xs
xsm
sm
md
lg

XKIN6 การผสม (ข้าม) พันธุ์ของงานศิลปะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โปรเจ็กต์ XKIN6 (สกินซิกส์) เป็นการรวมตัวกันของผลงานศิลปะที่มีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและเนื้อหาของศิลปิน 6 คนที่พยายามทำลายโครงสร้างของความป็นเอกภาพ และขนบของการจัดวาง รวมทั้งการติดตั้งผลงานแบบศิลปะในพื้นที่ที่ไม่ไช่กล่องสี่เหลี่ยม ผนังสีขาว แบบห้องนิทรรศการทั่วไป

มันเป็นการที่ศิลปินได้กำหนดโครงสร้างของการจัดวางผลงานไว้อย่างหลวมๆ และค่อยๆ บีบจับมัดผสมผสาน เสมือนให้ XKIN6 เป็นการทดลองที่เน้นความสำคัญกับกระบวนการสร้างงาน การรวมตัว การคิด และการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยบันทึกกระบวนการทุกขั้นตอนของการทำงานเป็นภาพยนตร์ ในระยะเวลานับตั้งแต่เริ่มโครงการ

ศิลปินทั้ง 6 คนนี้ประกอบด้วย โลเล - ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ศิลปินภาพวาด, P7 ศิลปินกราฟิตี้, บุญชัย อภินทนาพงศ์ ศิลปินวิดีโออาร์ต, ชยาภรณ์ มณีสุธรรม ศิลปินช่างภาพ, ถนอมขวัญ ชุติธนวงศ์ ศิลปินนักออกแบบ และ หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ ศิลปินภาพวาด

นอกจากผลงานศิลปะแล้ว ผู้ชมจะได้เห็นขั้นตอนการทำงานของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้น จนเป็นภาพที่ชัดเจน ที่ เจ แกลเลอรี่ ชั้น 4 เจ อเวนิว ทองหล่อ15

แตกต่าง ร่วมสมัย และไม่ใช่เรื่องของคนสองคน
โครงสร้างของ XKIN6 (สกินซิกส์) คือศิลปิน 6 คนมารวมกัน เป็นการมารวมกันของศาสตร์และศิลป์แต่ละสาย แล้วใช้กระบวนการมาเป็นเนื้อหา กระบวนการที่ว่านี้ผู้ชมสามารถรับชมได้จากวิดีโอที่พวกเขาเอามาเปิดให้ดู

"การรวมตัวกันครั้งนี้เป็นการมารวมตัวของภาคที่ไม่เหมือนกัน พอมารวมกันแล้วจะอยู่ร่วมกันได้ยังไง ไปด้วยกันได้ไหม สิ่งที่แต่ละคนนำมาเสนอมันก็ทำให้ผู้ชมคิดตามไปด้วยว่า คนนี้สนใจอะไร, คนนี้สนใจเรื่องความงามอย่างเดียว อีกคนหนึ่งสนใจเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีบางอย่างที่เขาตั้งขึ้นมา ส่วนผมสนใจเรื่องความขัดแย้ง งานที่ผมนำมาแสดงครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นงานเพ้นติ้งติดผนังธรรมดา แต่ว่าผมลองทำอะไรที่เป็นวิดีโอผสมกับเพ้นติ้ง คือทุกคนมีประเด็นที่จะพูด และสิ่งที่ทำให้ผู้ชมได้พบ และน่าสนใจก็คือ นักโฆษณานักออกแบบเขาคิดอะไรเมื่อออกมาจากกรอบของการทำงานในระบบ กราฟิตี้เขาคิดอะไร หรือนักทำวิดีโอเขาคิดอะไร อันนี้เป็นเนื้อหาที่สำคัญ" โลเล -ทวีศักดิ์ ศรีทองดี อธิบายถึงนิทรรศการงานสร้างที่พวกเขากำลังช่วยกันติดตั้งจัดวางก่อนจะถึงวันเปิดงาน

โลเลบอกว่างานนี้เกิดจากแนวคิดของเขากับ P7 ศิลปินกราฟิตี้ผู้เป็นเพื่อนรัก พวกเขาอยากทำงานร่วมกัน แต่รู้สึกว่าสองคนมันธรรมดาเกินไป พวกเขาอยากให้มีความหลากหลายมากกว่าเรื่องของคนสองคน

ทั้งสองก็เลยชวนเพื่อนๆ ที่มีแนวทางน่าสนใจ ไม่ใช่ศิลปินรุ่นใหญ่ แต่เป็นรุ่นที่อยู่ในวัยที่ใกล้เคียงกัน คือรุ่นกลางๆ เกือบค่อนไปทางดึก ประมาณนั้น...

