xs
xsm
sm
md
lg

ดันเด็กไทยแบ่งกันรู้-ร่วมกันคิด ผ่านห้องสมุดดิจิตอล"KIDS-D"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะดีแค่ไหน หากนักเรียนไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้สามารถฟังบทเรียนจากครูคนเดียวกับนักเรียนในกรุงเทพฯ หรือเด็กๆบนดอยทุกคนสามารถเรียนรู้สิ่งที่ชอบด้วยตนเองแบบไม่รู้จบ ข้อมูลเพียบพร้อมหลายรูปแบบทั้งหนังสือ บทความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สไลด์ ดนตรี วิดีทัศน์ หรือบันทึกการสอนที่อยู่ในรูปแบบสื่ออื่นๆ ถูกเตรียมไว้เพื่อให้ครู อาจารย์ และนักเรียนทุกคนดึงไปใช้ประโยชน์ได้ตามใจต้องการ ไม่ว่าเวลาใดหรืออยู่ที่ไหน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความฝันที่ไกลเกินเอื้อม แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ด้วยเทคโนโลยี โครงการแบ่งกันรู้ ร่วมกันคิด หรือโครงการห้องสมุดดิจิตอลเพื่อการศึกษาจึงเกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้

ชื่อเต็มของโครงการนี้คือ Knowledge Imagination Discovery and Sharing เมื่อถอดตัวอักษรของคำหน้าแต่ละคำจะได้คำว่า KIDS-D โดย D ตัวสุดท้ายคือคำว่า Digital ซึ่งสอดคล้องกับคำในภาษาไทยว่า "คิดดี" โดยเบื้องหลังคนสำคัญของโครงการห้องสมุดดิจิตอลคิดดีนี้คือ ศาสตราจารย์วิลาศ วูวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

ศาสตราจารย์วิลาศคือหนึ่งในทีมผู้บุกเบิกโครงการ ซึ่งได้นิยามว่าโครงการนี้เกิดจากการเลียนแบบโลกแห่งความเป็นจริง คือ มีห้องสมุด ห้องเรียน และชุมชน โดยได้นำทั้งสามอย่างมารวมเป็นห้องสมุดดิจิตอล หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือก็คือทุกโรงเรียนในประเทศไทย

"อย่างที่ทราบกันว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยเรานั้นค่อนข้างที่จะต่ำ แต่เราเชื่อว่าเด็กไทยนั้นมีศักยภาพ รวมถึงครูมีคุณภาพที่มีอยู่นั้น สามารถที่จะแบ่งปันให้กับครูคนอื่นได้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือกันทำโครงการ"

อาจารย์ระบุว่าโครงการนี้ต้องการกระจายโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองตามหลักการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน จึงนำระบบไอทีมาเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ ค้นคืนทรัพยากรสารสนเทศทางด้านการเรียนการสอน และความรู้ทั่วไปในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สไลด์ ดนตรี วิดีทัศน์ หรือบันทึกการสอนที่อยู่ในรูปแบบสื่ออื่นๆ

ครู อาจารย์ และนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

"คล้ายๆกับยูทูบ ที่ใครๆก็สามารถนำมาอัพโหลดแลกเปลี่ยนกันได้ เหมือนกับเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆได้ทำตาม เพื่อที่จะพัฒนาในด้านการเรียนการสอนให้มีศักยภาพทัดเทียมกันทั้งประเทศ"

สร้างจากโอเพ่นซอร์ส

อาจารย์ให้ข้อมูลว่าระบบห้องสมุดดิจิตอลนี้สร้างขึ้นจากโปรแกรมซอฟต์แวร์มาตรฐานเปิดหรือโอเพ่นซอร์ส ใช้สองโปรแกรมคือ Dspace และ Greenstone ขั้นแรกของการพัฒนาคือการปรับให้โปรแกรมรองรับภาษาไทย เพื่อให้ระบบสามารถรับข้อมูลและสืบค้นข้อมูลเป็นภาษาไทยได้

"หลักเกณฑ์ที่เราเลือกซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สนั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าลิขสิทธิ์" อาจารย์วิลาศให้เหตุผล

