xs
xsm
sm
md
lg

“วินัย ตาระเวช” จากครูนักจัดดอกไม้ สู่การทำเส้นใยกล้วยถวายพระเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดอกรัก...กล้วยไม้...บานไม่รู้โรย...มะลิ... ฯลฯ

เหล่านี้คือดอกไม้นานาชนิดที่ถูกรังสรรค์ผ่านวิชาการจัดดอกไม้ก่อนกลายมาเป็นผลงานอันวิจิตรบรรจงอวดโฉมแก่ผู้ที่ได้พบเห็นอย่างไม่มีวันลืม วิชาการจัดดอกไม้นั้นถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่เป็นมรดกสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็เช่น มาลัย พานพุ่ม กระทง บายศรีและอีกสารพัด


แน่นอนว่า การที่คนๆ หนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็น “กูรู” ทางด้านการจัดดอกไม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบ่มเพาะความรู้ ผ่านความอดทนในการเรียนรู้ลวดลายในการทำดอกไม้จากครูผู้ถ่ายทอด เช่น การจะทำกระทงสักใบก็ต้องรู้จักศิลปะการทำใบตองให้เป็นรูปแบบต่างๆ เช่น กลีบเล็บครุฑ กลีบหักดอกบัว กลีบกุหลาบ เป็นต้น

เรากำลังพูดถึง “ผศ.วินัย ตาระเวช” อาจารย์ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ที่นอกจากจะมีความชำนาญในการจัดดอกไม้ไทยแล้ว ยังสามารถประยุกต์ดัดแปลงกับการจัดดอกไม้สากลก่อนกลายเป็นรูปแบบงานฝีมือเฉพาะตัว

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผศ.วินัยและอาจารย์ของมทร.ธัญบุรีกำลังรับสนองกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำเส้นใยจากกล้วย 100% เพื่อทอเป็นผืนผ้าอีกด้วย

ผศ.วินัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งความสนใจในวิชาการจัดดอกไม้ว่า สนใจเรื่องการจัดดอกไม้มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.1-ม.3 ที่บ้านเกิดสิงห์บุรี จากนั้นก็ได้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวะ จ.นครสวรรค์ ตามด้วย ปวส.จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้และปริญญาตรีจากคณะคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ซึ่งแต่ละสถาบันก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ จนได้เข้าประกวดระดับภาคและระดับชาติ พร้อมทั้งได้รับรางวัลติดไม้ติดมือมาโดยตลอด

เช่น ได้รับรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(กระทงลอยดอกไม้สด) ปี 46 รางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การจัดโต๊ะอาหารค่ำด้วยดอกมะลิ ประเภทสวยงามและสร้างสรรค์ในงานสุดยอดอุตสาหกรรมผ้าไทย เมืองทองธานี ปี47 เป็นต้น

เรียกได้ว่าเป็นมือจัดดอกไม้ระดับรางวัลพระราชทานเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกันก็ฝากผลงานงานเขียนเอาไว้ด้วย อาทิต การเขียนแบบเรียนสำเร็จรูปเรื่องงานดอกไม้ให้กรมการศึกษานอกโรงเรียนปี 37 เขียนลงในนิตยสารกุลสตรีตั้งแต่ปี 34-43 รวมทั้งเป็นวิทยากรการจัดสอนดอกไม้ให้กับการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่วิทยาลัยการอาชีพไกลกังวลด้วย

“ถามว่า ความยากของการจัดดอกไม้อยู่ตรงไหน ผมว่า ความอดทน ความมีสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะกว่าจะเป็นได้ต้องฝึกฝนทักษะให้มีความชำนาญงานและรู้ในทุกเรื่อง จากนั้นถึงจะเกิดความคิดที่จะประยุกต์หรือออกแบบการจัดดอกไม้ขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตนเอง เช่น การร้อยมาลัยก็จะมีรูปแบบตายตัวว่า มาลัยกลม มาลัยแบน มาลัยสามเหลี่ยม แต่ว่าทำอย่างไรถึงจะเอารูปแบบต่างๆ ไปผสมผสานกับงานที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร ซึ่งทำได้ยาก”

