xs
xsm
sm
md
lg

โรคฮิตคนญี่ปุ่น "ป่วยเพราะสามี-ภรรยาเป็นเหตุ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ AFP
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน นับวันยิ่งรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามช่วยให้ประชาชนสร้างสมดุลแก่ชีวิตครอบครัวและการทำงานมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขัดกับความจริงของวัฒนธรรมการทำงาน และค่านิยมเรื่องบทบาทสามีภรรยา กระทั่งบ้านที่ควรจะเป็นที่พักพิงอันอบอุ่นก็ชวนให้บางคนยิ่งอ้างว้างเพราะ “สามีหรือภรรยาเป็นเหตุ” ทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นหาสมดุลและความสุขในชีวิตได้ยากเหลือเกิน

แม้ที่ผ่านมารัฐจะส่งเสริมให้ลดชั่วโมงทำงาน และให้ทั้งหญิงชายสามารถลางานไปเลี้ยงลูกได้ หวังว่าคนจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรืออาจทำให้มีลูกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชื่นชมคนเอาจริงเอาจัง อยู่ดึก ไม่ค่อยลาหยุด เพราะแสดงออกว่าให้ความสำคัญกับบริษัท

เพราะฉะนั้นหากจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย เช่น ขอลาหยุดเพื่อดูแลลูกที่ไม่สบาย ใช้วันลาเลี้ยงลูกตามกฎหมาย หรือแค่ขอออกจากที่ทำงานเร็วหน่อยเพื่อไปรับลูก ก็อาจโดนเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายค่อนขอดว่าเอาเปรียบคนอื่น บางแห่งก็กลั่นแกล้งให้ทำงานไม่เป็นสุข หรือบีบบังคับให้เลือกที่ทำงานมากกว่าครอบครัว

สำหรับบริษัทที่ยอมผ่อนปรนตามนโยบายรัฐ ก็มีผู้ชายบางคนเสียใจ โดยเฉพาะพวกที่ภรรยาไม่ต้องการให้กลับบ้านเร็ว คือปกติแล้วภรรยาที่เป็นแม่บ้านเต็มตัวจะยุ่งตลอดวัน เวลาที่จะได้ใช้เพื่อตัวเองมีน้อยอยู่แล้ว ทีนี้หากสามีกลับมาถึงบ้านเร็ว ก็จะเรียกร้องหาข้าวหาปลาและบริการอื่น ๆ อีกมากมาย หรือนั่งเล่นไปเรื่อย ภรรยาเลยหงุดหงิด


ผู้ชายญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยแบ่งเบาภาระงานบ้านและช่วยภรรยาดูแลลูก หรือให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัว มักมีแนวโน้มครอบครัวไม่ค่อยอบอุ่น พอเจอภรรยาหน้าหงิกหรือลูก ๆ เย็นชาใส่ ก็จะรู้สึกว่าบ้านไม่มีที่ให้ตนอยู่อย่างสบายใจ พอได้เลิกงานเร็ว แทนที่จะดีใจเลยต้องไปหาที่แกร่วตามร้านกาแฟถูก ๆ ใกล้บ้าน มีมือถือหรือคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อน บ้างก็ไปคาเฟ่หนังสือการ์ตูน รอจนถึงมืดค่ำแล้วค่อยกลับบ้าน

ดังนั้นการที่สามีภรรยาญี่ปุ่นมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น จึงอาจทำให้บ้านแตกสำหรับบางคู่ได้ ถ้าภรรยาเครียดมากจนร่างกายและจิตใจไม่ปกติจะเรียกว่า “ป่วยเพราะสามีเป็นเหตุ” (夫源病) แต่ถ้าสามีเป็นฝ่ายเครียดจนป่วยจะเรียกว่า “ป่วยเพราะภรรยาเป็นเหตุ” (妻源病) (หมายเหตุ - สองคำนี้ไม่ได้เป็นชื่อโรคทางการแพทย์)

