xs
xsm
sm
md
lg

พจนารถ แก้วผลึก จากพันธมิตรสู่ ส.ส. คะแนนอันดับหนึ่งของชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลยังคงยักแย่ยักยันด้วยอิทธิฤทธิ์ใบเหลือง-ใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ได้รับการรับรองจาก กกต. ต่างก็ทยอยเข้ารายงานตัว

...ก็อย่างเป็นที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา มีกรณีช้างล้มในหลายเขต หลายพื้นที่ และอีกพื้นที่หนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้ที่อื่น พร้อมๆ กับสร้างเสียงเฮฮาให้กับพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์คงหนีไม่พ้นพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่เหนียวแน่นชนิดนอนมาของพรรคชาติไทย

เมื่อปรากฏว่าไม่มี ส.ส. จากพรรคชาติไทยคนไหนได้รับเลือกตั้งสักคนเดียว พรรคประชาธิปัตย์กวาดเรียบทั้งจังหวัด

ที่น่าจับตาที่สุดคือ ส.ส. หญิงหน้าใหม่หมาดแห่งวงการการเมืองที่ชื่อ พจนารถ แก้วผลึก หรือ เจ๊หมวย ของพี่น้องพันธมิตรฯ และยามเฝ้าแผ่นดิน หลายคนที่เคยร่วมขับไล่อดีตผู้นำประเทศที่ท้องสนามหลวงอาจจะจดจำใบหน้าของเธอได้ ใบหน้าของผู้หญิงที่ลงสมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรกและก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนที่สูงที่สุดของจังหวัดชลบุรี

เราจะไปทำความรู้จักเธอ...

1

ปี 2549 ที่เกิดการประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ท้องสนามหลวง นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตอีกบทหนึ่งของผู้หญิงตัวเล็กวัย 48 ปีคนนี้

พจนารถเป็นคนชลบุรีโดยกำเนิด อาศัยอยู่ที่อำเภอบางละมุงมาตั้งแต่จำความได้ ศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนบางละมุง แล้วต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนวัดที่ท่านเจ้าอาวาสอนุญาตให้จัดเวทีพันธมิตรที่บางละมุงเป็นครั้งแรก หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษา เธอจึงต้องข้ามจังหวัดไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยครู จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกได้ว่ากว่าค่อนชีวิตเธอพักพิงอยู่กับชลบุรี

เธอเล่าว่าหลังจากศึกษาจบ เธอกลับมาเป็นครูโรงเรียนอนุบาลอักษรศึกษาที่บางละมุง เป็นครูอยู่ได้ 5-6 ปี จึงได้ขยับขยายขึ้นเป็นผู้บริหารโรงเรียนและอยู่ในตำแหน่งแห่งที่นี้นานถึง 23 ปี แล้วจึงลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เปิดอพาร์ตเมนต์ให้เช่ากับขายของเล็กๆ น้อยๆ

“จริงๆ พี่ไม่ได้สนใจการเมืองนะ แต่ดูทีวีตอนที่เกิดวิกฤต ที่เรามีผู้นำของประเทศทำไม่ถูกต้อง เอาสมบัติชาติไปขาย รับไม่ได้ถ้าประเทศชาติมีผู้นำแบบนั้น ขนาดสมบัติชาติยังเอาไปขาย เราก็ไม่อยากไปว่าซ้ำแล้วซ้ำอีก พี่ก็ทนดูอยู่ไม่ได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าทำไมพี่จึงต้องออกมาตรงนี้ เคเบิลท้องถิ่นก็ปิด พี่ก็เลยขับรถมาร่วมเวทีกับแฟน มาหลายครั้งหลายหน บางทีก็กลับดึก จากนั้นก็ค่อยมารวมตัวกับพันธมิตรพัทยา ตั้งเป็นกลุ่มขึ้น ก็จ้างรถตู้ รถบัสกันมาตลอด จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร เราก็เปลี่ยนจากกลุ่มพันธมิตรเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน พี่ก็เป็นตัวหลักคอยประสานงาน”

บทบาทผู้ประสานงาน คอยหารถรา อำนวยความสะดวก จากกลุ่มพันธมิตรพัทยา-ชลบุรี แปรเปลี่ยนเป็นชมรมยามเฝ้าแผ่นดินโดยมีเธอเป็นแกนนำ เธอเล่าด้วยว่าการรวมตัวตรงนี้ก็ใช่ว่าจะราบเรียบ เนื่องจากกลุ่มคนที่เข้ามามีความหลากหลายและบางกลุ่ม บางคนก็มีเจตนาแอบแฝง โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่หวังจะหาคะแนนเสียงจากฐานมวลชนอันหนาแน่นของพันธมิตรและยามเฝ้าแผ่นดิน

