“กอดกันหน่อยได้ไหม ให้ฉันได้ชื่นใจซักที
กอดกันเถอะคนดี สุขทุกนาทีที่ได้กอดกัน
อยากจะกอดเธอไว้ ให้หัวใจฉันเคียงข้างเธอ
กอดเธอแบบเพลินๆ ไม่คิดล่วงเกิน แค่พออุ่นใจ
โลกเราวันนี้สับสนเหลือเกินฉันเลยเป็นห่วง
เห็นเธอเหนื่อยล้าเลยคิดว่าดีถ้าเรากอดกัน”
มากอดกันเถอะ...
เพลงกอดของศิลปินวงทีโบนขวัญใจวัยรุ่น และเด็กแนวเร็กเก้-สกาดังขึ้น พร้อมกับภาพของชายหนุ่มหน้าตาอบอุ่น และดูเป็นมิตรยืนถือป้ายโดดเด่นท่ามกลางฝูงชนที่เดินสวนกันไปมาอย่างขวักไขว่ ซึ่งตัวอักษรบนป้ายนั้นเขาได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “Free Hugs” หรือ กอดฟรี!!!
ในทางจิตวิทยาการกอดนั้น ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่กำลังห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ให้กลับมากระชุ่มกระชวยได้เป็นอย่างดีทีเดียว ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองอันวุ่นวายของบ้านเราทุกวันนี้ ชวนให้จิตใจของใครหลายๆ คนเศร้าหมองและยิ่งไปกว่านั้นคนที่ป่วยอยู่แล้วจะต้องป่วยหนักขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามในคอร์สอบรมเรื่องจิตใจหลายๆ แห่ง มักจะให้เราได้กอดกับคนอื่นๆ เพื่อแบ่งปันความรู้สึก และบำบัดจิตใจให้ดีขึ้น
...ถ้ายังไม่เชื่อต้องลองหันไปกอดคนข้างๆ คุณดู...
กอดฟรีมีที่ไหน?...มีที่นี่
“Free Hugs Campaign” เริ่มต้นจาก Juan Mann (ฆวน มานน์ ) ชายที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน และเขาได้เดินทางกลับบ้านที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินบ้านเกิด เขากลับมองเห็นผู้โดยสารคนอื่นๆ พบกับเพื่อน ญาติ และครอบครัวที่มารอรับ คนเหล่านั้นยิ้มให้กัน โอบกอดกัน แต่ในเวลานั้นเขาไม่มีใครให้โทรหา ไม่มีใครมารับ เขาเหมือนนักท่องเที่ยวในบ้านเกิดตัวเอง ณ ที่ตรงนั้นทำให้เขาอยากให้มีใครสักคนมาคอยเมื่อเขากลับมา และมีความสุขเมื่อเห็นเขา ยิ้มให้เขา และสวมกอดกันอย่างอบอุ่น
เมื่อพบว่าตนเองไม่มีใครเลยจริงๆ หนุ่มออสซี่จึงหาการ์ดบอร์ดมาเขียนคำว่า "Free Hugs" ทั้ง 2 ด้าน หลังจากเวลาเดินทางไปแล้ว 15 นาที ผู้คนเริ่มมองมาที่ตัวเขา และมีผู้หญิงคนหนึ่งหยุดยืนตรงหน้าเขา แล้วบอกว่า เมื่อเช้านี้สุนัขของฉันเพิ่งตาย เช้านั้นครบรอบวันเสียชีวิตของลูกสาวคนเดียวที่จากไปในอุบัติเหตุทางรถยนต์ เธอรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว หนุ่มออสซี่คุกเข่าลง แล้วสวมกอดกันกับหญิงสาวคนนั้น ซึ่งหลังจากนั้นเขาและเธอก็ยิ้มให้กัน และเดินจากไป
“Free Hugs” เป็นเรื่องจริงของ Juan Mann ที่ทำให้เกิดแคมเปญดีๆ นี้ขึ้นมา ก่อนจะลามเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก ซึ่งกระแสการทำ “Free Hugs” ทุกวันนี้ได้รับการเผยแพร่ไปยังหลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อิตาลี เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน และ ประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้โครงการ “Free Hugs” สร้างปรากฏการณ์ทางอินเตอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านมิสิกวิดิโอบนเว็บไซด์ “Youtube” โดยวิดิโอคลิปดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และมียอดผู้เข้าชมถึงกว่า 15 ล้านครั้ง ในช่วง 3 เดือนต่อมา
กอดฟรีแห่งประเทศไทย
สมาคม “Free Hugs” ประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เป็นทางการของสมาคม กำหนดให้วันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน เป็นวันกอดฟรีสากล หรือ International Free Hugs Day.
