xs
xsm
sm
md
lg

11ปี “ไทยลีก” พัฒนาการที่ยังหยุดนิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยชื่อสโมสรฟุตบอลอย่าง ลิเวอร์พูล , แมนฯ ยูไนเต็ด , อาร์เซนอล หรือ เชลซี เชื่อว่าเป็นเรื่องง่ายที่แฟนลูกหนังชาวไทยซึ่งอยู่ห่างไกลกันครึ่งโลกจะนึกถึงหน้านักฟุตบอลตัวหลักของทีมเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน เจอร์ราร์ด , เวย์น รูนีย์ , เชส ฟาเบรกาส หรือ แฟรงค์ แลมพาร์ด แต่ถ้าลองเอ่ยชื่อทีมลูกหนังในประเทศไทย อย่าง ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกรุงเทพ หรือ โอสถสภา เอ็ม 150 เชื่อเหลือเกินว่ามีแฟนฟุตบอลชาวไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือจดจำใบหน้าของสตาร์ลีกในประเทศได้

แม้ว่าฟุตบอลไทยลีก หรือในชื่อเต็มๆ ปัจจุบันคือ "ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก" จะเริ่มทำการฟาดแข้งกันมาตั้งแต่ปี 2539 หรือเกือบ 12 ปีมาแล้ว ทว่าลีกฟุตบอลในประเทศนี้กลับได้รับความสนใจน้อยเต็มทีจากผู้คนในวงกว้าง แทบไม่มีใครรู้จักผู้เล่นดาวดังของทีมฟุตบอลในไทยลีกเลย หรือว่า เกิดความผิดพลาดบางประการเกิดขึ้นในแวดวงลูกหนังไทย

ก้าวแรกที่ผิดพลาด

นับจากวันที่ นายวิจิตร เกตุแก้ว อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ ประกาศเปิดม่านแพรแห่งการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1 ในปี 2539 ด้วยการนำเอา 18 ทีมสโมสรฟุตบอลต่างๆ เข้าร่วมจนถึงวันนี้ในปี 2551 ลีกฟุตบอลแห่งสยามประเทศกลับไม่สามารถทำหน้าที่ให้ความบันเทิงให้กับแฟนฟุตบอลทั่วประเทศอย่างแท้จริง

ซึ่งเรื่องดังกล่าว "เสือเตี้ย" สะสม พบประเสริฐ อดีตดาวเตะทีมชาติไทย ที่ผันตัวเองมาทำหน้าที่ผู้วิเคราะห์เกมลูกหนังทางโทรทัศน์ เปิดเผยว่า "เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของก้าวแรก คนเราถ้าก้าวเท้าไปในทางที่ผิดตั้งแต่แรกแล้ว มันก็หลงทางไปตลอดชีวิต ฟุตบอลก็เหมือนกัน ถ้าเริ่มต้นไม่ถูก มันก็เกิดยาก"

"ถามว่าทำไมฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกที่เตะกันมาเป็น 10 ปีนี่ ทำไมมันถึงไม่มีคนดู ผมจะบอกให้ว่ามันเกิดจากจุดเริ่มต้นเลย การที่สมาคมฟุตบอลไปดึงเอาทีมฟุตบอลอย่าง ทีมเหล่าทัพ หรือสโมสรธนาคารต่างๆ มาเตะฟุตบอลลีกนั้นมันถูกหรือเปล่า? อาจจะไม่เสียหายมาก แต่ว่าก็ส่งผลต่อการพัฒนาสู่รูปแบบฟุตบอลอาชีพในเมืองไทย เพราะทำให้มันก้าวไปข้างหน้าได้ช้าลง หรืออาจจะอยู่ที่เดิมก็ได้”

“จากนั้นก็ส่งผลมาถึงทีมชาติไทยที่มีนักเตะให้เลือกได้แค่ไม่เกิน 30 คนในการเรียกติดทีมชาติ เพราะมันไม่ใช่การพัฒนาที่เป็นขั้นตอนเป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจากนักเตะยังไม่มีความเป็นมืออาชีพเพียงพอ หากประเทศนี้มีฟุตบอลลีกอาชีพเกิดขึ้นจริงนอกจากทีมชาติจะมีตัวเลือกมากขึ้นเพราะเด็กจบ ม.6 แต่ฝีเท้าดีก็ไม่ต้องห่วงเรื่องเรียน เนื่องจากมันไม่จำเป็นแล้ว หาเงินกับการเตะฟุตบอลได้แล้ว อยู่ได้ มันก็ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ถ้ารู้จักพัฒนาตัวเอง”

