คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน หลายปีที่ฉันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องสัพเพเหระที่เป็นประโยชน์ ผ่านทั้งความโชคดีบ้าง ผ่านความโชคร้ายที่กลายมาเป็นบทเรียนของเทคนิคที่ช่วยให้การจัดการชีวิต หรือทำงานได้ง่ายขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Life Hack วันนี้เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟังสบายๆ ค่ะ
“กุนเถะ” ถุงมือทำงานคู่ใจคนญี่ปุ่น
ฉันสังเกตว่าคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปนิยมใช้ถุงมือผ้าหนาๆ ที่เรียกว่า “กุนเถะ” (軍手) ในชีวิตประจำวันมาก ไม่ว่าจะทำสวน ทำงานช่าง ต่อหรือถอดชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ หรืองานอะไรก็ตามที่ต้องใช้มือ เมื่อก่อนฉันไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่าทำไมต้องใส่ แต่พอลองใส่ดูแล้ว มันต่างจากการทำงานมือเปล่าลิบลับเลยค่ะ
อย่างสมัยอยู่ที่ทำงาน พวกเราต้องเตรียมถุงของที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าร่วมงานที่เราจัดทุกปี ต้องระดมคนแทบทั้งออฟฟิศมาช่วยกันแกะกล่องสินค้าและจัดของหลายชนิดใส่ถุง ดูเหมือนเป็นงานน่าเบื่อ แต่ฉันชอบงานที่ใช้แรงงานแบบนี้ และพอช่วยกันทำหลายคนก็สนุกดี
ฉันยังไม่เคยเห็นคนชาติอื่นใช้ถุงมือเวลาทำงานทั่วไปแบบนี้เลย แต่รุ่นพี่ชาวญี่ปุ่นเตรียมถุงมือ “กุนเถะ” ไว้ให้พวกเราทุกคน พอใส่แล้วทำงานคล่องมากค่ะ สบายมือเหลือหลาย แถมยังป้องกันการบาดเจ็บต่อมือได้ดีมาก เช่น ไม่ต้องเสียดสีหรือกดกับอะไรนานๆ ทำให้ไม่เป็นตาปลาที่โคนนิ้ว ไม่ต้องเสี่ยงโดนฝากล่องบาดมือ ถ้าทำงานไม้ก็ไม่ต้องเสี่ยงโดนเสี้ยนตำ เป็นต้น เราเลยทำงานได้เร็วและปลอดภัย
ถุงมือชนิดนี้ยังใช้ทำความสะอาดพื้นที่เล็ก ๆ ที่ไม้ถูพื้นหรือเครื่องดูดฝุ่นเข้าไม่ถึงได้ด้วย รวมทั้งยังใช้ทำความสะอาดโคมไฟที่มีฝุ่นจับได้ง่ายๆ โดยการใส่ถุงมือนี้แล้วลูบไปที่ฝุ่นที่เกาะอยู่ ก็สะอาดขึ้นทันตา และด้วยความที่ถุงมือมีนิ้วแยก จึงถูสิ่งสกปรกออกจากซอกเล็กๆ อะไรได้ง่ายด้วย
มื้อกลางวันวันธรรมดาราคาถูก
ร้านอาหารในญี่ปุ่นที่ไม่ได้ขายอาหารจานเดียว มักมีเมนูมื้อกลางวันวันธรรมดาซึ่งจะราคาถูกกว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณพันเยน และมักมาเป็นชุดพร้อมข้าวหรือขนมปัง และสลัด บางที่มีแถมเครื่องดื่มหรือของหวานนิดหน่อยด้วย
