ภาพของผู้ชายร่างสูงใหญ่ที่ชื่อ "สนธิ ลิ้มทองกุล" สำหรับคนไทยในยุคสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยการขับเคลื่อนของพลังแห่งมวลชนหลายคนนึกถึงชายวัย 61 ปีผู้มีลีลาการปลุกเร้าและน้ำเสียงอันกร้าวแกร่งบนเวทีเสื้อเหลืองทั้งที่สะพานมัฆวาน และทำเนียบรัฐบาล การเดินทางจากปี 49 จนมาถึง 52 ชื่อของสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกสปอตไลท์ ของสังคมฉายจับอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดหรือความเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำรุ่นที่หนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
แน่นอนว่าข้อมูลของ สนธิ ลิ้มทองกุล กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนอยากเสพให้ถึงเนื้อใน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ชื่อของอัศวินแห่งยุค 3G จะถูกค้นหาใน Search Engine ดังอย่าง Google กว่า 379,000 ครั้ง (สถิติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 52) ขณะที่ประวัติทั้งภาษาไทยและอังกฤษในเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์สุดฮอตอย่าง wikipedia.org ก็จะได้พบกับอรรถาธิบายเพิ่มขึ้นมาว่า ชายผู้นี้คืออดีตเด็กนักเรียนประจำรุ่นที่ 18 ของโรงเรียน อัสสัมชัญ ศรีราชา ยิ่งถ้าสอบถามลึกเข้ามาถึงชายคาบ้านพระอาทิตย์ก็จะพบว่าชายผู้มีประโยคประจำตัวว่า “ใช่ไม่ใช่” ได้รับฉายาที่ทีมข่าวกีฬา MGR Sport ตั้งให้ว่า “ท่านประธานสโมสร” ผู้มีสโมสรฟุตบอลเดียวในดวงใจคือ “อัสสัมชัญ ศรีราชา”
ทั้งหมดคือภาพของสนธิ ลิ้มทองกุล ในแง่มุมที่ผ่านสื่อ กระทั่งวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 52 เมื่อรายการวาไรตี้กีฬาภายใต้ชายคา ASTV 3 (Happy Variety Channel) “สุดฟากสนาม Alive” ได้มีโอกาสต้อนรับแขกรับเชิญพิเศษพลันภาพของอัศวินแห่งยุค 3G ก็ได้แปรเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อลีลาและน้ำเสียงในการรำลึกความหลังสมัยยังเป็น ฮาร์ดแมนบนสนามกีฬา ถูกถ่ายถอดผ่านคำพูดและแววตา ในห้วงเวลาดังกล่าวจะเรียกว่าเป็น “ความสุขของสนธิ” ก็คงจะไม่ผิดนักและบรรทัดต่อจากนี้ ทีมข่าวกีฬา MGR Sport ได้นำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาเรียบเรียงเพื่อถ่ายทอดความเป็น สปอร์ตแมนแห่งบ้านพระอาทิตย์ ผ่านหน้ากระดาษของ “ASTV ผู้จัดการรายวัน”
ขอเชิญมิตรรักแฟนเพลงของ “ลุงตั๊บ” เสพอักษรด้วยใจสำราญ
1. โลกกีฬาของ สนธิ
