานกันทางอินเทอร์เน็ต อย่างช่วงนี้มีประเด็นไหนน่าสนใจก็ลองให้เขียนมา เป็นการทำงานที่ดึงโลกอินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนร่วมพอสมควร กลุ่มคนที่ทำ มีทั้งนักเรียนนักศึกษา คนที่เพิ่งเรียนจบ คนที่เรียนปริญญาโท ก็มาเขียนตามแต่ส่วนที่ตัวเองสนใจ ใครสนใจเรื่องของภาพยนตร์ก็จะเขียนในแง่มุมของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเมือง ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มาก็เขียนเศรษฐศาสตร์ในเชิงการเมือง ซึ่งบางงานมันทำให้รู้ว่าเด็กสมัยนี้ก็คิดกันเป็น
แสดงว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือวัยรุ่น?
บรรณาธิการขาวตี๋คู่สนทนาของผมตอบว่า วัยรุ่นถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เน้นในตอนแรก เพราะเขาไม่อยากให้เด็กโตขึ้นโดยที่ผู้ใหญ่คอยปลูกฝังว่าการเมืองมันไม่เกี่ยวกับเรานะ เป็นเรื่องสกปรก คอร์รัปชั่นโกงกินกัน เพราะถ้ามีทัศนคติอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ก็ไม่มีทางที่จะมองการเมืองดีได้ เขาอยากให้เยาวชนรู้จักการเมืองตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ว่าพออายุถึง 18 แล้วถึงรู้ว่าคุณมีสิทธิในการเลือกตั้ง กลุ่มเป้าหมายจริงๆ ที่มองไว้คือคนตั้งแต่อายุ 12-30 ปี เด็กตั้งแต่ระดับมัธยม คนที่เพิ่งทำงาน ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองคือคนทั่วไป แต่กลับกลายเป็นผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่า เป็นสิ่งที่สร้างเซอร์ไพรส์เหมือนกัน ผู้ใหญ่เริ่มอยากรู้ว่าเด็กสนใจอะไร คิดยังไง มันช่วยให้ผู้ใหญ่บางคนมีความหวังขึ้นมาว่าเด็กสมัยนี้ก็ยังสนใจการเมืองอยู่ แม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนยุค 14ตุลา บรรณาธิการตี๋มองว่ามันเหมือนดอกไม้ที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในสวนเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องมาบานพร้อมกัน เพราะบางทีดอกไม้ก็บานกันคนละที่ ไปบานกันอยู่ในด้านที่ตัวเองถนัด
(ผมสงสัย) เด็กวัย 12 เขาสนใจการเมืองแล้วหรือ?
บรรณาธิการพยักหน้าตอบ รู้จากการจัดค่ายต่างๆ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าครอบครัวเด็กมีส่วนช่วยปลูกฝัง อย่างในเล่มแรกมีสัมภาษณ์เด็ก 11-12 ปี ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แหลมคมมาก เด็กอยู่ในวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น กำลังเลือกว่าจะไปทางไหน เป็นวัยที่พ่อแม่คิดว่าอยากให้ลูกทำอะไร เรียนพิเศษ เรียนดนตรี แต่กับคนที่สนใจการเมืองมันไม่มีช่องทางเลย จึงอยากเป็นเวทีแรกๆ ให้เด็กๆ เหล่านั้น
ไม่คิดว่าเร็วไปหรือกับต้นทุนความคิดที่มีในการคิดทำนิตยสารการเมือง (ผมลองตั้งคำถาม) คิดอย่างไรถ้ามีคนมองว่าวัยวุฒิเท่านี้น่าจะทำได้ ‘ไม่ถึง’?