“ถึงวันนี้ผมอยากให้หันไปมองว่าฟุตบอลเจลีกของเขาไปถึงไหนกันแล้ว ทั้งๆ ที่เขาเริ่มทำหลังจากเรา มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเวลาทีมทหารบกเตะแล้วไม่มีคนดู ไม่มีใครใส่ใจเรื่องเหล่านี้ เพราะเขามีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล มันก็อยู่กันไปแบบนี้ต่อไป ไม่มีใครคิดจะปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารทีมฟุตบอลให้เป็นอาชีพ ไม่รู้สึกตกใจกันบ้างหรือที่ทีมทหารบกมีทหารอยู่ทั่วประเทศ แต่พอทีมทหารบกลงแข่งขันแล้วมีคนดูแค่ 200 คนต่อนัด”

หน้าม้าแฟนคลับ


แม้ว่าการมีแฟนคลับเป็นกองหนุนที่สำคัญจะเป็นที่ถวิลหาของหลายสโมสรฟุตบอลในเมืองไทย ทว่ากลับไม่มีการส่งเสริมการเพิ่มจำนวนกองเชียร์ในส่วนนี้อย่างจริงจัง หลายสโมสรที่เป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างก็ระดมพลกะเกณฑ์พนักงานในหน่วยงานของตัวเองมาชมการแข่งขันฟุตบอลโดยมีข้อแลกเปลี่ยนต่างๆ

เรื่องดังกล่าวทีมข่าวกีฬาผู้จัดการายวันได้พูดคุยกับ “ท็อป” (นามสมมติ) กองเชียร์ทีมฟุตบอลโอสถสภา เอ็ม 150 และมีหน้าที่การงานในหน่วยงานนั้น ยอมเปิดเผยถึงสิ่งที่กองเชียร์ของทีมจะได้รับจากการเข้าร่วมชมการแข่งขันของทีมว่า

“การเข้าเชียร์ทีมก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แค่สมัครเป็นสมาชิกแฟนคลับของทีม จากนั้นก็เดินทางไปเชียร์ทีมในเกมการแข่งขันทั้งเหย้า-เยือน โดยกองเชียร์ก็จะได้รับข้าวกล่อง พร้อมขนม รวมไปถึงค่ารถกลับบ้าน 30 บาท หากว่าเป็นเกมเยือนที่ต้องเดินทางไกล ก็จะมีการจัดรถโดยสารขนาดใหญ่ออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้าเพื่อไปเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปสนามในช่วงเย็นที่ฟุตบอลทำการแข่งขัน ซึ่งก็ยอมรับว่าพอไปถึงทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาไปทานข้าวอย่างเดียว ไม่ค่อยมีใครสนใจจะดูฟุตบอลเท่าไหร่นัก”

“ที่สำคัญคือการกำหนดไว้ของหน่วยงานว่าพนักงานจะต้องเข้าร่วมลงชื่อชมฟุตบอลตามที่หัวหน้ากำหนดไว้ หากใครเข้าชมฟุตบอลไม่ถึงยอดที่ตั้งไว้ พนักงานคนนั้นๆ ก็จะอดไปเที่ยวปลายปีร่วมกับเพื่อนร่วมงาน จึงทำให้พนักงานหลายคนต้องจำใจไปเชียร์ทีมสโมสรอย่างต่อเนื่อง” แหล่งข่าวผู้ไม่เปิดเผยตัวกล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของ “เดอะเซนต์” อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้ช่วยผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลชลบุรี แชมป์เก่าศึกฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก กล่าวถึงกองเชียร์ของเหล่าบรรดาสโมสรต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานราชการ รวมถึงบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการแข่งขันว่า

“กองเชียร์หลายๆ ทีมมีลักษณะที่ถ้าไม่ได้ค่าทำงานล่วงเวลา ไม่มีโบนัส จะไม่มา ถ้ามาก็เป็นพวกฉิ่งฉับทัวร์ อย่างบางทีมต้องได้โอทีถึงจะมาเชียร์กัน เนื่องจากทีมฟุตบอลจากองค์กรหน่วยงานต่างๆ เขาไม่สนใจเรื่องแฟนคลับ เพราะเขามีงบประมาณ 15 - 20 ล้านบาท ในการทำทีมแต่ละปี เขาก็ไปเอางบประมาณในส่วนของการประชาสัมพันธ์มาลงกับทีมฟุตบอลของเขา พอมีข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์กีฬาว่าทีมธนาคารนั้น เอาชนะทีมบริษัทนี้ ผู้บริหารทีมเขาก็พอใจ เพราะถือว่างบประมาณที่เขาเทลงไปมันได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ชื่อหน่วยงาน หรือองค์กรของเขาผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ ทางอินเตอร์เน็ต ตามเป้าหมายของเขา แน่นอนว่าเรื่องฟุตบอลอาชีพมันไม่อยู่ในหัวของคนทำทีมพวกนี้”

