xs
xsm
sm
md
lg

จากโลกของหนัง(สือ)สู่โลกของหนัง กับแรงบันดาลใจที่ขาดหาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจนไวยย์ ที่กำลังจะทำให้ตัวอักษร ความสุขของกะทิ กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ
แม้จะไม่ถึงกับขาดหายไปเลย แต่ก็น่าสังเกตว่าระยะหลังนั้น ผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ของบ้านเราดูจะไม่ใคร่สนใจหยิบเอา "งานเขียน" ที่มีอยู่มากมาย หลากหลายประเภทมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองสักเท่าไหร่
ขณะที่บางส่วนที่ทำออกมาก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก (เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของรายได้)
ซึ่งหากคำกล่าวที่ว่า...ถ้าตัวหนังสือไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ แล้วทำไมนวนิยายจึงถูกสร้างเป็นหนัง(ละคร)...เป็นจริงแล้วละก็
มันก็ให้น่าสงสัยได้หรือไม่ว่า ณ วันนี้ตัวหนังสือของบ้านเราไร้ซึ่งศักยภาพดังกล่าวไปแล้วหรือ?

...
ย้อนบรรยากาศจากหนัง(สือ)สู่หนัง
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมานอกจากจะเป็นยุคที่หนังไทยเฟื่องฟูแล้ว ในปริมาณมากมายของภาพยนตร์ที่ถูกสร้างออกมายุคนั้นมีไม่น้อยทีเดียวที่ถูกทำขึ้นมาจากหนังสือประเภทนวนิยาย รวมทั้งงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นบทประพันธ์เรื่อง "อินทรีแดง" โดย "เศก ดุสิต" ที่เริ่มเขียนงานนี้ในปี พ.ศ. 2498 จากแนวความคิดที่มาจากภาพยนตร์ของ "ร็อก ฮัตสัน"
อินทรีย์แดงถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกโดย รังสรรค์ ตันติวงศ์ และประทีป โกมลภิส ในชื่อ "จ้าวนักเลง" มี มิตร ชัยบัญชา รับบทอินทรีแดง ออกฉายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 ทำรายได้เกินล้านบาท ก่อนจะตามออกมาอีกหลายภาค เช่น อวสานอินทรีแดง (2506), ปีศาจดำ (2509), จ้าวอินทรี (2511) และ อินทรีทอง (2513) ซึ่งเป็นการปิดฉากชีวิตของพระเอกดังด้วยอุบัติเหตุตกจากบันไดเฮลิคอปเตอร์
แม้จะมีเนื้อหาในพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด ทว่า "ยาขอบ" หรือโชติ แพร่พันธุ์ ก็ทำให้นิยายเรื่อง "ผู้ชนะสิบทิศ" ดังเป็นพลุแตก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้นิยายเรื่องนี้จะถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที หลายครั้ง ทว่าที่เป็นหนังนั้นมีอยู่เพียงครั้งเดียวแต่แบ่งเป็น 3 ภาค นั่นก็คือ "ยอดขุนพล " (พ.ศ. 2509) " บุเรงนองลั่นกลองรบ " (พ.ศ. 2510) " ถล่มหงสาวดี " (พ.ศ. 2511) โดยมีไชยา สุริยัน รับบทเป็นจะเด็ด
ณ. เวลาในปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีความแน่นอนว่าผู้กำกับอย่าง "ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" จะมอบบท "รพินทร์ ไพรวัลย์" พรานหนุ่มในนวนิยายที่มีเนื้อหายาวที่สุดในประเทศอย่าง "เพชรพระอุมา" จากปลายปากกาของ "พนมเทียน" จะเป็นของใคร? แต่บทเดียวกันนี้เมื่อปี 2514 โดย ส.อาสนจินดา นั้นก็ต้องถือว่าเข้มข้นไม่น้อยทีเดียว