คนไทยหลายคนที่เคยมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศมาบ้างแล้วอาจจะเคยเห็นแคมเปญรูปแบบนี้ แต่สำหรับเมืองไทยบางทีมันก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าคนเราต่างจิตต่างใจ ต่างวัฒนธรรม ในสังคมไทยการกอดกันในครอบครัวยังไม่ค่อยได้เห็นสักเท่าไหร่เลย
แต่เพราะเหตุผลของสถานการณ์บ้านเมือง หรือจะข้อห้ามทางสังคมและวัฒนธรรมที่ว่ามาทั้งหมดทำให้ กนก ทองสอาด โปรดิวเซอร์ผู้ดูแลโครงการ “Free Hugs in Thailand” ขอใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีในการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าการกอดกันนั้นดีอย่างไร
“เนื่องจากทุกวันนี้สังคมไทยบ้านเราโดยเฉพาะตามหัวเมืองได้เกิดการแข่งขันกันมากมาย จนต้องใช้เวลาทุกวินาทีที่ผ่านไปนั้นให้คุ้มค่ากับการงาน และภารกิจต่างๆ จนบางครั้งเราอาจจะหลงลืมที่จะแสดงความรักอันบริสุทธ์แบบนี้ไป เวลานี้มีแต่เด็กๆ เท่านั้นแหละ ที่กล้าจะโผเข้ากอดกัน แบบไม่คิดอะไรเลย นอกจากแสดงความรักจากใจจริง รักใคร ชอบใครก็โผเข้ากอด”
จากนั้นกนกยังบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ และที่มาที่ไปของความกล้าหาญ โดยการชวนเพื่อนฝูงลุกขึ้นมาชูป้าย “Free Hugs” ที่ดูจะขัดแย้งกับสังคม และวัฒนธรรมในบ้านเราให้ฟังว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากครั้งแรกที่เขาได้ดู “Free Hugs” ต้นฉบับ แล้วรู้สึกประทับใจในการกระทำของผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง จากนั้นจึงพยายามหาของหลายๆ ประเทศดูด้วยว่าเขาทำกันอย่างไร และการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ดูไปดูมากลับพบว่าตนเองน้ำตาซึมด้วยความสุข
“จะเห็นว่าคนส่วนมากในเมืองที่คนพลุกพล่านมากที่สุดแต่กลับเฉยชาต่อกันที่สุด ทั้งที่จริงๆ แล้วข้างในไม่ได้รู้สึกขนาดนั้นหรอก แต่เพราะต่างคนก็มีเรื่องให้ต้องคิดต้องทำมากเกินไปจนลืมใส่ใจคนรอบข้าง
“ลองนึกดูสิครับอย่างคนต่างจังหวัด ใครจะไปไหนทำอะไรก็ทักทายกัน ต่างกับคนในกรุงเทพฯ ที่ขนาดขึ้นลิฟต์ตัวเดียวกันทุกวันแต่หน้ายังไม่ค่อยยิ้มให้กันเลย แคมเปญนี้ถึงได้ประทับใจผมมาก จนทำให้ผมไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้
“ผมคิดว่าใครๆ ก็ต้องการอ้อมกอดกันทั้งนั้นแหละ บางคนอาจจะอายๆ เขินๆ แต่ผมว่ามันคงรู้สึกดี เหมือนโลกนี้ยังคงมีความรักให้กัน ยังไงไม่รู้ อธิบายไม่ถูก เป็นแรงบันดาลใจที่ดีทีเดียว “
กนกยังบอกอีกว่า ตนเองก็ไม่ทราบถึงเหตุผลเหมือนกันที่ในบางประเทศก็มีกรณีห้ามทำโครงการ ดีๆ เช่นนี้ เนื่องจากมองว่าการมอบความรักให้แก่เพื่อมนุษย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีอะไรมาหยุดอ้อมกอดของ “Free Hugs Campaign” จากทั่วโลกลงได้