"นิทรรศการนี้เป็นการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความแตกต่าง และร่วมสมัย ทุกคนทำงานที่ร่วมสมัยหมดเลย กราฟิตี้ ดีไซเนอร์ นักดนตรี เหมือนกับที่บอกว่าความแตกต่างมารวมกัน ณ เวลานี้ ถ้าเวลาผ่านไปอีก 5 ปีทุกคนอาจไม่คิดแบบนี้แล้ว คือไม่ได้แสดงว่าคนไหนวาดรูปเก่ง วาดรูปอะไร แต่แสดงรูปแบบของแต่ละคน" โลเลพูดไปพลางติดกระดาษไปพลาง

งานนี้ผู้ชมจะได้ดูทั้งผลงาน กระบวนการทำงาน และวิธีการคิด ผู้ชมจะได้เห็นว่า คนนี้เป็นดีไซเนอร์ คนนี้เป็นช่างภาพ คนนี้เป็นกราฟิตี้ คนนี้วาดรูป แล้วจะตอบโต้กันยังไงบ้าง และผู้ชมจะได้สังเกตความแตกต่าง

"จะได้อะไรก็อยู่ที่ผู้ชม อย่างที่บอก เดี๋ยวนี้นักโฆษณาเขาคิดอะไร กราฟิตี้เขาคิดอะไร ช่างภาพเขาคิดอะไร สิ่งนั้นคือสิ่งที่ได้จากแต่ละคน เรียกว่างานนี้แทบจะสลายความว่าศิลปะคืออะไร มีเดียอะไร เพราะมันสามารถเป็นอะไรก็ได้" พูดจบ โลเลฉีกกระดาษที่อยู่ในมือเสียงดัง... แคว้กกก!

ขณะที่เรานั่งคุยกัน โลเลก็ทำงานติดตั้งภาพวาดของเขาไปด้วย ศิลปินแต่ละคนก็ช่วยกันทำงานตามมุมต่างๆ ของแกลเลอรี่ และนี่ก็คือการทำงานศิลปะที่สนุกๆ ศิลปินได้มาคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกัน แบบว่า... มาจอยกันๆ

เราถามโลเลต่อว่า ทำไมศิลปินทั้ง 6 คนนี้ต้องพยายามทำลายโครงสร้างของความเป็นเอกภาพ และขนบของการจัดวาง รวมทั้งการติดตั้งผลงานแบบศิลปะ ในพื้นที่ที่ไม่ไช่กล่องสี่เหลี่ยม ผนังสีขาว แบบห้องนิทรรศการทั่วไป - ทำไม, ความป็นเอกภาพ และขนบของการจัดวางมันเลวร้ายตรงไหน ?

"รู้สึกเบื่อน่ะ คุณรู้จัก Deconstruction (ทฤษฎีการรื้อถอน) ใช่ไหม ก็เหมือนกับว่าถ้าเราอยู่ในขนบก็คือเราจะต้องติดรูป การติดรูปนี่ต้องติดรูปแบบไหน ใช่ไหม ติดรูปเรียงแบบนี้ๆ แต่ยุคก่อนต้องทำแบบนั้นไง พอยุคนี้มันอาจมีคนเบื่อ ไม่อยากติดแบบเดิมแล้ว อยากติดแบบใหม่ หรือทำงานศิลปะ ไม่ต้องไปเลียนแบบสิ่งที่เขาเคยทำมาแล้ว แต่สิ่งที่เราทำมันก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรหรอก แค่ไม่อยากทำแบบเดิมเท่านั้นเอง เอาแค่ในห้องนิทรรศการนี้ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สเปซที่งานศิลปะจะเข้ามาอยู่ มันไม่ใช่ผนังเรียบๆ ตอนนี้อาจจะนึกไม่ออก เพราะงานยังไม่เสร็จ อย่างเกี้ยมอี๋ (บุญชัย อภินทนาพงศ์ ศิลปินวิดีโออาร์ต) ถ้าสมัยก่อน หรือบริบทของการจัดห้องวิดีโอมันต้องทำเป็นห้องเรียบๆ หรือเปล่า ทีนี้เราก็คิดขึ้นมาใหม่เลย เราจะติดรูปแต่เราไม่ใช้ผนังแบบเดิม แล้วเราก็จะมีวิดีโอด้วยใช่ไหม เราก็จะมีผนังแบบวอลเปเปอร์อยู่ด้านนี้ แค่นี้ แค่มาจัดที่นี่ (เจ แกลเลอรี่) ก็ไม่ใช่ขนบอยู่แล้ว"