ปี 2516 บทประพันธ์อมตะ "คู่กรรม" ของทมยันตี ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกมา และในปีเดียวกันนี้ทางท่านมุ้ยก็หยิบเอานวนิยาย "เขาชื่อกานต์" ของสุวรรณี สุคนธาทำเป็นหนัง, ปี 2518 เป็นคิวของ "ความรักครั้งสุดท้าย" ล่วงมาปี พ.ศ. 2524 "บ้านทรายทอง" จากปลายปากกาของ.สุรางคนางค์ โดยมีจารุณี สุขสวัสดิ์ รับบทเป็นพจมานก็ออกมาเก็บรายได้อย่างมหาศาล
พ.ศ. 2520 "เชิด ทรงศรี" หยิบเอา "แผลเก่า" ของ "ไม้เมืองเดิม" มาถ่ายทอดให้เห็นภาพความงามของท้องทุ่งบางกะปิ, ปี 2525 เป็นคิวของนวนิยายรางวัลซีไรต์ปี 2522 อย่าง "ลูกอีสาน" ของ คำพูน บุญทวี จากนั้น พ.ศ. 2529 ผู้กำกับดัง "บัณฑิต ฤทธิ์ถกล" ก็หยิบเอานิยาย "ปัญญาชนก้นครัว" มาทำเป็นหนัง แต่ถึงแม้จะใช้ชื่อและตัวละครเหมือนกับหนังสือที่ประพันธ์ โดย           ว.วินิจฉัยกุล ทว่าก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของเรื่องใหม่หมด
ช่วงทศวรรษนับตั้งแต่ ปีพ.ศ.2530 เป็นต้นมา จำนวนภาพยนตร์ที่ถูกสร้างมาจากงานเขียนยังคงมีออกมาแบบต่อเนื่องและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ชม อาทิ "ครูไหวใจร้าย" โดย ผกาวดี อุตตโมทย์ ในปี 2532, ปี 2533 ปีที่มีหนังไทยออกมาฉายในจำนวนร้อยกว่าเรื่อง ก็มีหนังไทยที่นำมาจากนิยาย เช่น "ทวิภพ", "พันธุ์หมาบ้า" จากผลงานของ ชาติ กอบจิตติ ปี 2535 "เวลาในขวดแก้ว" ก็คว้าเอารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีมาครอง
ปี พ.ศ. 2534 นวนิยาย "กาเหว่าที่บางเพลง" ผลงานประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ถูกทำเป็นภาพยนตร์โดย นิรัตติศัย กัลย์จาฤก แม้จะมีรายได้ไม่มากนักแต่ก็ต้องถือเป็นความกล้าอย่างหนึ่งของตัวผู้กำกับเองในการที่จะทำหนังในแนววิทยาศาสตร์ซึ่งมีปริมาณน้อยมากในบ้านเรา
หลังการเข้ามาโกยเงินของ "2499 อันธพาลครองเมือง" ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ "เส้นทางมาเฟีย" เขียนโดยสุริยัน ศักดิ์ไธสง ในปี 2540 รวมถึง "จันดารา" ในปี พ.ศ. 2544 ดูเหมือนว่าการสร้างหนังที่มีเค้าโครงเรื่องจากหนังสือดูจะเริ่มน้อยลงและไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ในเรื่องรายได้ ไม่ว่าจะเป็น "ข้างหลังภาพ" (2544) ฉบับ "คาร่า พลสิทธิ์", "แม่เบี้ย" ฉบับ "มะหมี่ นภคประภา", 14 ตุลาสงครามประชาชน (2544) จากหนังสือ "คนล่าจันทร์", จะดูดีก็จาก "มนต์รักทรานซิสเตอร์" ของ เป็นเอก รัตนเรือง ก่อนจะมาแป้กอีกที่ "สนิมสร้อย" (2546), คืนบาปพรหมพิราม (2546), "ไอ้ฟัก" (2547), "มหา'ลัยเหมืองแร่" (2547)
โดยมี "เพื่อนสนิท" โดย คมกฤษ ตรีวิมล ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์เรื่อง "ตู้ไปรษณีย์สีแดง" จะมาช่วยทำให้บรรยากาศดูกระเตื้องขึ้น
...
