ถึงแม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเพียงใด แต่ความประทับใจที่มีต่อพระกรณียกิจ และพระจริยวัตรอันงดงาม ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการตามเสด็จเคียงคู่กับสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปยังท้องถิ่นอันทุรกันดาร ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของ พลเรือตรี ศ.นพ. วิทุร แสงสิงแก้ว อยู่เสมอแม้เวลาจะล่วงเลยไปนานถึง 35 ปีแล้วก็ตาม
"พลเรือตรีศ.นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว" วัย 72 ปี อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิชีวิตพัฒนา ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาททั้ง 2 พระองค์ตั้งแต่ครั้งที่มูลนิธิ พอ.สว. ยังเป็นเพียงหน่วยแพทย์อาสาฯ ซึ่งมีสถานทำการส่วนกลางอยู่ที่วังสระปทุม จวบจนกระทั่งหน่วยแพทย์ได้มีการพัฒนา และเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็น "มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี" (มูลนิธิ พอ.สว.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2517
ในฐานะทีมแพทย์อาสาสมัคร พอ.สว. ในการออกไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ อยู่เสมอ นพ.วิทุร ได้บอกเล่าความรู้สึกอันตรึงแน่นอยู่ในห้วงความทรงจำในพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และยึดถือมาเป็น แบบอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวัน
"พอผมเรียนจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็มีโอกาสได้ทำงาน หลายแห่ง แต่สุดท้ายในปี 2507-2508 ผมก็ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฮ่องสอน ต่อมาได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงประทานชื่อให้ใหม่ว่า โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และในปี 2513 ผมก็กลับเข้ามาทำงาน ในกรุงเทพฯ สังกัดกรมการแพทย์ ประกอบกับช่วงนั้นทางหน่วยแพทย์ พอ.สว. ได้เปิดรับสมัครนายแพทย์ และพยาบาลเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ผมจึงสมัคร เข้าไปเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อยู่ในส่วนกลางในปี 2516 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา" นพ.วิทุรเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ตัวเองได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้อง พระยุคลบาทด้านการแพทย์
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึง 35 ปี และขณะนี้ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น และสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไกล จึงทำให้ นพ.วิทุร ไม่ได้ออกไปกับหน่วยแพทย์ พอ.สว. แต่ก็ยังคงจดจำภาพพระวิริยอุตสาหะของ ทั้ง 2 พระองค์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะต้องทรงงานหนักสักเพียงใด และเหน็ดเหนื่อยพระวรกายขนาดไหน พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อ ยังทรงคำนึงถึง ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในเขตแดนที่มีความเจริญน้อยกว่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในการเสด็จออกไปกับหน่วยแพทย์ มูลนิธิ พอ.สว. แต่ละครั้งนั้น นพ.วิทุร อธิบายให้ฟังว่า ทุกครั้งในการออกหน่วยแพทย์ทางจังหวัดจะเป็นผู้วางแผนมาให้และจะมีคณะวางแผนนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระองค์ท่าน เพื่อให้ท่านมี พระวินิจฉัยว่าสมควรหรือไม่ โดยท่านจะมีรับสั่งถามกับผู้ที่วางแผนการเดินทางแทบทุกครั้งว่า "ที่นี้ไปสะดวกหรือเปล่า ถ้าไปสะดวกจะไม่ไป"
"มีครั้งหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงไม่พอพระทัยคณะที่วางแผนในการออกหน่วยแพทย์ เพราะได้วางแผนให้พระองค์เสด็จไปในที่ที่อยู่ใกล้ทางหลวง ซึ่งความ จริงแล้วพระองค์ทรงมีพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะไปเยี่ยมผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
นพ.วิทุร เล่าต่อว่า ในอดีตหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่การคมนาคมมีความยากลำบาก เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปถึงได้ แม้แต่ทางราชการเองก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่ามีพื้นที่แบบนี้อยู่ในเขตความรับผิดชอบ จะเห็นว่าบางแห่งพระองค์ต้องเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร บางแห่งไม่มีรถยนต์มีเฉพาะทางเท้า พระองค์ก็ต้องเสด็จพระดำเนินไปยังพื้นที่นั้นๆ หรือบางที่ต้องใช้การเดินทางทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก ทั้ง 3 อย่างผสมกัน รวมทั้งในช่วงนั้นเองยังต้องเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายที่มาหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า แต่พระองค์ก็มิได้ทรงหวั่นเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ แต่ยังคงมีความประสงค์ที่จะไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ป่วย และที่มารอรับเสด็จ
