xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแสนสนุกของคุณยายนักโปรแกรมเมอร์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://observer.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในชีวิตที่ผ่านมาเราต่างก็คงเคยสร้างข้อจำกัดให้ตัวเองทำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้กันมาบ้าง หากเคยมีประสบการณ์แบบนี้หรือมีความท้อแท้อะไรอยู่ ฉันอยากให้ลองอ่านเรื่องราวของนักโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นที่อายุมากที่สุดในโลกคนนี้ดูค่ะ เผื่อจะได้กำลังใจและมองโลกอย่างสดใสขึ้นอีกเยอะเลย

ยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปที่จะได้ยินเรื่องราวของเด็กอัจฉริยะด้านไอทีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่สร้างโปรแกรมใหม่ ๆ เกมออนไลน์ ระบบเชื่อมต่อข้อมูลจากทั่วโลกมารวมอยู่ในเว็บไซต์เดียว และอื่น ๆ อีกมาก แต่คงน้อยนักที่จะได้ยินว่ามีคนวัยแปดสิบผันตัวเข้าสู่โลกไอทีอย่างเต็มตัว เนื่องด้วยวัยขนาดนี้ออกจะชวนให้นึกไปถึงผู้เฒ่าที่ร่างกายอ่อนแอ มีโรคภัยรุมเร้า เดินเหินลำบาก ไฉนเลยจะนึกไปถึงเรื่องการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ดูซับซ้อนอย่างไอที

คุณยาย วาคามิยะ มาซาโกะ เป็นผู้สร้างแอพลิเคชัน “Hinadan” ซึ่งเป็นเกมฟรีสำหรับผู้สูงอายุเล่นบนไอโฟน ตอนที่แอปพลิเคชันนี้เปิดตัวเธอมีอายุได้ราว 80 ปี พอกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทิม คุก ซีอีโอของบริษัทแอปเปิลก็เลยเชิญเธอมาร่วมการประชุมนักพัฒนาระดับโลก (Worldwide Developers Conference) ในฐานะโปรแกรมเมอร์ที่อายุมากที่สุดในโลก และกล่าวว่าเธอเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ

เกม “Hinadan” ภาพจาก https://www.ba-bamail.com
เดิมทีคุณยายคิดค้นแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาเฉย ๆ และไปขอให้ประธานบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันที่รู้จักกันในงานแห่งหนึ่งผลิตให้ แต่เขาแนะนำให้เธอทำเอง ถ้าเป็นเราเจออย่างนี้จะเลือกตอบรับหรือปฏิเสธคะ สำหรับคุณยายวาคามิยะแล้ว แม้ว่าเธอจะไม่มีความรู้เรื่องโปรแกรมมิ่งเลยสักนิดแต่ก็ใจสู้ เธอลุยทันทีด้วยการไปซื้อหนังสือมา 4-5 เล่มมาศึกษาเอง และคอยอีเมลไปขอความรู้เพิ่มเติมจากคนเขียน อีกทั้งยังได้ประธานบริษัทคนนี้คอยให้คำปรึกษาอยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดเธอก็เขียนโปรแกรมได้สำเร็จอย่างน่าทึ่ง

อยู่ดี ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่งจะสามารถทำอย่างนี้ได้ก็ย่อมมีที่มาที่ไป คือคุณยายวาคามิยะเธอเป็นคนสนใจศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ และชอบคุยกับผู้คนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คุณสมบัติที่ดีเช่นนี้เองทำให้เธอไม่หยุดอยู่กับที่และคอยพัฒนาตัวเองอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม อีกทั้งยังทำให้เธอมีสังคมด้วย ใช่ว่าแก่แล้วต้องอยู่ตัวคนเดียวหรือใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงาเสมอไป

มีอยู่ช่วงหนึ่งคุณวาคามิยะต้องดูแลคุณแม่ที่แก่เฒ่าอยู่กับบ้าน ตัวเองจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปไหนทั้งที่ชอบเจอผู้คน พอไปอ่านเจอจากนิตยสารว่าถ้ามีคอมพิวเตอร์ก็จะติดต่อสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก เธอก็เลยไปซื้อคอมพิวเตอร์มา แรก ๆ ยังใช้แป้นพิมพ์ไม่เป็นก็อาศัยถามพนักงานร้านขายเครื่องไฟฟ้าอยู่ตลอดสามเดือน จนในที่สุดก็เข้าอินเทอร์เน็ตได้ จากนั้นพอได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้สูงอายุในเว็บหนึ่งแล้ว เธอก็หัดสร้างเว็บไซต์และลงบทความโดยขอความรู้จากคนที่รู้จักในอินเทอร์เน็ต ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นนี้เองช่วยให้เธอได้เปิดโลกกว้างและรู้จักผู้คนเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