2

“พี่ไม่เคยสนใจการเมือง ไม่เคยข้องเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นเลย แม้แต่คิดยังไม่เคย เพราะพี่มองดูแล้วมันไม่มีความจริงใจ ในวงการการเมืองมีแต่เรื่องผลประโยชน์ ภาพตัวเรามันก็เป็นชาวบ้าน แล้วค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ถ้าเข้าไปตรงนั้นคงลำบาก พี่จึงไม่ค่อยอยากยุ่ง มีคนชวนไปลงท้องถิ่นก็ไม่เอา

“ตอนที่ตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งก็ไม่มีความคาดหวังเลย เพราะเราคิดว่าเราหน้าใหม่ การเมืองก็ไม่เคยเล่น”

พจนารถพูดหลายครั้งว่าไม่เคยคิดจะลงสนามการเมืองเพราะไม่ค่อยอภิรมย์กับความฟอนเฟะที่เห็นตามสื่ออยู่ทุกวี่วัน อันที่จริงเธอสนใจบทบาทการทำงานการเมืองภาคประชาชนมากกว่าการเมืองในรัฐสภา แต่สุดท้ายเมื่อมีคนทาบทาม รบเร้า บวกกับผู้หลักผู้ใหญ่ในสายพันธมิตรอย่าง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ให้ความไว้วางใจ เธอจึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.

ถามว่าการที่เธอคลุกคลีอยู่กับกลุ่มพันธมิตรและยามเฝ้าแผ่นดินพัทยา-ชลบุรี ทำให้เห็นฐานมวลชนจำนวนมากในพื้นที่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เธอตัดสินใจลงสนามการเมืองหรือไม่

“ไม่เกี่ยว จริงๆ แล้วไม่ได้คิดจะลง พอดีมีพวกที่เขาเล่นการเมืองอยู่แล้วเขามาชวน พี่คิดมาเป็นเดือนกว่าจะมาลงรับสมัคร จะเอาดีหรือไม่เอาดี เข้าไปแล้วจะยังไง พอตอนหลังเขาชวนไปประชุมที่พรรค ได้ไปเจออาจารย์ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เราก็รู้สึกว่าถ้าเราลงไปก็มีผู้ใหญ่หลายๆ คนในพื้นที่คอยให้คำปรึกษา เราจึงตัดสินใจลงสมัคร”

แต่ถึงกระนั้นเธอก็บอกว่าในภาคตะวันออกและชลบุรีมีพลังเงียบและพันธมิตรอยู่เป็นจำนวนมาก

“แต่ไม่เคยคิดเลย กระทั่งวันที่ไปประชุมพี่ก็ยังเฉยๆ นะ จนผู้ใหญ่ในพรรคเขาบอกว่า เอ๊ะ เจ้าหมวยนี่จะเอายังไง ง้างเข้า ง้างออก เพราะเราไม่ได้คิดตรงนั้น เราเองก็ตั้งเป็นองค์กรยามเฝ้าแผ่นดินอยู่แล้ว เป็นการเมืองภาคประชาชน แต่ผู้ใหญ่สายสัดส่วนที่ทำให้เราตัดสินใจ และเรามานั่งคิดดูว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ เป็นพรรคที่ดี เป็นพรรคที่มีความเป็นสถาบัน ถึงแม้ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ครั้งหนึ่งเราได้ลงสมัครกับพรรคที่ดี มีพรรคอื่นมาชวนพี่ก็ไม่เอา พรรคอื่นมาชวนพี่ก็ไม่เอา เงินเยอะพี่ก็ไม่เอา”

ช่วงแรกๆ ของการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ครอบครัวของเธอไม่ค่อยเห็นด้วยนัก โดยเฉพาะคุณแม่ของเธอ แต่สุดท้ายเมื่อเห็นเธอเอาจริงและเดินหน้าหาเสียงเต็มตัว คนในครอบครัวต่างก็ช่วยเธอตระเวนหาเสียง นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มเพื่อนๆ กลุ่มพันธมิตร-ยามเฝ้าแผ่นดิน ที่คอยช่วยหาเสียงให้

