เกียวโดนิวส์รายงาน (15 ส.ค.) เปิดโปงการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายแรงงานต่างชาติในสถานที่ทำงาน 7,247 แห่งในญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว
ตามข้อมูลการตรวจสอบในสถานที่ของกระทรวงแรงงานในบริษัท 9,829 แห่ง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการประพฤติมิชอบ การละเมิดกฎหมายแรงงานที่พบมากที่สุดเกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎความปลอดภัย โดยอันดับ 2 คือ การไม่ได้รับค่าจ้าง
ข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณาทบทวนโครงการผู้ฝึกงานต่างชาติซึ่งเริ่มใช้ในปี 2536 ระบบดังกล่าวถูกนำมาใช้สำหรับภาคเกษตรและการผลิตเป็นหลัก แต่กำลังอยู่ภายใต้การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้ฝึกงาน
ในบรรดาการละเมิดที่เปิดเผยโดยการตรวจสอบ 2,326 กรณี หรือร้อยละ 23.7 เป็นการละเมิดกฎความปลอดภัย เช่น การใช้เครื่องจักรอย่างไม่ปลอดภัย ในขณะที่ 1,666 กรณีหรือร้อยละ 16.9 เกี่ยวข้องกับการไม่ได้รับค่าจ้าง โดยพบว่าบางบริษัทผู้ฝึกงานต่างชาติทำงานล่วงเวลาผิดกฎหมายมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน
ในอีกกรณีหนึ่ง ผู้ฝึกงานชาวต่างชาติได้รับมอบหมายให้ใช้เครนเพื่อยกของที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามที่กำหนด และไม่มีคุณสมบัติในการปฏิบัติงานก็ตาม
กระทรวงฯ ระบุว่า คดีทั้งหมด 21 คดีที่สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานพิจารณาว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงหรือประสงค์ร้ายได้ถูกส่งไปอัยการแล้ว
“เราจะยังคงพยายามควบคุมดูแลและสั่งการบริษัทต่างๆ” เจ้าหน้าที่กระทรวงกล่าว โดยจำนวนผู้ฝึกงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นหลังจากที่เคยลดลงช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 มีผู้ฝึกงานต่างชาติประมาณ 325,000 คนในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจาก 276,000 คนในปี 2564
ในช่วงปลายเดือนเมษายน คณะรัฐบาลเสนอให้ยกเลิกโครงการฝึกงานสำหรับชาวต่างชาติและเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่เพื่อจัดการกับคดีความจำนวนมากซึ่งเกี่ยวข้องกับการกล่าวหาว่าไม่ได้รับค่าจ้างและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้ว่าโครงการที่มีอยู่จะเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะไปประเทศกำลังพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกใช้เป็นช่องทางสำหรับบริษัทที่ต้องการนำเข้าแรงงานราคาถูกจากต่างประเทศ เนื่องจากประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นยังคงหดตัว