xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าชีวิตนี้ไม่มี... Google

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลองคิดว่าถ้าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘Global Warming’ ดูสิ ทำยังไงก็ได้แต่ห้ามใช้กูเกิล...

ไม่แปลกหรอกถ้าคุณจะคันไม้คันมืออยากเข้ากูเกิลจนใจแทบขาด เพราะคนส่วนใหญ่ของโลกก็มีอาการแบบนี้เช่นกัน


เพราะบัดนี้กูเกิลได้กลายเป็นศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปแล้ว แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ผลกระทบจากประเด็นโลกร้อน แต่เป็นเพราะด้วยความสามารถของกูเกิลเองที่ดลบันดาลให้ข้อมูลทุกอย่างที่เราต้องการได้ในชั่วกระพริบตา

ต้องยอมรับว่า การที่เราจะหาข้อมูลจากห้องสมุด หรือสอบถามบุคคล ต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งคนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันในหนึ่งวันก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาเวลาตรงนี้ไปทำหน้าที่อย่างอื่น เมื่อเราต้องทำงานในระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เราก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ที่ช่วยย่นระยะเวลาของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในขณะที่หนังสือบางเล่มที่ใช้ประกอบข้อมูลก็อาจจะเก่าเกินไป ข้อมูลไม่ทันสมัย เหมือนการค้นหาใน กูเกิ้ล นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนนิยมพึ่งพาการข้อมูลจากเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิล


เสิร์ชเอนจิ้นยอดฮิต
เสิร์ชเอนจิ้นเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสืบค้นข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง ''ห้องสมุด'' ในโลกใยแก้ว สำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้และค้นหาข้อมูลต่างๆ เพียงแค่เข้าสู่ เสิร์ชเอนจิ้นแล้วพิมพ์คีเวิร์ด หรือหัวข้อที่ต้องการค้น เสิร์ชเอนจิ้นจะช่วยนำพาไปสู่เว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถให้ความรู้และข้อมูลตามคำไขหรือหัวข้อที่ค้นนั้น และหนึ่งในเสิร์ชเอนจิ้นยอดฮิต คงไม่มีใครคิดที่จะปฏิเสธ www.google.com

กูเกิลทะยานขึ้นมาเป็นเสิร์ชเอนจิ้นยอดนิยมภายในชั่วเวลาครึ่งทศวรรษ ในแต่ละวันผู้คนในมนุษยพิภพนับร้อยล้านคนใช้บริการของกูเกิลท่องไปในไซเบอร์สเปซทำให้อาณาจักรของกูเกิลเติบโตอย่างรวดเร็ว ทาง ไมโครซอฟยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ จับตามองการเติบโตของกูเกิลด้วยอาการเกรงขาม เพราะกูเกิลกำลังถีบตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของไมโครซอฟ

และเวลานี้กูเกิลได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกสาขาวิชาชีพอย่างไม่รู้ตัว ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คนทำงานในเกือบจะทุกวงการ เราลองมาฟังความเห็นกันเสียหน่อยว่า หากชีวิตไม่มีคำว่ากูเกิลจะนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

ค้นแล้วเจอเลย
เอกจิต สว่างอารมณ์ ครีเอทีฟรายการวิทยุ ซึ่งเวลานี้เขาใช้งานเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิลทุกวัน จนต้องเอาหน้าเว็บไซต์ขึ้นเป็นหน้าหลัก บอกถึงความจำเป็นในการใช้กูเกิลให้ฟังว่า เพราะการหาข้อมูลของกูเกิลจะได้มาซึ่งข้อมูลที่สะดวกใช้ และบางทีมันเป็นข้อมูลที่มีมิติของความคิดเห็น สามารถเอามาใช้กับงานที่เขาทำอยู่ได้เป็นอย่างดี