เรามองหาศิลปินที่จะเป็นเหยื่อรายต่อไป และเป็นจังหวะที่ศิลปินสาวคนหนึ่งกำลังว่างมือจากการงานของเธอพอดี โลเลชี้มือไปที่ศิลปินสาวคนนั้น แล้วบอกว่า "นั่นคือติ้ว - ชยาภรณ์ มณีสุธรรม ศิลปินช่างภาพ ลองเข้าไปคุยสิ" โลเลบอก เรารีบผละจากโลเลไปหาติ้วทันที

ความสันโดษของติ้ว
ติ้ว - ชยาภรณ์ มณีสุธรรม (Musetew) ทำอาชีพด้านช่างภาพและเป็น curator จัดงานทางด้านศิลปะและเพลง หลังเรียนจบจากอเมริกาเธอกลับมาถ่ายภาพให้กับนิตยสาร Katch และปกอัลบั้มให้กับหลายศิลปินในค่าย Bakery Music เธอทำงานถ่ายภาพให้กับวง "โมเดิร์นด็อก" มาโดยตลอด และถ่ายภาพนิ่งให้กับหนังเรื่อง แสงศตวรรษ ของผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรฐกุล อีกด้วย

"งานนี้ติ้วนำเสนอภาพเกี่ยวกับความสันโดษ ความสันโดษนี้หมายถึงความพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ พอใจกับการอยู่คนเดียว ความสุขของการอยู่คนเดียว ความสุขของการอยู่กับคนอื่นด้วย แล้วความสุขกับสิ่งที่เรามี กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนภาพรวมของงานนี้ ในความคิดของติ้ว ติ้วคิดว่าบางคนวางกรอบให้กับตัวเองเอาไว้ รวมถึงวางกรอบให้กับงานของตัวเอง แต่บางทีถ้าเราลองไปทางอื่นบ้าง เราอาจจะเจออะไรใหม่ๆ และเหมาะกับเรามากกว่าหรือเปล่า งานนี้เราก็อยากทำอะไรที่ไม่เหมือนกับที่ผ่านๆ มา คือเราจะไม่บอกกันเลยว่าแต่ละคนจะทำอะไรยังไง เราจะไม่สร้างคอนเซ็ปต์ เราจะไม่อะไร พอมาถึงเราจะเอางานมาลงเลย แล้วดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร จะดีไหม อาจจะไม่ดีก็ได้ (ยิ้ม) แล้วก็จะมีการฉายวิดีโอให้เห็นภาพกระบวนการทำงาน เราก็แค่ทดลองดูนะคะว่ามันจะเป็นอย่างไร เราไม่ได้บอกว่าการที่ฉีกออกมามันจะดีกว่าของเดิมหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำดู" ติ้วให้ความเห็น

ขบถกับการทำงานของตัวเอง
เราหันไปถามเปิ้ล - ถนอมขวัญ ชุติธนวงศ์ ศิลปินนักออกแบบ ที่กำลังทำงานของเธออยู่ใกล้ๆ เปิ้ลบอกว่าเธอทำงานมาทั้งหมดสามชิ้น และทั้งหมดจะพูดเกี่ยวกับการเดินทางและขยะ...

