xs
xsm
sm
md
lg

อ่าน “มังงะ” บ้านเขา ...ย้อนมอง “การ์ตูน” บ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น หรือ “มังงะ” แห่งสหัสวรรษใหม่ มีผลงานขึ้นหิ้งมากมายปรากฏสู่สายตาคอการ์ตูน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PLUTO เรื่องราวของเจ้าหนูอะตอม ผลงานอมตะของเท็ตสึกะ โอซามุ ที่ นาโอกิ อุราซาว่า ถ่ายทอดอย่างสุดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติแก่ดวงวิญญาณเจ้าของต้นฉบับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ผู้แผ้วถางเส้นทางของมังงะให้กลายเป็น “ภาษาสากล” ด้วยการจัดวาง ไล่ลำดับภาพในมุมมองเดียวกับภาพยนตร์ ที่แม้ต่างชาติ ต่างภาษา ทว่าเพียงแค่ดูภาพก็สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ในระดับหนึ่ง

นับแต่วินาทีแรกที่โอซามุละทิ้งอาชีพนายแพทย์ จับปากกาขึ้นสร้างความสุขให้คนรักการ์ตูนทั่วโลกจวบจนวันนี้ การ์ตูนญี่ปุ่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง...ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ

แล้ว “การ์ตูนไทย” เรียนรู้สิ่งใดได้บ้างจากเส้นทางแห่งความสำเร็จนั้น

**มนต์เสน่ห์มังงะ**

คอการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ อาจคุ้นหูกับเรื่องราวของนารุโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ, ONE PIECE, Hunter X Hunter, ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน, 20th century boy, Monster

ไล่ไปรุ่นก่อนหน้า Vagabond, ฤทธิ์ดาบไร้ปรานี, BERSERK, SLAM DANK, โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ, Yu Yu Hakusho, จอมเกบลูส์ มีความเข้มข้นที่ทำให้ใครหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอย

แต่ไม่ว่าอย่างไร ดรากอนบอล Z, โดราเอมอน, เซนท์เซย่า, เทพเจ้าหมัดดาวเหนือ, กัปตันสึบาสะ, แบล็กแจ็ค ก็ไม่เคยหายไปจากความทรงจำ จากรุ่นพ่อแม่ สู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งใหม่และเก่าอีกเกินจะนับที่ยังคงเดินทางผ่านยุคสมัย บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในโลกของพวกเขา

อะไร? คือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้การ์ตูนเหล่านี้คงอยู่เหนือกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งดรากอนบอล Z เรื่องราวของเด็กชายจากดาวไซย่าที่เติบโตเป็นนักสู้อันดับหนึ่งที่ทั้งมนุษย์ เทพ และมารต่างยอมรับและครั่นคร้ามในความเก่งกาจ

“ซุนโกคูไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยโกรธเกลียดอาฆาตใคร เขามีน้ำใจเป็นลูกผู้ชาย ความดีของเขาทำให้ศัตรูมากมายกลับกลายเป็นมิตร ไม่ว่าเบจิตต้า พิคโกโร่ ทุกคนต่างกลายมาเป็นเพื่อนกัน เพราะความดีของโกคูชนะใจพวกเขา”

ครั้งหนึ่ง น้าต๋อย เซมเบ้ “นักพากย์” มืออาชีพที่ให้เสียงเป็นพระเอกจากดาวไซย่าแห่งมหากาพย์ดรากอนบอล Z มายาวนาน เคยให้ทรรศนะแก่ผู้เขียนไว้อย่างน่าสนใจ

น้าต๋อยมองว่า จิตวิญญาณในแบบฉบับของซุนโกคูนั้นได้รับการยอมรับจากผู้อ่านอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณแห่งอุดมคติ เป็นตัวแทนของจิตใจที่บริสุทธิ์ดีงาม ไม่เพียงความกล้าหาญมุ่งมั่น หากยังเปี่ยมด้วยความกรุณาโอบอ้อมอารี