“เวลานี้สิ่งที่ผมต้องทำคือ ชวนเพื่อนๆ ที่สนใจมาร่วมกันทำในวันที่ทุกคนว่างๆ เลือกสถานที่ซึ่งมีคนพลุกพลาด โดยเฉพาะในเมืองที่มีความสับสนวุ่นวายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนข้าวสาร ตลาดนัดจตุจัตร สวนลุมไนท์ หรือแม้กระทั้งบริเวณสยาม จากนั้นก็จะถ่ายวีดิโอเก็บไว้สนุกๆ แล้วเอามาแบ่งปันกันดู เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้อื่น โดยชาวต่างจะได้รับทราบถึงการทำงานของกอดฟรีแห่งประเทศไทยด้วย” กนกเล่าให้ฟังถึงการทำงานด้วยความสนุกสนานจนน่าอิจฉา
กอดให้ทุกคนได้เป็นสุขใจ
แน่นอนว่า ชาวบ้านร้านตลาดที่เห็นทั่วไป ก็คงมองว่าการทำ “Free Hugs” เป็นสิ่งที่พิลึกดีจริงๆ คนแปลกหน้าที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะไปกอดกันได้อย่างไร แต่ ณัฐวุฒิ นาคสิงห์ หนึ่งหนุ่มผู้ร่วมทำงานกับกนกในกลุ่มโครงการกอดฟรีแห่งประเทศไทย ไม่คิดเช่นนั้น พร้อมกับยินดีเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกในการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ว่า การกอดในที่นี้ไม่ได้ส่อนัยยะทางลามกอนาจาร แต่อย่างใด แค่กอดกันเฉยๆ กอดเหมือนพี่เหมือนน้อง และกอดเพื่อให้กำลังใจกัน โดยที่เราก็ไม่มุ่งหวังผลกำไรทางร่างกาย หรือเงินทองของใครต่อใครเลยแม้แต่น้อย
“พอลงมือถือป้าย “Free Hugs” ครั้งแรก ต้องเดินไปยืนให้คนมากอดจริงๆ แล้วผมพบว่าตนเองรู้สึกกลัว สั่นไปหมด อยู่ดีๆ มายกป้ายให้คนแปลกหน้าเข้ามากอด เวลานั้นมันเหมือนกับตอนแรกที่เราเรียนหนังสือแล้วคุณครูเรียกเรามาอ่านหนังสือหน้าชั้น เราก็ต้องรู้สึกประหม่า รู้สึกกลัว เป็นธรรมดา แต่พอได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ จนทำให้ความกล้ามีมากขึ้น ก็จะทำสามารถทำทุกอย่างได้ดีมากว่าเดิม
“ตอนแรกไม่คิดเลยว่าจะมีคนมากอด เพราะทุกคนที่เดินผ่านไปผ่านก็มายืนมองแบบงงๆ หรือแม้แต่พ่อค้า แม่ขายบริเวณที่เราไปยืมก็ถามเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร มีใครจ้างมาทำหรือเปล่า
“ณ ตอนนั้นผมก็ได้แต่ตอบพวกเขาไปว่า อยากให้คุณรู้สึกอบอุ่น ไม่ได้โดดเดี่ยว และอยากเห็นคนไทยรักกัน พวกคุณไม่จำเป็นต้องมากอดผมก็ได้ถ้ากอดไปแล้วรู้สึกไม่ดี แต่อยากให้ทุกคนที่เห็นเราทำโครงการนี้กล้าพอที่จะแสดงความรัก และความรู้สึก โดยกลับบ้านไปกอดพ่อ กอดแม่ หรือแม้แต่ญาติมิตรได้อย่างไม่รู้สึกเขินเท่านี้ผมก็คิดว่าพวกเราประสบความสำเร็จแล้ว
“จากการทำโครงการมาสักระยะหนึ่งพบว่า คนที่มากอดส่วนใหญ่มันจะเป็นชาวต่างชาติ คนไทยไม่มีใครกล้าเขามากอดสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะสังคม และวัฒนธรรมที่เป็นตัวกำหนดมาแต่ไหนแต่ไรว่า คนไทยที่กล้าเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นวันรุ่นทั้งนั้น แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้พวกเรารู้สึกแย่แต่อย่างใด มีวันหนึ่งยกป้ายหน้าชา และเมื่อยมากด้วย พอนำความรู้สึกล้านั้นมาเปรียบเทียบกับครั้งแรกที่มีคนเข้ามากอด อย่างน้อยมันก็รู้สึกดีได้อยู่ไม่น้อยเลย