"เหมือนเวลาเราเดินทางไปไหน เราขนอะไรไปก็ไม่รู้ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ของที่เราขนไปมันไม่ได้เป็นของที่เราใช้ แต่เราคิดว่ามันต้องใช้ ในชีวิตประจำวัน ในกระเป๋าของทุกคนก็จะมีของอยู่ในกระเป๋า แต่ถามว่ามันได้ใช้แค่ไหนในชีวิตของเรา มันก็เหมือนกับขยะ"

เปิ้ลบอกว่าการมาร่วมงานนี้ไม่เหมือนกับงานประจำที่เธอทำอยู่...

"ต่างกันมากๆ!" เธอว่า

"เพราะปกติเราจะทำงานที่มีโจทย์ทุกวัน ต้องทำให้ตรงโจทย์ แต่งานนี้เราจะฟรีมากๆ แล้วก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องหาโจทย์ให้มันเอง เราต้องหาคอนเซ็ปต์ให้มันว่าทำเรื่องอะไร แล้วในโปรเจ็กต์ที่ชื่อ สกินซิกส์ มันแปลว่าพื้นผิว หรือผิวสัมผัสของคนหกคน เรารู้สึกว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเกี่ยวกับการเดินทาง ก็ต้องหาวิธีที่จะเล่าเรื่อง เราว่างานนี้เป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ดีกว่า เราใช้คำว่าเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ที่ทุกคนเขาพยายามทำให้มันไม่เหมือนกับการทำงานที่ผ่านๆ มา ทุกคนก็หาวิธีการไดเร็กชั่นที่แตกต่างจากวิธีที่ตัวเองเคยทำ หรือจะเรียกว่า 'ขบถ' มั้ง มันคงจะไม่รุนแรงแบบฉีกอะไรขนาดนั้น เหมือนเราเป็นดีไซเนอร์ทำงานบนกระดาษ แต่งานนี้ไม่ใช่ งานนี้เราทำงานที่เป็นออบเจ็กต์ เรียกว่าการขบถกับการทำงานของตัวเองมากกว่า"

เปิ้ลบอกว่างานนี้เป็นการทำงานที่สนุกๆ กับเพื่อนๆ และยังถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตัวเธอเองอีกด้วย

นั่งเก้าอี้รถไฟไปกับโอ๋ Futon
อีกมุมหนึ่งไม่ไกล มีหญิงสาวตาโต หน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนนั่งอยู่ เธอกำลังง่วนอยู่กับของกะจุ๊กกะจิ๊กหลายอย่างที่วางอยู่ตรงหน้า แน่นอนว่า เธอโตพอที่จะไม่มานั่งเล่นขายของแล้ว (มั้ง) เธอคือโอ๋ - หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ ศิลปินภาพวาด และนักดนตรีวง Futon วงดนตรีที่เด็กแนวแห่งประเทศไทยรู้จักกันดี งานนี้โอ๋มีเก้าอี้รถไฟ 6 ตัวมานำเสนอ

"โอ๋เพ้นต์เป็นคาแรกเตอร์ของโอ๋ลงไปบนเก้าอี้ ที่โอ๋เลือกเก้าอี้ เพราะโอ๋ชอบคิด แล้วโอ๋ก็คิดว่า เอ๊... เวลาโอ๋คิดงานโอ๋ชอบอยู่ที่ไหน โอ๋ชอบอยู่บนรถไฟมาก มันเปลี่ยนวิวไปเรื่อยๆ แต่มันนิ่ง มันมีความซ้ำ มันทำให้โอ๋รู้สึกว่าเหมือนจิตโดนปล่อย ทำให้คิดงานได้ไกล และสายตามันทอดไปได้ไกลสุด โอ๋เลยชอบนั่งรถไฟ รู้สึกว่ามันเป็นตัวแทนโอ๋ โอ๋ก็เลยเลือกเป็นเก้าอี้รถไฟ คือโอ๋ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเก้าอี้จะต้องรอให้คนมานั่ง โอ๋ก็เลยคิดว่าเราน่าจะวาดให้มีคนนั่งอยู่แล้ว แต่ตอนทำจริงๆ กลัว (หัวเราะ) เพราะว่าวาดให้เหมือนคนจริงนั่งมันน่ากลัว โอ๋ก็เลยหลอน ก็เลยเปลี่ยนโพซิชั่นนิดหน่อย ทำให้ดูไม่เหมือนนั่งมาก แล้วที่เลือกเป็นแบบผีเสื้อ เพราะว่าโอ๋อยากให้เก้าอี้ตัวนี้มันกลืนไปกับธรรมชาติ, พูดถึงงานนี้ คือเราทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มเลย มีการประชุม มีการพูดคุยกัน สนุกมาก เราทำโปสต์การ์ด ทุกคนก็ถามว่าทำโปสต์การ์ดยังไงดี อ๋อ! ไหนๆ ก็อยู่กันครบแล้วก็วาดกันเลย (หัวเราะ) แล้วทุกคนก็ลงมือวาดๆ แล้วก็เอามารวมกัน สนุกมากเลยค่ะ ทำงานแบบไม่มีความกดดันใดๆ งานนี้ตั้งแต่การรวมตัวของศิลปินแล้วที่มีความแตกต่าง การที่มีทั้งพี่ที่ทำกราฟิกดีไซน์ พี่ที่เป็นช่างภาพ มีเพ้นติ้ง มีกราฟิตี้ มีวิดีโอ งานมันก็ต้องต่างอยู่แล้ว โอ๋ว่านะ" โอ๋ว่าแล้วโอ๋ก็ ยิ้ม...

