ภาพผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่แทบจะยืนด้วยกำลังขาของตนเองไม่ไหวหลังจากเข้าเส้นชัยในการแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการ "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มุมไบ มาราธอน" ครั้งที่ 5 เธอคือ "พัชรี ไชยทองศรี" สาวปอดเหล็กชาวไทยที่เป็นตัวแทนลงสู่สนามที่ 3 ของมหกรรมมาราธอนนานาชาติอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก "เดอะ เกรทเทส เรซ ออน เอิร์ธ" รายการที่มีด้วยกัน 4 สนามและเปิดโอกาสให้นักวิ่งปอดเหล็กจากทั่วโลกได้มาทดสอบความอึดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 3 แล้ว แม้อายุของรายการจะยังไม่มากนักแต่แนวความคิดของผู้สนับสนุนอันได้แก่ "ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด" ที่ได้ระบุแนวความคิดของการแข่งขันรายการนี้ว่า "เกิดจากความเชื่อมั่นที่มองเห็นทุกคนบนโลกนี้ต่างมีความสามารถเท่าเทียมกัน หากมุ่งมั่น และศรัทธาในสิ่งที่ทำ จุดหมายย่อมอยู่ไม่ไกล"
การแข่งขันที่ผ่านมาเริ่มจากสนามแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2007 ที่ไนโรบี ต่อด้วยสิงคโปร์ในเดือนธันวาคม 2007 จนมาถึง มุมไบ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2008 ได้ให้บททดสอบนักวิ่งแตกต่างกันไปและจนถึงปัจจุบันก่อนที่สนามสุดท้ายจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ บนเกาะฮ่องกง สถิติของนักวิ่งได้ถูกรวบรวมจนเห็นหน้าเห็นหลังผู้ที่มีโอกาสคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคกันแล้ว ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมี นักวิ่งปอดเหล็กชาวไทยทั้งหญิงและชาย ที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ
บนเส้นทาง 42.135 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะมาตรฐานของการวิ่งมาราธอน นักวิ่งสาวปอดเหล็กจากกาฬสินธุ์ "พัชรี ไชยทองศรี" ทำผลงานได้อย่างน่าพอใจเมื่อเธอทุ่มเททั้งพลังกาย และพลังใจในการสู้กับความหฤโหดของสภาพอากาศ และ ภูมิประเทศในเมืองมุมไบ วิ่งผ่านเข้าเส้นชัยด้วยสถิติ 2 ชั่วโมง 55.29 นาทีทำให้ทีมปอดเหล็กสาวไทยมีเวลานำคู่แข่งร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียไปกว่า 22.56 นาที
แม้จะไม่ใช่สถิติที่ดีที่สุดในการวิ่งมาราธอนที่มีระยะ 42.135 กิโลเมตรของพัชรี แต่มันก็ดีพอให้ทีมไทยเข้าใกล้รางวัลชนะเลิศของศึก "เดอะ เกรทเทส เรซ ออน เอิร์ธ" ภูมิภาคอาเซียนเข้าไปทุกขณะ หลังจากที่เพื่อนร่วมทีมซึ่งลงทำการแข่งขันใน 2 สนามแรกที่เคนยา และสิงคโปร์ ทั้งเกศมณี เสนาพันธ์ และ อภัสรา ปราสาทหินพิมาย ส่งไม้ผลัดต่อมาให้ด้วยเวลาที่นำห่างคู่แข่งอยู่พอสมควร
หลังจากเสร็จภารกิจเพื่อชาติ สาวปอดเหล็กจากกาฬสินธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน ซึ่งเดินทางไปเกาะ ติดอยู่ริมสนามแข่งที่อดีตเคยมีชื่อว่า "บอมเบย์" แห่งนี้ว่า "ก่อนวันแข่งนุชรู้สึกไม่ค่อยสบายเล็กน้อย เนื่องจากเป็นหวัด และวันแข่งจริงอากาศก็ร้อนมาก เพราะที่นี่ปล่อยตัวช้าเริ่มทำการแข่งขันตอน 7 โมงเกือบ 8 โมง ซึ่งกว่าจะแข่งจบก็ 10 โมงเช้าแล้ว ทำให้นักวิ่งต้องผจญกับแดดแรงซึ่งทำให้เหนื่อยเร็ว นอกจากนี้ยังมีปัญหากับรองเท้าที่เสียดสีกับฝ่าเท้าของเราจนมีอาการห้อเลือดทำให้วิ่งไม่ถนัด บางช่วงรู้สึกว่าจะไปไม่ไหวแล้วแต่ตอนที่ใกล้จะถอดใจจะบอกตนเองตลอดว่าต้องทำเพื่อทีมเพื่อประเทศของเราจะยอมแพ้ไม่ได้ต้องวิ่งต่อไป"