“การจัดดอกไม้ไทยนั้นถือเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดและสะสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยต้นแบบสำคัญก็คือการจัดดอกไม้ในรั้วในวัง เสร็จแล้วก็มีการถ่ายทอดไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความรู้นับวันยิ่งหายไปเรื่อยๆ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความอดทนในการฝึกฝีมือ ความจริงคนที่เรียนทางด้านนี้มีงานเยอะนะ แล้วก็รายได้ดีพอสมควร ยิ่งงานไทยด้วยแล้วยิ่งแพงมากๆ เช่น พานรับน้ำ 1 คู่ราคา 3,500-5,00 บาท พานขันหมาก 1,200 บาท เป็นต้น”

นอกเหนือจากฝีไม้ลายมือที่ได้จากสถาบันการศึกษาแล้ว ผศ.วินัยยังมี “มาดามเค” ที่มีชื่อเสียงในวงการดอกไม้ประดิษฐ์เลียนแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกพุทธรักษาได้เหมือนมากมาเป็นอาจารย์สอนอีกด้วย

“มาดามเคเป็นนักประดิษฐ์ดอกไม้ส่งออกที่มีชื่อเสียงมากในสมัยก่อน แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าใดนัก ดีใจมากที่ได้ท่านมาช่วยแนะนำเทคนิควิธีให้ว่า ทำอย่างไรดอกถึงจะพลิ้วสวยเหมือนของจริง”

สำหรับเอกลักษณ์หรือลีลาเฉพาะตัวในการจัดดอกไม้ของ ผศ.วินัยนั้น ล่าสุดอาจารย์ได้คิดค้นที่จะนำกลีบเล็กๆของ “ดอกบานไม่รู้โรย” มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนสำคัญในการจัดดอกไม้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดค้นครั้งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยทำเป็นรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เรือสุพรรณหงส์ นำมาประยุกต์เป็นกรอบรูปหรือดอกไม้นานาชนิดอย่างดอกแก้วกัลยาที่ทำขึ้นมาเพื่อถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของดอกบานไม่รู้โรยก็คือ เป็นดอกไม้ที่นอกจากจะสวยงาม มีเสน่ห์คงทนแล้ว ยังมีวัตถุดิบให้ใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อสร้างงานขึ้นมาแล้วจะมีความแตกต่างและโดดเด่นไปจากการการจัดดอกไม้ทั่วๆ ไป ยิ่งเมื่อนำมาตกแต่งหรือใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดดอกไม้ด้วยแล้ว โดยเฉพาะการทำเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ยิ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์และชวนให้แวะเวียนมาชมอยู่ร่ำไป เรียกว่าใครได้ชมผลงานที่อาจารย์รังสรรค์ออกมาแล้วจะต้องร้องโอ้โหและประทับใจทุกรายไป

และล่าสุด ผศ.วินัยและทีมงานอาจารย์จากคณะคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการคิดค้นทำ “เส้นใยจากกล้วย” เพื่อนำไปใช้ทอผ้า

“สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปญี่ปุ่นและเห็นว่า มีการนำเส้นใยจากกล้วยมาใช้ทอผ้า นำมาทำเป็นกิโมโน กลับมาพระองค์ท่านก็เลยมีพระราชดำริอยากให้ทำบ้าง เผอิญพอดีพวกเรากำลังทำเรื่องนี้อยู่ก็เลยมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งพระองค์รับสั่งให้ไปช่วยกันคิดเส้นใยจากกล้วย 100% ขึ้นมาเพื่อที่จะนำไปส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกและทำ ตอนนี้ก็กำลังคิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำได้ เพราะถ้าทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำได้แล้ว แต่ถ้าทอผ้ายังทำไม่ได้ ทดลองทำแล้วปรากฏว่าเส้นยืนจะขาดง่าย”

สำหรับการทำเส้นใยนั้น ผศ.วินัยเล่าว่า ส่วนที่จะใช้ทำได้คือส่วนกาบกล้วย เสร็จแล้วก็จะต้องขูดผิวนอกออกเพื่อให้เหลือเฉพาะเส้นใยด้านใน โดย 1 ต้นจะมีกาบที่ใช้งานได้ประมาณ 6 กาบ ซึ่งกล้วยพันธุ์ที่ใช้ได้ดีก็คือกล้วยน้ำว้า เมื่อได้เส้นใยธรรมชาติแล้วก็จะต้องมาผ่านกรรมวิธีเพื่อทำให้เส้นใยมีความนุ่มและเหนียว ก่อนที่จะทำไปทอเป็นผ้าต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น