ถ้าสังคมมีธงแบบนี้ ผมว่าเป็นทัศนคติที่ไม่ถูก การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนจะต้องอยู่ในระบอบการเมืองเดียวกัน ทุกคนต้องมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น สังคมควรจะได้รับฟังความคิดเล็กๆ ของเยาวชนบ้าง อย่าลืมว่าเสียงเล็กๆ เมื่อมารวมกันมันก็กลายเป็นเสียงที่ดังขึ้นได้ ผู้ใหญ่ในสังคมไม่น่าละเลยโดยมองแค่ว่าคุณเป็นแค่เด็ก คุณจะไปรู้อะไร มันเป็นเรื่องของคนที่จบด้านบริหารเท่านั้น ตรงนี้ผมบอกได้เลยว่ามันไม่จำเป็น แสงธรรมตอกย้ำถึงความมั่นใจ
เคยมีนักศึกษาสะท้อนความเห็นที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ต่อมาตรา 237 กรณีการยุบพรรค ว่ามันไม่สามารถจะไปทำลายเป้าหมายเดิมๆ ยุบพรรคก็แค่การเปลี่ยนคน เดี๋ยวก็มีคนใหม่ๆ เข้ามา ก็ยังมีทุนที่สนับสนุนอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้น มีทั้งทุน มีทั้งเป้าหมายเดิม ถึงแม้จะไม่มีกรรมการที่เคยบริหารพรรคชุดเดิม แต่ก็สามารถสร้างคนใหม่ขึ้นมาบริหารแทนพรรคชุดเดิมได้ สังคมก็จะวนอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำไมไม่เปลี่ยนจากที่จะยุบพรรคเป็นการยึดทรัพย์แทน ให้มันเป็นบทลงโทษของพรรคการเมืองที่ยึดติดเรื่องทุนให้ได้เข็ดหลาบ
ระหว่างนั้น กิตตินันท์ นาคทอง ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร DemoCrazy คู่สนทนาอีกหนึ่งของผมแสดงความเห็นขึ้นว่าคนจะให้ความสำคัญกับ ‘อัตลักษณ์’ ภายนอกมากกว่าความคิดเห็นจากภายใน เปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านทั่วไปที่รู้เรื่องการเมืองเหมือนกัน ผิดก็แต่นักวิชาการมีตำแหน่งหน้าที่ช่วยเชิดชูความน่าเชื่อถือ คำถามคือคนจะฟังใครมากกว่ากัน แน่นอนว่าก็ต้องฟังแต่คนที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
(ผมถามต่อ) มีแนวโน้มว่าจะทำในเชิงพาณิชย์ไหม?
มีแนวโน้มเหมือนกัน เพราะมีหลายๆ เสียงที่ชอบ คงต้องเพิ่มช่องทางให้การเข้าถึงง่ายขึ้นพร้อมๆ ไปกับการแก้โจทย์อีกข้อหนึ่ง ทำอย่างไรให้นิตยสารไม่ถูกแทรกแซง จากทั้งด้านการเมืองและกลุ่มทุน ข้อดีในตอนนี้ของการไม่มีโฆษณาคือเราสามารถเป็นสื่อสาธารณะได้ แต่ว่าในอนาคตถ้าคิดอยากจะเติบโตต่อไป มันก็คงจำเป็นที่จะต้องมีในส่วนนี้ แสงธรรมตอบคำถามผม
ในเรื่องการแสวงหาผลกำไรกับการนำเสนอ อาจจะต้องแยกจากกัน เพื่อกันไม่ให้มีการแทรกแซงในกองบรรณาธิการ คงจะแยกกันทำงาน คนหาทุนก็หาไป กองบรรณาธิการก็นำเสนอได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม ต้องไม่มีความเกรงใจกัน เพราะมันจะเกิดปัญหาความไม่เป็นกลางทางสื่อได้ กิตตินันท์ดูกังวลอยู่ไม่น้อย
(ผมเคยได้ยิน) ประโยคที่ว่า ‘วัยรุ่นสมัยนี้สนใจแต่เรื่องตัวเอง’?