นอกจากความสนุกของเนื้อเรื่องอันว่าด้วยมิตรภาพ ความฝัน เส้นทางการต่อสู้ตามแบบฉบับลูกผู้ชายแล้ว อุปนิสัยของซุนโกคูที่โทริยามะ อากิระ สร้างขึ้น ได้กลายเป็นค่านิยม เป็นรากฐานอันทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการ์ตูนหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าทรงผมตั้งๆ ชี้โด่ชี้เด่ของนารุโตะแห่งนินจาคาถาฯ หรือกอร์น จากฮันเตอร์ เอ็กซ์ ฮันเตอร์ หรือเรื่องใดๆ ก็ตามที่พระเอกของเรื่องไว้ผมทรงนี้ หากไม่เป็นเพราะได้รับอิทธิพลโดยไม่รู้ตัว ก็น่าจะเป็นไปในทำนอง “บูชาครู” ต่อโทริยาม่า รวมถึงอุปนิสัยตรงไปตรงมา ยอมหักไม่ยอมงอ ซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นคุณลักษณะ คุณสมบัติสำคัญของพระเอกในการ์ตูนหลายๆ เรื่อง

ขณะที่ ดวง-วีระชัย ดวงพลา นักเขียนการ์ตูนวัย 20 ปี ที่มีผลงานคุณภาพได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า Shockolate, I-Am, เด็กชายตุ๊กตา บอกถึงเสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องวันพีซว่า มุมภาพที่เออิจิโระ โอดะ วาดไว้อย่างน่าตื่นตานั้น ช่วยพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านเข้าถึงจิตใจของตัวการ์ตูน ทำให้เปิดอ่านแล้ววางไม่ลง นับเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้ดวงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน

มองอีกมุมหนึ่ง แม้ซุนโกคูคล้ายจะเป็นตัวแทนของลูกผู้ชายในอุดมคติ แต่ขณะเดียวกัน การ์ตูนญี่ปุ่นมากมายหลายเรื่องก็มีพระเอกหรือตัวเอกที่มีปัญหาในชีวิต มีจิตใจซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มีกิเลส ตัณหา ไม่ต่างจากคนทั่วไป

“การ์ตูนญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องมีมิติของความเป็นมนุษย์ เขาไม่ตัดสินว่าอะไรขาว ดำ อะไรดี อะไรชั่ว เขาไม่สั่งสอนคนอ่าน แต่ให้เราก้าวเข้าไปสัมผัสและเก็บแง่คิดด้วยตัวเอง” ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนการ์ตูนมืออาชีพเจ้าของลายเส้นที่ผสานความละเมียดละไมและอารมณ์ดิบหยาบไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ให้ทรรศนะที่ไม่อาจมองข้าม พร้อมยกตัวอย่างการ์ตูนในดวงใจอย่างแบล็กแจ็ค ผลงาน เท็ตสึกะ โอซามุ และ เบอร์เซิร์ก การ์ตูนที่ผู้มองเพียงผ่านไม่เพ่งพิศ อาจกังขาเมื่อเห็นเนื้อหาที่รุนแรงแล้วด่วนตัดสินโดยไม่อ่าน “ระหว่างบรรทัด” ที่นักเขียนต้องการสื่อ

การ์ตูนเรื่อง “แบล็กแจ็ค” ของเท็ตสึกะ โอซามุ เป็นการ์ตูนเรื่องหนึ่งในดวงใจของผม เพราะพระเอกคือนายแพทย์ที่เขาไม่ได้มีเพียงด้านที่ดีงาม ไม่ได้เป็นคนดีหมดจด เขาอาจดูเหมือนคนเลว ใจดำ เอาเปรียบคนไข้ แต่เมื่ออ่านไปคุณจะสัมผัสได้ว่าในทุกการกระทำของเขามันมีเหตุผล อ่านแล้วก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า เขาเป็นมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ”

**จากสังคมอุดมคติ สู่การค้นหาเอกลักษณ์**

เด็กๆ สวมเสื้อคอกระเช้า วิ่งเล่นม้าก้านกล้วย, ความน่าเอ็นดูของหนูแกละ หนูจุก หนูโหน่ง จากฝีมืออาวัฒน์, หนังสือตระกูลหนูจ๋า เบบี้ ตลาดตลก ที่ชวนให้เกิดรอยยิ้ม ไม่อาจปฏิเสธว่า ผลงานเหล่านี้สร้างความอบอุ่นละมุนละไมให้แก่เด็กๆ (ในอดีต) หลายต่อหลายคน