โปรแกรม Dspace เป็นระบบที่พัฒนาโดยสถาบัน MIT ของสหรัฐฯ ปัจจุบันนี้มีการติดตั้งเพื่อใช้งานมากกว่า 300 แห่ง ใน 51 ประเทศ สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกจากโครงการนี้แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ใช้งานระบบนี้เช่นกัน ตัวระบบสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งเนื้อหาและไฟล์วิดีโอ (MP4) ขณะที่โปรแกรม Greenstone นั้นมีจุดเด่นที่ความสามารถในการจัดการข้อมูลดิจิตอลจำนวนมากอย่างเป็นระบบโดยใช้เมทาดาทา (Metadata) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากล เพื่อให้การจัดการโครงสร้างภายในอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ทำให้เป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลระหว่างระบบ และสามารถค้นคืนทรัพยากรข้อมูลข้ามระบบได้ง่าย สะดวกขึ้น

"เหมือนกับการใช้ห้องสมุดทั่วไป ที่ทุกคนสามารถสืบค้นด้วยชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง หัวเรื่องหรือคำสำคัญ ปีที่จัดพิมพ์ หรือรูปแบบของข้อมูล และยังมีความสามารถในการสนับสนุนภาษาต่างๆ ที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น นักเรียนในประเทศลาวฟังภาษาไทยออก เขาก็จะเข้ามาศึกษาบทเรียนของเรา หรือประเทศออสเตรเลียซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร อาจจะเข้ามาสอนการบ้านให้เด็กไทยในด้านภาษาผ่านทางเว็บบอร์ดที่มีอยู่ในระบบห้องสมุด"

นอกจากนี้ภายในระบบยังได้มีการนำระบบ RSS Feed เข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกส่วนของหน้าเว็บ เพื่อให้คนที่ใช้ห้องสมุดดิจิตอลไม่จำเป็นต้องเปิดเข้ามาชมที่หน้าเว็บ เนื่องจากระบบ RSS จะอัปเดทหนังสือหรือเนื้อหาใหม่ๆ โดยส่งเป็นข้อความสั้นๆตรงไปยังหน้าจอของผู้อ่าน

RSS หรือ Really Simple Syndication เป็นบริการบนเว็บไซต์ภาษา XML ใช้สำหรับดึงเนื้อหาจากเว็บต่างๆ มาแสดงบนหน้าเว็บเพจ โดยนำมาเฉพาะหัวข้อเนื้อหา เมื่อผู้ใช้คลิกลิงก์ก็จะแสดงรายละเอียดข่าวในเว็บต้นฉบับนั้นๆ ทั้งนี้ผู้ใช้จะต้องมีการติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวก่อน

ใช้ลูกเล่นจูงใจวัยรุ่นไทย

ในมุมมองของอาจารย์มองว่าวัยรุ่นไทยยังมีการใช้ห้องสมุดน้อยอยู่ ในส่วนของโครงการนี้ได้พยายามนำคอนเทนต์ต่างๆที่เป็นสาระใส่เข้าไป ยกตัวอย่างในเรื่องของหนังสือหายาก ซึ่งมีจำนวน 100 เล่ม พิมพ์เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ราคาประมาณเล่มละ 15 สตางค์ ตรงจุดนี้เองที่เป็นจุดดึงดูด เพราะทุกคนก็อยากรู้ อยากเห็น เมื่อทุกคนสนใจก็จะนำไปใส่ไว้ในห้องสมุดดิจิตอล

"ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าหากเป็นห้องสมุดอย่างเดียวก็จะน่าเบื่อ แต่ในนี้จะไม่ได้มีเพียงแค่กับที่ห้องสมุดมี คือจะมีในส่วนของบล็อก วิกิ และเว็บบอร์ดให้ได้แชตแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่มีอยู่ในห้องสมุดเป็นแก่นในการคุยแลกเปลี่ยนกัน"

สำหรับหน่วยงานภาคการศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ www.kids-d.org โดยทางสถาบันฯจะให้ความช่วยเหลือในการติดตั้งระบบให้กับโรงเรียนต่างๆที่สนใจ และมีความพร้อมทางด้านฮาร์ดแวร์ รวมทั้งติดตั้งตัวอย่างทรัพยากรข้อมูล และแนะนำวิธีการใช้ระบบ

"ต่อไปในอนาคตข้างหน้านั้น ประเทศต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น ความรู้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด อยากจะให้ใฝ่หาความรู้ ขอให้รู้อะไรก็ได้ ให้มีความรู้เอาไว้" อาจารย์วิลาศฝากถึงเยาวชนไทย
ศาสตราจารย์วิลาศ วูวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เบื้องหลังคนสำคัญของโครงการห้องสมุดดิจิตอลKIDS-D

กำลังโหลดความคิดเห็น