ทั้งนี้ “เดอะเซนต์” แห่งฉลามชลได้กล่าวต่อไปว่า “ทีมเหล่านี้เขาทำงานกันแค่บริหารทีมอย่างไรก็ได้ให้นักฟุตบอล 11 คนลงไปเล่น ชนะบ้าง แพ้บ้าง เสมอบ้าง เขาก็พอใจ เพราะอย่างไรก็มีรูปมีข่าวลงหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องคิดเรื่องปรับปรุงระบบทีมให้ไปสู่ความเป็นอาชีพ ไม่มีกองเชียร์เขาก็เตะกันได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นการเป็นแฟนสโมสรแต่ละแห่งหมายถึงความรู้สึกรักและอยากเห็นชัยชนะของทีมที่ตนเองเชียร์ ความรู้สึกเช่นนี้น่าจะไปกันได้กับทีมฟุตบอลจังหวัดซึ่งคนท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมเต็มที่ และด้วยพื้นฐานเช่นนี้ถึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ฟุตบอลอาชีพได้”

แฟนคลับต่อยอดฟุตบอลอาชีพ

แม้การสร้างแฟนคลับสำหรับสโมสรหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนให้มีความเหนียวแน่น และเป็นกลุ่มก้อนจะไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่า “เดอะเซนต์” อรรณพ สิงห์โตทอง หัวเรือใหญ่แห่งสโมสร “ฉลามชล” ที่ได้ชื่อว่ามีกองเชียร์ที่เหนียวแน่น และพร้อมสนับสนุนทีมฟุตบอลมากที่สุดกล่าวชี้แนะว่าหากทีมอื่นๆ ในไทยลีก อยากมีแฟนคลับจำนวนมากเหมือนชลบุรีก็ไม่ใช่เรื่องยาก

“ตอนนี้ทีมบีอีซี เทโรฯ เขามีจุดเด่น คือ มีนักเตะดังเยอะ ถ้าเขาเตะในสนามที่คนไปดูสะดวกคนก็น่าจะอยากไป เชียร์บีอีซี เสื้อก็สวย ใส่แล้วยืดเพราะทีมเก่ง แต่ทำไมเขาไม่มาเน้นเรื่องแฟนคลับตรงนี้ คนอยากดูบีอีซีตั้งเยอะ แต่เตะทีกลับมีแต่งพนักงานช่อง 3 ไปดู ผมแนะนำเลยว่า บีอีซี ต้องไปบวกรวมกันทีมจังหวัดก่อน อาจจะเป็นบีอีซี-โคราช ไปเตะที่โคราช ไปซ้อมที่นั่น สร้างความผูกพันกันแฟนฟุตบอล มันก็จะมีแฟนคลับที่เป็นกลุ่มก้อน มีคนสนับสนุนทีมอย่างจริงจัง ถ้าบีอีซีทำ กรุงไทยเขาก็น่าจะอยากทำด้วย เป็นกรุงไทย-แปดริ้ว ยาสูบก็อยากจะอยากทำตามไปอีก เป็นทีมยาสูบ-หนองคาย”

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณนำทีมของคุณไปให้ทีมจังหวัดเขา คือถ้ากลัวว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนพอ ก็ลองดูทำสัญญาข้อตกลงกันไว้ว่า 1 ปี นับจากนี้ทีมบีอีซี จะสนับสนุนส่งทีมฟุตบอลไปแข่งให้กับจังหวัดนครราชสีมา ส่วน อบจ.นครราชสีมา จะสนับสนุนเรื่องสนาม เรื่องที่พัก คุณจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่านั้น และท้ายที่สุดถ้าทำไปแล้วไม่ดี มีแฟนคลับน้อยครบ 1 ปีของสัญญาก็จบ ปีต่อไปลองย้ายไปทำสัญญากับทีมที่มีฐานประชากรที่มากขึ้นกว่าเดิมผมคิดว่าต้องมีสักที่ที่น่าจะลงตัวของแบบนี้อย่างไรก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย"