ฉันชอบไปร้านอาหารอินเดีย เพราะตอนกลางวันมักมีแป้งนานให้เติมได้ไม่อั้น อีกทั้งยังอาจมีลาสซี่ (เครื่องดื่มโยเกิร์ต) หรือชานมอินเดียให้ด้วย
ถ้าใครไปญี่ปุ่นขอแนะนำให้ลองร้านขายปลาย่างค่ะ ปกติฉันไม่ได้ชอบปลาเท่าไหร่ ยังอดติดใจปลาย่างของญี่ปุ่นไม่ได้ โดยเฉพาะปลาย่างบนเตาถ่าน ไม่ว่าจะย่างซอสเทริยากิ ย่างเกลือ หรือย่างซีอิ๊ว มีอยู่ร้านหนึ่งมีเมนูปลาหิมะย่างซอสเทริยากิด้วย ซึ่งไม่เคยเจอที่อื่น และเป็นเมนูโปรดของหลายคนในที่ทำงานฉัน บางร้านก็มีแก้มปลาทูน่าย่างซีอิ๊วซึ่งไม่ได้มีขายทั่วไป
สำหรับร้านอาหารที่ขายตอนกลางคืนมักมีระบบ “โอะโทฉิ” (お通し) ซึ่งเป็นกับแกล้มที่เราไม่ได้สั่งแต่ก็ต้องจ่ายเงิน หัวละประมาณ 300-400 เยน บางแห่งเราอาจบอกเขาแต่ต้นได้ว่าไม่เอา แต่บางที่ก็ไม่ยอม หรือบางที่อาจใช้วิธีบังคับให้ลูกค้าต้องสั่งเครื่องดื่ม 1 แก้วแทน (อ่านเพิ่มได้ที่ "โอโทฉิ" กับแกล้มที่ไม่สั่งก็ต้องจ่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น)
ฉันกับสามีเคยไปดงร้านเหล้าแห่งหนึ่งที่อยู่ในตรอกเล็กๆ แต่ละร้านมีพื้นที่แคบมาก และขายอาหารไม่เหมือนกัน เราเลยกะว่าจะลองสัก 2-3 ร้านอย่างละนิดละหน่อย พอไปร้านที่สองเราสั่งแต่อาหาร พนักงานถามว่าไม่สั่งน้ำหรือ สามีบอกว่าดื่มน้ำมาจากร้านอื่นแล้ว เขาเลยให้น้ำเปล่ามาคนละแก้ว ตอนนั้นคิดว่าเขาใจดีจัง แต่พอเก็บเงินกลับชาร์จค่าน้ำเปล่าคนละ 100 เยน ซึ่งปกติในที่ไหนๆ ก็ฟรี แต่วันนั้นเขาคิด คงเพราะไม่ได้กำไรค่าเครื่องดื่มจากเรา
ถ้าใครไม่ชอบระบบพวกนี้ แต่ชอบอาหารร้านอิซากาหยะ (ซึ่งมักอร่อย) ลองมองหาร้านที่เปิดขายอาหารกลางวันดู หลายร้านมีเมนูอาหารชุดแบบที่ร้านอื่นไม่มี ทั้งยังอาจให้เติมซุปฟรี มีชากาแฟให้ดื่มไม่อั้น ราคามักไม่เกินพันเยนต้นๆ และไม่มีโอะโทฉิกวนใจด้วย
กินร้านอาหารจานเดียวแบบคุ้ม
ร้านอาหารจานเดียวมักขายราคาเดียวกันทั้งวันก็จริง แต่บางทีก็มีวิธีกินคุ้มอยู่เหมือนกัน เช่น ร้านราเม็งบางร้านจะแถมข้าวสวย หรือไข่ต้ม หรือเพิ่มเส้นฟรี ไม่อย่างนั้นอาจมีคนยืนแจกคูปองไข่ต้มปรุงรสฟรี เกี๊ยวซ่าฟรี หรือลด 100 เยน ส่วนใหญ่ฉันโชคดีได้คูปองจากร้านอร่อย พอไปลองแล้วเลยกลายเป็นลูกค้าประจำไป
ส่วนร้านข้าวหน้าเนื้อ ลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายตัวคนเดียว ซึ่งอาจต้องการกินอะไรง่ายๆ และประหยัดเงิน ร้านข้าวหน้าเนื้อที่มีสาขามากมายมักจัดโปรโมชันสุดคุ้ม เช่น ร้านสุกิยะขายบัตร “สุกิยะพาส” สำหรับใช้ลดได้ครั้งละ 70 เยน จะใช้กี่ครั้งก็ได้ภายใน 1 เดือน ราคาเพียง 200 เยนเท่านั้น คือถ้ามา 3 ครั้งขึ้นไปต่อเดือนก็คุ้มแล้ว หรือถ้ามาเป็นครอบครัวก็ใช้ได้ถึง 3 คนในคราวเดียว ส่วนร้านโยชิโนยะ ถ้าไปใช้บริการตอนเช้าแล้ว มากินอีกในเย็นวันเดียวกันก็จะได้ลด 200 เยน
โปรโมชันพวกนี้มีมาใหม่เรื่อยๆ อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม บางทีลดเฉพาะบางเมนู บางทีลดเฉพาะมื้อ ถ้าจะไปร้านพวกนี้ลองเช็กดูอีกทีนะคะ
ร้านของมือสอง
ญี่ปุ่นมีร้านขายของมือสองเยอะมาก โดยเฉพาะร้านในเครือ book-off ซึ่งชื่อร้านจะลองท้ายด้วยคำว่า “ off ” มีสินค้าสารพัดอย่างตั้งแต่หนังสือ ซีดี ดีวีดี เกม ไปจนถึงเสื้อผ้า กระเป๋า สินค้าเด็กอ่อน เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดนตรี สินค้ากีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย
ของมือสองในญี่ปุ่นมักมีคุณภาพดีแม้ว่าบางอย่างอาจจะดูเก่า และถ้าเป็นหนังสือการ์ตูนนี่บางทีเพิ่งลงแผงไม่นานเอง แต่บางคนคงอยากอ่านเร็วๆ พออ่านจบแล้วก็เอาไปขายต่อตามร้านรับซื้อ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่กำลังดัง ก็อาจขายได้เกือบครึ่งหนึ่งของราคาเต็ม ส่วนทางร้านก็ขายต่อในราคาถูกกว่าหนังสือใหม่นิดหน่อย
แต่โดยทั่วไปแล้วการเอาขายต่อให้ร้านแบบนี้มักได้ราคาไม่ดี ทีแรกฉันนึกว่าของที่สภาพเหมือนใหม่เอี่ยมคงขายได้ราคาดีมากๆ ปรากฏว่าหนังสือการ์ตูนชุด 14 เล่มของฉันขายได้เพียงเล่มละ 10 เยน (ต้นทุนเล่มละ 400 กว่าเยน) ส่วนดีวีดีที่ซื้อมาหมื่นกว่าเยนขายได้เพียง 400 เยน ฉันได้แต่ยืนอึ้งด้วยความช็อก เสียดายที่ของซึ่งทะนุถนอมมาอย่างดีมีมูลค่าแทบไม่ต่างจากขยะ
ที่จริงมันสามารถเอาไปประมูลขายออนไลน์ได้เหมือนกันค่ะ แต่ฉันดูแล้วยุ่งยากเลยไม่เคยลอง เดี๋ยวนี้มีเว็บขายของมือสองออนไลน์ดีๆ เยอะอย่างเว็บ mercari ซึ่งสามารถขายของได้ราคาสูงกว่ากันหลายเท่า โดยเฉพาะถ้าอยู่ในสภาพดี และเป็นที่ต้องการ หรือถ้าเป็นลูกค้าเองก็สามารถซื้อของมือสองได้โดยไม่น่าห่วง เพราะส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นมักรักษาของกันอยู่แล้ว
ผ้าขนหนูแก้ร้อน
ในฤดูร้อนฉันเคยเห็นแม่สามีเอาผ้าพันคอมาพันตอนออกไปข้างนอก ฉันถามว่าไม่ร้อนหรือ ท่านตอบว่านี่เป็นผ้าที่ทำให้รู้สึกเย็น และยังเอามาซับเหงื่อได้ด้วย ฉันเคยเห็นสินค้าแบบนี้เหมือนกัน แต่มันให้ความรู้สึกว่าเอามาพันคอน่าจะยิ่งร้อน เลยไม่เคยลองใช้เสียที
มีผู้ชายชาวต่างชาติบางคนเล่าว่าได้รับคำแนะนำมาจากชาวญี่ปุ่น ว่า ถ้าสวมเสื้อเชิ้ตทำงานในหน้าร้อนล่ะก็ ให้เอาผ้าขนหนูผืนเล็กๆ บางๆ มาพาดคอ แล้วค่อยสวมเสื้อเชิ้ตทับไว้ มันจะช่วยให้สามารถถ่ายเทความร้อนออกจากภายใต้เสื้อได้ แถมยังทำให้มีผ้าไว้ซับเหงื่ออีกต่างหาก พวกเขาบอกว่ามันเป็นวิธีง่ายๆ ที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะหน้าร้อนของญี่ปุ่นที่ความชื้นสูง วิธีนี้น่าสนใจเอามาลองที่บ้านเราเหมือนกันนะคะ
ติด “ม่าน” รักษาความเย็นให้ตู้เย็น
ถ้าคนไหนรู้สึกว่าตู้เย็นที่บ้านไม่ค่อยเย็นเลย ลองใช้วิธีนี้ดูค่ะ เอาแผ่นพลาสติกใสผืนใหญ่ หนาอย่างน้อย 1 มล. มาติดระหว่างประตูกับชั้นวางของเหมือนทำเป็นม่าน โดยให้ตัดชายพลาสติกออกเป็นเส้น ๆ เพื่อให้หยิบของในตู้เย็นได้ง่าย โดยอาจใช้แท่งพลาสติกมาขึงแผ่นพลาสติกทั้งผืนไว้อย่างในรูปด้านล่าง
ถ้าเป็นร้านร้อยเยนที่ญี่ปุ่นจะมีแผ่นพลาสติกติดตู้เย็นโดยเฉพาะขาย แต่บางคนบอกว่าบางไป ถ้าซื้อแผ่นพลาสติกปูโต๊ะซึ่งหนากว่า แล้วมาตัดเองจะใช้งานดีกว่า ส่วนแท่งพลาสติกหาซื้อได้ที่ร้านร้อยเยนเช่นกัน ไม่ทราบเหมือนกันว่าที่ร้านไดไซในเมืองไทยมีขายไหม ลองหาดูนะคะถ้าสนใจ
สมาชิกสหกรณ์ส่งสินค้าอาหารถึงบ้าน
ฉันมักจะแวะซูเปอร์มาร์เกตหลังเลิกงาน รู้ตัวอีกทีก็หิ้วอะไรพะรุงพะรังกลับบ้านทั้งที่ต้องเดินอีกไกล วันหนึ่งเห็นรถของบริษัทส่งอาหารถึงบ้านจอดอยู่หน้าอพาร์ตเมนต์ เลยเดินเข้าไปขอรายละเอียด ได้รับเอกสารสมัครสมาชิกพร้อมแค็ตตาล็อกสินค้างวดหน้า เขาจะส่งอาหารสดที่แพกในกล่องโฟมมาให้ วางไว้หน้าห้องเรา แล้วพอถึงกำหนดส่งอาหารครั้งหน้า เราคืนกล่องไว้หน้าห้องให้เขามาเก็บกลับไป สะดวกมาก ไม่ต้องหิ้วถุงกับข้าวให้เมื่อยอีกต่อไป
นั่นเป็นข้อผิดพลาดอย่างแรง แค็ตตาล็อกนั่นเองตัวดี เพราะนอกจากสินค้าจำเป็นแล้ว ยังมีสินค้าฟุ่มเฟือยกระตุ้นความโลภให้เห็นอีกมากมาย สุดท้ายเลยเสียเงินเยอะกว่าเดิม แถมดูไปดูมาค่าอาหารก็แพงกว่าซูเปอร์มาร์เกตด้วย สุดท้ายเลยเลิกเป็นสมาชิก แล้วกลับไปหิ้วถุงกับข้าวจากซูเปอร์มาร์เกตเองตามเดิม หนักและเมื่อยก็จริง แต่ข้อดีของมันก็เยอะ เช่น ได้คุยกับพนักงาน ได้เห็นสินค้าใหม่ๆ ได้เลือกสินค้าชิ้นที่ชอบเอง เป็นต้น ส่วนบางวันที่เหนื่อยจัด ถ้ามีข้าวกล่องน่าสนใจและลดราคาก็ซื้อกลับบ้านเสียเลย วันนั้นก็โชคดีไปที่ไม่ต้องทำกับข้าวให้เหนื่อยเพิ่ม
วันนี้ลาไปแต่เพียงเท่านี้นะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.