xs
xsm
sm
md
lg

ทะเล ปลา และคันเบ็ด ของผู้ชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรัชญาแห่งการตกปลา ทะเล และคันเบ็ดของ แม่ทัพใหญ่โตโยต้า ผู้นี้“มิทซึฮิโร่ โซโนดะ ถ้าใครได้สัมผัสวิธีการตกปลาของเขา อาจเรียกเขาว่า เซียนตกปลาผู้มีลีลา และเทคนิคอันน่าพิสมัยมากคนหนึ่ง ใครคิดว่าการตกปลาเป็นเรื่องง่ายๆสุดแสนธรรมดา อาจต้องคิดใหม่

การตวัดเบ็ดของประธานค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งชาวอาทิตย์อุทัยผู้นี้ เขาบอกว่า ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน ปลาตัวโตๆ และรอยยิ้มของการลิ้มลองปลาสดๆ เป็นกิจกรรมอันสุดพิเศษที่ให้ความสุขอย่างน่าอัศจรรย์

มิทซึฮิโร่ โซโนดะ ชีวิตของเขาไม่แตกต่างอะไรกับเด็กหนุ่มชาวอาทิตย์อุทัยในต่างจังหวัด มีทะเลเป็นเพื่อนยามเหงา บ้านเกิดของเขาอยู่ที่ คุยาม่ะ จังหวัด ฮิโรชิมา ซึ่งอยู่ติดกับทะเล ในสมัยเด็กๆ ช่วงเรียน ประถม จึงชอบไปตกปลา โดยอุปกรณ์ที่แสนเรียบง่ายใช้ไม้ไผ่ ผูกเชือก มาทำเป็นคันเบ็ดแทน เหยื่อก็ใช้พวกปลาเล็กๆ หรือ ปู หรือไม่ก็ใช้หนอนเป็นเหยื่อ ขึ้นอยู่กับว่าจะตกปลาประเภทไหน เพราะจะใช้ต่างกัน

กิจกรรมการตกปลาของเขา กลายเป็นวันพักผ่อนที่เขาเริ่มหลงใหล ทว่าไม่นานนัก เมื่อเขาเติบโตเข้าสู่การเรียนช่วงมหาวิทยาลัย ต้องย้ายไปอยู่ โตเกียว ซึ่งไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล กิจกรรมการตกปลาของเขาจึงหยุดลง เขาเริ่มหันไปเล่นสกีแทน

เมื่อเขาเรียนมหาวิทยาลัยจบ เขาตัดสินใจสมัคร เข้ามาทำงานกับ บริษัทโตโยต้า ที่นี่เองเป็นเหมือนการเริ่มต้นชีวิตการทำงานและเขาเองไม่คาดคิด กิจกรรมการตกปลาที่เขาหลงใหล ได้กลับมาหาเขาอีกครั้ง

วิถีชีวิตในการทำงานของโซโนดะกับโตโยต้า องค์กรที่เขามองว่า ดีที่สุดและสร้างโอกาสให้เขาก้าวเดินต่อไป และได้กลายที่ทำงานแห่งแรกจวบจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นสิ่งที่เขาหวนระลึกถึงเสมอกับแรงบันดาลใจครั้งนั้น

“เคยอ่านหนังสือชีวประวัติ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า “ซากิชิ โตโยดะ” ในหน้าสุดท้ายเขาพูดกับลูกชายของเขา (คิอิจิโร่ โตโยดะ ผู้ก่อตั้งธุรกิจรถยนต์ของโตโยต้า)ว่า ลองเปิดประตูตรงนั้นดูสิคุณจะเห็นโลกอันกว้างใหญ่ ” โซโนดะ เอ่ยถึงแรงบัลดาลใจในการเข้ามาทำงานกับโตโยต้า

เมื่อได้เข้ามาทำงานที่โตโยต้า ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่จังหวัดไอจิ ติดกับทะเล ทำให้เขาเริ่มหันกลับมาสนใจการตกปลาอีกครั้ง ด้วยที่เป็นคนชอบทะเลและกลิ่นไอของน้ำทะเล กิจกรรมการตกปลาของเขาจึงเริ่มกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นงานอดิเรกเหมือนเช่นตอนเป็นเด็ก ทว่าคราวนี้ อุปกรณ์คงไม่ใช่ไม้ไผ่ กับเส้นเอ็นเล็กๆ อีกต่อไป

เขาเปลี่ยนมาใช้คันเบ็ดแบบสำเร็จรูปสมัยใหม่ โดยมีคันเบ็ดคู่ใจอยู่หนึ่งคัน และสำรองสลับสับเปลี่ยนอีก 3 คัน แล้วแต่ว่าวันนั้นจะเลือกไปตกปลาอะไร และที่ไหน สนนราคาถือว่าไม่ถูก แพงพอสมควร

สำหรับคันเบ็ดนั้นมีให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด แตกต่างกัน ขึ้นกับสถานที่ที่จะไปคันเบ็ดสำหรับตกปลาในทะเล ก็จะเป็นแบบหนึ่ง คันเบ็ดสำหรับตกปลาในบึงหรือบ่อก็จะเป็นอีกแบบ ส่วนของโซโนดะนั้นจะเน้นไปที่คันเบ็ดแบบตกปลาทะเลเป็นหลัก

“คันเบ็ดที่ใช้ในท้องทะเลกับที่บึงมันแตกต่างกัน คันเบ็ดต้องเลือกให้เหมาะสมกับประเภทปลา ตรงปลายเบ็ด อ่อน แข็ง ยาว สั้น บางที่ขึ้นอยู่สภาพของท้องทะเล อย่างอ่าวกีเซาะ ที่ไปบ่อย ๆ ใช้เบ็ดประเภทอ่อน ไปอีกทะเลหนึ่ง อ่าวอื่น ก็ใช้เบ็ดอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องของการค้าขายคันเบ็ด มีให้มากประเภทเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าใช้ ราคาค่อนข้างแพง ขนาดถูก ๆ ยังเป็นหมื่นเยน แพงขึ้นมาเป็น 3-4หมื่นเยน ตัวรอกสำหรับหมุน 2 หมื่นบาท แต่ถ้าเทียบกับรถยังไงก็ถูกกว่า”

สำหรับช่วงเวลาของการตกปลาจะใช้เวลาออกเรือไปตั้งแต่ 6 โมงเช้า แล้วกลับเข้าฝั่งอีกครั้งประมาณ บ่าย 2 โมงเย็น ประมาณ 8 ชั่วโมง และทุกครั้งที่มีเวลาว่างจากการทำงานเขาจะใช้เวลาอยู่ในเรือกับการตกปลา

เทคนิคในการตกปลานั้น โซโนดะ บอกว่า ต้องเป็นคนใจร้อนนิดๆ จะกำลังดี พอหย่อนคันเบ็ดลงไป จะต้องไม่รออยู่เฉย เราต้องคอยกระตุก ๆ และถ้าหากตรงจุดที่เราไปตก รอสักพักแล้วตกไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนไปหาที่อื่นทันที เพื่อจะตกให้ได้ คือ ต้องใจร้อนนิด ๆ ถึงจะตกปลาได้ดี

การตกปลาแต่ละชนิดจะขึ้นกับฤดูกาล เพราะเมื่อฤดูเปลี่ยน ปลาจะเปลี่ยนไป รวมถึงสถานที่ตกด้วยเช่นกัน บางครั้งตั้งใจไปตกที่หนึ่งแล้วสภาพอากาศเกิดเปลี่ยนกะทันหัน ทำให้ปลาไม่มี จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ตก เหยื่อก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ฉะนั้นการเตรียมตัวก่อนลงเรือต้องมีอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างเสมอ

สำหรับค่าใช้จ่ายในการตกปลาแต่ละครั้งที่ญี่ปุ่นจะขึ้นอยู่กับเรือ ถูกที่สุดประมาณ 4,000 เยน ต่อครั้ง(30คน/เรือ1ลำ) แพงสุดประมาณ 15,000 เยน(4คน/เรือ1ลำ) แล้วแต่ว่าเราออกเรือไปกี่คน ปลาตกได้เท่าไหร่เป็นของเราทั้งหมด

“เงินที่เราจ่ายเจ้าของเรือจะเก็บเท่ากันหมด ส่วนทำเลของการตกปลานั้น แล้วแต่ว่าใครจะมาจองก่อนจองหลัง ซึ่งท้ายเรือจะเป็นทำเลที่ดีที่สุด หรือถ้าเราเป็นลูกค้าประจำ เจ้าของเรือเขาก็จะจองที่เอาไว้ให้”

เมื่อออกเรือไปแล้ว ทุกครั้งเขาจะนำปลาที่ตัวเองตกได้นั้นไปทำอาหารแล้ว(โดยให้เชฟที่ร้านค้าทำให้)แล้วมาแบ่งกันกิน โดยแล่เป็นปลาดิบบ้าง ต้มหรือย่างบ้าง บางครั้งตกได้ปลามามาก แจกทั้งร้านยังเหลือ แต่หลายครั้งที่เขาเคยออกเรือไปแล้วไม่ได้ปลากลับมาเลยสักตัวก็มี เขาแก้ปัญหาด้วยการเดินเข้าซุปเปอร์มาเก็ตเพื่อซื้อปลากลับบ้าน..ฮา...ฮา....

“การมาตกปลา เป็นเพราะผมเป็นคนชอบทะเล ได้อาบแสงแดด อาบโอโซนที่ทะเล ปัจจัยอีกอย่างการตกปลาทำให้หัวใจเราพองโต เวลาที่ปลาติดเบ็ดว่า เราจะได้ปลาอะไร ตัวใหญ่แค่ไหน ถือเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและสนุกคละเคล้ากันไป ยิ่งเมื่อกลับมาบ้านแล้วเล่าเรื่องปลาให้ลูกฟัง ลูกก็จะปรบมือ และชมว่าพ่อเก่งจังเลย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” โซโนดะ เอ่ยถึงความรู้สึกของการตกปลา

ส่วนสถานที่ตกปลาที่อยากไปมากสุดคือ ที่โอกินาว่า จะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เพราะยังไม่เคยได้ไปเลย อยากไปมาก ๆ ปัจจุบันย้ายมาอยู่เมืองไทย ก็จะไปตกปลาที่พัทยา ซึ่งโซโนดะเคยไปล่องเรือตกปลามาแล้วถึง 3 ครั้ง

“ตอนตกปลาที่พัทยาได้ปลามาเยอะ เลยทำเป็นปลาดิบ แบ่งให้คนอื่นๆ ในร้าน(อาหารญี่ปุ่นที่เมืองไทย) กินด้วย ทุกคนก็บอกว่าอร่อยดี ไม่เห็นมีใครบ่น” โซโนดะกล่าวถึงรสชาติของปลาในเมืองไทย

การได้ทานปลาจากฝีมือของตัวเองเป็นความสุขอย่างหนึ่ง และการทานปลาด้วยความเอร็ดอร่อย ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณปลาอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว แง่คิดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของโซโนดะเกี่ยวกับการตกปลา

ดังนั้นคนที่คิดว่าคนตกปลาจะทำให้ปลาเจ็บนั้นเลิกคิดได้เลย เพราะปลาไม่ได้ตายฟรีแต่เขาได้อุทิศชีวิตให้อีกหลายชีวิตให้อยู่รอด

“ถ้ามีสองทางให้เลือก “ผมจะเลือกทางที่ยาก” เพราะ หากมีทางที่ง่าย นั่นเป็นเหตุทำให้เราสองจิตสองใจ ดังนั้นเราจึงควรเลือกทางที่ยาก เพื่อว่าหากเกิดพลาดพลั้งเราจะไม่เสียใจมาก เนื่องจากเราเลือกทำสิ่งที่ยากนั่นเอง” โซโนดะทิ้งท้ายถึงปรัชญาในการทำงานของเขา



กำลังโหลดความคิดเห็น