xs
xsm
sm
md
lg

ส่องญี่ปุ่นมุมใหม่จากทริปคิวชู-ฮอนชู (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ดาโกะจิรุ” (ซุปมิโสะประเภทหนึ่ง) กับ “ทาคานะโกะฮัง” (ข้าวคลุกผักดอง) อาหารท้องถิ่นแถบคุมาโมโตะ
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันกลับไปญี่ปุ่นมา 2 อาทิตย์ รู้สึกเหมือนจากผู้อ่านไปนานมากทีเดียวค่ะ ครั้งนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวและญาติๆ ของสามี ทว่าแต่ละคนอยู่กันคนละภูมิภาค เราเลยได้วิ่งขึ้นเหนือลงใต้กันอ่วมเลย แต่ก็ได้ถือโอกาสชมเมืองที่ไม่เคยไปด้วย เลยเก็บประสบการณ์และมุมมองในเวลานั้นกลับมาเล่าฝากเพื่อนผู้อ่านด้วยค่ะ

เที่ยวบินจากแถบนิวยอร์กไปโตเกียวนั้นกินเวลาราว 14.5 ชั่วโมง นั่งยาวแล้วทรมานมาก ต้องคอยลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เที่ยวนี้ฉันลองใช้เปลวางเท้าแบบพกพาคล้องไว้ที่ขาโต๊ะอาหารพับเก็บได้ แม้จะใช้ไม่สบายเท่าไหร่ เพราะความบางของมันบังคับให้เท้าเราต้องมาห้อยแนบชิดกันตรงกลาง แต่ก็ช่วยให้ไม่ปวดเมื่อยเอวและขา ถ้าสนใจลองหาซื้อออนไลน์ดูค่ะ

ภาพจาก temu.com
เที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่เหมือนใคร

บ้านของสามีอยู่จังหวัดอาโอโมริ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะฮอนชู ครั้งนี้เราขึ้นเครื่องจากสนามบินฮาเนดะในโตเกียว แทนที่จะนั่งรถไฟชิงกันเซ็นแล้วไปต่อรถไฟท้องถิ่นอย่างทุกที เพราะเพิ่งจะรู้ว่าสนามบินอยู่ใกล้บ้านกว่าที่คิดมาก อีกทั้งค่าเครื่องบินก็ถูกกว่าเยอะ

เรารู้สึกประหลาดใจมากทีเดียว ตรงที่การเช็กอินเที่ยวบินภายในประเทศไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ต แต่แค่บอกชื่อเท่านั้น และสามารถเช็กอินได้จนถึงเวลา 30 นาทีก่อนเครื่องออก และให้ไปรอที่ทางออกขึ้นเครื่องได้จนถึง 10 นาทีก่อนเครื่องออก ซึ่งในความรู้สึกแล้วคิดว่ากระชั้นไปไหมนี่

ที่แปลกใจอีกอย่างคือสามารถเอาน้ำขึ้นเครื่องได้ เพียงแต่เวลาผ่านจุดตรวจต้องแยกเอาขวดน้ำใส่ถาดที่เขาเตรียมให้ ส่วนบนเครื่องบินของ JAL มีน้ำดื่มมาเสิร์ฟคนละถ้วย มีให้เลือกไม่กี่ชนิด

อาคารเที่ยวบินภายในประเทศของสนามบินฮาเนดะนั้น สายการบิน JAL ดูจะเน้นให้เช็กอินจากตู้อัตโนมัติ อีกทั้งยังมีจุดให้โหลดกระเป๋าสัมภาระด้วยตัวเอง พอติดแท็กที่กระเป๋าแล้วก็วางลงบนสายพานอัตโนมัติให้ถูกวิธี แล้วสายพานจะเลื่อนพากระเป๋าเข้าไปเอง ดูทันสมัยมากเลยค่ะ

เครื่องให้โหลดกระเป๋าด้วยตัวเองของ JAL ที่สนามบินฮาเนดะ
แต่ตอนขากลับจากสนามบินอาโอโมริไม่มีระบบอัตโนมัติแบบให้บริการตนเองเช่นนี้ ต้องเช็กอินกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ผู้โดยสารยืนรอกันยาวทีเดียว ใกล้เวลาเครื่องออกเสียจนน่ากลัว แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราไม่เสียเวลารอนานนัก