กราฟิตี้ของ P7
เราเดินเข้าไปในห้องหนึ่งที่ศิลปินกราฟิตี้ P7 กำลังทำงานของเขาอยู่ เขาวางมือจากงานตรงหน้า แล้วเดินเข้ามาคุยกับเรา

"งานนี้เป็นการเอาความต่างมารวมกัน นี่คือจุดมุ่งหมายแรก พยายามไม่ควบคุมหรือรักษาภาพรวม ปกติงานนิทรรศการ ถ้าเป็นกลุ่มยิ่งต้องมีคอนเซ็ปต์รวม แต่งานนี้เราเอาความต่างมารวมกัน ความต่างนี้มันจะทำให้งานของแต่ละคนขัดแย้งกับอีกงานหนึ่ง แล้วก็จะเห็นภาพชัดขึ้นๆ ในความต่างน่ะครับ งานนี้มันเป็นเรื่องของการ เบรนสตอร์ม กันเข้ามาแล้วก็เล่นสดกับพื้นที่ตรงนั้น คือเอาอย่างละนิดละหน่อยมาผสมกัน คืองานนี้จะพยายามไม่เซตอัพให้มันเป็นระบบโครงสร้างของศิลปะที่เวลาจัดนิทรรศการให้มันตายตัวมาก เรื่องของสเต็ป อะไรอย่างนี้ ตรงนี้เราพยายาม เหมือนตัวเองได้ทดลองกับตัวเอง คือทำลายระบบของตัวเองด้วย
"อย่างนักออกแบบเขาทำกราฟิก ทำคอมพ์ เขาก็มาลองเล่นกับพื้นที่ดู ลองทำลายระบบการทำงานของเขาที่ทำอยู่ อย่างโอ๋เขาเคยเพ้นต์ลงบนเฟรมผ้าใบ กระดาษ ก็ลองวาดลงบนไม้ดูว่าจะเจอปัญหาอะไร ทุกคนก็พยายามทดลอง งานนี้ให้อิสระมาตั้งแต่เริ่มต้น อย่างตัวผมเวลาไปแสดงงาน แสดงเดี่ยวผมจะไม่มีคอนเซ็ปต์ เจ้าของงานเขาจะไม่ได้ดูรูปของผมก่อน ถ้าให้ผมทำผมก็จะทำมา แต่ผมยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ผมก็จะเล่นกับตรงนี้ ทุกงานผมก็จะทำให้มันต่าง รูปแบบหรือฟิลลิ่งอะไรก็ต่าง
"สมมติว่างานนี้ผมเขียนตัวนี้ แต่งานต่อไปคุณก็ไม่รู้ว่าผมเขียนตัวอะไร ผมก็ยังไม่รู้ว่าผมจะเขียนตัวอะไร งานนี้ก็เหมือนกัน รูปแบบนี้ก็ไม่ได้ซ้ำกับงานที่ผ่านมา งานนี้ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ผมพยายามต่างกับตัวเอง คือพยายามขัดแย้งในตัวเอง" นี่คือแถลงการณ์แบบม้วนเดียวจบของ P7 ศิลปินกราฟิตี้ผู้ถูกเชิญให้ไปแสดงงานที่เมืองนอกมาแล้วหลายครั้ง กระดูก และชั่วโมงบินก็เลยไม่ต้องพูดถึง