หลากหลายทัศนะ
แม้เรื่องรายได้จะไม่เข้าเป้ามากนัก ทว่าในความคิดเห็นส่วนตัวของ "เก้ง จิระ มะลิกุล" ต่อการหยิบเอาบทประพันธ์มหา' ลัยเหมืองแร่ ของนักเขียนชื่อดัง อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาทำเป็นหนังนั้น เจ้าตัวบอกว่ารู้สึกอิ่มกับงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก..."เพราะว่าเรื่องเหมืองแร่นี่ไม่ได้เป็นเรื่องยาวต่อกัน เป็นเรื่องสั้นเรื่องละ 3-4 หน้า ไม่ได้ปะติดปะต่อกัน ไม่มีเวลา 130 กว่าตอนนี่คือ 4 ปีของคุณอาจินต์ ผมเอามาทำใหม่ คือ ใส่เวลา ใส่ความต่อเนื่อง ให้มันเป็นเรื่องยาวต่อกันโดยไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย อันนี้คือเป็นโจทย์ของผม"
ในทัศนะของผู้กำกับชื่อดังมองว่า ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังที่มาจากงานเขียนหรือจะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ล้วนมีข้อดี - ด้อย แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญก็คือผู้กำกับคนนั้นมีภาพในหัวเกี่ยวกับหนังของตัวเองได้ชัดเจนเพียงใด
"บางทีการเขียนจากจินตนาการขึ้นมามันก็ยากถ้าเราไม่เห็นหนังในจินตนาการของเราเคลียร์พอ การเอานวนิยายมาทำเนี่ยถ้าเราไม่ได้รู้สึกหลงใหล มันก็เป็นสิ่งที่ยากอยู่ดี แล้วยิ่งนวนิยายเรื่องเหมืองแร่นี่เป็นชีวิตจริงของคุณอาจินต์ คือพอมาจากชีวิตจริงผมว่าผมถือนะครับ เขาก็รักเรื่องที่เขาเขียนเหมือนกัน เราก็ไม่อยากจะไปทำให้คนเขียนเรื่องนี้มีความรู้สึกไม่ชอบเมื่อมาดูหนังของเรา"
"อย่างมากที่สุดของผมคือเอาบทของอีกคนนึงไปใส่ปากอีกคนนึง ผมชอบบทนี้ แต่คนคน นั้นผมไม่ได้เลือกมาเป็นตัวละครในหนัง เพราะในหนังสือจะมีตัวละครเยอะเป็นร้อยเลย แล้วบางตัวก็มาแค่ตอนเดียว คือเป็นการปรับที่น้อยมาก แล้วก็ผมพยายามขุดบรรยากาศเก่าที่มันไม่มีแล้วให้กลับมา ให้ได้ความรู้สึกเหมือนตอนที่อ่านเรื่องนี้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับผมก็ชอบมากครับ ตั้งแต่เกิดมาผมก็ไม่เคยไปเหมืองแร่เหมือนกัน ตัวผมก็ชอบมากกับการที่เอาบทประพันธ์มาทำ"
ออกปากยอมรับยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่มากสักเท่าไหร่สำหรับวงการหนังของบ้านเราต่อหยิบเอางานเขียนที่มีอยู่ขึ้นมาผลิตเป็นภาพยนตร์

"อย่างหนึ่งก็เป็นเพราะว่านวนิยายบ้านเราเอามาทำเป็นหนังค่อนข้างยาก คือมันเป็นนวนิยายที่จินตนาการเพริศแพร้วจนยากที่จะทำได้ทีเท่ากับทำให้คนอ่าน เวลาที่เราอ่านนวนิยายเนี่ยมันจะมีจินตนาการของคนเรากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ตามลีลาการเขียนของคนเขียน แต่ว่าพอมาทำเป็นหนัง ทุกอย่างมันปรากฏออกมาเป็นภาพทั้งหมด"