บรรณาธิการหนุ่มมองว่า มีความจริงบ้างส่วนหนึ่ง มันเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ พวกบริโภคนิยมมันเริ่มเข้ามา คนรุ่นใหม่เลยหันไปสนใจแต่ตัวเอง DemoCrazy จึงอยากมีส่วนกระตุ้นความคิดเห็น ให้รู้สึกว่าความเห็นของเขามีคุณค่าต่อสังคมเหมือนกัน แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามกระแสโลก เด็กพอเรียนจบแล้วก็ต้องทำงาน ทำงานสักพักก็ต้องเริ่มใช้หนี้บัตรเครดิต ถึงวัยหนึ่งก็ต้องมีครอบครัว มีครอบครัวแล้วก็ต้องมีลูก วงจรแบบนี้มันเลยทำให้คนลืมความสนใจที่มีต่อสังคม เราเลยอยากจุดประกายเด็กตั้งแต่วัยนี้ เพราะความคิดเห็นของเด็กบางครั้งมันก็สำคัญควรต้องหันมาฟัง ไม่ใช่ปฏิเสธแล้วมองว่า เด็กคนนี้ อายุเท่านี้เองจะไปคิดอะไรได้ คือเอาวัยวุฒิมาตัดสิน แบบนี้มันไม่ถูกต้อง ถึงอายุจะไม่เท่ากัน แต่ว่ามุมมองมันต้องต่างกันอยู่แล้ว เหมือนคนที่มีทั้งสูงและเตี้ย คนตัวสูงเวลามองเขาก็อาจจะมองได้ไกล แต่คนตัวเตี้ยเขาอาจมองได้ละเอียดกว่า เห็นในสิ่งที่คนตัวสูงอาจละเลยไป ฉะนั้น ควรจะประสานความเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้า เพราะในอนาคตคนที่จะอยู่ใช้ผืนแผ่นดินต่อไปคือเด็ก
ผู้ช่วยบรรณาธิการไม่รอช้าช่วยเสริมเติมว่า จริงๆ แล้วเยาวชนอาจไม่ได้ละเลย เขาอาจมองว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะมาแสดงอะไรให้คนได้ประจักษ์ การเมืองบางทีมันก็เป็นเรื่องน่าเบื่อเพราะผู้ใหญ่บางคนก็เข้ามาจ้องจะช่วงชิงผลประโยชน์อย่างเดียว นอกจากเรื่องพื้นที่การแสดงออกที่มีจำกัดแล้ว วัยรุ่นยังมีความรู้สึกอายและกลัว คือด้วยความเป็นเด็กบางทีเวลาจะพูดอะไรออกไปเขาก็กลัวผู้ใหญ่จะมาทำร้ายหรือคุกคามพวกเขา การดูถูกดูแคลนสิ่งนี้ก็ทำให้เขาไม่กล้าที่จะเข้ามาแสดงความเห็นต่อบ้านเมือง ครั้งหนึ่งเคยมีการชุมนุมที่สยามพารากอน ของกลุ่มพันธมิตรก็มีวัยรุ่นจำนวนมากเข้ามาในการชุมนุม มันสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อถึงเวลาที่มีคนลุกขึ้นมา พวกเขาก็พร้อมที่จะลุกขึ้นตาม คือถ้าไม่มีคนขับเคลื่อนคอยนำ พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน
หรือว่าวัตถุนิยมเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนสารเคมีในตัววัยรุ่นปัจจุบันให้ต่างไปจากวัยรุ่นในยุค14 ตุลา?