ลักษณะอาการคือ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น หูอื้อ ความดันเลือดสูงขึ้น หงุดหงิดกระสับกระส่าย ปวดท้อง นอนไม่หลับ มีภาวะซึมเศร้า หรือไม่มั่นคงทางอารมณ์ โดยมากมักพบอาการป่วยแบบนี้ในกลุ่มคนวัย 50 - 60 ไปจนถึงวัยหลังเกษียณ เพราะก่อนเกษียณสามีอยู่บริษัท ภรรยาอยู่บ้านหรือออกไปข้างนอกบ้าง แต่พอเกษียณแล้วมาอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ก็ยิ่งเห็นข้อเสียของกันและกันตำตา เลยยิ่งขวางหูขวางตากันง่ายขึ้น ทว่าปัจจุบันกลับพบอาการป่วยนี้เร็วขึ้นตั้งแต่คู่วัย 20 เลยทีเดียว


ลักษณะของสามีที่ทำให้ภรรยาป่วย

1. ทำงานไม่ลืมหูลืมตา
หมอคนหนึ่งกล่าวว่าลักษณะของสามีที่ทำให้ภรรยาป่วย มักเป็นคนที่สังคมยกย่องว่าเป็น “สามีที่ดี” เพราะขยันทำงานตัวเป็นเกลียว บางคนทำงานจนไม่ค่อยได้กลับบ้านหรือใช้เวลาร่วมกับครอบครัวเลย ภรรยาจึงต้องรับผิดชอบเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดเพียงลำพัง

2. อิจฉาภรรยาที่เด่นเรื่องการงาน
ยุคนี้สามีภรรยาที่ทำงานทั้งคู่เยอะขึ้น หากภรรยามีรายได้หรือตำแหน่งสูงกว่าก็อาจทำให้ผู้ชายสูญเสียความมั่นใจ นอกจากนี้ยังมีภรรยาที่เป็นแม่บ้านที่หารายได้เสริมมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำธุรกิจจากบ้าน หรืออย่างน้อยก็ได้หาค่าขนมให้ตัวเอง แต่สามีบางคนก็ไม่พอใจเลยเหน็บแนมภรรยาว่า “ไม่พอใจเงินเดือนที่ผมหาได้หรือไง” หรือไม่ก็ “ไม่เก่งกับการเป็นแม่บ้านเต็มเวลาละสิ” ทำให้ภรรยารู้สึกว่าสามีใจแคบ

3. บ่นอย่างเดียวแต่ไม่ช่วย
ผู้หญิงที่ทุ่มเทให้กับการทำงานนั้น พอถึงเวลากลับบ้านก็หมดแรงจึงอาจทำงานบ้านได้ไม่เต็มที่ ส่วนสามีพอเห็นภรรยาละเลยงานบ้านก็ปริปากบ่น แต่ไม่ช่วยทำ

4. ช่วยงานบ้านนิดเดียวแต่คุยโอ่
อีกแบบคือผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นสามีที่ดีเพราะช่วยทำงานบ้านและดูลูก แต่ที่จริงคือช่วยแค่นิดเดียว หรือทำลวก ๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่น ช่วยเก็บผ้าที่ตากไว้เข้ามาในบ้าน แต่แค่เอามากองไว้เท่านั้นโดยไม่พับ แล้วบอกภรรยาอย่างภาคภูมิใจว่าตัวเองช่วยงานบ้านแล้วนะ เสร็จแล้วก็ไปเล่นอะไรตามอำเภอใจ ปล่อยให้ภรรยาทำงานที่เหลือไปคนเดียว


5. ไม่ให้เกียรติภรรยา
มีผู้ชายหลายคนที่มนุษยสัมพันธ์ดีกับคนอื่น แต่อยู่บ้านขี้หงุดหงิด ทั้งยังชอบวางก้ามใหญ่โต โดยเฉพาะมองว่าเป็นเพราะตนเป็นคนหาเลี้ยง ภรรยาและลูกจึงอยู่ดีมีสุขมาจนทุกวันนี้ แต่ไม่ให้เครดิตภรรยาที่ทำให้บ้านอบอุ่นสำหรับทุกคนเลย จึงแทบไม่เคยกล่าว “ขอบคุณ” หรือ “ขอโทษ” กับภรรยา

6. ไม่มีสังคมของตัวเอง
ผู้ชายที่ทุ่มเทให้กับการทำงานมาตลอด พอเกษียณแล้วก็ไม่ค่อยจะมีเพื่อนฝูงหรืองานอดิเรกทำ พอภรรยาจะออกไปไหนหรือทำอะไรก็ถามซอกแซกบ้าง ขอตามไปด้วยบ้าง ในขณะที่สามีบางคนก็ไม่ชอบที่ภรรยาออกไปข้างนอกตามลำพัง หรือสนใจเรื่องอื่นมากกว่าตัวเอง

ในทางตรงกันข้ามอาการที่สามี “ป่วยเพราะภรรยาเป็นเหตุ” ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันมากเท่า สาเหตุเพราะสังคมมองว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง จึงทำให้ผู้ชายต้องอดทนเก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง โดยที่ภรรยาไม่ทราบว่าตนเป็นต้นเหตุ เรามาดูกันว่าภรรยาแบบไหนที่ทำให้สามีป่วย


ลักษณะของภรรยาที่ทำให้สามีป่วย

1. ไม่ให้เกียรติสามี
ภรรยาบางคนรู้สึกขัดใจในสิ่งที่สามีเป็น ตั้งแต่เรื่องบุคลิกลักษณะของสามีไปจนกระทั่งเงินเดือนหรือตำแหน่งที่ไม่สูงพอ คำพูดแสดงความขอบคุณหรือขอโทษไม่เคยหลุดจากปาก บางคนถึงกับสอนให้ลูกดูถูกพ่อไปด้วย

พอภรรยาไม่พอใจก็ชอบหลุดปากคำพูดแย่ ๆ ออกมา เช่น “รีบกลับบ้านมาทำไมก็ไม่รู้” “มีปัญหาหรือไง” “คอมมอนเซนส์แค่นี้ก็ไม่รู้เนี่ยนะ” “เป็นผู้ชายก็ต้องทำได้สิ” “คราวก่อนก็แบบนี้” “เป็นความผิดของคุณนั่นแหละ” หรือพอสามีช่วยงานบ้านแล้วทำไม่ถูกใจ ภรรยาก็บ่นว่า “ไม่ต้องทำแล้ว” หรือ “แค่นี้ก็ทำไม่ได้” ทั้งที่สามีตั้งใจจะแบ่งเบาภาระภรรยาแท้ ๆ พอถูกว่าอย่างนี้ก็เสียใจ

2. ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ผู้หญิงที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีแนวโน้มจะเอาความโกรธหรือความผิดหวังไปเหวี่ยงใส่สามีเป็นประจำ ซึ่งมักจะมาพร้อมด้วยคำพูดแย่ ๆ ที่ทำร้ายจิตใจ แต่บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจมาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงด้วย ภรรยาจึงอาจต้องปรึกษาทั้งหมอสูตินารีเวชและจิตแพทย์ไปพร้อมกัน

3. เอาแต่บ่น
แม้การสนทนาระหว่างคู่สามีภรรยาจะจำเป็น แต่ภรรยาบางคนก็ชอบบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้จิปาถะ เช่น บ่นเรื่องที่ทำงาน บ่นเรื่องลูก และอื่น ๆ ทำให้สามีต้องมานั่งฟังเรื่องลบทุกครั้งที่ภรรยาปริปาก แถมพอแสดงความเห็นที่ไม่ถูกใจอีกฝ่าย ก็จะถูกโกรธที่ไม่ยอมเข้าข้างอีก

4. ไม่รู้จักแยกแยะ
ภรรยาบางคนฟุ่มเฟือยกับสิ่งไม่จำเป็น แต่ประหยัดกับสิ่งที่ควรใช้จ่าย หรือบางคนก็ห่วงลูกเกินไปจนพยายามปกป้องลูกทุกอย่าง ถ้าไม่ตามใจลูกมากเกินไป ก็เข้มงวดกับลูกเกินไป

5. ไม่มีความรับผิดชอบ
ภรรยาบางคนทำตัวเหลาะแหละ เช่น ทำงานบ้านลวก ๆ อย่างขอไปที ปล่อยบ้านให้อยู่ในสภาพเละเทะ หรือเวลานัดใครก็สายตลอด ยิ่งถ้าสามีเป็นคนที่ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะยิ่งเครียดที่ต้องอยู่กับภรรยาเช่นนี้