ขากลับเราเดินทางจากอาโอโมริไปฟุกุโอกะ โดยต้องแวะต่อเครื่องที่ฮาเนดะก่อน และมีตั๋วคนละ 2 ใบ ตอนเช็กอินเราจึงต้องบอกกับพนักงานว่าปลายทางของเราคือฟุกุโอกะ เพื่อให้เขาส่งต่อสัมภาระไปถึงปลายทางเลย อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมตอนซื้อจึงไม่สามารถซื้อเป็นตั๋วใบเดียวกันได้ แต่ต้องซื้อแยกทั้งที่สายการบินเดียวกัน

ฉันสังเกตว่าราคาอาหารในสนามบินในญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นสูงกว่าร้านอาหารข้างนอกมาก ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากประหยัด ก็ให้รับประทานอาหารมาก่อน หรือซื้อจากร้านสะดวกซื้อในสนามบินรองท้องเอา

เที่ยวไปในธรรมชาติของชนบทคิวชู

“ยุฟุอิน” ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งออนเซ็นของจังหวัดโออิตะ มีถนนที่แคบมากโดยเฉพาะบริเวณแหล่งที่พัก พอให้รถผ่านไปได้เพียงคันเดียวทั้งที่ไม่ใช่ถนนวันเวย์ ทำให้บางทีขับมาจ๊ะเอ๋กันก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยกลับ คนขับแท็กซี่เล่าว่า คนแถบนี้จะรู้กันดีเรื่องให้ทาง หรือถ้าหากรู้ว่าตัวเองถอยรถยากกว่าก็จะเป็นฝ่ายรอให้อีกฝ่ายถอย

คนขับเปรยว่าเวลาขับต้องคอยระวังนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ยอมเดินบนทางเท้า แต่ลงมาเดินบนถนนแล้วก็ไม่ค่อยจะดูรถกันเลย เคยได้ยินอีกเหมือนกันว่าคนญี่ปุ่นไม่ชอบใจเท่าไหร่ที่เห็นคนไทยข้ามถนนตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลาย อันนี้ก็พอเข้าใจทั้งสองฝ่าย คือบ้านเราจะชินกับการข้ามอย่างนี้ แต่ญี่ปุ่นเขาถือว่าวินัยต้องเป็นวินัย แม้ว่าบางทีก็เห็นคนเขาเองข้ามตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลายอยู่เหมือนกัน แต่น้อยมาก

ล็อกเกอร์หยอดเหรียญและห้องนั่งพักหลังเข้าออนเซ็น
ฉันมีโอกาสได้ไปออนเซ็นที่เป็นบ่อโคลนธรรมชาติในเบปปุ จังหวัดโออิตะด้วยค่ะ เขาจะไม่มีแชมพูสบู่ให้อาบน้ำแบบพิถีพิถัน มีแต่น้ำให้ราดตัวเท่านั้น ส่วนผ้าขนหนูต้องเอาไปเองหรือซื้อจากเคาน์เตอร์ มีอยู่บ่อหนึ่งเป็นบ่อรวมชายหญิงที่ทางเข้าบ่ออยู่แยกกัน เนื่องจากเป็นบ่อโคลนเลยไม่ต้องกลัวโป๊ตราบใดที่ตัวแช่อยู่ในน้ำ ทว่าตอนฉันยื่นหน้าออกไปดูว่าสามีออกมาแช่บ่อนี้ไหม ก็เผอิญเห็นหนุ่มน้อยเดินอยู่ในบ่อ เขากำลังยิ้มร่าอยู่กับเพื่อนแล้วหันมาพอดี ฉันเลยได้เห็นหน้าตาจิ้มลิ้มกับหุ่นงามท่อนบนของเขาเป็นบุญตา

พอแช่น้ำแล้วล้างตัวเสร็จ ออกมาก็เจอสามีนั่งดื่มกาแฟนมเย็นรออยู่ก่อนแล้ว ฉันเลยลุกไปซื้อนมสดมาขวดหนึ่งตาม เป็นธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นที่จะซื้อนมหรือกาแฟนมบรรจุขวดแก้วดื่มหลังแช่ออนเซ็น (เป็นผลจากการตลาดในยุคที่คนญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มดื่มนมสด) ดื่มเสร็จก็นอนแผ่สบายอยู่บนเสื่อทาตามิเพื่ออ่านประวัติออนเซ็นแห่งนี้ ที่เขียนไว้ยาวเหยียดติดอยู่ข้างฝา