"ผมพบว่ามันยากถ้าจะทำให้คนอ่านรู้สึกได้ถึงจินตนาการที่คนเขียนเขาพรรณนาไว้ นวนิยายส่วนมากเขาจะเป็นเรื่องที่เน้นการบรรยายและพรรณนาถึงความรู้สึกของตัวละครไว้เยอะน่ะครับ"
ในทุกๆ ชิ้นของงานศิลป์ไม่ว่าจะเป็นนิยายสักเล่ม หนังสักเรื่อง ล้วนแล้วแต่บรรจุไว้ด้วยแนวความคิดของศิลปินที่ต้องการนำเสนอออกไปยังผู้เสพ และจุดนี้นั่นเองที่ทำให้นักเขียนนวนิยายชื่อดังอย่าง "อี๊ด ทมยันตี" (วิมล ศิริไพบูลย์) มองว่าอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่อยากจะเข้าไปก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
"การทำจากบทประพันธ์เนี่ย อย่างน้อยผู้ที่เป็นผู้กำกับที่ดี ผู้เขียนบทที่ดี จะพยายามรักษานวนิยาย จะเติมจะแต่งอะไรก็อยู่ในไลน์(line) เหมือนต้นไม้ ลำต้นเป็นอย่างไร ต่อเติมกิ่งใบ ต้นมะม่วงก็ต้องเป็นมะม่วง ต้นฝรั่งก็ต้องเป็นฝรั่ง เขาจะต้องอยู่ในไลน์นั้น เพราะฉะนั้นผู้ประพันธ์จะเสียความรู้สึก คนดูก็เสียความรู้สึก ไม่ได้ดั่งใจ"
"คือทุกคนจะเอาแต่ใจ ผู้ประพันธ์เองบางทีก็เยอะ ไม่ได้ดั่งใจ มันยุ่งนะ ถ้าเขาแต่งของเขาเอง เขาจะทำอะไรของเขาเองก็ว่าไป"
เป็นเพราะเนื้อหานวยิยายหรือบทประพันธ์ส่วนใหญ่มันเก่าหรือซ้ำซากไปหรือเปล่า?
“ฉันก็ว่านะ ใครจะมาเล่นคู่กรรมอีก ฉันเป็นคนขายก็ร้องว้ายได้อีกเหรอ เพราะฉันได้สตางค์แล้ว ฉันก็อยากดูเรื่องใหม่ๆ ช่างมันเถอะ อย่างเรื่องนางทาส เล่มมันบางนิดเดียว แต่แต่งซะยาวเหยียด ฉันก็เอาวะสนุกดี แหมอะไรวะตีอีเย็นทุกวัน ทำไมท่านเจ้าคุณมันงี่เง่าอย่างนี้ แต่ก็ดูมันไป”
ตอนนี้หากมีผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องการนำบทประพันธ์ของ "ทมยันตี" ไปสร้างเป็นหนัง ละคร อะไรคือสิ่งที่เจ้าของนวนิยายชื่อดังหลายต่อหลายเรื่องคนนี้อยากจะบอก?..."ก็พยายามบอกเขาว่ามาหาฉันเถอะ เธอเลือกฉันแล้ว ฉันไม่ได้คิดค่าแนะนำ เพราะบางทีอย่างตัวละครของฉันฉันรู้ดีว่ามันออกเสียงอย่างไร แต่พอมีคนเอาทำละครกลับเรียกไปอีกอย่าง"
เป็นความคิดเห็นจากนักประพันธ์ขณะที่ในส่วนของผู้กำกับอย่างเก้ง จิระ มองว่า..."อันนี้คือเป็นข้อตกลงกันของแต่ละคนนะครับ อย่างผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่วาณิช (วาณิช จรุงกิจอนันต์) เขาไม่สนใจเลยนะว่าหนังจะออกมาเป็นยังไง เพราะหนังไม่ใช่หนังสือ แกเคยขายเรื่องแม่เบี้ยซึ่งมีทั้งที่คนทำเป็นหนัง เป็นละคร แล้วรู้สึกว่าเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งถ้าเช่นนี้คนทำจะเปลี่ยนยังไงมันก็สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย"
...