“ถ้าไม่มีกูเกิลคงทำให้หาข้อมูลทำงานยากมากขึ้น ในกูเกิลอยากหาอะไรก็หาได้ กูเกิลมันเกี่ยวกับการทำงานของผมทุกวันนี้ เฉพาะข้อมูลที่มีส่วนในการทำงานประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยผมจะนำข้อมูลที่ได้เอามาคิดต่อยอด เอามาสังเคราะห์ใหม่ แต่บางทีข้อมูลจากกูลเกิลนั้นก็ไม่ชัว 100 เปอร์เซ็น ถ้าจะให้ถูกและดีต้องหาจากหลายๆ ที่แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน และต้องดูเว็บไซต์ที่เราสืบค้นด้วยว่า น่าเชื่อแค่ไหน

“แต่ถ้าต้องการหาเรื่องที่จะใช้งานแล้วหาไม่เจอ หรือไม่ได้ข้อมูลที่ต้องการสิ่งที่ผมเลือกทำคือ ลองค้นหาใหม่ โดยใช้คำใกล้เคียง หรือประโยคที่น่าจะเกี่ยวข้อง สุดท้ายถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาจากแหล่งอื่น เช่นห้องสมุด หรือ หน่วยงาน บริษัท ที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นๆ แต่มันน้อยครั้งมากซึ่งจะหาอะไรไม่เจอจริงๆ


“ความจริงก็มีเสิร์ชเอนจิ้นในเว็บไซต์อื่นๆ ที่ใช้ได้รูปแบบเดียวกัน แต่การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นมันก็ไม่มากมายและง่ายดายเท่ากูเกิล เช่น chacha.com / technorati.com / ask.com ซึ่งเสิร์ชเอนจิ้นประเภทต่างๆ ก็จะมีลักษณะเฉพาะ และจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป” เอกจิต เล่าให้ฟัง

ปวีณา พรภิรมย์ กำลังศึกษาอยู่ปริญญาตรีชึ้นปีที่ 4 ในรั้วมหาวิทยาลัยเอกชน บอกว่า กูเกิลถือเป็นเว็บไซต์ยอดฮิตในการค้นหาข้อมูลโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ตั้งแต่ข้อมูลทํารายงาน เว็บไซต์อื่นๆ รูปภาพต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ชื่อที่คุณใช้ในการค้นหานั้นหาจนเจอ

“โอ้พระเจ้าจอร์ชกูเกิลมันมีประโยชน์จริงจริ๊ง!!!” ปวีณาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นอย่างกับกูเกิลเป็นพระเจ้าของเขาจริงๆ

“พูดได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่อยู่บนโลกยุคนี้ ตอนนี้คือโลกของข้อมูล กูเกิลจึงจำเป็นกับการศึกษามาก ความจริงก็ทุกระดับนั่นแหละไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี หรือปริญญาโท เนื่องจากในการหาข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์ กูเกิลช่วยหาคำตอบได้หลายอย่าง ไม่ต้องตระเวนหาจากหลายๆ ที่ให้เสียเวลา ทุกวันนี้ไม่เคยใช้เสิร์ชเอนจิ้นอย่างอื่นเลยหรือเป็นเพราะว่าเว็บไซต์ที่ใช้เสิร์ชหาข้อมูล ที่เรารู้จักเพียงเว็บไซต์เดียว” ปวีณา กล่าว

ไม่สำคัญต่อคนหมู่มาก
เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็นของกูเกิลต่อชีวิตประจำวันว่า ไม่ใช่ว่ายุคก่อนมีกูเกิลคนเราจะหาอะไรไม่เจอ ทุกวันนี้มนุษย์ประเภทโลว์เทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่เคยรู้จักกูเกิลก็มีอีกมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นกูเกิลไม่มีความสำคัญกับคนหมู่มากหรอก แต่เป็นเพราะเวลานี้เราไปให้ความสำคัญกับมันมากเกินไปเท่านั้นเอง

“แน่นอนว่า การใช้งานกูเกิลได้ประโยชน์ และจำเป็นสำหรับการค้นหาข้อมูล จำเป็นในเรื่องของการทำงาน ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าผมก็ใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับนักเขียน เพื่อเอามางาน

