จากประโยค “มือของผู้ให้ย่อมสูงกว่ามือของผู้รับ แล้วการให้จะนำความสุขมาสู่คนที่ให้เองด้วย” ที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ทำให้ ปริษา ปานะนนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อดีตคนในแวดวงบันเทิง แทบจะใส่ความคิดนี้ลงไปในทุกสิ่งที่เธอเลือกทำ
การได้เข้ามาโลดแล่นในวงการบันเทิง ปริษา ยอมรับว่าไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดงมากนัก ประกอบกับความตั้งใจแต่แรก ที่อยากใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา สร้างความมั่นคงให้ตัวเองด้วยงานประจำ ก็ทำให้ถึงวันนี้กว่า 10 ปีแล้ว ที่เธออยู่ในฐานะพนักงานบริษัท และสิ่งที่ขาดไม่ได้ตลอดชีวิตการทำงานของเธอ นั่นก็คือ การทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมเท่าที่เธอจะทำได้
“ตอนที่เป็นนักแสดง ก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่วงการบันเทิงนะ ทั้งที่รักมาก และวงการนี้ก็ให้อะไรกับชีวิตมากมาย แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนมาตลอด อีกด้านหนึ่งก็เสียดายในความรู้ที่ร่ำเรียนมา อยากนำมาใช้ประโยชน์ จริงๆ เคยฝันไว้ เมื่อเรียนจบ เราอยากทำงานสังคมสงเคราะห์มาก ซึ่งก่อนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไปรษณีย์ไทย ก็เคยทำงานประจำที่ช่อง 3 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด”
ผลงานคุณภาพเชิงสร้างคุณค่าต่อสังคม เมื่อครั้งทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ ถ้าเอ่ยชื่อแล้วคงต้องร้อง อ๋อ! นั่นคือ การสร้างช่วงเวลาขึ้นใหม่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว ในชื่อช่วง “ครอบครัวตัวละคร” ที่นำร่องโดยละครเรื่อง “ธรรมะติดปีก” เจ้าของรางวัลด้านละครส่งเสริมสังคมดีเด่นกว่า 10 รางวัลจากสถาบันต่างๆ
แต่เพราะอะไรที่ทำให้เธอสนใจ และผลักดันกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นจริงจนแทรกซึมอยู่ในแทบทุกงานที่จับต้อง ส่วนสำคัญยิ่ง เธอบอก คงเป็นเรื่องของแบบอย่างจากพ่อแม่ และการอบรมสั่งสอนจากโรงเรียน ที่ทำให้ต้องคิดเสมอว่า... เหตุแห่งความสุขนั้นมาจากการให้ ซึ่งเธอย้ำว่า อีกรูปแบบของการให้ ที่เธอเลือกทำมาตลอดคือ การทำบุญด้วยการทำงาน
“ตอนที่ทำสื่อสารการตลาดให้ละครเรื่อง ธรรมะติดปีก ช่วงนั้นเราได้ค้นพบอะไรดีๆ เยอะมาก ได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นไปปฏิบัติธรรมหรอก จะยึดคำของท่านพุทธทาส ที่ว่า การทำงานก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ก็พยายามนำหลักธรรมที่เราซึมซับมาใช้กับชีวิตประจำวัน ดีกว่าไปนั่งสมาธิ แล้วเราไม่ได้เจอโจทย์ยากๆ ให้ต้องใช้สติในการแก้ปัญหา ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง ทำให้เราก็อยากทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม”
สำหรับการก้าวมาอยู่ในไปรษณีย์ไทย องค์กรที่ผูกพันกับคนไทยมายาวนาน คงสะท้อนถึงความตั้งใจบางอย่างที่ซ่อนอยู่ได้บ้าง ซึ่งในมุมส่วนตัวแล้ว เธอเองก็ผูกพันกับการสะสมแสตมป์และการส่งจดหมายมาตั้งแต่เด็ก และการได้เข้ามาต่อยอดทำให้ผู้คนเห็นว่า... ชาวไปรษณีย์ไทยไปทำอะไรกันมาบ้าง ก็เป็นความภาคภูมิใจของเธอที่ได้สร้างความสำคัญกับชุมชนที่ตัวเองอยู่ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เพื่อนร่วมงานได้ทำประโยชน์คืนสู่สังคมได้ด้วย ทั้งๆ ที่บริการของไปรษณีย์ไทย ก็เป็นบริการเพื่อประชาชนและสังคมอยู่แล้วในตัวของมันเอง
ดังจะเห็นได้จาก กิจกรรมดีๆ ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนของเด็กๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วและเธอเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้มาอย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการไปรษณีย์ไทยแคมป์ ประจำปี 2551 “เยาวชนไทยผนึกหัวใจ...รักษ์สิ่งแวดล้อม” เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ทุกภาคส่วนต่างรณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อนกันอย่างเต็มที่ กิจกรรมให้ความรู้ และ การทัศนศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติและการให้บริการของไปรษณีย์ไทยให้ จึงเกิดขึ้นในนามของไปรษณีย์ไทย
“รู้ผ่านเว็บไซด์ของไปรษณีย์ไทยว่า เขามีจัดกิจกรมเพื่อเยาวชน จำได้ว่าในปี 2549 ชื่อ ค่ายเยาวชนไทยรักในหลวง พอเราเข้ามาและได้มาสานต่อโครงการ ก็จัดค่ายชื่อว่า เยาวชนไทยหัวใจพอเพียง จนมาถึงปีล่าสุด เราก็เน้นไปที่เรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งในส่วนของการทำการบ้าน เราก็ต้องมาคิดว่าจะใช้ธีมอะไร แล้วก็จัดกิจกรรมให้เด็กๆ เข้าใจและมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองตลอดค่าย”
เธอบอกว่า เกี่ยวกับโลกร้อนนั้น เด็กอาจจะเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่า อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุ ก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร จึงร่วมกับทีมงานคิดจำลองสถานการณ์ให้น้องๆ ได้รู้ว่า... อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุ มีการจำลองสถานการณ์ให้เด็กๆ ได้รู้จักการใช้สอยทรัพยากร และชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ก็เป็นเหมือนผู้บริโภค และเป็นส่วนหนึ่งของโลกธุรกิจ ที่ต้องมีการผลิตสินค้า ซึ่งหากไม่ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากร ก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้กับพวกเขาในที่สุด โดยตลอดทั้งค่ายเด็กๆ ก็ยังได้ความรู้และเพลิดเพลินไปกับโลกของการสื่อสารของไปรษณีย์ไทยไปพร้อมๆ กัน ทั้งการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ไปรษณีย์ไทย ได้เจอแฟนพันธุ์แท้แสตมป์ไทย ซึ่งเธอเชื่อว่า ความรู้และแรงบันดาลใจเหล่านี้ จะเป็นประสบการณ์จริง ที่จะอยู่ในความทรงจำของเด็กๆ ที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่า การมานั่งพูดว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดียังไง
“เราตั้งใจจะจัดโครงการนี้ขึ้นทุกปี แม้ธีมจะเปลี่ยนไป แต่คอนเซ็ปต์ยังคงเป็นประโยชน์กับน้องๆ เหมือนเดิม เพื่อให้เด็กๆ ได้รับสาระความรู้และเป็นการฝึกให้เขารู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งก็คิดว่า สามารถตอบโจทย์ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานได้รับประโยชน์ในราคาที่สามารถจ่ายได้”
นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย โครงการ 125 วันแบ่งปันเล่มโปรด ซึ่งเป็นกิจกรรมขอรับบริจาคหนังสือเพียงเล่มเดียว ที่เป็นเล่มโปรดของคุณจริงๆ ก็เป็นอีกโครงการดีๆ ที่เธออยากเชิญชวนให้ผู้สนใจ นำหนังสือมาบริจาคที่ไปรษณีย์ไทย ก่อนที่บุรุษไปรษณีย์จะรวบรวมแล้วนำส่งไปยังโรงเรียนที่ต้องการหนังสือเหล่านี้
“จะคิดเสมอว่า เราไม่ได้เชื่อมโยงแค่การส่งจดหมาย แต่เราทำหน้าที่เชื่อมโยงชีวิตและจิตใจของคนไทยด้วย อย่างที่บอกว่า เราเป็นองค์กรที่ให้บริการพื้นฐานกับประชาชน และมีความผูกพันกับสังคมที่เราอยู่ในทุกๆ หย่อมหญ้าจริงๆ
เพราะฉะนั้น ในสังคมที่เราเข้าไป เราก็อยากทำให้สังคมนั้นดีขึ้น ไม่เพียงแต่การส่งของ หรือข้อความเท่านั้น แต่เรากำลังส่งความคิดถึงและความห่วงใยของคนจำนวนมากไปสู่ปลายทางอย่างปลอดภัย”