ว่าด้วยวิธีหาเสียงก็ไม่ใช่วิธีหวือหวาพิสดารอะไร พจนารถเดินเคาะประตูบ้านขอคะแนน ความที่เป็นคนในพื้นที่ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้านและตัวเธอเองก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่ง คนในพื้นที่ต่างเคยเห็นหน้าค่าตากันมาทั้งนั้น และเธอก็รู้ว่าฐานคะแนนเธออยู่ตรงไหนบ้าง เธอบอกว่าเดินอยู่ 2 เดือน เดินจนสวยไปหมด เธอพูดติดตลกว่า

“กลุ่มก้อนของพี่ในพื้นที่ก็มีเยอะอยู่ มันหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระแสพรรค ความเป็นผู้หญิงของเรา เดินหน้าดำคร่ำเครียดจนคนเขาถามว่าในรูปกับตัวจริงนี่คนเดียวกันหรือเปล่า พี่ก็บอกว่าพี่เดินจนสวยไปหมดแล้ว การลงพื้นที่ และอาศัยที่ว่าเราเป็นอาจารย์อยู่ที่บางละมุง 23 ปี ลูกศิษย์ลูกหาก็มี เขารู้จักเรา แล้วพี่ก็จับได้เบอร์ 1-2-3 คนไม่รู้จะลงอะไรก็กา 1-2-3 (หัวเราะ)”

เนื่องจากพื้นที่หาเสียงค่อนข้าง ถ้าจะให้มารวมตัวกันหาเสียงก็อาจจะไม่ทันการณ์ ผู้สมัครคนอื่นๆ จึงต้องแยกย้ายกันหาเสียงตามแต่จะตกลง โดยต่างฝ่ายก็มียุทธวิธีของตนเอง

คิดว่าการที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เป็นเพราะกระแสพรรคประชาธิปัตย์หรือกระแสพันธมิตร-ยามเฝ้าแผ่นดิน

“กระแสพรรคเป็นส่วนหนึ่ง กระแสพันธมิตรกับกลุ่มก้อนของพี่ก็อาจจะมีส่วนมากกว่า และเราลงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นหน้าใหม่ ออกทุกวัน ตี 5 ก็ไปแล้ว ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง พวกพ้อง ทีมงานก็ช่วยเหลือกันดี”

มีการวิเคราะห์กันว่าการที่ประชาธิปัตย์สามารถกวาดที่นั่งในจังหวัดชลบุรี รวมถึงจันทบุรี ระยอง ตราด ได้ทั้งจังหวัด อาจเป็นเพราะการหายไปของผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออก ‘กำนันเป๊าะ’ สมชาย คุณปลื้ม ขณะที่สนธยา คุณปลื้ม ลูกชายคนโตผู้ต้องรับช่วงจากผู้เป็นพ่อก็ดูจะยังมีบารมีไม่มากเท่า บวกกับการที่สนธยาต้องติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 จึงทำให้ไม่สามารถแสดงบทบาทได้เท่าที่อยากจะทำ

บางสื่อถึงกับกล่าวว่านี่คือยุคล่มสลายของผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออกเสียแล้ว

พูดคุยกับพจนารถในประเด็นนี้ เธอเองก็ไม่ค่อยแน่ใจ...

“อาจจะมีส่วน พี่คิดว่าในเมืองชลมีพันธมิตรและพลังเงียบเยอะ และเขาคงอยากจะเปลี่ยน อยากจะเห็นคนหน้าใหม่ๆ เมืองชลมีหน้าเก่าๆ มานาน ตรงนี้ก็อาจจะมีส่วน พี่ว่ามันมีส่วนประกอบหลายๆ อย่างมารวมกันที่ทำให้พี่ได้รับเลือก”

เราสงสัยว่าเมื่อมายุ่งกับการขับไล่ผู้นำประเทศ การลงสมัครรับเลือกตั้งแบบนี้ ชีวิตด้านอื่นๆ เปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า เธอบอกว่าถ้าในแง่ธุรกิจที่ทำอยู่ก็ไม่มีผลกระทบอะไร เวลาที่จะให้ครอบครัวก็น้อยลงไปบ้าง แต่ทุกคนก็เข้าใจดี