การ์ตูน 16 หน้า ราคาเล่มละ 1 บาทที่ต่อมาขยับราคาขึ้นมาเป็น 5 บาท ก็ยังคงผูกเรื่องอาถรรพ์เร้นลับ เกี่ยวกับภูตผีนางพรายออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีกลุ่มผู้อ่านที่ยังคงให้ความสนใจและติดตามเรื่อยมา

การ์ตูนไทยสองประเภทข้างต้นนับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชัดเจนพอสมควรในเรื่องของอารมณ์ และเนื้อหาที่ต้องการสื่อ ไม่ว่าการเป็น “สังคมอุดมคติ เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและอารมณ์ขัน-เด็กๆ พูดจาไพเราะ อาจแก่นเซี้ยวไปบ้าง แต่เนื้อแท้แล้วมีจิตใจดีงาม” หรืออย่างหลังที่ให้ภาพ “สังคมที่ยังคงเปิดรับเรื่องราวของสิ่งลี้ลับ-อาถรรพ์-อาฆาต-บาปบุญคุณโทษ ความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่มองไม่เห็น”

ช่วงทศวรรษ 90 มีนักเขียนการ์ตูนไทยหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น จากการก่อเกิดของนิตยสารการ์ตูนรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ที่เปิดรับผลงานการ์ตูน อาทิ ไทคอมมิค ในเครือสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ หรือ C-kids นิตยสารการ์ตูนในเครือสยามอินเตอร์คอมมิคส์ รวมถึง Boom ในเครือเนชั่นเอ็ดดูเท็นเมนท์ที่มีการตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนการ์ตูนไทยสมัครเล่นที่ได้รับคัดเลือก นอกเหนือจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่ทางสำนักพิมพ์ได้รับลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์

ในช่วงเวลาดังกล่าว นับว่าแวดวงนักเขียนการ์ตูนแนว “คอมมิค” หรือ “มังงะ” มีความคึกคักตื่นตัวอย่างมาก แม้ลายเส้นจะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนผู้หญิงมีดวงตากลมโต ขนตางอนยาว พล็อตเรื่องยังมีจุดอ่อนด้อยอยู่บ้าง หากก็ถือเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นที่ช่วยจุดไฟฝันและเป็นแรงผลักดันให้นักอ่านชาวไทยหลายคนหันมาหยิบจับดินสอ-ปากกา ถ่ายทอดจินตนาการออกมาบนแผ่นกระดาษ นักเขียนการ์ตูนหลายคนนำวรรณคดีรามเกียรติ์ พระอภัยมณีมารื้อสร้าง นำเสนอผ่านพล็อตเรื่องที่คล้ายจะเดินตามสูตรของการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่ารูปร่างหน้าตาทรงผมตัวการ์ตูน I-tem ที่มีให้เก็บสะสม แต่ไม่ว่าอย่างไรคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่นักเขียนนำเสนอนั้นก็นับเป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายาม มุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝน และค้นหาลายเส้น เอกลักษณ์ของตนเอง แม้อาจยังยึดติดอยู่ในขนบของการมุ่ง “แสดงความเป็นไทย” แต่ขณะเดียวกันลายเส้นและคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนก็ยังคงได้รับอิทธิพลจาก “มังงะ”

** “ก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งดี-เลว” หมุดหมายที่มุ่งหวัง**

“การ์ตูนของผมไม่เสนอหน้าไปสั่งสอนใคร” ทรงศีล ทิวสมบุญ เอ่ยขึ้นอย่างนุ่มนวลทว่าชัดเจนในหมุดหมายที่เขามุ่งหวังทั้งต่องานของตนเองและงานที่อยากเห็นในแวดวงการ์ตูนไทย

“ผมเชื่อถือและรักในความเป็นเอเชีย หากถามว่าความเป็นเอเชียคืออะไร มันก็คือ...การเปิดใจกว้าง ไม่สั่งสอน ไม่ตีกรอบว่าอะไรขาว อะไรดำ แบบไหนผิด แบบไหนถูก”

กล่าวได้ว่า ทรงศีลนำเสนอแนวคิดที่ว่านี้ไว้ในตอนจบของ “ถั่วงอกกับหัวไฟ” เรื่องราวการเดินทาง 3 ชีวิต ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือหนุ่มน้อยนิสัยมุทะลุผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักพ่นกราฟิตี้มือหนึ่ง หนุ่มอ่อนแอผู้มีจิตใจอ่อนโยน และหมาน้อยอีกหนึ่งตัว หากความต่างนั้นก็เปรียบเสมือนสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาเอาไว้ด้วยกัน