นพ.วิทุร อธิบายต่อว่า สภาพพื้นที่ในแต่ละจังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทุรกันดารอยู่ในป่าเขา ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นโรคทางด้านสุขอนามัย บางแห่งก็มีหลายโรค แม้แต่โรคทางผิวหนังอย่างโรคคัน ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้
"เส้นทางในการหน่วยแพทย์ที่ถือว่ามีความกันดารมากที่สุดเท่าที่ผมจำได้ก็คือ การออกหน่วยแพทย์ที่จังหวัดตราด ใครเลยจะเชื่อว่าจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯอย่าง ตราดและจันทบุรี จะยังมีหมู่บ้าน ที่แร้นแค้นแสนเข็ญขนาดไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งการสาธารณสุขเองก็ยังคงเข้าไปไม่ถึง ในขณะนั้นสมเด็จย่า และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ด้วยความยากลำบากกว่าจะไปถึงยังสถานที่เป้าหมาย โดยพระองค์ท่านต้องเสด็จด้วยเรือขนาดเล็ก (เรือลพบุรีราเมศ) ของกรมตำรวจที่เขาจัดไว้ให้โดยล่องเรือจากกรุงเทพฯ และก็ประทับและบรรทม อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ โดยตลอดการเดินทางพระองค์ทรงล่องเรือไปทางทะเล เมื่อเรือพระที่นั่งไปจอดยังแหลมงอบ จ.ตราด พระองค์ได้เสด็จประทับยังเรือยางเลียบไปตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อเสด็จขึ้นบก และไปประทับบนเฮลิคอปเตอร์ ผ่านป่าเขา ลำเนาไพรหลายสิบลูก เพื่อบินเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน จากนั้นเมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่ประทับบินมาถึง ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้รถขับเข้าไปในพื้นที่นั้นได้เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ขรุขระ ไม่สามารถใช้รถขับเข้าไปได้ พระองค์จึงทรงพระดำเนินอีกครั้งเพื่อเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วย และประชาชนที่มารอเฝ้าฯรับเสด็จอยู่ในหมู่บ้าน"
แต่ไม่ว่าพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการเดินทางเพียงใดก็ตาม แต่สีพระพักตร์ก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม และน้ำพระทัยอันงดงาม และตรัสถามสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้านที่มาเฝ้าฯรับเสด็จอย่างไม่ถือพระองค์ รวมทั้งตรัสถามคณะแพทย์ทุกคนที่ตามเสด็จด้วยความเป็นห่วงว่า "ยังไหวอยู่ไหม"
สำหรับการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว.ในอดีตนั้น นพ.วิทุร เล่าให้ฟังว่า แต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ซึ่งทางหน่วยแพทย์เองจะไปตั้งจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โดยพระองค์จะเสด็จ ไปพร้อมกับหน่วยแพทย์ส่วนกลางจาก กรุงเทพฯ ด้วยทุกครั้ง จากนั้นพระองค์ก็จะเสด็จไปเยี่ยมประชาชนในบริเวณจังหวัด ใกล้เคียง และในช่วงเย็นหรือค่ำก็จะเสด็จ กลับมาประทับยังที่ประทับเดิม ที่ทางเจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ ภายในบ้านพักขนาดกะทัดรัดปราศจากการตกแต่งที่หรูหรา
"เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.สว.ตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งประชาชน พระองค์จะประทับอยู่ร่วมกับคณะแพทย์ที่ตามเสด็จไปด้วย โดยที่ประทับของพระองค์ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย ส่วนหลังถัดมาก็จะเป็นที่พักของคณะแพทย์ทุกคนที่ตามเสด็จไปด้วย"
ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีที่ ศ.นพ.วิทุร มีโอกาสได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. เขาบอกว่า สิ่งที่ซึมซับและได้รับจากพระองค์ นอกจากการมีพระองค์เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและพอเพียงแล้ว นอกเหนือสิ่งอื่นใดที่สามารถสัมผัสได้ ก็คือน้ำพระหฤทัยอันเต็ม เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์ท่านทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันน้อยใหญ่ต่างๆ นานัปการ โดยที่ไม่เคยหวังผลตอบแทนจากใคร มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงมุ่งหวังมาโดยตลอดพระชนมชีพก็คือ การเห็นประชาชนชาวไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีครอบครัว และมีสังคมอันเต็มไปด้วยความสุขเท่านั้น
ถึงแม้ว่าวันนี้องค์โสทรเชษฐภคินีจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม แต่พระ-กรณียกิจอันทรงประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยทุกคน จะยังคงเป็นแสงรุ้งงามอยู่กลางหัวใจไทยทุกดวงเสมอไป