“น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญเหมือนกัน” บรรณาธิการหนุ่มครุ่นคิดก่อนออกคำตอบให้ เด็กสมัยนี้มีเรื่องที่ตัวเองสนใจกันมากขึ้น แฟชั่น เกาหลี เกมส์ ในขณะเดียวกันถ้าย้อนกลับไปสู่บริบทสังคมในสมัยนั้น ช่องทางเรื่องอื่นๆ มันมีน้อย อีกอย่างในสมัยก่อนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมันยังมีไม่มากเท่าตอนนี้ นักศึกษาสมัยนั้นก็ถูกกด ตอนนั้นเกือบทุกคนคิดเห็นตรงกันหมด เด็กสมัยนี้อาจมองภาพไม่ออกเพราะเดี๋ยวนี้มีทั้ง MSN อีเมล์ เว็บบอร์ด ถ้าไปถามนักศึกษาสมัยก่อน เขาจะตอบว่าใช้ปากกาเป็นอาวุธ เพื่อบอกเรื่องที่อยากจะพูดให้สังคมได้รับรู้ การรวมตัวกันในตอนนั้นมันถูกกดจากทุกสถานการณ์ ทำให้ภาพที่ออกมาเป็นภาพที่รวมกัน
อีกประเด็นคือสภาพสังคม ไม่แน่ใจว่าเป็นมายาคติหรือเปล่า ที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะเอาตัวไม่รอด พอมันกลายเป็นทัศนคติทำให้คนยิ่งคิดไปอีกว่าเรื่องนั้นมันไม่เกี่ยวกับเรา ทั้งที่ความจริงมันกระทบ อย่างนักศึกษาสมัยก่อนจะมีแค่ ‘4 ย’ คือใส่เสื้อยืด รองเท้ายาง กางเกงยีน และไว้ผมยาว แต่สมัยนี้มีทั้งอินดี้ เกาหลี ทำให้คนไม่สามารถรวมกันได้ เหมือนกับดอกไม้ที่ไปบานกันคนละที่ แต่ก็เชื่อว่ามันยังบานอยู่ บรรณาธิการให้ความมั่นใจ
“เหมือนผู้ใหญ่เองก็พยายามที่จะให้เด็กไม่สนใจ หาอย่างอื่นมาล่อ เหมือนเป็นกลไกป้องกันอย่างหนึ่ง” กิตตินันท์เสริม ทั้งๆ ที่พูดว่าอยากให้เด็กแสดงความเห็น แต่ในแง่ปฏิบัติจริงกลับไม่ค่อยมี เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วคงไม่ได้อยากให้เด็กแสดงความเห็นอะไร
ผมเชื่อว่า “นักการเมืองกลัวเด็ก” กลัวเขาจะแสดงพลังออกมา เพราะเวลาคนเรามีความรู้เยอะขึ้น ตื่นตัวกันมากขึ้น มันจะปกครองยาก พวกเขาก็เลยกลัว ยิ่งกับเด็กวัยที่กำลังเรียนที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าคนในสถานะอื่น เราจึงอยากทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้กับชาวบ้านและสังคมได้รับรู้ แสงธรรมเติมความเห็นให้ผม
(ผมเริ่มไม่แน่ใจ) ว่ารากฐานการศึกษาในปัจจุบันมันช่วยสร้างให้เด็กอยู่ใน ‘กรอบ’ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง?
บรรณาธิการแสงธรรมดูเหมือนจะเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานผม เขามองเช่นเดียวกันว่าค่อนข้างที่จะใช่ เพราะการศึกษาปัจจุบันอิงกับระบบมากไป อย่างในระดับโรงเรียนก็จะมีกฎที่โรงเรียนเป็นฝ่ายบริหาร เด็กนักเรียนต้องเชื่อฟัง ไม่สามารถจะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ มีการปลูกฝังประชาธิปไตยในระดับโรงเรียนโดยให้เลือกหัวหน้าห้อง แต่เอาเข้าจริงแล้วหัวหน้าห้องมีปากเสียง ปกป้องสิทธิประโยชน์ของเพื่อนในห้องได้มากแค่ไหน หรือบางทีก็มาจากการที่อาจารย์เลือกเองเลย โดยที่เด็กคนนั้นอาจไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนในห้องก็ได้