หากสโมสรต่างๆ ยังไม่เริ่มต้น “เสี่ยณพ” กล่าวต่อไปว่า “ในอนาคตถ้าไม่มีทีมไหนขยับกัน ก็ต้องอยู่กันแบบนี้แหละ ไม่ต้องไปไหนกันแข่งกันแต่ลีกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกันไป กองเชียร์ก็เป็นพนักงานธนาคาร พนักงานรัฐวิสาหกิจก็เชียร์กันไป ถึงตรงนี้มันไม่ใช่หน้าที่ของทีมชลบุรีที่จะผลักดัน มันเป็นหน้าที่ของคนเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ ที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้ ในอนาคตถ้าชลบุรีมีสนามเหย้าที่สามารถเก็บค่าบัตรผ่านประตูได้เต็มที่ มีร้านค้าขายของที่ระลึกที่แฟนบอลจะมาซื้อสินค้าเสื้อผ้าใส่ไปเชียร์ทีมกัน เมื่อนั้นแหละฟุตบอลอาชีพเกิด แต่เกิดเฉพาะกับชลบุรี เพราะรายได้ของสโมสรทำให้เราอยู่ได้แล้ว ทีนี้สโมสรอื่นจะอยู่เฉยๆ ก็ตามใจ เพราะหน้าที่ของชลบุรีคือทำทีมให้ดีที่สุด”

ทางด้าน “เสือเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ ได้แสดงทัศนะเสริมถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ที่ผ่านมาเคยเสนอแนวความคิดให้มีการปฏิวัติศึกไทยลีกกันใหม่ด้วยการโละทีมหน่วยงานต่างๆ ออก แล้วดึงเอาทีมสโมสรจังหวัดเข้าแข่งขัน เนื่องจากฟุตบอลรายการนี้หากไม่มีแฟนฟุตบอลสนับสนุนก็เป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นลีกลูกหนังอาชีพอย่างแท้จริง

“มันอาจจะเป็นยาแรงไป แต่ถ้าไม่เริ่มกันวันนี้มันก็จะเป็นแบบนี้เรื่อยไป ขอแค่ทุกฝ่ายร่วมมืออย่างจริงจัง ทีมชลบุรีทำได้ แล้วทำไมทีมอื่นจะทำไม่ได้ ถ้าทีมไหนทำไม่ได้ ก็ให้ออกจากลีกเท่านั้นเอง แต่เหมือนจะไม่มีใครกล้าทำ เพราะถ้ามีคนกล้ามันก็ต้องรื้อโครงสร้างสโมสรในไทยลีกทุกทีม”

“ทุกวันนี้ถามว่าประเทศไทยมีฟุตบอลลีกมา 11 ปีเต็มๆ แล้วนักฟุตบอลไทยเก่งกว่าเมื่อ 11 ปีก่อนหรือเปล่า คำถามนี้ผมคงไม่ต้องตอบ เพราะก็เห็นๆ กันอยู่ เราต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างให้มันจริงจังกว่านี้”

เป็นความเห็นในทิศทางเดียวกับ “เดอะเซนต์” ซึ่งเจ้าตัวได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าอยากให้มีลีกฟุตบอลอาชีพทุกคนต้องร่วมทางไปกับชลบุรี เปรียบฟุตบอลไทยลีกเหมือนรถ 16 ล้อ เพราะมี 16 ทีม แต่ทีนี้มันมีทีมจังหวัดที่เน้นเรื่องการพัฒนาสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอยู่ทีมเดียว จะให้ล้อ 1 ล้อ ดันอีก 15 ล้อไปข้างหน้า มันจะไหวหรือ มันต้องหมุนพร้อมๆ กันทั้ง 16 ล้อ ต้องไปด้วยกันทั้งระบบ”

ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นของคนที่เป็นตัวจริงและคลุกคลีอยู่ในวงการฟุตบอลอาชีพเมืองไทยมาเป็นระยะเวลานาน สิ่งที่พวกเขาเห็นเชื่อว่าไม่ต่างจากที่สมาคมฟุตบอลแห่งเทศไทยฯรับทราบ เพียงแต่อำนาจหรือสิทธิ์ในการลงมือทำนั้นอยู่ที่ผู้บริหารทั้งจากสโมสร และ สมาคมฯว่าจะหันกลับมาสนใจหรือไม่ เพราะตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวพิสูจน์อย่างดีว่า วิถีเดิมนั้นทำอย่างไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ หากลองเปลี่ยนเส้นทางใหม่ดูบ้างไม่แน่ว่าชื่อชั้นของไทยลีกในอนาคตอาจจะพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รออยู่ มิใช่หลงอยู่ในความมืดแปดด้านเช่นปัจจุบัน

เรื่อง เชษฐา บรรจงเกลี้ยง







กำลังโหลดความคิดเห็น