แต่ความเป็นเอเชียอันเป็น “วิถีที่เปิดกว้าง” นี้ ทรงศีลเน้นย้ำอย่างชัดเจน ใส่ใจ และพิถีพิถันอย่างยิ่งใน “Nine Life” ผลงานรวมเล่มล่าสุดของเขา ที่ว่าด้วยการเดินทางแสวงหาความหมายในชีวิตของแมว 4 ตัว

ทรงศีลยังคงย้ำกับเราว่างานของเขา นำเสนอมิติของความเป็นมนุษย์ที่รอบด้าน ไม่นำเสนอเพียงด้านที่สวยงามด้านเดียว

“เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ชีวิตนะครับ มนุษย์เราไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะหรือว่ารอยยิ้ม โลกนี้ไม่ได้มีแต่สีขาว ขณะเดียวกันในสีดำมันก็ไม่ได้มีแค่สีดำ มันยังมีสีเทา สีเทาเข้ม มีหลายเฉดสี มนุษย์ก็เหมือนกัน สิ่งที่ผมกำลังพยายามและใส่ใจมากๆ ณ ตอนนี้ คือ ทำอย่างไรจะให้มี “เสียง” ของผมอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นให้น้อยที่สุด ผมอยากทำตัวเองให้ไร้ตัวตน ถ้าเป็นไปได้ผมไม่อยากได้เครดิตด้วยซ้ำนะครับว่าผลงานเรื่องนั้นๆ เป็นของผม เพราะผมอยากให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่าใครเขียน อยากให้เรื่องราวมันสื่อเข้าไปในใจเขาได้ ให้เขาละเลียดและเก็บแง่คิดจากมันด้วยตัวเอง”

ดวง นักเขียนการ์ตูนหนุ่มไฟแรงที่มีเอกลักษณ์ลายเส้นเฉพาะตัวคือคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนที่ดูหม่นหมองทว่ามีความละเมียดงดงาม เป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่สนุกกับการวาดการ์ตูนพล็อตเรื่อง “หม่นหมอง” ในท่วงทำนองที่เขาบอกว่าคล้ายๆ “ทิม เบอร์ตัน” ผู้กำกับในดวงใจ

“เพราะผมเชื่อว่าในความอัปลักษณ์มีความงาม” เขามีแนวคิดที่คล้ายกับทรงศีลในแง่มุมที่ว่า ในความดีใช่ว่าไม่มีความชั่ว และในความเลวร้ายใช่ว่าไร้ซึ่งความดีงาม ซึ่งก็คือการไม่ตัดสินอะไรด้วยเส้นแบ่ง ผิด-ถูก-ดี-เลว นั่นเอง

หากถามว่าวันนี้การ์ตูนไทยในสายตาพวกเขาเป็นอย่างไร?

ทรงศีลมองว่า “ลายเส้นของนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่ผมได้อ่านผ่านตา ผมยอมรับว่าดีแล้วครับ ลายเส้นเขาแข็งแรงแล้ว ถ้าจะพัฒนาก็ไปได้ดีเลย แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือพล็อตเรื่องที่แข็งแรง ถ้าให้เลือกระหว่างลายเส้นเจ๋งๆ กับพล็อตดีๆ แข็งแรงๆ ผมเลือกอย่างหลังนะ เพราะความน่าสนใจของการ์ตูนผมว่าคุณค่าสำคัญอยู่ที่พล็อตเรื่อง”

ขณะที่ดวงทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพนั้น อยู่ที่การฝึกฝน พัฒนาฝีมืออยู่เสมอ อย่าหยุดนิ่งอยู่กับที่

“เลือกมองต้นแบบเจ๋งๆ แล้วก้าวไปให้ถึงจุดนั้น พอไปถึงแล้วก็อย่าหยุด พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”

รักในการเขียนการ์ตูน เอาใจใส่กับงานให้มาก และค้นให้พบเอกลักษณ์ที่แท้ของตัวเอง...

เพราะสิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติสำคัญที่จะนำพา “การ์ตูนไทย” ให้ก้าวต่อไป ไม่หยุดนิ่ง

*****************

เรื่อง-รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล







กำลังโหลดความคิดเห็น