“กูเกิลทำให้คนมีความพยายามน้อยลง พูดง่ายๆ คือ ทำให้คนขี้เกียจมากขึ้น แน่นอนว่า ถ้าเวลานี้ชีวิตไม่มีกูเกิลใช้ อาจจะยุ่งยากในการค้นหาข้อมูล แต่คนเราก็จะกลับมาใช้ความพยายามที่มากกว่าเดิมในการค้นคว้าหาข้อมูล ไม่มีกูเกิลชีวิตก็ยังเหมือนเดิม เพราะบ่อยครั้งข้อมูลที่ต้องการ กูเกิลก็ช่วยไม่ได้

“ความน่าเชื่อถือของข้อมูลมันขึ้นอยู่กับการเลือกเว็บไซต์ที่กูเกิลเสิร์ชหามาให้ แน่ใจหรือว่าสิ่งที่กูเกิลบอกเรามาคือภาพสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของอินเทอร์เน็ต แน่ใจหรือว่ามันคือ ข้อมูลในเน็ตจริงๆ หรือมันไปหยิบเอาเว็บไซต์แค่กระจุกเดียวมาป้อนเราอยู่ทุกวัน”
เรืองกิตติ์ กล่าว

ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง
ด้าน ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ตนเป็นอีกคนหนึ่งที่หาข้อมูลจากกูเกิลอยู่เป็นประจำ เพราะต้องหาข้อมูลมาเป็นหลักอ้างอิงในการเป็นวิทยากรอยู่ตลอดเวลา อย่างการเป็นวิทยากรเรื่องกลไกของสมอง ในกูเกิลก็มีข้อมูลครบถ้วนมาก โดยจะใช้บ่อยมาก หรืออาจเรียกได้ว่า แทบทุกวันเลยก็เป็นได้

“หากต้องการหาข้อมูลอะไรผมก็จะหาในกูเกิลตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งข้อมูลบางอย่างคนที่เรียนมาโดยตรงก็ยังไม่มีรู้เลย แต่กูเกิลนั้นมีข้อมูลอยู่ครบถ้วน ระบบหาข้อมูลของกูเกิลมีประโยชน์มากจริงๆ ผมจะเข้าไปใช้เวลาที่ต้องการหาข้อมูลทางวิชาการมาใช้ในการอ้างอิง โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพ ต้องการรูปอะไร ในกูเกิลมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ต้องไปเสียเวลาถ่ายรูป หรือจ้างคนอื่นให้ยุ่งยาก ในขณะที่ที่ทำงานก็ไม่มีคนใช้กูเกิลเลยสักคน ในส่วนตัวคิดว่าคนที่ใช้ระบบดังกล่าวคือคนที่ต้องการหาข้อมูล หาความรู้มากกว่า มันไม่ใช่การขาดความพยายามในการหาข้อมูลที่อื่น

“และถ้าหากวันใด เกิดไม่มีกูเกิลขึ้นมาจริงๆ โลกเราคงยุ่งเหยิงน่าดูเลย เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องมีแน่ๆ ผลเสียที่ตามมาคือ เราต้องหาข้อมูลยากมากลำบากมากขึ้น ต้องเสียเวลาไปกับการหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ยกตัวอย่างผมต้องเป็นวิทยากร อธิบายเรื่องโรคมะเร็งในห้องสัมมนา หากผมหารูปและข้อมูลในกูเกิลไม่ได้ ผมก็คงจะทำงานไม่ทัน เพราะกว่าจะหารูปประกอบในการสัมมนาได้ก็คงหลายวัน ต้องไปจ้างทำเพาเวอร์พอยต์ จ้างตัดแต่งรูป จ้างช่างถ่ายรูป นับดูแล้วก็หลายรายการอยู่ ตรงนี้แหละที่ผมเลยคิดว่า ยุ่งแน่ครับถ้าหากระบบกูเกิลใช้งานไม่ได้จริงๆ

“เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเจอคนที่ติดกูเกิลจนงอมแงม ถึงขั้นมาหาหมออะไรทำนองนี้ ผมยังไม่เคยพบนะ จะมีก็เป็นเรื่อง Hi5 การแชท์คุยกับเพื่อน และการติดเกมมากกว่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงที่จะมีคนใช้กูเกิลเป็นจำนวนมาก น่าห่วงตรงที่จะได้รับข้อมูลที่ผิดๆ ไปมากกว่า เพราะบางเรื่องในกูเกิลก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้” ดร.วัลลภ กล่าว


นอกจากนี้ ดร.วัลลภ ยังเชื่ออย่างหนึ่งว่า หากถึงวันนั้น วันที่ไม่มีกูเกิลขึ้นมาจริง คาดว่าจะต้องมีสักหน่วยงานที่ตั้งระบบการหาข้อมูลแบบเร็วทันใจ และหลากหลายขึ้นมาแทนกูเกิลเป็นแน่ ต้องยอมรับว่าโลกเรา คือยุคโลกาภิวัฒน์ เป็นไปไม่ได้ที่จะขาดระบบที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาดแบบนี้ไปได้

*****************

เปิดตาหาทางเลือกอื่น
อ่านมาถึงบรรทัดนี้คุณคิดว่าถ้าชีวิตนี้ไม่มีกูเกิ้ลจะอยู่ได้ไหม? ไม่ว่าคำตอบจะได้หรือไม่ได้เรามาลองดูทางเลือกอื่นที่อาจจะแทนกันได้ หรือทำงานเสริมกัน ช่วยให้เรายังมีแสงนำทางในโลกอันสับสนของอินเทอร์เน็ตนี้ ซึ่งข้อมูลจากนิตยสารพีซีประเทศไทยได้แนะนำเสิร์ชเอนจิ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกูเกิ้ลไว้ประมาณนี้

Technorati
technorati.com
สมัยนี้ข้อมูลอะไรๆ คนเราก็เอาขึ้นบล็อกดังนั้นถ้าจะบอกว่าเสิร์ชเอนจิ้นตัวไหนที่ไม่ครอบคลุมการค้นหาเข้าไปในบล็อกด้วย ต้องบอกว่าพลาดข้อมูลของโลกไปก้อนใหญ่มากๆ เชื่อไหมครับว่ากูเกิ้ลก็ติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ากูเกิ้ลนั้นให้น้ำหนักไปกับความนิยมเป็นหลัก นั่นหมายความว่า กว่าข้อมูลในบล็อกกว่าจะไต่ขึ้นไปติดอันดับในกูเกิ้ลได้ ก็ต้องมีคนเข้ามาดูจนพรุนไปแล้ว นั่นก็แปลว่า ข้อมูลจะต้องเก่าระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่ใช่จุดแข็งของบล็อกที่เน้นความสดใหม่ทันต่อเหตุการณ์

ลองดูทางเลือกอื่นที่จะแก้ปัญหานี้ของกูเกิ้ลกันเสิร์ชเอนจิ้นที่จะแนะนำมีชื่อว่า Technorati เป็นบริการที่เอาไว้ค้นหาบล็อกโดยเฉพาะ มีฟีเจอร์มากมายที่ช่วยเราค้นหาบล็อกเป็นหลัก ซึ่งจะแสดงการค้นหาบล็อกตามความนิยมที่มีคนลิงก์เข้ามาหามากที่สุด โดยสามารถจัดอันดับความนิยมตามประเภทการลิงค์ได้เช่นเป็น เพลง หนัง หรือเกม ซึ่งนักเขียนบล็อกมักจะลิงค์หากัน วิธีใช้ก็ง่ายๆ ข้อมูลที่ได้ก็ทันสมัย เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ค้นหาเน้นความใหม่ หรือเน้นตามความนิยม โดยวัดจากจำนวนเว็บเพจที่ลิงค์เข้ามาหา