แสงธรรมมองต่อไปว่าการที่เรียนอยู่ในระบบแบบนี้ แบบเรียนสร็จก็ต้องไปเรียนพิเศษต่อ มันเป็นการปลูกฝังค่านิยมว่าจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเข้าไม่ได้จะเสื่อมเสียเกียรติยศ อนาคตจะมืดบอด ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็แค่ประตูบานหนึ่งเท่านั้น ชีวิตเรายังมีประตูอีกตั้งหลายบาน การจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มันมีหลายทาง แต่ผู้ใหญ่จะชอบขีดเส้นว่าต้องทางนี้เท่านั้น มันเลยทำให้เด็กสนใจการเมืองและสังคมน้อยลงไปจริงๆ ในแง่การปกครองเคยเห็นรูปปั้นลิงที่ปิดหู ปิดตา และปิดปากไหม? บรรณาธิการหน้าตี๋ตั้งคำถามผมบ้าง ผมส่ายหัว นั่นคือภาพของการปกครองที่กลุ่มนักปกครองมองว่าปกครองได้ง่ายที่สุด ปิดหูคือไม่จำเป็นต้องรับรู้ข่าวสารข้อมูล ปิดตาคือไม่ต้องเห็นสิ่งที่เป็นไปในสังคม ปิดปากคือไม่ต้องแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมาแย้งการปกครองที่เป็นอยู่ นั่นคือลักษณะที่กลุ่มนักปกครองถวิลหา ซึ่งผลประโยชน์ก็จะไปตกกับกลุ่มนักปกครองทั้งสิ้น บรรณาธิการเฉลยความหมายรูปปั้นให้ผมฟัง
คล้ายกับจะส่งเสริม “ความเป็นประชาธิปไตยแบบพอพิธี” อาจารย์ยังคงครอบงำความคิดของเด็กอยู่ ประมาณว่าห้ามคิดต่าง และจะสร้างกำแพงลงโทษคนคิดแตกต่างให้รู้สึกกลัว อย่างทุกวันนี้ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยมันคือการเลือกตั้ง ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่นั้น มันมีเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การเฝ้ามองรัฐบาลว่าเขาจะบริหารประเทศอย่างไร มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม เสียงความเห็นของกิตตินันท์ช่วยบอกเล่าความรู้สึก
ระบบการปกครองในบ้านเรายังเป็นประชาธิปไตยอยู่ หรือกลายร่างเป็นทุนธิปไตยไปแล้ว? (ผมชวนสงสัยต่อ)
แสงธรรมยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะในลำคอ “มันคงกลายเป็น Money Politic ไปแล้ว” อุดมการณ์ทางการเมืองกลายเป็นแค่องค์ประกอบส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ในขณะที่ทุนกลายเป็นองค์ประกอบใหญ่ซึ่งสามารถควบคุม ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ได้ด้วย มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่งแสงธรรมยกตัวอย่างให้เห็นชัด มีคน 5 คนอยู่ในห้องที่ปิดตาย ปรากฏว่าทั้ง 5 คนก็หิวมาก ต้องการหาอาหาร เลยเกิดการตกลงกันโดยยึดหลักประชาธิปไตย มี 2 คนที่เสนอว่าเราเป็นพระกันดีกว่าจะได้ออกไปบิณฑบาตเพื่อหาอะไรมากิน แต่ 3 คนที่เหลือกลับมีนิสัยโจรจึงเสนอว่าให้ออกไปปล้นกันดีกว่า หากินได้ง่ายกว่าเร็วกว่า สรุปคะแนนเสียงคือโจร 3 คนเป็นฝ่ายชนะ พวกเขาทั้งหมดจึงออกปล้น นิทานเรื่องนี้คือภาพสะท้อนประชาธิปไตยที่ยึดหลักในเสียงข้างมากโดยที่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่ได้มองในแง่ของความถูกต้อง จริยธรรม กลายเป็นว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทั้งที่จริงแล้วประชาธิปไตยควรจะประกอบไปด้วยความรู้และคุณธรรม
(อาจด้วยความหดหู่ของผมเอง) รู้สึกอย่างไรที่นิตยสารที่มียอดขายสูงอันดับต้นๆ เป็นนิตยสารประเภทซุบซิบดารา?
