xs
xsm
sm
md
lg

“เรียนรู้สิ่งใหม่” วิธีใช้ชีวิตให้สนุกของคนวัยทำงานในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก deco-roo.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน พอเข้าสู่วัยทำงานแล้วหลายคนก็ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ น้อยลง สังคมญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องนี้จนหลายฝ่ายเป็นกังวล ทราบไหมคะว่าถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ นอกจากเราจะกลายเป็นผู้แพ้ในยุคที่งานหลายตำแหน่งหดหายเพราะเอไอและหุ่นยนต์แล้ว เรายัง “เสื่อม” ลงทั้งในเรื่องของสมอง ความสุข และรายได้ด้วย

คนญี่ปุ่นวัยผู้ใหญ่ศึกษาหาความรู้ใหม่น้อยมาก

นักวิชาการคนหนึ่งมองว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยรู้สึกว่ายุคสมัยเปลี่ยน เขาเล่าว่าไม่ค่อยเจอวัยรุ่นคนไหนที่คิดว่างานที่ปัจจุบันมีอาจไม่มีแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ระบบอัตโนมัติกับเอไอกำลังทำให้งานหลายอย่างหายไป แต่เด็กวัยรุ่นก็ยังคิดว่าจะเลือกงานที่ทำได้ตลอดชีวิตเพราะพ่อแม่ก็ทำงานมาแบบนี้

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากการที่เศรษฐกิจแน่นิ่งตลอด คนที่เกิดหรือโตมาช่วงนั้นจึงรู้สึกเนือย ๆ และไม่ค่อยมองอะไรไกลไปจากจุดที่ยืนอยู่ เพราะไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นใช้ระบบจ้างงานตลอดชีพ ไม่มีการไล่ออก เงินเดือนไม่ขึ้น เลื่อนตำแหน่งตามอายุงาน มีชั่วโมงทำงานยาวนาน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ขวนขวายศึกษาทักษะใหม่ ๆ ด้วยตัวเองมีน้อย เพราะคิดว่าไม่ได้ช่วยให้เงินเดือนขึ้นหรือได้เลื่อนตำแหน่ง และปกติก็ยุ่งจนไม่มีแก่ใจจะหาความรู้เพิ่ม แต่ว่าเดี๋ยวนี้ระบบจ้างงานตลอดชีพลดลง ชีวิตการงานจึงไม่มั่นคงอย่างแต่ก่อน คนทำงานจึงควรยิ่งต้องขวนขวายเพื่อให้ปรับตัวในตลาดแรงงานได้

ภาพจาก gakumado.mynavi.jp
แม้กระนั้นการศึกษาหลายชิ้นก็พบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่คนวัยผู้ใหญ่ศึกษาสิ่งใหม่น้อยมาก และเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD ด้วยกันแล้ว การศึกษาในวัยผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นยังตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานน้อยที่สุด และผลที่ได้รับจากการศึกษาอบรมก็เป็นรองที่โหล่อีกด้วย

จากรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2559 ยังพบว่า คนวัยทำงานศึกษาหาความรู้เฉลี่ยเพียงวันละ 6 นาทีเท่านั้น ในขณะเดียวกันการสำรวจของสถาบันวิจัย Recruit Works พ.ศ. 2561 ก็พบว่าพนักงานบริษัทที่สนใจอ่านหนังสือหรือไปเรียนเสริมอื่น ๆ ด้วยตัวเองมีประมาณ 33% แสดงว่าพนักงานบริษัทที่ไม่สนใจจะศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตัวเองมีมากถึงเกือบ 70% เลยทีเดียว

ทำไมผู้ใหญ่ถึงต้องเรียนรู้สิ่งใหม่


ยุคนี้การศึกษาสิ่งใหม่อยู่เสมอทวีความสำคัญขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ประเภทของงานและเนื้อหางานจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้คนวัยทำงานจำต้องลงทุนเสริมทักษะให้ตัวเอง เผื่อว่างานที่ทำอยู่มีความเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องย้ายไปทำอาชีพอื่นแทน

แม้ว่าสมัยนี้งานหลายอย่างอาจหายไป แต่งานใหม่หลายอย่างก็เกิดขึ้นแทนด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงหมดยุคที่คิดว่าความรู้หรือทักษะเดิม ๆ จะใช้ได้ตลอดชีวิตแล้ว หากคนไหนไม่หาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่ม มูลค่าทางการตลาดของตัวเองก็ไม่เพิ่มขึ้น โอกาสก้าวหน้าหรือทางเลือกในอาชีพก็จะน้อยกว่าคนอื่น อีกทั้งยังอาจต้องจมปลักอยู่กับงานเดิม ๆ ที่ไม่อยากทำไปเรื่อย ๆ ด้วย

