xs
xsm
sm
md
lg

Property:ครบรอบ 3 ปี...สึนามิ เขาหลักเริ่มยิ้ม...เงินสะพัดทั่วหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน หาดทรายสีขาวสวย ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา คงจะมีบังกะโล รีสอร์ต โรงแรม ร่วม 6,000 ห้องที่เปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวกันอย่างครึกครื้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหนจะมองเห็นนักท่องเที่ยวตลอดแนวชาดหาด บ้างก็นอนหรือนั่งอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบของโรงแรม หรืออาจจะเล่นน้ำอยู่ในทะเลกันอย่างเนืองแน่น

เมื่อ "เขาหลัก" มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามา นั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมาก หลากหลายค่าสกุลเงินที่ปลิวสะพัดอยู่ทั่วชายหาดฝั่งอันดามัน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลพลอยได้เต็มๆ นั่นคือชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กอัตราค่าพัก 150-200 บาทต่อคืน จนถึงห้องเวิลด์คลาสสุดหรู 30,000 บาทต่อคืน ได้ถูกเนรมิตออกมาสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกชนชั้น จนเรียกได้ว่ารายจ่าย-ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกือบ 80% ของคนในพื้นที่นี้ ล้วนรับรู้มาจากรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น

หลายคนในพื้นที่ หลังจากโยนจอบ โยนพลั่ว โยนกระชอน หันหลังให้เหมืองแร่ดีบุก แล้วมาได้ดิบได้ดีในการเลี้ยงกุ้งพักใหญ่ เมื่อประสบปัญหาราคาขายกุ้งตกต่ำลง และต้องเผชิญปัญหาน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยง ล้วนนำเงินก้อนสุดท้ายมาฝากไว้กับอนาคตที่ฉายแววสดใส นั่นคือการทำธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เขาหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เม็ดเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท ปลิวว่อนไปทั่วเขาหลัก??

แต่หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 หลายสิ่งหลายอย่างถูกพลัดพราก ไปจากเขาหลัก "คลื่นยักษ์สึนามิ" ถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งดูดกลืนหลายสิ่งลงสู่ใต้ท้องทะเล กวาดทุกสิ่งที่อยู่บนชายหาดรัศมี 1 กิโลเมตรพังย่อยยับลงในพริบตา ผู้ที่เหลืออยู่รอด ต้องรับกับชะตากรรมแห่งการสูญเสีย ทั้งชีวิตของคนที่ตนรัก รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรายได้ กำไร ความมั่นคงในอาชีพ ฯลฯ

ท่ามกลางความสิ้นหวัง ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ในพื้นที่ไม่ขาดสาย ซึ่งในช่วง 1-2 ปีแรก รัฐบาลเร่งดำเนินการในหลายๆ สิ่ง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว สร้างความ มั่นใจในความปลอดภัยด้วยระบบเตือนภัยสึนามิ มีการจัดงานรำลึกวันครบรอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และผู้ที่ประสบภัย นโยบายสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งธารน้ำใจไหลมาไม่ขาดสาย แต่ในความเป็นจริง แม้สิ่งที่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ จะได้รับการซ่อมแซม หรือก่อสร้างใหม่จนดูสวยงาม ไม่หลงเหลือไว้ให้สะเทือนใจยามที่กลับมาพบเห็นนั้น ยังมีสิ่งหนึ่งที่ชาวเขาหลักต้องเฝ้ารอมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ การกลับมาของนักท่องเที่ยว

ในปีแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ ความเงียบเหงาเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด ปริมาณนักท่องเที่ยวจะมีมากเฉพาะในช่วงที่ภาครัฐมีการจัดงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นเท่านั้น ผู้ประกอบการหลายรายถอดใจ ยอมเจ๊งกับกิจการที่ลงทุนใหม่ บางรายที่ยังพอมีความหวังก็หันไปหาธุรกิจเสริม เพื่อหวังว่า สักวันมันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นเท่าที่ควร การเลิกจ้างเกิดขึ้น ชาวบ้าน บางคนต้องจากถิ่นฐาน เพื่อไปแสวงหารายได้ในพื้นที่อื่นมาจุนเจือตัวเองและครอบครัวทดแทน ในยามที่บ้านเกิดไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อความต้องการของตนและสมาชิกในครัวได้ ความอัตคัดขัดสนเกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่

จนเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 ความหวังเล็กๆ ก็เริ่มมีมาให้เห็น เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ห้องพัก โรงแรมร้านอาหารที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนั้นเริ่มกลับมามีสีสัน ผู้ประกอบการหลายรายที่หยุดก่อสร้างซ่อมแซม ก็กลับมาเร่งดำเนินการในส่วนของตนเองให้แล้วเสร็จ เพื่อหวังที่จะรองรับปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยว อันนำไปสู่เม็ดเงินสกุลต่างๆ ที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงเป็นการแบ่งปันรายได้จากนายจ้างไปสู่ลูกจ้างให้ลืมตาอ้าปากกันอีกครั้ง

พอผ่านเข้ามาสู่ปีที่ 3 รอยยิ้มจางๆ เริ่มปรากฏบนใบหน้าของคนเขาหลักกันบ้างแล้ว ด้วยน้ำใจจากเพื่อนชาวต่างประเทศโดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวีย ที่หนีหนาวเข้ามาจับจองห้องพักโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซันของธุรกิจ พฤศจิกายน - มีนาคม ทำให้จำนวนห้องพักปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กว่าห้อง หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนห้องพักทั้งหมดในเขาหลักก่อนเกิดเหตุการณ์ สึนามิ

นอกจากนี้ในพื้นที่ด้านบน เหนือชายหาดขึ้นมาประมาณ 1 กิโลเมตร ริมสองฝั่งทางของถนนที่จะมุ่งสู่หาดและริมถนนใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มปรับปรุง ตกแต่งร้านของตนเองให้มีสีสันเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าผู้มาเยือนตั้งแต่ร้านค้าทั่วไป ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ทุกแห่งที่ถูกจัดสรรล้วนอยู่ในกฎเกณฑ์หรือระเบียบข้อตกลงระหว่างกันของชาวบ้านที่ตกลงกันไว้ นั่นคือเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เขาหลักเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตากอากาศ ที่คำนึงถึงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่ใช่แดนสวรรค์หรือแหล่งสถานบันเทิงเหมือนชายหาดอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย เพราะเอกลักษณ์ของเขาหลัก ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบและยอมรับนั่นคือชายหาดที่เป็นธรรมชาติ เพื่อการพักผ่อนอย่างเป็นส่วนตัวมากกว่าการพักผ่อนแบบสังสรรค์ทั้งในยามกลางวัน และในยามราตรี

นักท่องเที่ยวชาวสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการร้อยละ 30 ต่างเป็นแขกผู้เคยมาเยี่ยมเยียนเขาหลักมาก่อนแล้ว โดยพวกเขาเหล่านี้นิยมที่จะมาใช้บริการกันแบบยกครอบครัวมาพักผ่อน ซึ่งจากการสอบถามหลายคนให้ความเห็น ตรงกันว่าชื่นชอบการให้บริการ การเอาใจใส่ต่อลูกค้าของผู้ประกอบการในพื้นที่นี้ ดังนั้นการกลับมาใช้บริการที่นี่อีกครั้ง หลายคนแสดงความรู้สึกว่าต้องการกลับมาช่วยเหลือ และไม่หวั่นเกรงหรือกลัวที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเป็นครั้ง ที่สอง

ขณะที่นักท่องเที่ยวรายใหม่แทบทุกรายกล่าวว่า ต้องการมาให้ความช่วยเหลือแก่คนในที่นี้ เพราะได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวจากเพื่อนๆ ผ่านทางเว็บไซต์และอีเมลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มาเพื่อต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชื่นชอบกับธรรมชาติที่ยังสวยงาม โดยไม่มีความกังวลใจว่าจะเกิดเหตุการณ์ในแบบนั้นขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะเชื่อว่าทางการไทยได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าไว้แล้ว อีกทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการซ้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดการซ้ำรอยเดิม

