“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ตั้งข้อสังเกต รุ่นพี่ พปช.หลอกใช้ “การุณ” เป็นเครื่องมือ ชี้พฤติกรรมสะท้อนคุณภาพนักการเมือง ก่อเรื่องอัปยศ แล้วอุ้มคนของตัวเองให้พ้นผิด จวกประธานสอบอ้างยังไม่มีประมวลจริยธรรมเอาผิดไม่ได้ ย้ำจริยธรรมไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นตัวอักษร เตือน ส.ส.พรรคร่วม เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระวังถูกถอดทั้งยวง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี คืนวันที่ 3 เมษายน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และ นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ ในช่วงแรก ได้กล่าวถึงกรณี นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคพลังประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ทำร้ายนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ว่า นายการุณ พูดในทำนองเรียกร้องให้นายสมเกียรติ แสดงจุดยืน ซึ่งอาจารย์สมเกียรติ ก็ตอบจุดยืนไปแล้วอย่างอาจหาญ และชัดเจน
ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ได้ย้ำถึงจุดยืนของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และการทำหน้าที่ตรวจสอบร่วมกับภาคประชาชน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะตกเป็นเป้าโจมตีของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และที่สำคัญ นายสมเกียรติ ยังเคยถูกกลุ่มคนไม่หวังดีโทรศัพท์มาขู่ฆ่า แต่ก็ไม่เคยแสดงท่าทีข่มขู่กลับไปแม้แต่ครั้งเดียว
ขณะเดียวกัน เนื้อหาสาระที่ นายสมเกียรติ พูดภายในและภายนอกสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่สาเหตุที่เกิด เนื่องมาจากการที่ นายสมเกียรติ ถูกพาดพิงและลุกขึ้นมาประท้วง คนที่เอาคนนอกมาพูดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นประณามเอเอสทีวี หรือการต่อว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นการกระทำที่ผิดมารยาทมาก
ผู้ดำเนินรายการ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า จากคำพูดที่หลุดออกมา นายการุณ อาจถูกชักนำจากรุ่นพี่ในพรรคพลังประชาชน เพื่อให้มาสอบถาม นายสมเกียรติ ถึงจุดยืน เหมือนกับว่าถูกใช้มาเพื่อดำเนินการ และถ้านายการุณ ถูกชักนำมาจริง ก็ต้องถือว่า รุ่นพี่ในพรรคพลังประชาชน หลอกให้ ส.ส.หน้าใหม่ กลายเป็นเหยื่อสนองความต้องการของตัวเอง เป็นการกระทำที่ใช้ไม่ได้ รัฐสภาเป็นสภาของผู้มีเกียรติ ในทุกพื้นที่เต็มไปด้วยผู้แทนของประชาชน ส.ส.ทุกคนจึงมีเกียรติ ดังนั้นการรักษาเกียรติของตัวเองจึงสำคัญ
ผู้ดำเนินรายการได้ย้อนประวัติของ นายการุณ โดยระบุว่า นายการุณ มักเข้าไปเกี่ยวโยงกับคดีอาชญากรรมอยู่บ่อยครั้ง เคยโกหกใช้วุฒิการศึกษาปลอม จนถูกเพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว ส.ส.จึงไม่แปลกหากครั้งหนึ่งเคยโกหก วันนี้ก็อาจจะโกหกได้อีก คนแบบนี้สมควรจะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ทรงเกียรติในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
ส่วนกรณีที่ นายการุณ อ้างว่า ที่ตนตกเป็นข่าวเรื่องคดีความต่างๆ มากมาย เพราะถูกโจมตีจากสื่อมวลชนนั้น ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า หลายต่อหลายกรณีของนายการุณ นั้น แทบจะเชื่อถืออะไรไม่ได้เลย จะบอกว่าสื่อมวลชนรังแกกลั่นแกล้งคงไม่ถูก คนที่มีราคาต่ำอย่างนาการุณ ไม่สมควรอ้างเหตุผลเพื่อหวังให้ประชาชนสงสาร
“นายการุณ จะโกหกหรือไม่ ไม่สำคัญ มันเกี่ยวข้องและสะท้อนวิธีคิดของพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งระบบ พรรคการเมืองจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และถ้าพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังไม่สามารถทำให้เกิดข้อเท็จจริง ถือว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง ได้ร่วมกระทำความอัปยศกับคนๆ หนึ่งที่กระทำความผิด พร้อมที่จะอุ้มคนของตัวเองให้พ้นผิดในทุกวิถีทาง ไม่นึกถึงมโนสำนึกหรือเกียรติภูมิของตัวเอง แล้วอย่างนี้จะไปเชื่อถือได้อย่างไร ว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นจะไม่เข้าไปช่วยคนของตัวเองในเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ มันเหมือนเดนสังคม ไม่ต่างอะไรจากกุ๊ยข้างถนนเลย”
