xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคู่พังหลังเกษียณ เมื่อคนญี่ปุ่นหย่ากันยามแก่เฒ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก rikonweb.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ยุคนี้มีคนญี่ปุ่นที่ตัดสินใจหย่าเมื่อสามีเกษียณเยอะกว่าแต่ก่อนมาก สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของค่านิยมแบบเก่าของคนญี่ปุ่นที่ไม่เข้ากับความเป็นจริงของชีวิตคู่ ปัญหาในการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก และการขาดการแสดงออกซึ่งความใส่ใจในกันและกัน ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วทุกอย่างก็พังทลาย

ฝันสลายของสามีในวันเกษียณอายุ

มีผู้ชายญี่ปุ่นหลายคนทีเดียวที่คิดว่าเกษียณแล้วจะได้สบายสักทีหลังเหนื่อยมานาน หรือบางคนก็ว่าจากนี้จะได้ใช้ชีวิตคู่กับภรรยากันสองคนหนุงหนิงเสียที วางแผนจะไปท่องเที่ยวด้วยกัน คิดไปในทางโรแมนติก ปรากฏว่าพอถึงวันเกษียณปุ๊บ ฝ่ายภรรยาก็ขอหย่าทันทีโดยไม่ทันตั้งตัว

ผู้ชายหลายคนคิดว่าตัวเองทุ่มเทกับงานเพื่อครอบครัว จึงไม่ได้ดูแลภรรยาและลูกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่แทนที่พวกเขาจะได้รับรางวัลอย่างอิ่มเอมหลังจากการทำงานหนัก กลับได้รับความเย็นชาจากภรรยากับลูกตอบแทน ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าภรรยากับลูกรู้สึกว่าฝ่ายชายบกพร่องในหน้าที่สามีและพ่อ ไม่ได้ให้ความรักความเอาใจใส่กับครอบครัว

คุณพ่อผู้หนึ่งถูกส่งไปทำงานในต่างจังหวัดเพียงลำพัง และทำงานหนักจนไม่ค่อยได้กลับบ้านมาดูแลครอบครัว วันหนึ่งพอโดนย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมก็ไม่สนิทกับลูกแล้ว พอพูดอะไรกับลูกก็โดนสวนกลับมาว่า “ทีเวลาต้องการพ่อ พ่อก็ไม่เคยอยู่กับเรา อย่ามาสั่งสอนหน่อยเลย” ส่วนภรรยาซึ่งไม่เคยแสดงความโกรธให้เขาเห็น ก็ขอหย่ากับเขาในวันเกษียณ "จากนี้ไปฉันอยากมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ฉันไม่สามารถดูแลคุณได้อีกแล้ว" เมื่อถูกถามว่าทำไม ภรรยาก็ตอบเพียงว่า "เพราะคุณไม่ดูแลครอบครัวของคุณ และฉันก็เสียสละมามากพอแล้ว"

สามี “ต่อไปนี้เราจะได้อยู่ด้วยกันตลอดแล้วนะ” ภรรยา “ไม่นะ” ภาพจาก pairlife.net
ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่สร้างปัญหาครอบครัว

ปัญหาชีวิตคู่คนญี่ปุ่นมีสาเหตุหนึ่งมาจากค่านิยมแบบเก่าที่ว่า “ผู้ชายทำงานหาเงิน ผู้หญิงทำงานบ้าน” สามีบางคนมอบหน้าที่ทุกอย่างในบ้านให้ภรรยา จะอาบน้ำก็ต้องให้ภรรยาเตรียมน้ำร้อนในอ่างอาบน้ำไว้ล่วงหน้า กระทั่งผ้าเช็ดตัวและชุดชั้นในของตัวเองก็ต้องให้ภรรยาจัดหา จะดูทีวีก็ต้องให้ภรรยาหยิบรีโมตให้ หิวน้ำขึ้นมาก็เรียกภรรยาเทน้ำให้ ชงชาให้ หิวขึ้นมาก็เรียกร้องว่ากับข้าวยังไม่เสร็จอีกหรือ ฝ่ายภรรยาบางคนก็คิดว่าตนเองมีหน้าที่ต้องดูแลสามีไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เลยพยายามจะทำทุกอย่างให้ดี อดทนไม่ปริปากบ่นจนเก็บเป็นความเครียดสะสม

ผู้ชายญี่ปุ่นหลายคนมองว่าเป็น “เรื่องปกติ” ที่ภรรยาจะมี “หน้าที่” ดูแลงานบ้านและเลี้ยงลูก จึงไม่ได้แสดงความรู้สึกขอบคุณหรือซึ้งใจต่อสิ่งที่ภรรยาทำให้ ภรรยาจึงรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเพียงขี้ข้า แทนที่จะได้รับความรักความใส่ใจในฐานะภรรยา และในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง

คิดดูก็น่าเห็นใจผู้หญิงมากทีเดียว เพราะพอถึงวัยเกษียณผู้ชายก็หมดภาระหน้าที่ แต่ผู้หญิงซึ่งถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ดูแลทุกคนในบ้านนั้นไม่เคยมีวันหยุด ไม่เคยมีวันได้เกษียณจากภาระหน้าที่ไปจนวันตาย หากผู้ชายเกษียณแล้วยังปล่อยให้ภรรยาแบกภาระอยู่คนเดียว คำชมหรือคำขอบคุณให้ชื่นใจก็ไม่มี เป็นใครก็คงน้อยใจกันทั้งนั้น

ภาพจาก diamond.jp
เมื่อสามีไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ภรรยาทำให้ ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่หรือด้วยความเอาใจใส่ก็ตาม นานวันเข้าภรรยาก็เย็นชาและเบื่อหน่ายสามีขึ้นทุกที โดยเฉพาะตรงจุดที่สามีไม่คิดเลยว่าพฤติกรรมของเขาทำให้ภรรยารู้สึกอย่างไรบ้าง

แต่บางทีฝ่ายภรรยาเองก็มีส่วนพลาดด้วยเช่นกัน ตรงที่ไม่ได้หันหน้าทำความเข้าใจกันกับสามี ในเรื่องของความสัมพันธ์นั้นหลายคนนึกว่าอีกฝ่ายน่าจะคิดเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีพื้นฐานในการมองโลกต่างกัน ต่อให้สนิทกันหรืออยู่ด้วยกันนานแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะอ่านใจกันออกไปหมดทุกเรื่อง ดังนั้น การหันหน้าเข้าหาและเปิดใจพูดคุยกันเสมอยามมีปัญหาคาใจ จะช่วยถมช่องว่างตรงนี้ได้ดีทีเดียว อีกทั้งยังอาจพบว่าตัวเองเข้าใจอีกฝ่ายผิดไปถนัดเลยก็ได้

สามีภรรยาบางคู่มีเรื่องระหองระแหงกัน พอถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ ทั้งสองกลับเล่าเรื่องเดียวกันให้กลายเป็นคนละเรื่องได้อย่างพิสดาร คล้ายกับว่าบรรยายลักษณะของบ้านหลังเดียวกันออกมาต่างกัน เพราะอธิบายจากมุมที่นั่งอยู่กันคนละฟาก บางทีหากลองไปนั่งอยู่มุมเดียวกัน ก็อาจจะเห็นแบบเดียวกับที่อีกฝ่ายเห็น และเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้นก็ได้นะคะ

เกษียณอายุคือความฝันของสามี แต่คือนรกของภรรยา

สามีบางคนใฝ่ฝันว่าพอเกษียณแล้วจะมีอิสระ ได้นั่งชิลอ่านหนังสือพิมพ์ยามเช้า ดูถ่ายทอดสดกีฬา ออกไปเล่นกอล์ฟ แต่พอผ่านไปสักเดือนหนึ่งก็จะเบื่อ เพราะที่ผ่านมาตอนทำงาน บริษัทยังกำหนดบทบาทและเป้าหมายให้ แต่พอเกษียณก็ขาดแผนที่นำทาง เลยไม่รู้จะทำอะไรดี ส่วนภรรยานั้นก็ไม่รู้ทำไมช่างหงุดหงิดนัก

ภรรยา “ตอนเที่ยงคุณออกไปกินข้างนอกเถอะนะ” สามี “เอ๋ แต่ผมอยากกินที่บ้านนี่” ภาพจาก yomidr.yomiuri.co.jp
หลังสามีเกษียณ ภรรยาจำนวนมากเกิดอาการผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเรียกกันว่า “กลุ่มอาการเครียดเพราะสามีอยู่บ้าน” (主人在宅ストレス症候群) หรือ “ความป่วยที่มีต้นเหตุจากสามี” (夫源病) เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น หงุดหงิดกระสับกระส่าย ปวดท้อง นอนไม่หลับ มีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มีสามีที่เกิดอาการเดียวกันด้วย เรียกว่า “ความป่วยที่มีต้นเหตุจากภรรยา” (妻源病) (หมายเหตุ - ชื่ออาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นศัพท์ทางการแพทย์)

เรื่องเป็นเพราะว่าแต่เดิมตอนที่สามียังทำงานอยู่ ต่างฝ่ายยังต่างมีเวลาแยกจากกัน สามีได้ปลีกตัวจากปัญหาจุกจิกภายในบ้านระหว่างอยู่บริษัท ส่วนภรรยาก็มีเวลาส่วนตัว มีอิสระในการออกไปข้างนอก และเจอเพื่อนฝูง แต่พอสามีเกษียณอยู่บ้านด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ ของกันและกันที่แต่เดิมยังมองข้ามไปบ้างก็ยิ่งเห็นชัดเจน เลยขวางหูขวางตากันง่ายขึ้น แบบเดียวกับปัญหาของหลายคู่ที่ต้องอยู่บ้านร่วมกันช่วงโควิดนั่นเอง

สามีบางคนเริ่มเจ้ากี้เจ้าการเรื่องในบ้าน งานบ้านไม่ช่วยแล้วยังบ่น หรือถ้าช่วยก็ทำแบบลวกๆ พอภรรยาจะไปซื้อกับข้าวก็จะตามไปด้วย แล้วจะไปจู้จี้จุกจิกกับสิ่งที่ภรรยาซื้อ คอยจับตามองภรรยาทุกฝีก้าวว่าจะไปไหนทำอะไร หรือภรรยาบางคนก็ควบคุมการใช้จ่ายของสามี ทำให้สามีไม่มีอิสระในการใช้เงินแม้ว่าตัวเองจะเป็นคนหามาได้ก็ตาม

ภาพจาก yomidr.yomiuri.co.jp
อัตราหย่าร้างของคู่ที่อยู่กินกันมานานสูงขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบว่า อัตราหย่าร้างของคู่ที่อยู่กินกันมาเกิน 20 ปีพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และคิดเป็น 1 ใน 5 ของคู่แต่งงานทั้งหมดที่หย่าร้างใน พ.ศ.2564 ส่วนสาเหตุที่คู่แต่งงานหย่ากันเยอะขึ้นเมื่อถึงวัยเกษียณคาดว่าเป็นเพราะ 1) มีการปรับปรุงระบบบำนาญเพื่อให้ภรรยาสามารถรับได้ครึ่งหนึ่งแม้ว่าจะหย่าขาดจากสามี 2) ผู้หญิงมีโอกาสในหน้าที่การงานมากกว่าแต่ก่อน 3) อายุขัยยาวขึ้น ทำให้ไม่อยากทนอยู่กับคนที่เข้ากันไม่ได้ต่อไปเรื่อยๆ

ทั้งหญิงชายที่ต้องการหย่าหลังเกษียณนั้น หลายคนคิดว่าเป็นช่วงที่หมดภาระต่างๆ ลงแล้ว ลูกเรียนจบ ทำงาน แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว ตนก็จะได้ไปใช้ชีวิตอิสระอย่างที่ต้องการเสียที สาเหตุที่ผู้หญิงต้องการหย่ามักเป็นเพราะความโกรธเคืองสามีที่สั่งสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนอกใจ ความรุนแรง หรือความขัดแย้งกับแม่สามีและสามีเอง ส่วนสาเหตุที่ผู้ชายต้องการหย่ามักเป็นเพราะทนไม่ได้ที่ภรรยามองว่าตนมีประโยชน์เพียงแค่หาเงินให้ใช้ รู้สึกไม่มีตัวตนเวลาอยู่บ้าน ภรรยาเย็นชาเกินทน และอยากเริ่มชีวิตใหม่กับคนใหม่ เป็นต้น

แต่แม้ว่าการหย่าร้างจะทำให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระ แต่ก็อาจสร้างปัญหาอื่นแทน เช่น ปัญหาการเงินและปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัย หากผู้หญิงไม่เดือดร้อนเรื่องรายได้ ก็อาจจะได้เปรียบกว่าเพราะไม่ต้องแบกรับหน้าที่ดูแลสามีและพ่อแม่สามีอีกต่อไป ไม่ต้องสละตัวเองมาปรับเวลาตื่นและเวลาทำงานบ้านตามครอบครัว อีกทั้งการที่เคยดูแลทุกคนมาก่อน ก็ทำให้ดูแลตัวเองเป็นเมื่อต้องอยู่คนเดียว

หลังหย่า - อดีตภรรยาและลูก VS อดีตสามี ภาพจาก yomidr.yomiuri.co.jp
แต่หากผู้ชายหย่า ก็จะต้องหันมาดูแลพ่อแม่ตัวเองเพียงลำพัง ทั้งยังอาจไม่ค่อยใส่ใจเรื่องอาหารการกินและสุขภาพตัวเอง และหากที่ผ่านมาปล่อยให้ภรรยาทำงานบ้านอยู่คนเดียว พออยู่ๆ ต้องมาดูแลบ้านด้วยตัวเองก็จะทำไม่เป็น นอกจากนี้ ยังต้องแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่งหลังหย่า มาตรฐานการใช้ชีวิตก็อาจจะลดลงด้วย

จะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันอย่างไรไม่ให้เครียด

มีหลายฝ่ายแนะนำว่าให้รักษาระยะห่างให้พอเหมาะ คืออยู่ให้เหมือนอยู่กับรูมเมท เช่น อาจจะแยกห้องหรือแยกชั้นกันอยู่ และไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของกันและกัน แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็ช่วยเหลือกันได้ ซึ่งการมีช่วงเวลาและพื้นที่แยกจากกันแบบนี้จะช่วยฟื้นฟูความรู้สึกขอบคุณต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ อีกทั้งยังเห็นส่วนแย่ของอีกฝ่ายน้อยลง และเห็นส่วนดีของเขามากขึ้น

นอกจากนี้ การนอนแยกห้องกันยังช่วยส่งเสริมคุณภาพในการนอนหลับให้ดีขึ้นได้ เพราะไม่ต้องกังวลว่าอีกฝ่ายจะกรน หรือเราพลิกตัวแล้วทำให้อีกฝ่ายตื่น ทั้งยังปรับอุณหภูมิห้องและความสว่างของไฟได้ตามต้องการ ดังนั้น การแยกห้องกันนอนจึงอาจเป็นเรื่องดีสำหรับคู่สามีภรรยาที่อายุมากขึ้น เพราะนอนหลับยากขึ้นตามวัย และทำให้สุขภาพทรุดโทรมได้ง่าย

ภาพจาก mama.chintaistyle.jp
นักให้คำปรึกษาคนหนึ่งเสริมว่าเคล็ดลับของคู่สามีภรรยาที่ปรองดองกันดี คือ “ช่วยกันทำงานบ้าน” และ “ต่างคนต่างมีงานอดิเรกของตัวเอง” เพราะพอสามีช่วยงานบ้าน ภาระของภรรยาก็ลดลง และการได้ทำงานอดิเรกที่ชอบก็ทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น พอมีระยะห่างที่พอดีก็ทำให้ความสัมพันธ์ดีไปด้วย และอีกเคล็ดลับหนึ่งคือมอบรอยยิ้มให้อีกฝ่าย เพราะใครๆ ก็รู้สึกดีกับคนที่ยิ้มให้ตัวเอง ทว่าคนเรามักยิ้มให้คนอื่น แต่กลับลืมยิ้มให้คนใกล้ตัว

ในอดีตที่การแต่งงานถูกมองว่าเป็นความมั่นคง บัดนี้แปรเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงไปเสียแล้ว กระนั้นผู้คนก็ยังปรารถนาจะมีคู่เพื่อเติมเต็มกันและกันอยู่ดี แต่บางทีสิ่งที่ยากกว่าการหาคู่ดีๆ สักคน อาจเป็นการรักษาชีวิตคู่ให้อบอุ่นยั่งยืนก็ได้ ซึ่งฉันเชื่อว่าไม่มียาใดจะดีไปกว่าใจที่คิดเกื้อกูลกันเสมอ พร้อมจะทำความเข้าใจกัน และไม่ทำร้ายกัน ต่อให้วันนี้จะเรียกได้ว่าเริ่มช้า ก็น่าจะดีกว่าไม่เริ่มเลยแน่นอนค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น