ทางออกที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

ไม่ว่าอาการป่วยจะมีสาเหตุมาจากสามีหรือภรรยา ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอใจสะสมและขาดการสื่อสารที่ดีทั้งสิ้น มีหลายกรณีที่ฝ่ายถูกทำร้ายไม่โต้ตอบ เพราะอยากเลี่ยงปัญหาหรือจิตใจไม่เข้มแข็งพอ อีกฝ่ายจึงยิ่งอาละวาดง่าย ส่วนบางคนก็คิดว่าตัวเองสื่อสารกับอีกฝ่ายแล้วด้วยการบ่น แต่ที่จริง “บ่น” กับ “สื่อสาร” เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการบ่นคือพูดด้วยความไม่พอใจ เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนการสื่อสารคือการพูดคุยกันดี ๆ เพื่อช่วยกันหาทางแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าใครชอบทะเลาะกับคู่ของตัวเองก็อาจต้องลองถามตัวเองว่าที่ผ่านมาเรา “บ่น” หรือ “สื่อสาร” มากกว่ากัน

ที่ปรึกษาปัญหาชีวิตคู่กล่าวว่า สามีภรรยาควรตกลงกันให้ดีเรื่องการแบ่งงานบ้าน ค่าใช้จ่าย และการใช้เวลาว่าง หากมีอะไรในใจก็ควรพูดคุยกับอีกฝ่ายดี ๆ ให้เขาได้รับรู้ เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองสร้างความเครียดให้คู่ของตนแค่ไหน หากอีกฝ่ายรับฟังและเข้าใจก็มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้เรื่องบางอย่างอาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนหนึ่ง แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอีกคน อย่างเช่นเรื่องงานบ้าน บ่อยครั้งที่ภรรยาจะไม่พอใจกับวิธีทำงานบ้านของสามี เพราะทำแล้วบ้านไม่สะอาด หรือล้างจานแล้วยังสกปรกอยู่ แค่นี้ก็ทะเลาะกันใหญ่โตได้แล้ว ดังนั้นทั้งคู่จึงต้องคุยกันว่าจะทำความสะอาดอย่างไร จะได้ไม่ต้องผิดใจกัน

หมอคนหนึ่งแนะว่า ผู้ชายญี่ปุ่นควรเลิกคิดไปได้เลยว่าเกษียณแล้วจะใช้เวลาอยู่กับภรรยา เพราะถ้าที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ใช้เวลาร่วมกัน พอมาอยู่ด้วยกันตลอดจะมีปัญหาแน่นอน ดังนั้นสามีจึงควรหัดทำงานบ้านและทำอาหารให้เป็น หางานอดิเรกทำ และมีสังคมของตัวเอง แล้วปล่อยให้ภรรยาได้เป็นอิสระบ้าง ในขณะที่ภรรยาเองก็ควรพึ่งตัวเองด้านการเงินได้ และไม่หวังพึ่งสามีให้ประคับประคองตนตลอดไป อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ด้วยตัวเองหรืออาการป่วยไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาหมอ หรือไม่อย่างนั้นการหย่าก็อาจเป็นทางออก

คนที่มีคู่แล้วส่วนใหญ่คงเคยผิดใจกัน เคยเย็นชาหรือร้ายกับอีกฝ่ายไปโดยตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจบ้าง บางทีอาจต้องคอยเตือนตัวเองบ่อย ๆ ว่าเรามาอยู่ร่วมกันเพื่อดูแลกันและกัน เพื่อสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ใช่เพื่อจะเป็นศัตรูกัน หากตั้งใจไว้ว่าจะเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน พร้อมทั้งคิดเกื้อกูลอีกฝ่ายและไม่ทำร้ายกัน ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้เป็นไปในแง่บวกได้มากขึ้นนะคะ.

บทความที่เกี่ยวข้อง:  ชีวิตคู่พังหลังเกษียณ เมื่อคนญี่ปุ่นหย่ากันยามแก่เฒ่า

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น