อนาคตกับบทพิสูจน์
ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ที่กำลังจะถูกทำเป็นภาพยนตร์ อาทิ "เพชรพระอุมา" โดยท่านมุ้ย รวมถึงเรื่องสั้น "ฆาตรกรรมก้นครัว" ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โปรเจ็กต์ในอนาคตของเก้ง จิระ มะลิกุล แล้ว ที่ดูจะเป็นรูปธรรมและน่าสนใจไม่น้อยในเวลานี้ก็คืองานเขียนขายดีมีรางวัลซีไรต์การันตีเรื่อง "ความสุขของกะทิ" ของ "งามพรรณ เวชชาชีวะ" ซึ่งผลิตโดยกลุ่มภาพยนตร์ "ชูใจ"
"ไม่กังวลเลยครับ เนื่องจากเราคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังแล้วดี เพราะหนังสือดีมาก แล้วก็ได้รางวัลซีไรต์ ซึ่งคนมักจะถามว่าหนังสือได้รางวัลผู้อ่านก็ต้องคาดหวัง แล้วนี่คนอ่านก็ตั้ง 2-3 แสนคน"
น้ำเสียงบอกเล่าด้วยความมั่นใจจาก "เจนไวยย์ ทองดีนอก" ที่มีต่อการทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้กำกับหนัง "ความสุขของกะทิ" โดยมูลเหตุที่ทำให้เจ้าตัวรู้สึกเช่นนั้นก็เพราะความมั่นใจว่าอารมณ์ความรู้สึกดีๆ ของคนอ่านที่ได้จากหนังสือนั้นจะมีอยู่อย่างครบถ้วนในภาพยนตร์อย่างแน่นอน
"ถ้ามองให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือเราเอาคนที่เขียนเรื่องมาเขียนบทร่วมกับเราด้วยไง มันก็ตัดความกังวลลงไปตรงที่ว่าเราอยากใส่อะไรลงไปเราก็ขออนุญาตเขาก่อน เขาอยากเพิ่มอะไรมาเราก็คุยกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเหมือนต้นฉบับไหม แน่นอนเรามีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอารมณ์อยู่แล้ว แต่มันสนุกกว่า"
"จริงๆ แล้วพอทำเป็นหนังทำเป็นภาพแล้วสนุกกว่าไง มันเลยไม่กังวล หลายคนบอกว่าทำหนังของบทประพันธ์แล้วต้องกังวล เพราะเขาให้ทำเลยไง แต่อันนี้คือให้เราแล้วไม่พอ ต้องมาช่วยดูในเรื่องของกระบวนการเขียนบทด้วย”
ในทัศนะของผู้กำกับหน้าใหม่ เจนไวยย์บอกว่าโดยส่วนตัวไม่จำเป็นทุกครั้งไปที่การทำหนังจากหนังสือจะต้องเอาคนเขียนเข้ามามีส่วนร่วม ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้กำกับคนนั้นๆ อยากได้อารมณ์ที่แท้จริงจากบทประพันธ์นั้นๆ จริงๆ
"เวลาที่เราไปซื้อลิขสิทธิ์ใครมาก็มีคำตอบอยู่แล้วว่าให้หรือไม่ให้ ให้ก็คือให้ ขายก็คือจบ เขาจะมายุ่งอะไรไม่ได้ แต่เราวางแผนไว้ว่าหนังสือเล่มนี้ครองใจคนอ่านมากขนาดนี้ แล้วถ้าในมุมของการเอาเจ้าของบทประพันธ์ที่ได้รางวัลซีไรต์มาเขียนด้วย เอาคนที่เขาเก่งมาก เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ขายลิขสิทธิ์ได้หลายสิบประเทศ คนนี้อัจฉริยะ ทำยังไงให้เขามาร่วมงานด้วย"
"มันมีแต่บวกกับบวก เราต้องการคนเก่งๆ ต้องการคนที่จะทำให้ภาพของหนังของเราออกมาดีที่สุด เราก็เชิญเขามาเลย ให้เขามาเขียนบทร่วมกับเรา แล้วพี่เขาก็คิดว่า เออ! เขียนหนังสือมาแล้ว แปลหนังสือมาแล้ว แต่ยังไม่เคยเขียนบทหนัง ลองดูก็ได้ มันก็เลยเข้าล็อกกัน"