เทคโนโลยีก้าวไกลในต่างจังหวัด

แม้หลายท้องถิ่นจะเป็นชนบท แต่เทคโนโลยีก็ไปทั่วถึง เช่น ตามสถานที่ท่องเที่ยวจะมี wi-fi ให้ใช้ฟรีโดยไม่ต้องลงทะเบียน หรือในปราสาทคาราสึ จังหวัดซากะ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นชนบทมากอยู่ ก็มีนิทรรศการภายในปราสาทซึ่งจัดแสดงไว้ดีมาก เพียงแต่คำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ถ้าต้องการอ่านภาษาอังกฤษก็ต้องโหลดผ่านแอปพลิเคชัน ส่วนปราสาทคุมาโมโตะ (ซึ่งอยู่ในเมือง) จะมีออดิโอแปลภาษาให้ฟังฟรีผ่านแอปพลิเคชัน สะดวกมากค่ะ ภายในปราสาทค่อนข้างให้ความสำคัญกับคนชรา เช่น มีราวบันไดแบบยึดจับง่าย หรือมีลิฟต์ซึ่งสงวนไว้ให้เฉพาะคนที่จำเป็น เช่น คนชรา คนพิการ คนท้อง เป็นต้น

ราวบันไดให้จับง่ายในปราสาทคาราสึ
เมื่อก่อนบัตรเติมเงิน Suica ของบริษัทรถไฟ JR สามารถใช้ขึ้นรถไฟได้แค่ในกรุงโตเกียวกับจังหวัดใกล้เคียง แต่เดี๋ยวนี้ใช้ได้แพร่หลายมากขึ้นในต่างจังหวัดไกลๆ ทว่าก็ยังมีบางสถานีที่ใช้บัตรเติมเงินแตะเอาไม่ได้เลย ต้องไปซื้อบัตรกระดาษเอาเท่านั้น (สถานีคาราสึ) ส่วนตู้ซื้อคูปองอาหารและตู้น้ำอัตโนมัติ แม้หลายตู้จะใช้บัตรเติมเงินรถไฟหรือบัตรเครดิตแตะเอาได้ แต่ก็ยังมีหลายแห่งที่ต้องใช้เงินสดเท่านั้น

ญี่ปุ่นชินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ฉันได้ยินบางคนพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงแปลกๆ นึกว่าเป็นคนต่างชาติเสียอีก แต่สามีบอกว่าคนญี่ปุ่นนี่แหละ แต่เป็นสำเนียงคิวชู ส่วนพนักงานเรียวคังบางคนที่ฉันนึกว่าเป็นคนญี่ปุ่นเพราะสำเนียงดีและคล่องมาก สามีกลับบอกว่าเขาเป็นคนจีน เพราะสำเนียงบางส่วนบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของคนจีนเวลาพูดญี่ปุ่น

ดูเหมือนว่าธุรกิจให้บริการของญี่ปุ่นจะคุ้นชินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เพราะเห็นพูดอังกฤษได้แบบสื่อสารเข้าใจมากกว่าเดิม และต้อนรับลูกค้าได้แบบไม่เคอะเขินเหมือนแต่ก่อน พนักงานขับรถบัสคนญี่ปุ่นบางคนพูดเกาหลีได้ด้วยซ้ำไป แต่เขาอาจเป็นคนเชื้อสายเกาหลีในญี่ปุ่นก็ได้ และยังมีไกด์ในบางสถานที่ท่องเที่ยวที่คนเดียวกันพูดได้ทั้งญี่ปุ่น จีน และเกาหลี น่าทึ่งมากทีเดียว

แม้จะอยู่กลางเขา ร้านค้าแถบภูเขาอาโสะในจังหวัดคุมาโมโตะก็มี Wi-fi ให้ใช้ฟรี
แต่กระนั้นก็รู้สึกว่าหลายคนยังมีความรู้สึกแง่ลบต่อคนต่างชาติอยู่ดี อย่างระหว่างรอโต๊ะร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีลูกค้าต่อแถวยาวราว 10 เมตร มีสาวจีน 2 คนเดินเข้าไปในร้าน จากนั้นก็เห็นพนักงานชายเชิญพวกเธอออกมา พลางพูดเสียงห้วนๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “ไปต่อแถว” ป้าญี่ปุ่นที่นั่งอยู่ข้างฉันก็พูดขึ้นมาเป็นภาษาญี่ปุ่นเสียงแข็งว่า “ใช่ๆ ไปต่อแถวซะนะ” คือคนญี่ปุ่นคงคิดว่าคนจีน 2 คนนี้กะแซงคิวคนอื่นกระมัง แต่ฉันคิดว่าเขา 2 คนอาจจะแค่ไปถามก็ได้ว่าต้องลงชื่อลงจำนวนคนก่อนต่อแถวไหม อะไรทำนองนี้ เพราะบางร้านเป็นแบบนั้น ไม่เห็นต้องมองแง่ลบไปก่อนเลย
 
