xs
xsm
sm
md
lg

มนต์เสน่ห์สีเขียว...ตรึงใจ ‘ม.ล. ภูมิใจ ชุมพล’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แต่เล็กจนโต ปุ๊ม-ม.ล. ภูมิใจ ชุมพล ขลุกอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าด้วยความผูกพัน เพราะต้องคอยเดินตามท่านปู่ (หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล) ท่านย่า (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงรำไพประภา) ลงสวนมาตั้งแต่จำความได้ จึงกลายเป็นเหตุผลง่ายๆ ทว่า... ลึกซึ้ง ให้ชายหนุ่มคุ้นเคยกับพื้นที่สีเขียว... อย่างไม่รู้เบื่อ

“ท่านปู่ผมจบการเกษตรมาจากปารีส ในสมัยโน้น! และเป็นผู้ริเริ่มสร้างอาณาจักรการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ท่านมีความรู้ดีมากเกี่ยวกับต้นไม้พันธุ์ต่างๆ จึงปลูกฝังเรื่องรักต้นไม้กับเรา สมัยเด็กๆ พอถึงเวลาก็ลงสวนสัก 5 โมงเย็น จะเปลี่ยนกระถางต้นไม้ ผมเป็นเบ๊ท่านปู่ท่านย่า เดินถือบุ้งกี๋ตามหลัง คอยเก็บไม้แห้ง เวลาที่ลงสวนอยู่ตลอด”

เท่านั้น... คงไม่ทำให้ชายหนุ่มซึมซับนานาสาระจากผู้ใหญ่ทั้งสองได้เข้มข้นมากพอ หากแต่ทุกคำสอน บอกเล่าเกี่ยวกับพืชพันธุ์ในรั้วรอบขอบวัง (ที่พำนัก) กลับเป็นตำราเล่มแรก ชวนให้เขาได้จดจำถึงสารพัดภูมิปัญญาด้านต้นไม้ ที่ยังคงใช้การได้ แม้จะล่วงเลยเวลามาหลายสิบปี

ทำให้วันนี้...ตำแหน่ง นักออกแบบสวน จึงตามมาเป็นงานอดิเรกที่ไม่เคยห่างหายจากชีวิตประจำวัน คู่ขนานไปพร้อมกับการเป็น อินทีเรีย ดีไซเนอร์ อาชีพหลักหลังจากที่ร่ำเรียนจบทางด้าน Design Fashion Textile จากประเทศอังกฤษ

“จัดสวนครั้งแรก ก็ที่บ้านปู่บ้านย่าเนี่ยแหละ ท่านให้เราทำ ขณะเดียวกัน ท่านก็ทำให้เราดูแล้วก็ฝึกเราไปด้วย ทั้งบ้านพ่อ บ้านแม่ บ้านตัวเอง บ้านเพื่อน จนเดี๋ยวนี้ การออกแบบและการจัดสวนลามปามไปที่อื่นด้วย”

เขาบอกว่า การจัดสวนเป็นความสุขมาตั้งแต่ยังเล็ก สมัครใจทำตรงนี้ ก็เพราะเริ่มเรียนรู้จากปู่ย่า โดยไม่เคยร่ำเรียนทฤษฎีจากสถาบันแห่งไหนมาก่อน จะมีก็แต่เพียง การหาความรู้เรื่องพันธุ์ไม้เพิ่มเติมจากตำราและหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะ“The Garden” วารสารรายเดือนของราชสมาคมพฤกษศาสตร์จากประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อตั้งมานานกว่าร้อยปี เล่มนี้ถือเป็นเล่มโปรด จนเจ้าตัวขึ้นแท่นสมาชิกตลอดชีพเป็นที่เรียบร้อย คอยอัปเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อการนำพรรณไม้ต่างๆ บนโลกใบนี้มาปรับใช้กับการจัดสวนครั้งต่อไป

ใช่เพียงแต่พื้นที่ในรั้วบ้านของคนใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้เข้าไปดูแล พลังความรักในต้นไม้และสวนสวยเหล่านี้ ยังถูกถ่ายทอดลงสู่สถานที่สำคัญๆ อย่าง สวนในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร,สวนต่างๆ ในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สวนรอบพระตำหนักคอยท่าปราโมทย์ ของสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ฯลฯ อีกด้วย

“ได้เข้าไปจัดสวนในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราเองก็รู้สึกเป็นเกียรติ มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่รัก ซึ่งแต่ละสถานที่ก็ต้องแก้โจทย์ในการจัดสวนที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง การจัดสวน ณ พระตำหนักของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งฝั่งหนึ่งเป็นฝรั่งอีกฝั่งหนึ่งเป็นไทย แล้วจะทำสวนยังไง ก็ต้องแก้โจทย์ด้วยการใช้เฟิร์น เพราะทั้งบ้านฝรั่งและบ้านไทยก็มีเฟิร์น สรุปก็ต้องเป็นสวนเฟิร์นต่างๆ ใต้ต้นไม้ใหญ่หมดเลย ก็ออกมาสวยงามลงตัว หรือบางครั้ง คนรักต้นไม้อย่างเรา ก็ต้องยอมตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ทิ้ง เพื่อเก็บรักษาหมู่พระที่นั่งในราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพราะรากของต้นไม้ไชไปถึงฐานพระที่นั่งแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขกันไป”
มีโอกาสจัดสวนมามากมาย แต่สไตล์ที่เขาชอบ คือ การจัดสวนแบบคลาสสิก ถึงอย่างนั้น หลักของการจัดสวนที่ดีนั้น เขาแนะว่า.. คงไม่มีอะไรยุ่งยากเกินไปกว่าการมองให้รู้ว่า สวนของเราอยู่กลางแดดหรือในร่ม สิ่งปลูกสร้างแวดล้อมเป็นแบบไหน ประโยชน์การใช้สอยพื้นที่สวนแห่งนั้นเป็นอย่างไร ที่สำคัญ ต้องเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และอากาศ บวกกับการหมั่นดูแลรดน้ำอย่างเอาใจใส่ ก็สามารถสร้างสรรค์แหล่งความสุขในบ้านได้อย่างไม่ยากเย็น

“ความรู้เรื่องต้นไม้ เรียนยังไงก็ไม่มีวันรู้หมดนะ ถ้าเราจับทางได้ว่า ตรงนี้เป็นสวนร่ม เราก็หาไม้ร่ม หรือถ้าสวนเราอยู่กลางแดด ก็ต้องหาไม้ที่ทนแสงแดด ที่ขาดไม่ได้อีก นอกจากการรดน้ำพรวนดิน จะออกแบบหรือจัดสวนให้ดี ต้องรู้ด้วยว่า ตึกรามบ้านช่อง เป็นสิ่งปลูกสร้างแนวไหน ช่วงสมัยของมันเป็นมาเป็นอย่างไร และคงไม่ต้องถึงกับจัดสวนให้สวยก็ได้ หากอยากดื่มด่ำกับต้นไม้สักต้น ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ เพียงแค่ลงมือปลูก”

คนรักต้นไม้ยืนยันว่า...หากอยากปลูกต้นไม้สักต้นไม่ใช่เรื่องยาก และคงไม่ต่างจากการทำกับข้าว ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ขอเพียงรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วฝึกฝน ก็จะปลูกต้นไม้ได้ ในพื้นที่เล็กๆ บนระเบียง ถ้าทุกคนสามารถและยินดีช่วยกันปลูกธรรมชาติด้วย 2 มือ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยโลกของเราได้ ยิ่งยุคนี้ภาวะโลกร้อนกำลังคุกรุ่น เจ้าของหัวใจที่พันผูกกับธรรมชาติ ก็ยังหวั่นกลัวไม่ต่างกัน และคิดว่า ถ้ามนุษย์บนโลกนี้ต้องตายไปเพราะภาวะโลกร้อน นั่นคงเป็นเหตุผลที่เหมาะควร

ครั้นพอขยายความถึง ความสุขที่เกิดขึ้น ในยามที่เดินชมสวนทีไร นั่นคือ ช่วงเวลาที่ทำให้เขานึกถึงได้ทุกเรื่อง บนพื้นที่เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยสีสันและความเขียวชอุ่มของต้นไม้ ดอกไม้ นับเป็นแหล่งปลดปล่อยความในใจชั้นเลิศ สุขและทุกข์ของเขา หลายต่อหลายครั้งถูกระบายออกให้บรรดาสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถพูด...ได้รับฟัง

“ความผูกพันกับต้นไม้มันสะท้อนไปให้เห็นภาพของปู่กับย่า และภาพในวันวานที่เราเดินตามท่านไปดูแลสวน รู้สึกเสมอว่าท่านยังอยู่ ปู่กับย่าเราก็รักต้นไม้ เราเองก็เอาต้นไม้เป็นสื่อในความทรงจำที่ดี”

นอกจากความสุขสีเขียว ที่ยังคงสะท้อนออกมาเป็นกิจวัตร ด้วยการรดน้ำต้นไม้เองทุกครั้ง...เมื่อมีเวลา อีกมุมหนึ่งที่บ่งบอกถึงความในใจที่มากกว่าเพียงการจัดสวน เขาวาดฝันไปไกลถึงพื้นที่โล่งเปล่าต่างๆ ที่ไม่อาจทำให้เกิดประโยชน์ ด้วยการจัดสรรกำลังคนที่ว่างงาน หากมีการช่วยกันปลูกและดูแลต้นไม้อย่างใกล้ชิด ก็น่าจะมีผลดีอีกมากมายตามมา

“คิดแบบไม่ซับซ้อน มีพื้นที่ตรงไหนในส่วนของเราก็ให้ช่วยกันปลูก ใช้ไม้มาสร้างบ้าน หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมกลับมองว่า เอาไม้มาปลูกบ้านก็ให้ปลูกคืน มันสามารถรีไซเคิลกลับมาได้ ธรรมชาติก็ได้ประโยชน์ เพราะเป็นการรักษาหน้าดินไปในตัว คนปลูกเองก็มีแต่จะได้ นอกจากร่มเงา ดอก ผล และลำต้น ที่จะได้ใช้ประโยชน์หลังจากนี้ ซึ่งเราอาจไม่รู้หรอกว่าใครจะได้รับไป แต่อันดับแรกเลย คนที่ได้ปลูกต้นไม้นั่นแหละ จะได้รับความสุขก่อนใครเพื่อน”



กำลังโหลดความคิดเห็น