"เวลาจะทำเราก็ถามเขาก่อนว่าฉากเพิ่มตรงนี้ดีไหม ตัวละครควรจะเพิ่มขึ้นเพื่อให้หนังมันสนุก หรือว่าทิศทางของตัวละครจะไปยังไง เพราะว่าหนังสือมันค่อนข้างจะนิ่งมากๆ เราต้องเอามาทำให้มันสนุก ให้มันไม่นิ่ง แล้วความกังวลก็คือต้องทำยังไงให้มันไม่เปลี่ยนแปลงจากบทประพันธ์เดิมมากหรือมีอะไรการันตี ก็คือการเอาเจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนด้วย”
ในส่วนของงานเขียนความสุขของกะทิเองเจนไวยย์มองว่าข้อดีอย่างหนึ่งก็คือหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บรรยายทุกอย่างไว้ละเอียดมากนักทำให้ผู้อ่านแต่ละคนสามารถนึกจินตนาการถึงตัวละครไปในแบบที่ตนต้องการ
“การทำหนังมันเป็นโจทย์ที่ยากนะ แต่ถ้าเราคิดออกมันก็ไปได้เลย คนที่ได้อ่านหนังสือก็พยายามจับจ้องอยู่ว่าอะไรที่มันตรงใจหรือไม่ตรงใจ เราได้ลองผิดลองถูกมาแล้วใจระดับนึง หนังสือเล่มนี้ข้อดีของการเอามาทำก็คือว่ามันไม่ได้บรรยายหมดว่าคนไหนหน้าตายังไง เว้นไว้ให้จินตนาการ"
"อย่างเราเลือกตัวละครแต่ละตัวมาฟีดแบ็กดีมาก เลือกตัวละครมาแล้วคนชอบ ทั้งที่หนังสือมันไม่ได้เขียนไว้เลย คราวนี้เราก็คิดว่าหนังสือมันซึ้งเพราะอะไร เพราะที่แม่สัญญาว่าจะกลับมา หนูไม่มีรูปถ่ายแม่เลย กลายเป็นว่ามันซึ้ง ดูแล้วอิน แต่เราจะมาขึ้นอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องดูความละเมียดละไม ค่อยๆ เผยปมความผูกพัน ความรู้สึกทีละนิด"
"แล้วเมื่อถึงจุดๆ นึงก็จะระเบิดมาเอง มันอยู่ที่การสร้างบรรยากาศ ความเหงา การตัดสินใจของเด็กคนนึงที่จะต้องเดินทางไปจากจุดนึงไปอีกจุดนึง ไปที่ที่ เขาไม่เคยไป มันมีบรรยากาศที่เขาใส่ไว้ในหนังสือที่เราต้องมี และทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตาม"
โดยส่วนตัวของผู้กำกับความสุขของกะทิมองว่า บทประพันธ์ของบ้านเรานั้นที่ดีๆ มีเยอะมาก ส่วนเหตุผลที่ไม่ค่อยจะถูกนำมาสร้างเป็นหนังนั้นมีมากมายหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งเรื่องของการตลาด รสนิยม หรือแม้กระทั่งตัวตนของผู้สร้างเอง
“ในเรื่องการตลาดก็สำคัญ มันต้องเลือกเรื่องที่เหมาะกับการตลาด เรื่องที่เหมาะกับการผลิต หนังบ้านเราทำได้น้อยเพราะว่าไม่ได้สนใจอย่างจริงจังว่าหนังสือเล่มไหนดี เล่มไหนสนุกพอที่จะทำเป็นหนังได้ แล้วส่วนใหญ่ก็จะมีความเป็นตัวตนสูง ผู้กำกับบ้านเรามีความเป็นตัวตนสูง เขาอยากทำในสิ่งที่เขาคิด เขาสนุกในการทำงาน มันไม่มีการทำต่อเนื่องมาเป็นกระบวนการอย่างชัดเจน"
"แล้วมันอยู่ที่คนอ่านหนังสือด้วยมากกว่า เราก็ไม่รู้ว่าผู้กำกับอ่านหนังสือมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็คงเป็นช่องว่างอันนึงที่ทำให้สองวงการไม่ค่อยได้ช่วยเหลือกันเท่าที่ควร ก้าวหนึ่งการทำงานของผมก็คือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน คนเขียนหนังสือดีก็มีกำลังใจ มีคนเอาไปทำหนัง วงการวรรณกรรมก็ถูกยกขึ้นมาเหมือนกัน”






กำลังโหลดความคิดเห็น