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการ ยังได้กล่าวตำหนิกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอ้างไม่มีบทบัญญัติในการเอาผิด ว่า หลายคนรู้สึกสะอิดสะเอียนกับพฤติกรรมนักการเมืองมาก คำว่าจริยธรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวอักษร หากคนกระทำความผิดจนถึงขั้นด่า ข่มขู่คนอื่นซึ่งหน้า แล้วบอกไม่มีตัวอักษรสักคำในการเอาผิดเรื่องจริยธรรม เป็นเรื่องที่ไร้สาระ คิดได้อย่างไร ทำไมไม่เห็นผิดชอบชั่วดี ทั้งที่ผลการกระทำมันก็ปรากฏชัดเจน
**เตือนพรรคร่วมฯ คิดให้ดีก่อนแก้ รธน.
ในช่วงที่ 2 ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวถึงคำเตือนของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ขอให้คิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ละเอียดถี่ถ้วน และอยากให้พูดด้วยเหตุผล และยึดบ้านเมืองเป็นที่ตั้งดีกว่าจะใช้อำนาจบาตรใหญ่ หรือเอาสีข้างเข้าถู หรือข่มขู่แบบอันธพาล เราทำผิดกฎหมายแทนที่จะโทษตัวเอง แต่กลับไปโทษกฎหมาย เป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัวสำหรับบ้านเมือง ทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือและการไว้วางใจจากสังคม เพราะฉะนั้นต้องถามตรงๆ ว่า แก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร เพื่อบ้านเมืองหรือไม่
ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งข้องสังเกตว่า แต่ละคนในพรรคพลังประชาชนมีความคิดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย บอกว่า เมื่อถึงเวลา ตนจะเป็นคนอธิบายทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจตรงกันว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว
ขณะที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เมื่อถูกถามเรื่องที่พันธมิตรฯ จะยื่นถอดถอน ก็บอกว่าทำได้ ไม่มีปัญหาไม่ต้องมาขู่กันหรอก ไม่กลัว ซึ่งก็แน่นอน เพราะนายสมชาย เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีชีวิตเหมือนคนอื่นที่เป็น ส.ส.และไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค
ทั้งนี้ ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม จะไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขมาตรา 237 ที่ว่าด้วยกาเรื่องการยุบพรรคมากนัก และบอกว่าอาจารย์นิติศาสตร์ที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คัดค้านเฉพาะมาตรา 237 ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขมาตรา 309 แสดงว่าให้แก้ไขมาตรา 309 ได้ นั่นเพราะ ร.ต.อ.เฉลิมเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 309 จะทำให้ได้ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมากกว่า ส่วนมาตรา 237 นั้น หากไม่แก้ไขและพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็อาจเป้นผลดีต่อ ร.ต.อ.เฉลิม ด้วยซ้ำ เพราะขณะนี้กำลังทำคะแนนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าพรรคพลังประชาชนถูกยุบจริง ร.ต.อ.เฉลิม ก็มีโอกาสเป็นนายกฯ
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อไม่ให้มีการยุบพรรคนั้น ส.ส.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติจะถือว่าทำผิดมาตรา 122 เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะการยุบพรรคนั้น ทำให้ ส.ส.เสียประโยชน์ แต่ขณะนี้ ส.ส.กำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ถูกยุบพรรค ดังนั้น ส.ส.ทุกคนที่ลงชื่อยื่นญัตติจะถูกยื่นถอดถอน จึงขอให้บรรดา ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคคิดให้ดี เพราะถ้าไม่ลงชื่อยื่นญัตติ แม้พรรคจะถูกยุบ ก็ยังมีสิทธิที่จะหาพรรคใหม่ได้ แต่ถ้าไปลงชื่อก็อาจจะหลุดกันไปทั้งยวง
กรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการทำตามรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ทำได้นั้น ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม จบปริญญาเอกด้านกฎหมาย แต่พลาดได้อย่างไร แม้ว่ารัฐธรรมนูญให้แก้ไขได้จริง แต่การแก้ไขต้องดำรงไว้ซึ่งวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้ วันหลังทำไมไม่แก้ใหม่เลย ให้ ส.ส.ทุกคนได้เงินเดือนตลอดชีวิต หรือให้พ่อแม่วงศ์ตระกูลได้เงินเดือนด้วย
“ส.ส.เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปวงชนชาวไทย แต่การแก้ไข ม.237 เมื่อตัวเองทำผิดแล้ว ค่อยมาแก้ มันเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์”
ส่วนกรณีที่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย บอกว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.309 เพราะจะทำให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ ม.237 นั้นทางพรรคเห็นด้วยที่จะให้แก้บางประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรคง่ายเกินไป ว่า พรรคชาติไทยจะต้องคิดให้ดี หากจะสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 237 เพราะเป็นพรรคที่กำลังจะถูกยุบด้วย ซึ่งถ้าถูกยุบจริงๆ ก็จะถูกตัดสิทธิเฉพาะคนเป็นกรรมการบริหารพรรค ส่วน ส.ส.ยังอยู่ แต่ถ้าไปร่วมลงชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ จะทำให้ถูกถอดถอนหมดไปทั้งยวง
ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สั่งยุบพรรคการเมือง ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศตุรกี เพิ่งสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปีเหมือนกับประเทศไทย ดังนั้น ถ้า ร.ต.อ.เฉลิม มีเวลาอยากให้ลองหาข้อมูลดูบ้าง
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิด อาจะจะเข้าข่ายการกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นสาเหตุให้ถูกยุบพรรคได้
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรู้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 28 มีนาคมแล้วว่า สามารถที่จะยื่นถอดถอน ส.ส.ที่ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ได้ แต่ยังมีความเมตตาอยู่และได้เตือนให้รู้ตัวก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อรู้แล้วต้องตัดสินใจเองว่าพร้อมจะรับสภาพความเสี่ยงหรือไม่ และขณะนี้ เรากำลังรอดูรายชื่อ ส.ส.ที่จะเข้าชื่อยื่นญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดก่อน เพื่อจะยื่นถอดถอนพร้อมๆ กัน
ผู้ดำเนินรายการ ได้เตือนว่า พรรคพลังประชาชนนั้น มี ส.ส.มากที่สุด ถ้าพรรคถูกยุบก็ยังมี ส.ส.รุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาแทน แต่ถ้าไปเข้าชื่อกันทั้งหมด ก็จะถูกถอดถอนหมดทั้งพรรค ส่วนพรรคชาติไทยก็ต้องคิดให้ดี แม้จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 309 แต่การแก้ไขมาตรา 237 ก็ทำให้พรรคชาติไทยได้ประโยชน์ ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่มีคดียุบพรรค และถ้าพรรคการเมืองอื่นถูกยุบก็จะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่ควรจะไปสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญจนทำให้ถูกยื่นถอดถอน ส่วนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เงื่อนไขก็ไม่ต่างจากพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่อาจมีเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ สภาพของ ส.ส.พรรคนี้จึงไม่ต่างจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนมากนัก ส่วนพรรคประชาราช ยังไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร เพราะขนาดเคยสาบานต่อหน้าพระแก้วแล้วก็ยังเปลี่ยนใจ ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกับพรรคชาติไทย