xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้าแห่งการสาธารณสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมของ 84 ปีที่แล้ว ในแว่นแคว้นแดนไพรัชประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มีขัตติราชนารีแห่งสยามประเทศองค์หนึ่ง ประสูติขึ้นท่ามกลางความชื่นชมโสมนัสแห่งสมเด็จพระราชบิดา...สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระราชชนนี...สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงพระประยูรญาติแห่งพระบรมวงศ์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงทราบข่าวอันน่ายินดีนี้

หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล ทรงเจริญพระชันษาขึ้นท่ามกลางการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีเยี่ยมของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีในสภาพแวดล้อมที่สงบสบายและเต็มไปด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นในประเทศเยอรมันที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์

ต่อมามินานก็ทรงมีพระอนุชาอีกสองพระองค์ ที่ในกาลต่อมา ได้ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ ดังการณ์ที่ปรากฏเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรได้อัญเชิญพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ทำให้พระองค์เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา...

และแม้ว่าขนบประเพณีแห่งสยามประเทศในขณะนั้น จะแยก "ฝ่ายใน" ขาดออกจากพระราชอำนาจด้านการปกครอง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็มิได้ทรงอยู่เฉย ซ้ำกลับทรงงานหนักอยู่ตลอดเวลา และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของสมเด็จพระอนุชาธิราชทั้งสองพระองค์ เพื่อยังประโยชน์สุขอันมหาศาลแก่ปวงชนชาวไทย

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอนั้นนับเป็นอเนกอนันต์ เพราะแม้ว่าจะทรงศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซาน แต่ด้วยเพราะทรงงานทั้งศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง ทำให้ทรงพระปรีชาในหลายด้าน ทั้งพระราชกรณียกิจด้านอักษรศาสตร์ ที่ทรงเชี่ยวชาญ ด้านการประพันธ์ที่ทรงมีพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่ามากมาย
 
และโดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุข ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้สมกับสายพระโลหิตทั้งจากฝั่งสมเด็จพระราชบิดาที่ทรงเป็นแพทย์และพระราชชนนีที่ทรงศึกษาและทรงอุทิศพระวรกายด้านการพยาบาลและด้านการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

มูลนิธิ พอ.สว. “พระราชมรดกแห่งพระปณิธาน”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขัดสนในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเมื่อยามเจ็บไข้ของตำรวจตระเวนชายแดนและราษฎรทั่วไปที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเรื่อยมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ใช้ชื่อย่อว่า “พอ.สว.” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 โดยเชิญชวนนายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ในเบื้องต้น ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลแมคคอมิค และโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ เป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์เดินทางไปทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านที่ห่างไกลทุรกันดาร

ต่อมาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนมี พอ.สว. ประจำจังหวัดรวม 51 จังหวัดทั่วประเทศ และเพิ่มภารกิจมากขึ้น จากการเป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ก็มี “แพทย์ทางอากาศ” หรือ “แพทย์ทางวิทยุ” ช่วยรักษาทางวิทยุ ช่วยนำผู้ป่วยบางประเภทมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดหรือในกรุงเทพ ฯ พร้อมทั้งออกค่ารักษาพยาบาลให้ด้วย เป็นต้น และในปี พ.ศ.2517 ได้พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” (มูลนิธิ พอ.สว.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ด้วย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีในกิจการของ พอ.สว. มาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหน่วยแพทย์ พอ.สว.จนกระทั่งเป็นมูลนิธิ พอ.สว. จะปรากฏเห็นกันโดยทั่วไปว่าทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทรงนำหน่วยแพทย์ พอ.สว.ไปทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร และในบางรายได้ทรงรับผู้ป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ส่งต่อไปรักษา ณ โรงพยาบาลในส่วนจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ส่วนมาก จะเห็นว่าเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร บางแห่งไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางเท้า แต่ก็มีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และมาขอรับการตรวจอย่างเนืองแน่น ทำให้สุขภาพอนามัยของประชาชนในถิ่นทุรกันดารดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้มาเฝ้าฯ กลับเพิ่มทวีขึ้น เพราะพวกเขาเจริญขึ้นทั้งทางสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่มากขึ้น แต่มารับการตรวจรักษาน้อยลง

จวบจนเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ กล่าวได้ว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว. ไม่ใช่เป็นเพียง “พระราชมรดก” แต่ทรงเห็นแก่สุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ ตลอดจนการศึกษาและการพัฒนา “คน” ของประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขตแดนที่มีความเจริญน้อยกว่าเป็นสำคัญ ด้วยพระเมตตาจะให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิต มีวิญญาณสมกับเป็น “คน” มีคุณภาพชีวิต มีครอบครัว มีสังคมที่มีความสุข เป็นน้ำพระหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง โดยมิได้คิดถึงพระองค์เองเลยสักนิดว่าจะต้องทรงงาน ต้องทรงตรากตรำพระวรกายมากเพียงใด เพียงเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขสมบูรณ์เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ทรงดำรงพระองค์เป็นสมเด็จพระราชธิดาผู้สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชมารดาได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ อย่างวิเศษที่สุดแล้ว โดยส่วนเสี้ยวแห่งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข ได้ถูกบอกเล่าผ่านความทรงจำอันตรึงแน่นในหัวใจของหนึ่งในผู้ที่เคยถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้านการแพทย์ “พอ.สว.” แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ถือกำเนิดจากน้ำพระราชหฤทัยอันมหาศาลแห่งสมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง ที่ถูกสืบต่ออย่างเข้มแข็งด้วยสองพระหัตถ์แห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อต้นเดือนตุลาคม ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยมินาน นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก รองเลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. เคยเล่าถึงพระราชจริยวัตรยามที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์พอ.สว.แห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเอาไว้ว่า พระพี่นางฯ ทรงงานหนักมาก โดยในครั้งที่สุขภาพยังดีอยู่จะเสด็จเยี่ยมประชาชนและแพทย์อาสาในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย อีกทั้งไม่โปรดเสด็จเข้าตัวเมืองและประทับในโรงแรม แต่โปรดจะลงพื้นที่จริงในท้องถิ่นทุรกันดารเสียมากกว่า เวลาพระองค์ท่านรับสั่งทรงมีน้ำเสียงคล้ายสมเด็จย่า ตนฟังเวลาพระองค์ท่านรับสั่งยังเคยคิดเลยว่า เสียง (พระสุรเสียง) เหมือนกับสมเด็จย่าซึ่งทุกๆ ครั้งที่ได้มีโอกาสถวายรายงานและรับพระราชกระแสใส่เกล้าใส่กระหม่อมพระองค์มักจะมีรับสั่งเสมอว่า ขอให้แพทย์อาสาทุกคนยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

“ท่านเสด็จมา นอกจากเยี่ยมประชาชนแล้ว ท่านยังเป็นกำลังใจให้แพทย์อาสาที่มีอยู่เป็นหมื่นเป็นแสนคนทั่วประเทศ เพราะแพทย์อาสาเป็นคณะแพทย์ที่ทำงานไม่มีเงินเดือน ทุกครั้งที่เสด็จมาจะมีของที่ระลึกส่วนพระองค์ เป็นเหรียญ โล่ หรือตราที่สมเด็จย่าเคยทำเอาไว้เป็นของที่ระลึกให้แก่แพทย์อาสาทุกคนเสมอ”

รองเลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังว่า แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว.จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่การดำเนินงานของ พอ.สว.ก็ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ เนื่องจากได้มีการวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้าไว้ถึง 1 ปี มีทีมงานแพทย์อาสาที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แพทย์เฉพาะทาง ทันตสาธารณสุข ในส่วนของงบประมาณก็มีเงินที่รับบริจาคอยู่ถึง 600 กว่าล้านบาท นอกจากนั้นในยังได้รับงบประมาณรายปีจากรัฐบาลอีก 36 ล้านบาทต่อปี

สำหรับความพระทับใจที่มีต่อสมเด็จพระพี่นางเธอฯ นั้น นพ.ยุทธ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในความตรงต่อเวลาของพระองค์ท่าน อย่างบางครั้งขบวนเสด็จจะไปถึงที่หมายเร็วกว่ากำหนด พระองค์ก็จะรับสั่งให้ชะลอรถ เพราะทรงเกรงว่าหากไปถึงก่อนเวลาเจ้าหน้าซึ่งจัดเตรียมงานและถวายการต้อนรับจะเดือดร้อนวุ่นวาย และขบวนเสด็จของพระองค์ก็เป็นขบวนที่เล็กมาก ไม่มีพิธีรีตอง พระองค์ท่านกลัวประชาชนจะเดือดร้อนเพราะรถติด ทรงเป็นห่วงประชาชนในทุกๆ เรื่อง

แม้ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระองค์ท่านก็ยังทรงเสด็จไปโดยไม่หวั่นภยันตราย ในปี 2548 พระองค์ท่านได้เสด็จไปเยือน จ.ยะลา และทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปให้กำลังใจเหล่า พอ.สว.ซึ่งออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ ต.ยะรม อ.เบตง แต่เนื่องจากอากาศปิดทำให้ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินได้ จึงได้ทรงแจ้งให้ทีมแพทย์อาสามาเข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายพระองค์ท่านที่เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา แทน

ในส่วนการทำงานของทีมแพทย์ พอ.สว.นั้น สมเด็จพระพี่นางก็จะทรงไต่ถามทุกข์สุขและปัญหาต่างๆโดยตลอด อีกทั้งยังทรงติดตามความคืบหน้าในการทำงานด้วย พระองค์มักตรัสถามว่าตอนนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น การคมนาคมก็สะดวกขึ้น ประชาชนในพื้นที่ต่างๆเขายังต้องการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อยู่ไหม พวกเราก็ทูลว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องการอยู่ ที่ผ่านมาเวลาพระองค์เสด็จลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมประชาชนก็จะทรงเสด็จมาให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ พอ.สว.ด้วยทุกครั้ง ท่านมักทรงอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง

เสื้อสีเทา-กระเป๋าสีเขียว

แต่เดิมนั้นหน่วยแพทย์อาสาจะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และไปเช้าเย็นกลับในวันเดียวกัน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะหลัก ในแต่ละหน่วยประกอบด้วย แพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องยา 1 คน พยาบาล 3 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ทั้งหมดนี้ อาสาทำงานโดยไม่มีรายได้ตอบแทน มีภูมิลำเนาหรือรับราชการอยู่ในจังหวัดนั้นๆ

อาสาสมัคร พอ.สว. ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยอาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า หมอกระเป๋าเขียว แม้แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกันในบางพื้นที่ ยังยกเว้นการทำร้าย "หมอกระเป๋าเขียว"

นายแพทย์คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการมูลนิธิ พอ.สว. จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดแพทย์อาสาลำดับที่ 29 เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในฐานะทีมแพทย์อาสาสมัคร พอ.สว. โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2527 กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ พอ.สว. ในพื้นที่ของภาคอีสาน ทั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์, ยโสธร, สุรินทร์ และนครราชสีมา นพ.คิมหันต์เล่าว่า ในอดีตนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่การเดินทางคมนาคมมีความยากลำบาก ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เช่นทุกวันนี้ ฉะนั้น ช่วงระยะเวลา 20 ปีก่อน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จึงนับว่ามีความสำคัญมาก