ในโอกาสที่ “สุดฟากสนาม Alive” รายการวาไรตี้ข่าวกีฬาได้ถ่ายทอดความสนุกมาครบ 1 ปีทีมงานและพิธีกรถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ “ท่านประธานสโมสรแห่งบ้านพระอาทิตย์” รับหมายเชิญเพื่อเป็นแขกพิเศษประเดิมหัวปี ก่อนที่รายการจะเริ่มนั้นมีหลายเสียงตั้งคำถามขึ้นมาในสายลมว่า ชายที่ชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล สนใจเรื่องกีฬาด้วยหรือ แล้วกีฬาที่สนใจคือกีฬาอะไร เคยเล่นมาจริงหรือไม่ คำถามทั้งหมดนี้ได้รับคำตอบและถูกขยายความในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงเต็มของรายการเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา
"ช่วงที่ผมเป็นนักเรียน คงเป็นโชคดีที่ครอบครัวส่งผมไปเรียนที่อัสสัมชัญศรีราชา ที่นั่นมีบรรยากาศที่เหมาะกับการบ่มเพาะนักกีฬามาก เด็กนักเรียนจะเล่นกีฬาทุกคน หลังเลิกเรียน 15.00 น. ทุกคนต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดกีฬาแล้วแต่ถนัด โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนที่มีสี คือ สีแดง สีขาว สีเหลือง และสีน้ำเงิน ซึ่งแต่ละสีก็จะมีการแข่งกีฬาสีกัน ทำให้เด็กที่นี่ต้องเล่นกีฬาเป็นตั้งแต่เล็กๆ
"ในสมัยของผมนั้นจะมีการแข่งขันกีฬาภายในจังหวัด อำเภอศรีราชา จะแข่งกับ อำเภอเมือง เราก็จะไปแข่งกับทีมชลชาย (โรงเรียนชลราษฎรอำรุง) ในสมัยนั้นทีมฟุตบอลของเรามักจะเอาชนะทีมคู่แข่งได้ตลอด เพราะสนามกีฬาของ อัสสัมฯ ศรีราชาจะเป็นสนามทราย ดังนั้นความแข็งแกร่งยามที่ออกวิ่งในพื้นทรายส่งผลให้พอไปแข่งกับทีมอื่น ทีมเราก็มักจะวิ่งเร็วกว่า ข้อเท้าแข็งแกร่ง เรื่องตะคริวกินนี้ไม่มี ถือเป็นสนามที่โหดมาก คือเราอาจจะเห็นหญ้าขึ้นรกๆ บนพื้นสนามฟุตบอล แต่ด้านล่างจะเป็นทรายผสมกับดินแข็ง พอล้มทีหัวเข่าถลอกปอกเปิกหมด ดังนั้นจึงเป็นที่มาของนักกีฬาที่วิ่งเร็ว เตะก็หนัก จะแกร่งเป็นพิเศษ
"ตำแหน่งของผมในทีมฟุตบอลคือผู้รักษาประตู สิ่งที่ยังจำได้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้คือเวลาต้องลงแข่งกับโรงเรียน ชลชาย (โรงเรียนชลราษฎรอำรุง) เพราะเมื่อใดที่อัสสัมฯ ขึ้นนำและมีโอกาสชนะ มักจะมีเสียงโห่ ฮา หรือขวดน้ำขว้างมาจากอัฒจันทร์ที่อยู่ด้านหลัง ยิ่งเวลาจบเกมที่ อัสสัมฯ ชนะ นักกีฬาต้องรีบออกจากสนามทันที และด้วยเหตุการณ์ที่ดำเนินมาในลักษณะนี้โดยตลอด ท่านอธิการบดีของโรงเรียนก็ได้หารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะขอจะถอนทีมฟุตบอล อัสสัมฯ ศรีราชาจากการแข่งขันกีฬาประจำจังหวัด ทำให้ท่านผู้ว่าฯต้องลงมากำชับเรื่องการรักษาความเรียบร้อยระหว่างแข่งขันเป็นพิเศษ"
นอกจากจะเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลแล้ว สนธิ ในวัยมัธยมยังมีความสามารถในการวิ่งระยะสั้นไม่น้อย จากคำบอกเล่าของเจ้าตัว "ผมเป็นคนวิ่งเร็วมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยไปลงแข่งขันกรีฑาด้วย แต่ระยะ 100 เมตร มันไม่ใช่ระยะของผม เพราะผมสับสั้นไม่เป็น แต่สับยาวได้เลย ไปถนัด 200 เมตรแทน เพราะ 100 เมตร ระยะไม่ยาวพอ แต่ 200 เมตร ยังมีช่วงพักก่อนจะไปสับเข้าเส้นชัย ก็เคยได้แชมป์ระยะนี้มาเมื่อสมัยเป็นนักเรียน แต่ผมไม่ได้จริงจังกับการวิ่งแข่งเท่าไรนัก