เพลิดเพลินกับอาหารท้องถิ่น


สิ่งที่ฉันชอบมากจากการไปเที่ยวตามท้องถิ่นไกลเมืองกรุง ก็คือได้เจออาหารท้องถิ่นกับของฝากที่ไม่ค่อยเห็นในที่อื่น อย่างในคิวชูก็จะเจอขนม อาหาร หรือเครื่องปรุงที่ทำจากคาโบสุ ยุสุ (ผลไม้จัดอยู่ในตระกูลส้ม) ซึ่งฉันว่าน่าสนใจกว่าขนมของฝากตามสนามบินมากนัก และการที่มันหาซื้อได้เฉพาะในบางแหล่งเท่านั้นก็ยิ่งทำให้มันดูมีคุณค่ากว่าปกติ

งวดนี้ฉันเลยซื้อโอคากะ (ปลาโอแห้ง) ปรุงรสยุสุ พริกป่นผสมคาโบสุ และมิโสะรสยุสุกลับมาเป็นของฝากให้ตัวเอง รู้สึกแปลกใหม่ดีค่ะเพราะที่ผ่านมาซื้อแต่ขนม

ตามเรียวคังแบบที่จัดอาหารเช้าและเย็นให้นั้น เขามักจัดอาหารท้องถิ่นหรือไม่ก็อาหารตามฤดูกาลมาให้ และในมื้อเดียวก็มีแทบจะครบทุกอย่างที่เป็นอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อ โดยมาอย่างละเล็กละน้อยไม่กี่คำ เสมือนให้ชิมเป็นอาหารตัวอย่างพอรู้ว่ารสเป็นอย่างไร แต่พอรวมกันหลายชนิดแล้วก็มากมาย

พวกฉันไปท่องเที่ยวตามแหล่งออนเซ็นแบบย้ายที่ไปเรื่อยๆ จึงเลือกพักแต่เรียวคังติดต่อกัน 4 วัน รู้สึกจุก เลี่ยน และกลัวอาหารชุดแบบนี้ไปเลย จากนั้นพอไปพักโรงแรมทั่วไปแล้วไปหาอาหารรับประทานเอง จึงค่อยรู้สึกสบายใจกว่า

อาหารเช้าในเรียวคังสำหรับสองที่ จุกแต่เช้า
แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่พบคือ อยู่ญี่ปุ่นหาอาหารที่มีผักเยอะๆ ยาก แม้ในมื้ออาหารอาจมีสลัดหรือผักต้มมาให้ก็มักมีอยู่ไม่กี่คำ ฉันเลยต้องพกไฟเบอร์ติดตัวไปด้วยเพื่อไม่ให้ท้องผูก แต่บางคราวก็ยังต้องอาศัยตัวช่วยเหมือนกัน เช่น น้ำอุ่นค่อนข้างร้อน 2 ถ้วยหลังตื่นนอนทันที แล้วเดินไปเดินมารอเวลาสักพัก เดี๋ยวลำไส้ก็เริ่มทำงาน ถ้าไม่ได้ผลก็ลองวิธีต่อไปคือโยเกิร์ตแบบดื่ม 1-2 ถ้วย หรือถ้าไม่ได้ผลก็อาจเป็นกาแฟดำร้อนๆ ซึ่งฉันพบว่ากาแฟจากร้านออกฤทธิ์ดีกว่ากาแฟชงเอง ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องความเข้มข้นของกาแฟหรือว่าอะไรเหมือนกัน

สัปดาห์หน้าฉันจะมาเล่าเรื่องในทริปนี้ต่อ เกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยทันของพวกเราเอง เรื่องความช่วยเหลือยอดเยี่ยมของเจ้าหน้าที่ตอนฉันทำบัตรเติมเงินรถไฟตกหาย และการให้บริการตามเคาน์เตอร์ที่ฉับไวทันใจของคนญี่ปุ่น แล้วติดตามกันต่อนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น