ส่วนถ้าเป็นเรื่องสุขภาพก็แย่พอดู เนื่องจากเธอเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อน ยิ่งในช่วงที่ต้องตระเวนหาเสียงก็ยิ่งหนัก แม้จะหาเสียงได้ แต่เสียงเธอก็แหบหายไปพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าหลังจากนี้คงต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้มากขึ้น เพราะงานในวันข้างหน้าจะต้องหนักกว่านี้อีกหลายเท่าตัว

3

การทำงานหนักหลังจากนี้นอกจากต้องเดินสายขอบคุณคะแนนเสียงที่มอบให้เธอแล้ว การศึกษาเรียนรู้ภารกิจ หน้าที่ของการเป็น ส.ส. ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอจะต้องใส่ใจ รวมถึงการศึกษาปัญหาต่างๆ ในพื้นที่เขตของเธอ

“ด้วยความที่เราเป็นหน้าใหม่ เราก็ต้องดูจากคนเก่าๆ ก่อน ศึกษา ตอนนี้พี่ยังบอกไม่ได้ว่าเรามีบทบาทอะไรในสภาบ้าง เรายังไม่เคยเข้าสภาเลย ต้องคอยปรึกษากับทางผู้ใหญ่ว่า เออ ปัญหาอย่างนี้เราควรจะทำยังไง

“ส่วนตอนนี้พี่กำลังศึกษาเรื่องหลายๆ อย่างในท้องถิ่น ตอนที่พี่ลงพื้นที่พี่ก็จะเห็นปัญหาความยากจน การตกงาน ความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ เล่นพรรคเล่นพวก พวกใครพวกมัน กลายเป็นการแบ่งแยกกันเยอะ คนจนกับคนมี คนที่ไม่มีก็ไม่มีซะเลย พี่ว่าต้องแก้ปัญหาระดับท้องถิ่นก่อน การจัดสรรงบประมาณ ต้องให้ถึงมือประชาชน งบประมาณที่ลงไปก็ต้องทำประโยชน์จริงๆ แต่เราจะต้องลงไปศึกษาก่อน พูดกันตรงๆ คือเรายังไม่รู้เลย”

แม้คนภายนอกอาจจะมองจังหวัดชลบุรีว่าหัวเมืองใหญ่ของภาคตะวันออก เป็นเมืองอุตสาหกรรม และประชากรมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่พจนารถพูดถึงก็มีอยู่จริงและทำท่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งความแตกต่างระหว่างพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบทซึ่งยังมีอยู่มาก

แต่ถึงเวลาจริงๆ เธอจะทำงานดูแลพื้นที่ได้มาก-น้อยแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัย เพราะถ้าพูดกันตามความเป็นจริง เธอเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่ได้มีฐานการเมืองท้องถิ่นรองรับ ไม่ใช่ผู้กว้างขวาง หรือนักธุรกิจใหญ่ในพื้นที่ ดังนั้น บุคลากรที่จะคอยเป็นมันสมอง เป็นแขนขา เพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

“ยอมรับว่ามันก็ลำบาก แต่เราก็ต้องใช้ความสามารถของเรา เราก็ต้องพยายามนะ ไหนๆ เราก็เป็นผู้แทนที่ประชาชนเขาเลือกมา อย่างน้อยที่สุดเราก็คิดว่าต้องทำให้ได้ ได้มาก ได้น้อยก็ต้องทำ”

“ในการทำงานที่จะมาถึงก็มีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง แต่พี่คิดว่าทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น เราต้องพยายามทำให้ถึงที่สุด แต่พี่ก็จะบอกนะว่าช่วง 4-5 ปีมานี้ประเทศชาติมันเสียหายมานาน ปัญหาทุกอย่างเราไม่สามารถจะแก้ไขได้หมด มันก็ต้องใช้เวลา”

ส่วนบทบาทแกนนำชมรมยามเฝ้าแผ่นดินจะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ ส.ส. หรือไม่นั้น พจนารถบอกว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะแยกบทบาทออกจากกันชัดเจน เธอย้ำว่าจุดยืนของยามแผ่นดินก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งถ้าทุกคนยึดถือเหมือนกันก็ย่อมไม่มีปัญหา

เมื่อถามถึงตัวตนของผู้หญิงชื่อพจนารถ เธอตอบว่าเป็นคนมีอุดมการณ์และมีจุดยืน เพราะผู้นำที่เสียผู้เสียคนอยู่ทุกวันนี้ก็ล้วนเคยมีอุดมการณ์และจุดยืนมาก่อนทั้งนั้น แต่สุดท้ายก็กวัดแกว่งไปกับสิ่งแวดล้อมรอบกาย