ภาพจาก rarejob.com
ความรู้หรือทักษะบางอย่างอาจใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว หรืออาจสร้างรายได้เสริม หรือทำเป็นฟรีแลนซ์ได้ หากจู่ ๆ เกิดบริษัทที่เราทำงานอยู่เจ๊งหรือเอไอทำให้ตำแหน่งงานเราหายไป เราก็ยังสามารถเอาทักษะที่ตัวเองขวนขวายเรียนรู้เพิ่มมาสร้างรายได้ ความรู้หรือทักษะที่ว่านี้อาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น โปรแกรมมิ่ง ภาษาต่างประเทศ ทักษะด้านการตลาด เป็นต้น

มีบทความหนึ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายหากจะคิดว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องรู้ภาษาต่างประเทศ เพราะเป็นการปิดโอกาสตัวเอง และถ้าให้เทียบระหว่างพนักงานที่พูดภาษาต่างประเทศได้กับพนักงานที่พูดภาษาต่างประเทศไม่ได้ คนแรกจะมีความโดดเด่นกว่ามาก และมีโอกาสได้รับการเสนองานใหม่ ๆ มากกว่าด้วย

อันนี้ฉันก็เคยเห็นตัวอย่างเหมือนกันค่ะ มีพนักงานบริษัทญี่ปุ่นคนหนึ่งใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง ในขณะที่คนอื่นพูดไม่ค่อยได้ เขาจึงได้รับมอบหมายให้เป็นล่ามบ่อย ๆ เวลามีผู้ใหญ่จากสาขาในต่างประเทศมาเยือน ต่อมาผู้ใหญ่คนหนึ่งชอบพอและเห็นแววในตัวเขา จึงเสนอตำแหน่งงานที่ดีกว่าในต่างประเทศให้ ปัจจุบันเขาสนุกกับการทำงานมากขึ้น แล้วก็ยังไม่หยุดแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วย ทั้งยังคอยติดตามข่าวสารแบบก้าวทันโลกเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาได้เปรียบ และเห็นโอกาสดี ๆ อีกมากอยู่รอบตัว

ในบทความข้างต้นสรุปไว้ว่า การหาความรู้และทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอจะทำให้สนุกกับชีวิตการงาน มีโอกาสได้เกี่ยวข้องกับงานที่น้อยคนจะได้ทำ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และยังอาจได้เปลี่ยนไปทำงานในสาขาที่ชอบมากกว่าด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีแต่ทักษะที่ได้จากการทำตามคู่มือของบริษัท ก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะใคร ๆ ก็ทำตามคู่มือได้ จะหาคนมาทำแทนเมื่อไหร่ก็ได้ เงินเดือนจึงไม่สูง

ภาพจาก okan-media.jp
ชีวิตจะดี ถ้าศึกษาสิ่งใหม่อยู่เสมอ

อาจารย์ไซโต ทากาชิ นักการศึกษาชื่อดังของญี่ปุ่นกล่าวว่า การเรียนคือการเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเอง และการเรียนรู้สิ่งใหม่ก็ช่วยพัฒนาสมองกับความสามารถในการคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับยุคนี้

การอ่านหนังสือสำคัญก็ต่อสุขภาพสมองมาก จากการศึกษาหนึ่งของมหาวิทยาลัยเยลพบว่า เมื่อให้คนที่อ่านหนังสือประมาณ 3.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทำแบบประเมินภาวะสมองเสื่อม พวกเขาทำคะแนนได้สูงกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย (คะแนนสูงคือเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่า)

นอกจากนี้ ผลการวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Lifelong Education ยังกล่าวว่าผู้ใหญ่ที่เรียนรู้สิ่งใหม่จะมีสุขภาพจิตดีขึ้น และมีความสุขเพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าการศึกษาที่นำไปสู่การสร้างรายได้จะเพิ่มระดับความสุข แต่ระยะหลังมาพบว่าการศึกษาที่ไม่เกี่ยวกับรายได้ก็เพิ่มระดับความสุขได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อทำได้ในสิ่งที่เคยทำไม่ได้ รู้ในสิ่งที่เคยไม่รู้ ความดีใจกับความสำเร็จย่อมเกิดขึ้น การเติบโตนี้ยังเสริมสร้างความมั่นใจ และช่วยคลายเครียดด้วยจากการที่ใจจดจ่อในสิ่งที่ชอบ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนักวิชาการด้านสมองท่านหนึ่งอธิบายว่า เวลาทำอะไรสำเร็จ สมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมา ทำให้เกิดแรงขับให้อยากท้าทายเป้าหมายใหม่อยู่เรื่อย ๆ

ภาพจาก blog.counselor.or.jp
ยุ่งทั้งวันจะหาเวลาไหนมาศึกษาสิ่งใหม่?