"ที่รักที่สุดก็คงเป็น รักบีฟุตบอล กีฬาชนิดนี้สอนให้ผมเรียนรู้ชีวิตเยอะมาก ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ให้เรารักเพื่อน ผมเป็นผู้เล่นให้ทีมโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ตอนนั้นเท่มาก เป็นโรงเรียนเดียวที่ต่อกรกับโรงเรียนวชิราวุธได้สูสี ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ไม่น่าเชื่อว่าเด็กจากต่างจังหวัดจะเล่นได้สูสีกับเด็กเมืองกรุง
"เกียรติสูงสุดของผมนอกจากเป็นนักรักบีของทีมโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาแล้ว ยังมีโอกาสติดทีมชาติอยู่ 1 ปีด้วย มันเป็นความภูมิใจส่วนตัว แต่ก็แค่ปีเดียวเท่านั้น เพราะผมต้องไปเรียนต่อต่างประเทศเลยต้องหยุดชีวิตนักกีฬาไปโดยปริยาย”
2. สปอร์ตแมน โก อินเตอร์
หลังเรียนจบระดับมัธยมศึกษา สนธิ ในวัยหนุ่มต้องเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ไต้หวัน แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 1 ปี ก่อนหันเหชีวิตมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง "ยูซีแอลเอ" ในลอสแอนเจลิส และสถาบันแห่งนี้ได้เปิดโลกกีฬาของชายหนุ่มร่างใหญ่อีกครั้ง
"พอได้มาเรียนที่ยูซีแอลเอ ผมก็มีโอกาสไปทดสอบเพื่อเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของทีมมหาวิทยาลัย ตอนนั้นคิดว่าเราผ่านการเล่นรักบี้มาแล้วหนักกว่าฟุตบอลของพวกอเมริกันเสียอีก ก็เลยลงสนามทดสอบแบบไม่มีเครื่องป้องกัน ผลปรากฏว่าถูกฝรั่งร่างยักษ์ แทคเกิลจนไหปลาร้าหัก ก็เลยต้องจบเส้นทางอเมริกันฟุตบอลไป”
แต่อาการบาดเจ็บจากสนามกีฬามิใช่อุปสรรคสำหรับคนชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล หลังจากพักรักษาอาการไหปลาร้าหัก เขาก็หันไปเล่นฟุตบอลหรือที่คนอเมริกันเรียกว่า “ซอคเกอร์” อย่างเต็มตัว
“ช่วงเรียนที่ ยูซีแอลเอ ผมเบนเข็มไปเล่น ซอคเกอร์ กับพวกนักเรียนนานาชาติ ตอนนั้นมี เม็กซิกัน, จีน, ญี่ปุ่น และพวกยุโรป ก็ตั้งทีมมาแข่งขันกัน ส่วนตัวรับหน้าที่ผู้รักษาประตูเหมือนเดิมไปแข่งกับมหาวิทยาลัยต่างๆ"
หากชีวิตนายทวารด่านสุดท้ายของ สนธิ จะหนีไม่พ้นนิสัยฮาร์ดแมนเมื่อเขารำลึกความหลังว่า "ช่วงที่เล่นฟุตบอลจำได้ว่าในทีมมียักษ์อยู่คนหนึ่ง ชื่อ โฮเซ นิสัยเกเร เล่นตำแหน่งแบ็ค แต่ชอบไปหาเรื่องคนอื่น พอโดนเขาไล่ชกก็มักจะวิ่งมาหลบหลังผม ก็เลยต้องชกแทนมันไม่รู้กี่ครั้ง จนผมต้องบอกมันว่า เฮ้ย โฮเซ ถ้าไม่เลิกนิสัยแบบนี้จะไม่ชกแทน แล้วผมก็ไม่ชกแทนมันจริงๆ ด้วย แต่ถ้ามันโดนรังแก โดนใครเหยียบ ผมจะเป็นคนแรกที่ใส่เขาก่อน แล้วในสนามฟุตบอลผมก็เป็นคนที่โดนไล่ออกจากสนามบ่อยที่สุดเพราะช่วยเพื่อน"