“เราต้องยึดมั่นกับอุดมการณ์และจุดยืนในวันที่เราเข้าไปครั้งแรก เราต้องคิดถึงวันนั้น เหมือนวันหนึ่งที่เราขับไล่คนไม่ดีออกไป แล้วถ้ามาวันนี้เราชั่วซะเอง วันหนึ่งความศรัทธาของคนก็ไม่มีหรอก แม้กระทั่งตัวเรายังไม่ศรัทธาตัวเราเลย มันคือการลืมตัวเอง พี่คิดว่านะ คนเรามันไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า วันหนึ่งมีคนให้โอกาสเรามาทำความดี เราก็น่าจะทำ แผ่นดินมันศักดิ์สิทธิ์ ทำดีก็ต้องได้ดี”

อีกด้านหนึ่งเธอเป็นคนค่อนข้างตรง ถึงแม้จะพูดไม่เก่ง แต่เธอก็สารภาพว่าเป็นคนปากไว ซึ่งเธอก็ต้องปรับเปลี่ยนนิสัย

แบบนี้จะเรียกว่าใส่หน้ากากมั้ย

“ถามว่าใส่หน้ากากมั้ย มันพูดยาก แต่เรารู้ตัวตนเราอยู่ไง ถึงแม้วันนี้เราต้องไปคุยกับใครสักคนที่เกลียดมากๆ แต่เรารู้ตัวเองอยู่ว่าเราทำอะไร เราคิดอะไร บทบาทในแต่ละพื้นที่มันไม่เหมือนกัน แต่ที่ว่าใส่หน้ากากพี่ก็ไม่ชอบ”

หลายคนคงรู้สึกว่า อุดมการณ์ จุดยืน หรือคำพูดดีๆ จากปากนักการเมืองก็มีออกมาทุกครั้ง แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในวังวนของเกมแห่งอำนาจแล้ว สิ่งที่เคยพูดไว้ก็จะถูกลืมจนหมดสิ้น ‘คิดว่าสักวันจะเปลี่ยนไปหรือเปล่าเมื่อตัวเองมีอำนาจ?

“คิด ต้องคิดก่อน ต้องคิดเสมอ ถ้าเราไม่คิดไว้ มันเปลี่ยนไปโดยปริยายได้นะ พี่คิดไว้เสมอนะ ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ก็เพราะคนไม่ได้คิด แล้วก็เปลี่ยนไปเลย เราต้องคิดเสมอว่าวันหนึ่งเราเคยทำอะไร เราเคยไล่ใคร แล้ววันหนึ่งเราจะมาเป็นซะเอง”

เวลาเราถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 สิ่งที่ตามมากับเงินก้อนโตคือญาติสนิทมิตรสหายที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ทุกคนต่างวิ่งเข้ามาเพื่อรุมทึ้งเงินก้อนโต ...อำนาจก็คงไม่ต่างกัน วันนี้ เริ่มมีคนวิ่งเข้าหา ส.ส.หญิงหน้าใหม่คนนี้บ้างแล้ว ซึ่งเธอคงต้องรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เธอบอกกับใครต่อใคร เธอยังคงเป็นพี่หมวย เจ๊หมวยคนเดิม ไม่ต้องเรียกท่าน

สำหรับนักการเมืองบ้านๆ คนนี้ สิ่งที่เธอพูดได้ถูกบันทึกไว้แล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนคนที่เลือกเธอเข้ามาที่จะต้องคอยติดตาม เฝ้าดู ตัวแทนของท่านในสภาต่อไป

“วันนี้พี่ขอขอบคุณพี่ๆ น้องๆ ขอบคุณประชาชนที่เลือกพี่ ให้โอกาสพี่ คิดว่าจะให้พี่เป็นตัวแทนของประชาชน มองแล้วว่าพี่เหมาะสม พี่ก็จะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด แต่ขอให้อย่าใจร้อน ให้เวลานักการเมืองหน้าใหม่ ปัญหาอะไรก็มาพูดคุยกัน มาช่วยกันแก้ปัญหา คะแนนของพี่ได้อันดับหนึ่งของชลบุรี ทุกคนอาจจะตั้งความหวังไว้ว่าพี่อาจจะทำตรงนั้น ตรงนี้ได้ แต่ก็ต้องให้เวลากับพวกเรา” พจนารถกล่าวทิ้งท้าย

**************************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์

กำลังโหลดความคิดเห็น