การทดลองของศาสตราจารย์อุ้ย
ในห้องถัดไป เกี้ยมอี๋ - บุญชัย อภินทนาพงศ์ ศิลปินวิดีโออาร์ต กำลังปีนบันได ดูเหมือนเขาพยายามเอาอะไรบางอย่างไปติดไว้บนเพดาน เรามองไปรอบๆ ห้องเห็นภาพเขียน ภาพถ่าย และจอฉายวิดีโออยู่เต็มไปหมด ไม่นานเกี้ยมอี้ก็ยอมลงจากบันไดมาคุยกับเราดีๆ ...

"งานนี้เราลองทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมา เช่น ภาพเขียน ภาพถ่าย และงานปั้น เอามาจัดวางให้เป็นเหมือนงานอินสตอลเลชั่นชุดหนึ่ง ทั้งหมดมันจะเป็นเหมือนงานชิ้นเดียว ผมเรียกงานชุดนี้ว่า 'การทดลองของศาสตราจารย์อุ้ย' ก็จะเป็นแบบห้องนี้ถูกบันทึก มีทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพเขียนผมก็เหมือนเวลานักวิทยาศาสตร์ทำการทดลอง มีการจด มีการเขียน มีบันทึกอะไรไว้ แล้วในห้องนี้ก็จะมีวิดีโอ เหมือนศาสตราจารย์อยู่ที่นี่ เหมือนเป็นห้องของเขา งานนี้เราอยากทำอะไรที่ไม่ใช่สิ่งถนัดของเรา" เกี้ยมอี๋ - บุญชัย อภินทนาพงศ์ กล่าวถึงผลงานของเขา

"ตอนแรกผมยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง วันหนึ่งพอจะเริ่มต้น คือที่บ้านผมเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงแมวเลี้ยงหมาเลี้ยงไก่ คือเราเลี้ยงสัตว์เราก็ผูกพันกับมัน สุดท้ายวันหนึ่งไก่ที่บ้านตาย แล้วเราก็รู้สึกเสียใจไปกับมัน แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากจะบันทึก แต่เราไม่สามารถบันทึกภาพมันได้อีกแล้ว โอเค เรามีภาพถ่ายของมันมาใช้ แล้วมันจะบันทึกอะไรได้นอกจากเมกเรื่องขึ้นมา ก็เขียนรูปบ้าง เขียนอะไรบ้าง เราก็เลยลามมาเรื่อยๆ ว่าเราอยากบันทึกครอบครัว อยากบันทึกเหตุการณ์ บันทึกแนวความคิด ก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นชิ้นงานอย่างที่เป็นอยู่
"ผมเลยไม่มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ขบถหรือไม่ขบถ แต่ผมมองที่วิธีคิดมากกว่าว่ามาจากอะไร ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร คนดูเขาอาจมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นศาสตราจารย์ มันก็เป็นประสบการณ์เหมือนการดูหนัง บางทีเขาไม่ได้เจอตัวผู้กำกับ เขาก็ต้องทำความเข้าใจมันเอง แล้วก็ต้องหาว่าในนี้มันเล่าอะไรอยู่ ผมมองว่าอย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าสนุกมากกว่าสำหรับคนที่มาดูงาน"

นี่คือการมารวมกันของศาสตร์แต่ละสาย และเราก็ได้เห็นความขัดแย้งที่มีเสน่ห์ เรียกได้ว่างานนี้ปล่อยฟรี ไม่มีมาตรฐาน ไม่ต้องพะวงกับอะไรทั้งนั้น เพราะพวกเขาก็ไม่ได้กลัวว่ามันจะสำเร็จหรือล้มเหลว

*************************

เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ

*นิทรรศการ XKIN6 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 - 27 ธันวาคม ที่ เจ แกลลอรี่ ชั้น 4 เจ อเวนิว ทองหล่อ15













กำลังโหลดความคิดเห็น