หลังเรียนจบจากยูซีแอลเอ สนธิ ก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตต ที่เมืองโลแกน รัฐยูทาห์ โอกาสเข้าสู่วงการสื่อมวลชนก็มาถึง เมื่อมีเพื่อนชักชวนไปทำงานกับสำนักข่าวดังอย่าง "เอพี"
"ตอนอยู่ยูซีแอลเอ ผมทำหนังสือพิมพ์ ทำข่าวนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีเรื่องกีฬาบ้าง ผมชอบไปนั่งกับเพื่อนที่ชอบกีฬาเบสบอลให้เขาอธิบายกติกาเกมการแข่งขันให้ฟัง จากนั้นผมก็ศึกษาลึกลงในรายละเอียด และจากการที่ทำหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยทำให้ได้รู้จักกับผู้สื่อข่าวเอพี ตอนนั้นเขากำลังหาคนที่มีความรู้เรื่องบาสเกตบอลและเบสบอล ซึ่งคุณสมบัติตรงกับผมพอดี ก็เลยได้เริ่มต้นชีวิตนักข่าวจริงๆ ในฐานะผู้สื่อข่าวกีฬาของเอพี ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าเป็นงานที่ทำด้วยความรักในเกมกีฬา เพราะตำแหน่งในเวลานั้นไม่ได้ไปตามข่าวตามสนามแข่งขัน เป็นการรายงานผล และตามสถิติพอทำได้ครบ 1 ฤดูกาล ก็ต้องออกเพราะได้เวลากลับเมืองไทย”
3. กีฬาไทยในสายตาสนธิ
ชีวิตที่ไม่เพียงแต่เชี่ยวกรำแต่ในสายสื่อ หากแต่ถูกเพาะบ่มมาจากนักกีฬาจนกระทั่งครั้งหนึ่งเคยผ่านประสบการณ์ของผู้สื่อข่าวกีฬา เมื่อพิธีกรในรายการถามถึงมุมมองของ สนธิ ลิ้มทองกุล ต่อวงการกีฬาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอล เขาได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ฟุตบอลในบ้านเราต้องยอมรับว่าไม่มีพัฒนาการที่เป็นรูปแบบถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่เห็นการจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่เป็นระบบ ผมไม่เข้าใจว่าประเทศไทยมี 76 จังหวัด ทำไมไม่มีการแข่งขันชิงแชมป์ภาค แล้วนำทีมแชมป์จากทุกภาคเข้ามาชิงแชมป์ประเทศไทย ผมยังไม่เห็นการทำงานแบบนี้เลย และมันไม่เคยมีอะไรที่ทำต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี โดยที่เน้นเอาเด็กระดับประถม และระดับมัธยมมาแข่งขันกัน การพัฒนามันจะเกิดขึ้น นักกีฬาก็มีตัวตายตัวแทนกันตลอดเวลา พวกทำงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ควรจะสนแก้ปัญหาว่าทำไมเด็กไทยตัวมันเล็ก นักกีฬาควรจะมีอาหารเสริมอะไรบ้าง ถ้าทำได้อย่างนี้กีฬาฟุตบอลไทยก็จะไปไกล แต่บ้านเราการแข่งขันกีฬากลายเป็นการเอาหน้าเอาตากัน
"ผมคิดว่าการที่กีฬาไทยมันไม่เจริญมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่ในองค์กรที่ทำหน้าที่บริหาร”
ส่วนคำถามที่คนไทยบางคนได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนวัยล่วงเลยสู่บั้นปลายชีวิตอย่าง “บอลไทยจะไปบอลโลก” นั้น สนธิ ตอบแบบฟันธงว่า "ผมว่าเราอย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องฟุตบอลโลก แต่ให้คิดหาวิธีก่อนว่าจะทำอย่างไรให้นักกีฬามีพัฒนาการอย่างจริงๆ จังๆ กีฬาฟุตบอลบ้านเราจะเจริญมากกว่านี้อีกเป็นร้อยๆ เท่าถ้าผู้บริหารองค์กรกีฬาทำหน้าที่กันด้วยความบริสุทธิ์ใจ มันเหมือนกับเราพูดถึงเรื่องการเมืองเก่า เราก็ต้องพูดถึงกีฬาเก่าเหมือนกัน สมาคมกีฬาทุกวันนี้บริหารงานแบบไหน ทำงานกันแบบเดิมมาหลายสิบปีไม่เคยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แล้วมันก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ หากยังไม่มีใครคิดจะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีกว่าเก่า
“เหตุผลอีกประการที่ทำให้ผมไม่ค่อยอยากติดตามกีฬาในปัจจุบันเพราะการแข่งขันรวมไปถึงนักกีฬา ทุกวันนี้ มีการนำเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเรื่องเสื้อผ้าต้องยี่ห้อนี้ รองเท้าต้องยี่ห้อนั้น มีโลโก้สปอนเซอร์ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ตามริมสนามก็มีป้ายโฆษณาเต็มไปหมด เพราะการถ่ายทอดสดนั้นได้เงิน ทำให้นักกีฬามีรายได้มากขึ้นจากสปอนเซอร์ จากคนธรรมดากลายเป็นคนมีชื่อเสียงเป็นดาราไปแล้ว คนเราพอเป็นดารามันก็ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว จะให้ทุ่มเทเหมือนคนอื่นมันไม่ได้
"ผมจะยกตัวอย่างนักกีฬาในอดีตให้ฟังอย่าง สนธิ ถ้าเป็นนักกีฬาในอดีตก็จะหมายถึง อัสสัมชัญศรีราชา และจะเล่นให้อัสสัมชัญศรีราชา ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ปัจจุบันนี้ถ้าคุณพูดถึง เดวิด เบ็คแฮม ก็ยังไม่รู้เลยว่า เบ็คแฮม จะไปจบที่ไหนแถมยังมีความเป็นซูเปอร์สตาร์เต็มตัว เวลาลงสนามกับทีมเพื่อนร่วมทีมก็ลำบากใจ
“การทำให้นักกีฬากลายเป็นดาราสำหรับผมแล้วเหมือนกับการเดินผิดไปจากเส้นทางที่เป็นหัวใจของกีฬา เพราะกีฬาที่เล่นเป็นทีมอย่างฟุตบอลนั้นต้องมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน กว่าจะมายิ่งใหญ่ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มันเป็นส่วนผสมของชุมชน ของคนในสังคม ของโค้ช ของศิษย์เก่า ของคนที่เข้ามาใหม่ เพื่อเรียกร้องชื่อเสียงให้กลับมาอีกครั้ง แต่เราคนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องแบบนี้"
จากบทสนทนาหนึ่งชั่วโมงเต็มของรายการ ทีมข่าวมิสามารถคัดกรองมาลงในหน้ากระดาษนี้ได้หมดทุกถ้อยคำ หากแต่ใจความสุดท้ายที่ สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากเกมกีฬา นับเป็นวรรคทองจึงขอนำมาปิดท้ายเรื่องก่อนที่พิธีกรจะกล่าวปิดรายการ
“สำหรับผมแล้วกีฬาไม่เพียงแต่ให้ความสนุกในเกม หากแต่ยังให้ความรักและน้ำใจนักกีฬา สอนให้เรารู้จักเสียสละ ต้องยอมต่อสู้เพื่อส่วนรวมเพื่อทีมเพื่อเพื่อน กีฬาไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตวัยเด็ก หากแต่มันได้หล่อหลอมนิสัยให้รู้จักยอมรับความพ่ายแพ้และไม่เย่อหยิ่งกับชัยชนะ ที่สำคัญที่สุดคือความเป็นสุภาพบุรุษในชีวิตจริง ซึ่งคุณไม่สามารถเรียนรู้จากที่ไหนได้นอกจากในเกมกีฬา”
โดย ทีมข่าวกีฬา MGR Sport