นพ.คิมหันต์ อธิบายต่อว่าสภาพพื้นที่ในภาคอีสานนั้น ปัญหาทางด้านสุขภาพที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ การออกตรวจรักษาโรคในพื้นที่ของหน่วยแพทย์ พอ.สว. เดือนละ 2 ครั้ง โดยไม่ซ้ำพื้นที่กันในแต่ละปีจึงไม่สามารถติดตามผลการรักษาได้ ในช่วงหลังจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นเดือนละ 2 ครั้ง แต่ออกหน่วยซ้ำพื้นที่เดิม ปีละ 12 จุดตรวจแทน ซึ่งการเสด็จออกพื้นที่แต่ละครั้งของสมเด็จย่า เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะทรงติดตามเสด็จด้วยเสมอแทบทุกครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ หนึ่ง ทรงออกเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามจุดตรวจในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล และการออกเยี่ยมสมาชิก พอ.สว. เพื่อพระราชทานของที่ระลึก รวมทั้งโล่แก่สมาชิกที่ออกทำงานในพื้นที่ครบ 30 ครั้งสำหรับแพทย์, 60 ครั้งสำหรับพยาบาล เป็นต้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้ามารับช่วงเป็นประธานดำเนินงานมูลนิธิ พอ.สว. ต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราฯ นั้น พระองค์ก็ได้ทรงยึดแนวทางปฏิบัติของพระราชชนนีเป็นแบบอย่าง ทรงออกเยี่ยมเยียนคณะทำงาน พอ.สว. อย่างสม่ำเสมอ ในพื้นที่ที่มีหน่วยงานของพอ.สว.ทั้ง 51 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทรงให้กำลังใจแก่อาสาสมัครสมาชิก ทรงติดตามดูผลการรักษาประชาชน รวมทั้งทรงดูแลผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์ ซึ่ง นพ.คิมหันต์อธิบายว่า สมัยก่อนนั้นยังมิได้มีการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด เช่น ผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัวต่อในกรุงเทพฯ นั้น นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าอาหารอีก ภารกิจของ พอ.สว. คือให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลส่วนที่เกินมานี้ด้วย นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลตามปกติ

ทว่า ในช่วงหลังภารกิจของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ได้เปลี่ยนจากการรักษาพยาบาลมาเน้นการให้บริการทางด้านทันตกรรมแทน เนื่องจากการคมนาคมที่ทันสมัย กอปรกับบริการด้านสาธารณสุขได้เข้าถึงในเกือบทุกพื้นที่แล้ว หน่วยแพทย์ พอ.สว. จึงต้องปรับบทบาทการทำงานให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

“เมื่อตอนสมเด็จย่าทรงเสด็จสวรรคต ก็มีแบบสอบถามพวกเรามาว่าอยากให้มูลนิธิ พอ.สว. ดำเนินการต่อไปไหม ซึ่งพวกเราทุกคนก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าอยากจะให้มีอยู่ต่อไป เพราะถึงแม้เรื่องสุขภาพโดยรวมจะมีบริการทางการแพทย์เข้าถึงแล้ว ด้วยการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น แต่บางโรคโดยเฉพาะสุขภาพอนามัยทางช่องปากก็ยังเป็นปัญหาอยู่ พวกเราสมาชิก พอ.สว.ก็ตั้งใจจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อสืบสานปณิธานที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานไว้ให้ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงทั้งสองพระองค์ ”

นพ.คิมหันต์กล่าวว่า แม้ยามที่ทรงพระประชวร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ยังทรงเป็นห่วงคณะทำงาน พอ.สว. “ขณะที่พระองค์ท่านประชวรท่านก็ยังไม่ทอดทิ้งพวกเรา ทรงให้ผู้แทนพระองค์คือ ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมอาสาสมัคร พอ.สว. ดังเช่นที่พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมเป็นประจำทุกปี”

นพ.คิมหันต์กล่าวต่อว่า ตนเองมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2547 ที่กิ่งอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ยังทรงแข็งแรง สดชื่น ทรงพูดคุยยิ้มแย้มอย่างเป็นกันเอง รวมทั้งรับฟังเพลงที่เหล่าอาสาสมัคร พอ.สว. ร่วมร้องถวาย หลังจากนั้น ยังพระราชทานโอกาสให้สมาชิก พอ.สว. ทุกคนร่วมถ่ายภาพกับพระองค์อีกด้วย

“จริงๆ แล้วถึงไม่มีพระองค์ท่าน พวกเราก็ยังคงทำงานกันอยู่ แต่พระองค์ท่านเป็นผู้รวมพลัง ทำให้เหล่าแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทุกคนมีกำลังใจร่วมกันทำงานจนสำเร็จลุล่วง พวกเรารู้สึกเสียใจกับการจากไปของสมเด็จพระพี่นางฯ ก็หวังว่าจะมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นเสด็จลงมาทรงเป็นประธานดำเนินงานมูลนิธิฯ ต่อไป เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่อาสาสมัครมูลนิธิ พอ.สว. เช่นที่สมเด็จย่าและสมเด็จพระพี่นางฯ ท่านได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามพระปณิธานสืบมา”

*ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจาก โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์













กำลังโหลดความคิดเห็น