อลัน ลาเกียน ผู้เขียนหนังสือ เวลาของกู หรือ How to Get Control of Your Time and Your Life บอกว่าไม่ใช่ว่าเราไม่มีเวลา แต่เราบริหารเวลาไม่เป็นเองต่างหาก เขาแนะให้ตอบคำถามเหล่านี้ลงในกระดาษ 1) เป้าหมายชีวิต 2) อยากใช้ชีวิตใน 3 ปีนี้อย่างไร 3) ถ้าอยู่ได้แค่อีก 6 เดือนจะทำอะไรบ้าง หากเขียนออกมาแล้วคำตอบของ 3 ข้อนี้ไปกันคนละทาง ก็ให้ทบทวนใหม่ว่าต้องการอะไรแน่ในชีวิต แล้วเขียนใหม่ ไม่อย่างนั้นจะบริหารเวลาไม่ได้จริง

จากนั้นให้ระบุสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุแต่ละเป้าหมาย จัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง แล้วเอาไปทำทุกวัน โดยให้ทำสิ่งที่สำคัญที่สุดของแต่ละวันก่อน ห้ามทำสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าหรือง่ายกว่าก่อน แล้วเราจะเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้น

สมัยฉันเรียนมหาวิทยาลัย ไม่รู้ทำไมอาจารย์ชอบให้ทำรายงานภาษาอังกฤษยาว ๆ ก่อนสอบไล่ เคยโดนโหดสุดก็สามรายงานพร้อมกัน โชคดีที่ฉันเจอหนังสือเล่มนี้ ทำให้เวลาที่ฉันเคยคิดว่า “มีไม่พอ” งอกขึ้นมาจากตรงนั้นตรงนี้ กระทั่งเวลาแค่ 5 นาที เช่น ตอนอาบน้ำ แต่งตัว เข้าแถวรอซื้ออาหาร ก็ยังใช้ทำสิ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ได้เลย

ฉันเคยจดศัพท์ญี่ปุ่นที่ต้องจำไว้สอบลงบนกระดาษ โดยเขียนตัวใหญ่ ๆ ให้เห็นง่าย แล้วแปะตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน เช่น ในห้องอาบน้ำ กระจกอ่างล่างหน้า ประตูตู้เสื้อผ้า ทำให้ระหว่างอาบน้ำแปรงฟันหรือแต่งตัวก็สามารถท่องศัพท์ไปด้วยได้ หรือตอนสระผมแล้วใส่ทรีทเมนต์ซึ่งต้องรอ 5-10 นาที ฉันก็เช็ดมือให้แห้งแล้วยืนอ่านหนังสือที่อยากอ่านระหว่างรอ เวลาอยู่บนรถเมล์ช่วงรถติดก็อ่านหนังสือได้หลายหน้า หรือท่องไวยากรณ์ญี่ปุ่นที่จดสรุปไว้

ภาพจาก diamond.jp
พอทำแบบนี้ไปทีละเล็กละน้อยทุกวัน ฉันก็บรรลุหลายเป้าหมาย เช่น จำศัพท์และไวยากรณ์ญี่ปุ่นได้ครบถ้วน อ่านหนังสือที่อยากอ่านจบ และทำรายงานเสร็จทัน การรู้วิธีบริหารเวลาทำให้ฉันทำอะไรได้มากขึ้น สนุกมากขึ้น และมีเวลาเหลือมากขึ้นด้วย ฉันเอาวิธีนี้ไปใช้ในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวตลอดมา มีประโยชน์มากทีเดียว

อลัน ลาเกียน บอกว่ายิ่งยุ่งแค่ไหนก็ยิ่งต้องทำรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” ทุกวัน เพราะช่วยให้เราวางแผนใช้เวลาได้ดี และเห็นภาพด้วยว่าเราเข้าใกล้หรือถอยห่างเป้าหมายของเราแค่ไหนแล้ว

บางคนอาจจะคิดว่าอายุมากแล้ว เรียนสิ่งใหม่ไปก็คงจำไม่ได้หรือไม่รู้จะเรียนไปทำไม ถ้างั้นก็อยากให้ลองดูคุณยายวาคามิยะ มาซาโกะค่ะ เธอศึกษาวิธีใช้คอมพิวเตอร์เองจนสร้างแอปพลิเคชันได้ ซีอีโอของบริษัทแอปเปิลทึ่งมาก เลยเชิญเธอมาร่วมการประชุมนักพัฒนาระดับโลก ในฐานะโปรแกรมเมอร์ที่สูงอายุที่สุดในโลก เธอเป็นแรงบันดาลใจที่น่าประทับใจมาก ๆ ถ้าสนใจลองอ่าน ชีวิตแสนสนุกของคุณยายนักโปรแกรมเมอร์ญี่ปุ่น ดูนะคะ

แล้ววันนี้เพื่อนผู้อ่านกำลังเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ บ้างคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น