อาจเพราะมันมีแง่มุมการนำเสนอที่น่าสนใจ เป็นแง่มุมที่คนอยากรู้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากรู้เรื่องส่วนตัวของคนอื่นยอดขายจึงดีตามมา คำถามที่ย้อนกลับมาคือแล้วเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับเราจริงๆ อย่างการเมืองกลับถูกนำเสนอให้กลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เราจึงเกิดแนวคิดที่อยากนำเสนอให้น่าสนใจ บางส่วนเราก็อยากทำออกมาคล้ายลักษณะการซุบซิบ แต่จะเป็นการซุบซิบในแง่สร้างสรรค์ไม่ผิดศีลธรรม อย่างใครแอบไปกินข้าวกับใคร เราไม่ได้นำเสนอเชิงชู้สาว แต่เสนอในมุมที่ว่ามันมีนัยยะทางการเมืองอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า หรืออย่างกรณีลูกถีบสะท้านสภา เราก็นำเสนอในรูปแบบของการโค้ดคำพูด เพราะมันเป็นสิ่งที่คนในสังคมสนใจอยากรู้ว่าในสถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร เราก็จะนำปากคำทั้งของตัวคุณการุณ โหสกุล คุณสมเกียรติ์ พงษ์ไพบูลย์และพยานต่างๆ ว่าเขาพูดอย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็พูดไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นคำตอบให้ตัวมันเอง คนอ่านจะคิดได้เองว่าจะเชื่ออย่างไร บรรณาธิการแสงธรรมเลือกหยิบข้อดีมาดัดแปลงใช้
ชายหนุ่มผู้ช่วยบรรณาธิการเห็นด้วย มันเหมือนเป็นการตรวจสอบนักการเมืองแบบหนึ่งที่ใช้สีสันเป็นตัวช่วยกระตุ้น ให้ดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องน่าสนุกที่แฝงไปด้วยการตรวจสอบนักการเมืองไปในตัว เช่นการออกมาแฉคดีทุจริตต่างๆ เพื่อให้คนรู้และช่วยกันตรวจสอบพวกเขา คือมันเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของสื่ออย่างหนึ่งที่ต้องมียุทธวิธี ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น
(ก่อนจากกัน อยู่ๆ ผมก็นึกถึงรายการอาหารทางทีวี) ถ้านายกฯ ออกมาวิจารณ์นิตยสารของคุณว่าเหมือนเด็กหัดทำ?
แสงธรรมอมยิ้มในคำถาม ก่อนจ่ายคำตอบทิ้งท้ายให้ผมว่าคงต้องเคารพในความคิดเห็นของท่าน แต่ก็น่าแปลกดีนายกฯ คงไม่เคยเป็นเด็กมาก่อน การที่เป็นผู้ปกครองคือคุณต้องบริหารคนทั้งประเทศ จึงไม่น่าที่จะละเลยความคิดเห็นของคนกลุ่มใด โดยมองว่าความคิดเห็นนี้ไม่มีความหมาย เพราะถ้าคิดอย่างนั้นคุณคงไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศ ควรที่จะเป็นผู้ปกครองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งคุณก็ประกาศตัวไปเลย เหมือนอย่างสมัยคุณทักษิณ จังหวัดนี้เลือกเรา เราก็พัฒนาให้เขาก่อน ซึ่งมันเป็นความคิดที่ไม่ถูกเลยในระบอบประชาธิปไตย มันเป็นการแบ่งแยกส่วนต่างๆ เสียมากกว่า อีกอย่างคงต้องถามกลับว่านายกฯ เคยเป็นเด็กไหม แล้วตอนเป็นเด็กคุณเคยคิดหรือนำเสนออะไรบ้าง แล้วพอพูดไปแล้วผู้ใหญ่ไม่รับฟัง คุณจะรู้สึกอย่างไร ฉะนั้น ควรจะเปิดใจให้กว้างรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ทาง เพราะความคิดเห็นของทุกคนมีค่าเหมือนกันหมด
.........
จบบทสนทนา ผมหมดข้อกังขากับวัยรุ่นสายพันธุ์ใหม่กลุ่มนี้
แต่ถึงความแคลงใจจะหมดไป หัวของผมกลับไม่ยุบตัวลงตามแต่ประการใด
หรือจะจริงที่ว่าผมมาจากต่างดาว??
*******************
เรื่อง - วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม