xs
xsm
sm
md
lg

‘Critical Mass’ ภารกิจปั่นประท้วง ปฏิวัติสังคมจักรยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย่านที่ยานพาหนะคับคั่งในวันที่เสรีภาพทางการเงินของคนเมืองมีบทบาทสูงสุด ภาพมหานครที่ถูกครอบครองด้วยการจราจรพิการและมลภาวะอันเลวร้าย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าในวัน และเวลา ที่บนถนนมีรถกำลังติดขัดแบบวินาศสันตโรนั้นกลับมีคาราวาน 2 ขา 1 คัน นัดหมายกันตรงใจกลางเมืองเพื่อปั่นจักรยานไปบนท้องถนนที่ไม่มีการสงวนสิทธิ์ให้คนขี่จักรยานแต่อย่างใด โดยแสดงให้เห็นถึงความหลุดพ้นจากพันธนาการบนท้องถนนด้วยการปั่นจักรยาน

และเพื่อต้องการเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจความต้องการมีส่วนร่วมในการแบ่งพื้นที่บนท้องถนนให้กับนักปั่นจักรยาน เพื่อให้สังคมมองคนขี่จักรยานอย่างเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น คาราวานรถจักรยานของเหล่านักปั่นจึงพร้อมใจกัน ทำกิจกรรมดังกล่าวในรูปแบบที่ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘Critical Mass’

ปั่นประท้วง
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า Critical Mass ปกติจัดขึ้นทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก โดยนักปั่นจักรยาน, skateboard, inline skaters, roller skaters และพาหนะที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง (ไม่มีเครื่องยนต์) จะวิ่งบนถนนในเมืองเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เหตุผลเริ่มแรกเกิดจากผู้ใช้จักรยานตระหนักถึงเมืองที่ไม่เป็นมิตรต่อคนใช้จักรยาน

นักปั่น Critical Mass จึงก่อตัวขึ้นมาเองโดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ไม่มีการแข่งขัน ดำเนินงานอย่างกระจัดกระจาย และการตัดสินใจที่ไม่เป็นทางการ มีผู้นำกลุ่มที่เป็นอิสระ บ่อยครั้งที่ไม่มีการขออนุญาตล่วงหน้า และการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากเทศบาลเมือง โดยทั่วไปเป็นเพียงแค่การนัดหมายสถานที่ วัน และเวลา ในบางเมืองเรื่องเส้นทางจุดสิ้นสุดหรือสถานที่สำคัญระหว่างทางอาจจะเป็นการวางแผนกันเฉพาะหน้า

การปั่น Critical Mass ถูกรับรู้กันว่าเป็นเช่นกิจกรรมการประท้วง บทความนิตยสาร New Yorker ปี 2006 อธิบายกิจกรรม Critical Massใน New York ว่า ‘การปั่นประท้วงประจำเดือน’และลักษณะของ Critical Mass ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย อย่างไรก็ดีผู้เข้าร่วม Critical Mass ยืนยันว่า เหตุการณ์นี้ควรถูกมองว่าเป็น การพบปะสังสรรค์ และการรวมกลุ่มที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การประท้วงหรือการเดินขบวนที่ถูกจัดการ การปั่น Critical Massในเมืองเล็กๆ ทุกเดือนอาจมีคนมาร่วมน้อยกว่า 20 คนแต่ขณะเดียวกันในบางประเทศก็อาจมีคนใช้จักรยานเข้าร่วมกว่าหมื่นคน

การปั่น Critical Mass ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ 25 กันยายน 1992 เวลา 6 โมงเย็นในSan Franciscoปัจจุบันประมาณกันว่ามีการปั่นจักรยานแบบ Critical Mass มากกว่า 325 เมืองทั่วโลก

ปลายทางเพื่อเส้นทางจักรยาน
และเวลานี้กิจกรรม Critical Mass เกิดขึ้นจริงแล้วในเมืองไทย โดยในครั้งแรกคาราวานนักปั่นได้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริเวณหน้าสยามดิสคัฟเวอร์รี แยกปทุมวัน ถือเป็น Critical Mass ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยการริเริ่มความคิดจาก ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และ thaiMTB.com เพราะสภาพการจราจรในปัจจุบันที่ไม่เอื้ออำนวยแก่จักรยาน ผู้ที่ใช้ถนนยังไม่รู้จักการใช้ถนนร่วมกับจักรยาน อีกทั้งภาครัฐฯไม่ได้สนับสนุนหรือส่งเสริมเพียงพอในเรื่องช่องทางสำหรับจักรยานบนถนน ทำให้ในครั้งนั้นมีนักปั่นให้การตอบรับร่วมรณรงค์และปลูกจิตสำนึกในการแบ่งปันด้วยการจัดกิจกรรม Critical Mass เป็นจำนวนกว่า 400 คน

สัจจา ขุทรานนท์ ที่เพื่อนๆ นักปั่นเรียกกันว่า น้าเป็ด จากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Cycling Club เรียกสั้นๆ ว่า TCC ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำ Critical Mass ในบ้านเราให้ให้ฟังว่า

“จากนี้ไป Critical Mass จะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกเดือน เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงการถือสิทธิ์ในการใช้ถนนได้ ถนนไม่ใช่รถยนต์เพียงอย่างเดียว เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐฯ หันมาสนใจสร้างทางจักรยาน เพื่อชักชวนให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และเพื่อเป็นทางเลือกรัฐฯจึงต้องสร้างทางจักรยานให้ผู้สัญจรที่ใช้จักรยานเป็นการเฉพาะเพื่อลดอุบัติเหตุจากการที่ผู้ขับขี่รถยนต์ประมาทชนคนขับขี่จักรยาน

“เป้าหมายหลักของ Critical Mass คือการรณรงค์ให้คนหันมาปั่นจักรยานกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเป้าหมายแฝงนั้นคือ การให้ได้ทางจักรยานของจริง คือพวกเราอยากเห็นทางจักรยานเกิดขึ้นใน กทม. จะให้มาโดยง่ายนั้นคิดว่ายาก จึงมารวมกันเรียกร้องสิทธิ์นี้ขึ้น  เพื่อไม่ให้หน่วยงานใดที่เกี่ยวกับการทำถนนลืมว่า  จักรยานนั้นมีสิทธิ์ที่จะใช้เส้นทางบนถนนเช่นเดียวกัน ผมปรารถนาและมุ่งมั่นที่จะเห็นทางจักรยานใน กทม.  

“ย้อนกลับไปก่อนเกิด Critical Mass ในบ้านเรา เราก็ทราบกันอยู่ว่า ก่อนหน้านี้การขอทางจักรยานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยวิธีการต่างๆ นาๆ ได้ทำกันมานักต่อนักแล้วแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่วนใหญ่ที่ทำกันก็คือ การขอกันแบบตรงๆ จากนั้นเราก็ทราบว่า โอกาสจะได้นั้นน้อยมากเต็มที เหตุนี้เองจึงได้มีการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำใหม่ โดยคิดว่า หากให้คนมาปั่นจักรยานกันเยอะๆ จนถึงปริมาณหนึ่งที่มากพอจนกลายเป็น Critical Mass จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทนเพิกเฉยอยู่ไม่ได้ จะถูกบังคับให้สร้างทางจักรยาน และนั่นคือที่มา และผลลัพธ์ที่เกิดจากการจัด Critical Mass ซึ่งไม่ค่อยเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขามีทางจักรยานอยู่บ้างแล้ว”


สรุปแล้วเป้าหมายปลายทางของ Critical Mass จริงๆ คือ การให้ได้มาซึ่ง ‘ทางจักรยานของจริง’ เพียงแต่เราเอารูปแบบของ Critical Mass เป็นภาพวางไว้ข้างหน้าเท่านั้น

โดยน้าเป็นได้ขยายความถึงคำว่า ‘ทางจักรยานของจริง’ ในแนวคิดส่วนตัวให้ฟังด้วยว่า

“ทางจักรยานของจริง นั้นควรจะต้องประกอบด้วย ลักษณะทางที่เป็นมาตรฐาน ที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาทำกัน เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง หรือต่อกัน ยิ่งได้มากเท่าไรก็เป็น ”ของจริง”มากขึ้นเท่านั้น ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ มีการใช้เกิดขึ้นในปริมาณที่คุ้มต่อการสร้างทาง มีการบริหารจัดการ เช่น การออกระเบียบ กฎหมาย มีการบำรุงรักษาสม่ำเสมอ มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และข้อสุดท้ายที่เป็นของจริงแท้ คือเป็นทางตัวอย่างที่ประเทศอื่นๆ ต้องมาดูนำไปใช้
ทางจักรยานในบางกอกเมืองหลวงของเรานั้นต้องทำแผนรองรับขึ้นมาได้ในขณะนี้แล้ว เพราะตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปเป็นจังหวะของเรื่องน้ำมันขึ้นราคา

“เท่าที่ทราบ กทม.เขาส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปดูงานต่างประเทศแล้วหลายคน อันนี้มีใครรู้จักบ้างอยากจะขอบอกผ่านไปยังท่านผู้ว่าด้วย ว่าให้เขาไปดูงานแล้ว กลับมาแล้วไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเลย คิดแล้วมันน่าเสียดายเวลา” น้าเป็ดเล่าให้ฟัง

ทางสัญจรสาธารณะ
เวลานี้หลักการ Critical Mass เป็นหัวข้อของการวิจารณ์ติเตียนจากเจ้าหน้าที่รัฐฯและคนขับรถในหลายๆเมือง เรื่องการสัญจรสาธารณะมีทางการอ้างว่า Critical Mass มีเจตนาไตร่ตรองอย่างรอบครอบที่จะขัดขวางการสัญจรของรถและขัดขวางความปกติสุขของการจราจรในเมือง มีผลทำให้เกิดการจับกุมบางคนใน Critical Mass ที่ปฏิเสธการเชื่อฟังกฎจารจร

ท่าทีของ Critical Massนี้นำไปสู่การโต้แย้ง ความถูกต้องทางกฎหมายว่า เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นโดยไม่ต้องขออนุญาตตำรวจท้องที่หรือไม่ ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนการปั่นจักรยานบางกลุ่มเป็นห่วงถึงธรรมชาติของความขัดแย้งของ Critical Mass และการทะเลาะวิวาทกับคนขับรถ การไม่ให้อภัยในเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของความรุนแรงและความหยาบคาย ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะชนต่อคนใช้จักรยาน ขณะที่ San Francisco Bicycle Coalition ให้เครดิต Critical Mass ทำให้ประเด็นจักรยานขึ้นมามีความสำคัญและสนับสนุนช่วยเหลือการรวมตัวของผู้ใช้จักรยาน

มงคล วิจะระณะ ที่คาราวานนักปั่นรู้จักกันในนาม น้าหมี รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย บอกว่า ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ เกี่ยวกับสถานการณ์ขี่จักรยานบนถนนของคนใช้จักรยาน หรือส่งผลถึงการรับรู้ต่อสาธารณะชนของคนใช้จักรยาน แต่ตัวอย่างบางอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าขอบเขต ของการปั่นจักรยานขยายเข้าไปในหลายวัฒนธรรมย่อย

“ตอนนี้ชาวจักรยานในเมืองไทย ได้เริ่มรวมตัวกันจัดกิจกรรม Critical Mass ของชาวจักรยานทุกเย็นวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ในจุดที่รถติดหนักของ กทม.ในวันเงินเดือนออก

“หลายๆ คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นพวกจักรยานป่วนเมือง เหมือนเด็กแว้นส์ที่ขี่มอเตอไซต์ จริงๆ แล้วเป็นเพียงการนัดกันออกมาปั่น โดยไม่มีแกนนำหรืออ้างอิงองค์กรใดๆ แค่นัดกันปั่นบ่อยๆ เกาะกลุ่มชิดซ้ายปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ได้ก่อม๊อบประท้วง หรือแสดงเจตนากีดขวาง ยึดครองพื้นผิวจราจร ไม่มีการเตรียมรถพยาบาล รถนำขบวน รถท้ายขบวนเพราะการใช้จักรยานบนท้องถนนในชีวิตจริงคงไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้มาร่วมด้วยแน่


“ผลกระทบเรื่องการสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมที่หลายๆ คนวิจารณ์หรือคาดเดาเอา ถ้าได้มาร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยจะพบว่าไม่ได้รุนแรงบานปลายอย่างที่หลายคนหวั่นเกรงเราไม่ได้ออกมาขี่เพื่อเรียกร้องหรือชวนทะเลาะกับใคร แต่ละคนเป็นเพียงปุตุชนคนธรรมดา ที่ออกมาร่วมจำลองเหตุการณ์สถานการณ์ให้ได้รับรู้ว่า ถ้าเกิดมีการนำจักรยานออกมาใช้ในชีวิตประจำวันจริงประมาณนี้ สังคมและบ้านเมืองจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรให้เข้ากันได้บ้างอย่างมีความสุข การสร้างอารมณ์ร่วมให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ยวดยาน เป็นงานยากที่สุดที่จะคาดเดาได้ว่าจะมีผลตอบสนองอย่างไร บอกได้แต่เพียงว่า เราไม่ได้ทำเพียงเพื่อตัวของเราเองเท่านั้น แต่เรากำลังทำเพื่อคนที่จะมาใช้จักรยานร่วมกันในอนาคต จึงอยากแอบกระซิบคนที่กำลังแอบมองอยู่ว่า สักวันหนึ่งจักรยานที่ใช้ชีวิตจริงบนท้องถนน อาจจะมีคุณหรือคนที่คุณรักร่วมอยู่ด้วยก็เป็นได้

“บางครั้งตัดสินใจโดยการโหวตแนะนำเส้นทาง หลายครั้งใช้ถ่ายเอกสารแจกจ่ายอธิบายวิธีการ เส้นทางทุกๆ คนสามารถแสดงความคิดเห็นทำแผนที่ของตัวเองและแจกจ่ายมันให้นักปั่นที่มาร่วมในกลุ่ม จนกระทั่งเส้นทางการปั่นถูกตัดสินใจโดยคนส่วนใหญ่ ธรรมชาติของการไร้การจัดการทำให้รอดพ้นการหยุดยั้งของเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งเห็นว่าการปั่นนี้เป็นขบวนพาเหรดหรือการประท้วงที่ถูกจัดการ ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบไร้รูปแบบปราศจากการจัดการโครงสร้างจากศูนย์กลาง ลำดับชั้น องค์กรนั้นเพียงพอแล้วที่จะนำไปสู่การสร้างจำนวนผู้เข้าร่วม Critical Massที่หนาแน่นพอที่จะยึดครองพื้นที่ถนนและสามารถกันรถยนต์ออกไปได้”

นาทีนี้คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆ ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยบนท้องถนนอีกมาก โดยแต่ละคนยังคงใช้ชีวิตเสี่ยงกับฝาท่อและผิวจราจรด้านซ้ายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความปลอดภัย การเอาชีวิตรอดบนท้องถนนไปวันๆ ควรได้รับการใส่ใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจากชาวบ้านด้วยกันเองที่ใช้ถนนร่วมกัน จากหน่วยงานรัฐฯ ที่สามารถจัดสรรพื้นที่ และกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

นั่นคือองค์ประกอบรวมปลีกย่อยมากมายที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในพริบตาต้องใช้เวลาในการจัดการปรับสภาพกันอีกนานซึ่งถ้ายังไม่มีการเริ่มบทสรุปของผลสำเร็จในการจัดการก็คงยังต้องยืดเยื้อกันต่อไป

โปรดระวังรถจักรยาน
แต่เนื่องจากโครงสร้างที่ไม่มีผู้นำของ Critical Mass จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนอาจมีเป้าหมายแตกต่างกัน เช่น ร่วมแสดงถึงทางเลือกในการสัญจรโดยใช้จักรยาน และความสนุกสนานในช่วงเวลาที่ไม่มีรถบนถนน

วรเทพ ชูพงษ์ หรือ คุณหมา บอกถึงเป้าหมายในการทำ Critical Mass ของเขาว่า เป็นการทำให้คนขับรถหรือคนในสังคมทั่วไปที่ยังไม่เห็นว่าการขี่จักรยานบนท้องถนนเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ใช้จักรยาน หรือให้คนที่นั่งรถติดอยู่และคิดอยากจะขี่แต่กลัว ๆ กล้า ๆ เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้หันมาคิดในมุมมองที่ชาวจักรยานคิดบ้าง

“คนส่วนมากคงไม่รู้หรอกว่า ที่เราทำกันมันเรียกว่า Critical Massบางคนที่เป็นผู้เข้าร่วมปั่นเองบางทีก็ยังไม่เข้าใจถึงหลักการจริงๆ ก็มี บางครั้งการทำเช่นนี้มันก็เลยสร้างความสับสน และความไม่พึงพอใจให้กับผู้พบเห็น หรือผู้ใช้รถยนต์ได้เหมือนกัน

“ถ้าเป็นที่เมืองนอกการกระตุ้นเตือนในวัฒนธรรมฝรั่ง อาจจะต้องใช้แรงนิดนึง เป้าหมายของเขาอาจจะมีส่วนสร้างความเดือดร้อนให้กับคนหมู่มาก และผู้ขับรถ แต่ของกรุงเทพฯ เราเท่าที่ดูเมื่อครั้งที่ผ่านมานั้น ก็เรียบร้อยดีเป็นส่วนใหญ่นะครับ คนขับรถโดยมากไม่ได้แสดงอาการรำคาญมากไป บีบแตรเล็กน้อย ๆ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว”


ทางด้าน ศุภโชค นาฑีทอง ผู้ที่นั่งกุมพวงมาลัยอยู่ในรถยนต์ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ในวันเงินเดือนออก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำ Critical Mass ว่า

“ส่วนตัวผมไม่รู้จักหรอกนะว่าสิ่งที่พวกนักปั่นจักรยานทำกันอยู่นี้เรียกว่าอะไร ผมไม่มีความรู้เรื่อง Critical Mass มาก่อนด้วย ผมเพียงแค่คิดว่าที่เขาทำกันอยู่นี้เป็นการนึกสนุกอยากปั่นจักรยานเป็นทีมมากกว่า คงเป็นการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกาย หรือเพื่อการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ผมยังไม่รู้สึกถึงการรณรงค์เรื่องอะไรที่ชัดเจน

“ส่วนเรื่องการแบ่งพื้นที่บนท้องถนนไปใช้หรือการทำให้รถติดนั้นผมว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพราะถ้าไม่มีพลพรรคปั่นจักรยานเหล่านี้รถก็ยังติดอยู่ และเท่าที่ผมเห็นเหตุการณ์คือ พวกเขาก็ปั่นไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดกีดขวางหรือทำการสกัดกั้นการจราจราแต่อย่างได้ เพียงแต่ต้องรอให้พวกเขาออกตัวไปก่อนก็เท่านั้น ทุกอย่างก็เป็นปกติ

“แต่ก็มีรถยนต์บางคันเหมือนกันที่ผมเห็นถึงความไม่พอใจในเหล่านักปั่นเหล่านี้ แล้วบีบแตรไล่ เขาคงเป็นห่วงรถยนต์ราคาแพงของเขาโดยอาจจะกลัวได้รับการขีดข่วน หรือกลัวการเกิดอุบัติเหตุเสียมากว่า กรณีอย่างนี้ผมมองว่าควรจะเห็นอกเห็นใจกันคนละครึ่งทาง เพราะการปั่นจักรยานนั้นก็ดี ในสภาวะที่น้ำมันแพงอย่างนี้
” ศุภโชค กล่าว

Critical Mass ความพยายามที่จะสร้างทัศนคติใหม่ของคนใช้รถใช้ถนน มหานครนี้คงจะน่าอยู่ขึ้นหากคนเริ่มแบ่งปันถนนให้คนได้ใช้จักรยานกันมากขึ้น ประโยชน์ก็เห็นๆ ด้วยราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และภาวะโลกร้อน กับผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามการขี่จักรยานเพื่อการคมนาคมก็เป็นทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

*****************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ















กำลังโหลดความคิดเห็น