"พวกเขาเข้าใจและเห็นใจเรา เขาไม่กังวลว่าจะเกิดสึนามิขึ้นซ้ำสอง เขาบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่ใครจงใจหรือแกล้งทำให้เกิดขึ้น ทุกวันนี้ที่เขาหลักเริ่มกลับมาคึกคักเพราะพวกเขา และพวกเขามีการติดต่อสื่อสารกับคนในชาติเดียวกัน ว่าให้มาเที่ยวที่นี่ คนที่นี่น่าสงสาร อีกทั้งบรรยากาศ และธรรมชาติต่างๆ ก็ยังสวยงามเหมือนเดิม บางรายบอกว่าช่วยประชาสัมพันธ์เขาหลัก ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ เพราะประทับใจในสถานที่แห่งนี้ บางกลุ่มก็กลับมาเพื่อรำลึกถึงญาติ หรือเพื่อนของพวกเขาที่เสียชีวิต และก็พักผ่อนอยู่ที่นี่นานประมาณ 1-2 อาทิตย์ก็กลับไป ส่วนใหญ่แล้วตอบเหมือนกันว่าไม่กลัว" พนักงาน โรงแรมแห่งหนึ่ง กล่าวให้ความเห็น

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่บางส่วนในเขาหลัก และการสอบถามนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการ ทำให้ทราบว่า สิ่งที่ทำให้คนในพื้นที่กลับมามีความหวังอีกครั้งนั่นคือ นักท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เม็ดเงินจำนวนมากก็กลับมาสู่เขาหลักเช่นกัน โดยปีนี้น่าจะมีเงินสะพัดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วเขาหลักประมาณ 4-5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งประมาณ 2-3 พันล้านบาท ส่วนปีหน้าเชื่อว่าจะถึงประมาณ 7-8 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าเริ่มใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ที่มีเม็ดเงินสะพัดถึงประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมาจากปริมาณห้องพักที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 ที่คาดว่าจะมีถึง 4,000 ยูนิต และปี 2552 คาดว่าจะกลับใกล้เคียงกับยอดรวมห้องพักเดิมที่ 6,000 กว่ายูนิต

ปัจจุบัน ยอดจองห้องพักของโรงแรมบนชายหาดเขาหลัก ณ ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2550 ร้อยละ 70-80 ถูกโทร.สั่งจองล่วงหน้าจากลูกค้าชาวต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการระบุว่าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส จนถึงเทศกาลปีใหม่ ยอดจองห้องพักในทุกโรงแรมเต็มแล้ว และจำนวนผู้ใช้บริการจะมีปริมาณขนาดนี้ต่อเนื่องไปถึงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก่อนจะปรับตัวลดลงเนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการและชาวเขาหลักทุกคนปรารถนาในเวลานี้ นั่นคือนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยกันเอง ที่ปัจจุบันแม้จะผ่านล่วงเลยมาแล้ว 3 ปี แต่ปริมาณและยอดผู้ใช้บริการชาวไทยยังมีเพียงน้อยนิดไม่ถึงร้อยละ 10 พวกเขาไม่ได้หวังว่าทุกคนจะมาเยี่ยมเยียนเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น ดังนั้นนอกเหนือฤดูท่องเที่ยว ทุกคนก็ยังคงตั้งตาเฝ้ารอชาวไทยด้วยกัน จะเข้ามาเจือจุนอุดหนุน มาช่วยเหลือเหมือนเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ เพราะนอกเหนือจากการพักผ่อนที่เป็นส่วนตัวแล้ว ราคาห้องพักในช่วงโลว์ซีซันยังมีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว

ดังนั้น ถ้าหากท่านได้มาเยือนที่แห่งนี้ ก็จะเหมือนกับช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขาหลักเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง อีกทั้งจะช่วยปัดเป่าความเงียบเหงาให้หายไปได้ตลอดทั้งปี..อย่ามัวหวั่นวิตกในเรื่องต่างๆ นั่นอีกเลย พวกเขายังรอความหวังจากท่านทั้งหลายอยู่ นอกเหนือจากความช่วยเหลือของภาครัฐที่นับวันเริ่มเลือนราง
กำลังโหลดความคิดเห็น