นอกจากคำว่าเพื่อทีมแล้วชาวอินเดียที่แห่กันเข้ามาชมการแข่งขันในครั้งนี้หลักแสนคนยังถือว่าเป็นกำลังใจชั้นยอดด้วย "ตอนที่นุชทำท่าจะวิ่งต่อไม่ไหว หรือเกือบที่จะหมดแรง ในทุกๆ ครั้งกองเชียร์ที่นี่ก็จะส่งเสียงเชียร์เราว่าให้ไปต่อ หรือบ้างก็ตะโกนว่าคุณทำได้ มันทำให้นุชมีแรงที่จะสู้ต่ออีกครั้ง ซึ่งนุชก็รู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันตรงที่เราไม่ได้เป็นคนที่นี่แต่เขาก็ส่งเสียงให้กำลังใจเราด้วย เท่าที่นุชวิ่งแข่งมาเกือบ 10 ปีผ่านมาแล้วในหลายๆรายการตั้งแต่เด็ก คิดว่าการมาวิ่งที่นี่มีกองเชียร์มากที่สุดแล้วที่เคยวิ่งมาทุกสนามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนุชก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้วิ่งในนามทีมชาติและได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิ่งที่อาจจะเป็นรายการสุดท้ายแล้วในการรับใช้ทีมชาติรายการนี้"
นักวิ่งไทยใน "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มุมไบ มาราธอน" มิได้มีแต่เพียงแต่ พัชรี ไชยทองศรี เท่านั้นตัวแทนปอดเหล็กในฝ่ายชายของไทยได้ส่งนักวิ่งลงสนามด้วยเช่นกัน กอเดร์ เส็นหมูด คือผู้ที่ลงสนามวัดฝีเท้ากับนักวิ่งต่างชาติ โดยทำสถิติได้ 2 ชั่วโมง 40.17 นาที เข้ามาเป็นอันดับที่ 21 และทำให้ทีมไทยทำเวลาเข้าไปใกล้เคียงอันดับ 1 อย่างเวียดนาม โดยหลืออีกเพียง 10.40 นาทีเท่านั้น
เมื่อวิ่งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน กอเดร์ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเช่นเดียวกับ พัชรี หากแต่เขาก็คิดเช่นเดียวกับสาวปอดเหล็กว่าท้อไม่ได้ และต้องทำเพื่อทีมที่สำคัญคือเสียงเชียร์ของผู้ชมที่รายล้อมอยู่ริมสองข้างทางนับว่าเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขาวิ่งไปถึงเส้นชัย
จบจากมุมไบ มาราธอนรายการ "เดอะ เกรทเทส เรซ ออน เอิร์ธ" เหลือเพียงเกาะฮ่องกงที่จะทำหน้าที่สนามสุดท้ายสำหรับการประลองความอึดของนักวิ่งปอดเหล็กจากทั่วโลก แน่นอนว่าทีมไทยยังมีหวังที่จะสร้างผลงานในระดับภูมิภาค โดยฝ่ายหญิงจะส่ง สุนิสา สายลมเย็นลงวัดฝีเท้าหากเธอทำเวลาได้ไม่แพ้เพื่อนร่วมทีมโอกาสที่ทีมหญิงจะได้ครองแชมป์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ฝ่ายชายนั้นส่งไม้ต่อให้แก่ "บุญชู จันทร์เดชะ" หากเขาสามารถทดเวลาที่ถูกเวียดนามทิ้งห่างอยู่ 10.40 นาทีโอกาสที่จะเห็นปอดเหล็กชายเคียงข้างกับทีมหญิงในฐานะทีมวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีไม่น้อยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือความพยายามของนักวิ่งไทยที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาก็แกร่งไม่ได้น้อยหน้านักวิ่งจากซีกโลกอื่น ซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องกับแนวคิดการแข่งขันที่ระบุไว้ในข้างต้นว่า "ทุกคนบนโลกนี้ต่างมีความสามารถเท่าเทียมกัน หากมุ่งมั่น และศรัทธาในสิ่งที่ทำ จุดหมายย่อมอยู่ไม่ไกล"