“ถ้าให้ผมคิดแบบง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า การกอด เป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย ของคนสองคนที่มีให้แก่กัน แม่กอดลูก พ่อกอดลูก พ่อกอดแม่ ตากอดหลาน หลานกอดยาย อะไรทำนองนี้ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นภายนอก จะส่งผ่านเข้าไปยังจิตใจ ทำให้ใจรู้สึกอบอุ่น และ รู้สึกมีคุณค่ามากพอในสังคม “
อ้อมกอดจากผู้พบเห็น
ในวันหยุดสุดสัปดาห์ย่านตลาดนัดจตุจักรลองไปดูแล้วกันว่า ในสภาวะสังคมที่คนเมืองต่างสนใจแต่เรื่องของตนเองนั้น ปฏิกิริยาของคนทั่วไปที่ได้พบเห็นการทำ “Free Hugs” เป็นอย่างไรกันบ้าง
นิสารัตน์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา นักศึกษา วัย 20 ปี
“เห็น Free Hugs แล้วรู้สึกว่าเป็นเป็นโครงการที่ดีมาก ไม่ได้คิดไปถึงเรื่องลามกอนาจารเลย เพราะรู้ว่าคนที่คิดแบบนั้นคงไม่กล้าออกมายืนถือป้ายให้คนอื่นกอดง่ายๆ แน่ แต่เวลานี้ส่วนตัวก็ยังไม่กล้าเข้าไปกอดแบบเต็มที่เหมือนกัน เพราะเขิน คนมอง และให้ความสนใจเยอะมาก
“การทำแบบนี้มันทำให้คิดไปว่า พวกคนที่กำลังทำกันอยู่นั้นต้องการรณรงค์ เพราะสภาพบ้านเมืองที่กำลังร้อนระอุหรือเปล่า เพราะไม่ว่าจะเป็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง และการแข่งขันอะไรหลายๆ อย่างมันทำให้คนเรามีความสัมพันธ์กันน้อยลง
ส่วนทางด้าน ธีรวัส บุญคลอง นักธุรกิจ วัย 36 ปี สะท้อนมุมมองและบอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้ยืนดูการทำงานของโครงการกอดฟรีประเทศไทยอยู่นานว่า ดูแล้วเหมือนตลกมากกว่า เพราะเวลานี้ยังถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกมากในเมืองไทย
“ถ้าให้เปรียบเทียบกับที่ผมเคยเห็นๆ มาผมคิดว่าของเมืองไทยดูเป็นเรื่องตลกมากกว่า เพราะที่ต่างประเทศอย่างฮ่องกงเขาจะทำให้ดูน่ารักโดยการให้คนที่ถือป้ายแต่งตัวเป็นตุ๊กตา หน้าตาหน้าเอ็นดู คนจะอยากเข้าไปกอดมากกว่านี้ แต่ในกรณีที่มีคนไทยกล้าทำผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่คงต้องเลือกคนมาถือป้ายสักหน่อย
.......................
ถ้าอ่านแล้วคันไม้คันมืออยากเป็นนักกอดกับเขาบ้าง ไม่ยาก แค่ทำป้าย "กอดฟรี" ขึ้นมา หรือจะสกรีนลงบนเสื้อก็ไม่มีใครว่า แล้วออกไปหาคนกอดได้เลย โครงการนี้น่าจะเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหาย หรือระลึกให้คนได้รักกัน ใส่ใจกัน เผื่อแผ่กันมากกว่าที่เคยเป็น แม้การกอดกับคนแปลกหน้านั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำกัน
พวกเขาเหล่านี้อาจไม่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อนเปลี่ยนปลงโลก แต่ทุกสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ …
*************
ใครอยากดูคลิปวีดีโอต้นฉบับของนาย Juan Mann กับเพื่อนๆ จากหลายๆ มุมโลก รวมทั้งคลิปวีดีโอการทำงานของเครือข่ายกอดฟรีประเทศไทย สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ www.youtube.com โดยค้นหาจากคำว่า Free Hugs หรือ Free Hugs Thailand .
*************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