ChaCha
chacha.com
ถ้าป้อนคำสั่งค้นหากันเองในเสิร์ชเอนจิ้นแล้วพบว่ามืดแปดด้านยังคงหาอะไรไม่เจอ ลองอันนี้ดูครับ ChaCha เป็นที่ปรึกษาด้านการค้นหาโดยเฉพาะ โดยเราสามารถคุย (Chat) ได้สดๆ กับนักค้นหามืออาชีพ ซึ่งจะรับคำร้องของเรา แล้วจะปรับแต่งผลลัพธ์ให้ได้กับที่เราต้องการ ต้องลองดูครับ อันนี้เป็นบริการฟรี

Rollyo
rollyo.com
บริการนี้มาจากคำเต็มๆ ว่า Roll your own Search Engine แปลเป็นไทยได้ว่า สร้างเสิร์ชเอนจิ้นของตัวเอง บริการของมันก็เป็นอย่างที่ชื่อพยายามจะบอก แบบง่ายๆ เลย เราสามารถใช้มันเป็นเสิร์ชเอนจิ้นธรรมดา คือค้นหาบล็อกหรือค้นหาเว็บทั่วไปได้ แค่จุดเด่นของมันจริงๆ คือ เราสามารถสร้างเสิร์ชเอนจิ้นของตัวเอง เพื่อเน้นการค้นหาไปเฉพาะบางไซท์เป็นพิเศษได้ เช่น เราอาจจะสร้าง Searchroll เพื่อค้นหาเฉพาะบล็อกด้านเพลงที่เราชอบ เราสามารถเข้าไปดู Searchroll ของคนอื่น ประมาณว่าเพื่อก็อปปี้ไอเดียมาใช้บ้าง ซึ่งรวมไปถึง Searchroll ของคนดังๆ จะได้เข้าถึงรสนิยมของไอดอลอย่างลึกซื้ง

Kosmix
kosmix.com
เสิร์ชเอนจิ้นตัวนี้จะเน้นการค้นหาแบบแยกประเภทหัวข้อโดยเฉพาะเช่น เรื่องสุขภาพ รถยนต์ ท่องเที่ยว การเงิน การเมือง และเกมเป็นเรื่องๆ ไป สำหรับผลการค้นหา ถ้าจะเอาเรื่องเวลาเป็นที่ตั้งเสิร์ชเอนจิ้นตัวนี้ทำได้ไม่ค่อยดี คือได้ข้อมูลที่ไม่ใหม่นัก แนะนำว่าในการค้นหาควรจะใช้คำเฉพาะ แทนที่จะใช้คำกว้างๆ จริงๆ แล้วมีบริการค้นหาแบบที่ต้องจ่ายเงินด้วย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่เข้าใจว่าพวกเราคงไม่สนใจบริการลักษณะนี้ ดังนั้นในการใช้งานจึงควรใช้ค้นหาข้อมูลที่ไม่มีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง และก็เน้นคำเฉพาะๆ ไปเลย จากตัวอย่างการใช้งาน เช่น ค้นหาด้านสุขภาพ ก็พบว่าได้ข้อมูลดีๆ ด้านการรักษา การป้องกันมาเพียบ

Ask.com
ask.com
เป็นเครื่องมือค้นหาอีกตัวที่ค่อนข้างมีฟีเจอร์หรูหรา แนวคิดของมันคือ เน้นที่ด้านการจัดอันดับ คือแทนที่จะจัดอันดับตามความนิยมอย่างเดียว แบบที่กูเกิ้ลทำ มันจะจัดอันดับตามความนิยมเหมือนกัน แต่เป็นความนิยมในหมู่หัวข้อเดียวกันเท่านั้น ไม่ได้ไปปนรวมๆ เหมือนกูเกิ้ลจากการทดสอบก็พบว่า ผลการค้นหานั้นมีการจัดเรียงผลต่างจากของกูเกิ้ลออกไป นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ Page Preview ซึ่งค่อนข้างดี เพราะให้เราเห็นของก่อนจะกดเข้าไปดูจริง

*****************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ / ออรีสา อนันทะวัน





กำลังโหลดความคิดเห็น