หลังคุณแม่เสียเมื่ออายุร่วม 100 ปี คุณยายวาคามิยะก็ตั้งใจส่งต่อสิ่งดี ๆ คืนแก่สังคม จึงอาสาเปิดบ้านตัวเองเพื่อสอนการใช้คอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้สูงอายุ เธอทราบดีว่าขืนสอนโปรแกรมเอ็กเซลที่มีแต่ตัวเลข ผู้สูงอายุก็จะเบื่อไม่อยากเรียน เธอจึงหันมาสอนให้ใช้โปรแกรมเอ็กเซลในการออกแบบลวดลายต่าง ๆ แทน เพราะทราบดีว่าผู้สูงอายุชอบงานฝีมือ

ลวดลายที่ออกแบบด้วยโปรแกรมเอ็กเซล ภาพจาก www.si-ght.jp
ในเวลาต่อมาพอสมาร์ทโฟนถือกำเนิดขึ้น เธอก็ลองหัดใช้ด้วยตัวเองอีก เมื่อเห็นเกมบนสมาร์ทโฟนไม่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ จึงคิดค้นเกมขึ้นเองเสียเลย นี่จึงเป็นเหตุให้เธอกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลก จนได้รับเชิญไปบรรยายนอกสถานที่หรือเข้าร่วมงานต่าง ๆ รวมถึงพูดสร้างแรงบันดาลใจใน TED Talks ตลอดจนได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่องค์การสหประชาชาติด้วย

ภาพจาก www.youtube.com
และในโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นได้ประกาศให้วิชาโปรแกรมมิ่งเป็นวิชาบังคับในระดับประถมตั้งแต่ปีที่แล้วนี้เอง (พ.ศ. 2563) คุณยายวาคามิยะก็ได้ออกไปสอนตามโรงเรียนบ่อยขึ้น เธอบอกว่าอยากให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ถึงความสนุกของโปรแกรมมิ่ง และตัวเธอเองยังได้ศึกษาเรื่องการทำอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกเพื่อนำมาใช้สอนโปรแกรมมิ่งให้แก่เด็ก ๆ ด้วย (เช่น ใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อคีย์บอร์ดกับโทรทัศน์ แล้วอาศัยโปรแกรมให้วาดรูปหรือเปิดหลอดไฟตามคำสั่งที่ป้อนเข้าไป เป็นต้น) อื้อฮือ! คุณยายวัยแปดสิบมาสนใจเรียนรู้เรื่องอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกนี่ไม่ธรรมดาเลยนะคะ

ผู้ใหญ่บอกว่าสอนโปรแกรมมิ่งแก่ผู้ใหญ่ด้วยกันเองยังยากเลย แล้วคุณยายสอนเด็กอย่างไร คุณยายตอบว่ามันก็เหมือนกับเวลาเราประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง ที่เริ่มจากความคิดสร้างสรรค์และก่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพียงแต่เราอาศัยคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยให้ผลิตสิ่งที่เราต้องการออกมาเท่านั้นเอง อย่างคุณยายก็จะสอนเด็กให้ลองคิดเองทำเอง เช่น ถ้าอยากให้เกมหรือของเล่นเล่นสนุกกว่านี้ จะทำให้มันขยับตรงไหนเพิ่มดี เป็นต้น

คุณยายแนะว่าจะสอนเด็กให้รู้จักมีความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องอยู่ที่ตัวพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่เอาแต่บอกลูกว่าอย่างนี้ก็ไม่ได้อย่างนั้นก็ไม่ได้ ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เธอเล่าว่าพ่อแม่บางคนพอเห็นลูกประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวไม่เหมือนคนอื่น ก็คิดแง่ลบว่าลูกตัวเองไม่เอาไหน แต่คุณยายคิดว่าผลลัพธ์ที่แตกต่างจากคนอื่นหรือความผิดพลาดต่างก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะมันอาจนำไปสู่ความสำเร็จหรือไอเดียใหม่ ๆ หรือกระทั่งช่วยให้ค้นพบความสามารถบางอย่างของตัวเองได้ด้วย เธอจึงเชิญชวนผู้ปกครองและบุตรหลานว่าอย่ากลัวการลองผิดลองถูกเลย เพราะ “ความผิดพลาดจำนวนมากนำไปสู่ความสำเร็จใหม่ ๆ” เธอกล่าวไว้อย่างนั้น

ภาพจาก https://fukuno.jig.jp
แม้คุณยายเองจะไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกหลาน แต่การขาดประสบการณ์ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กและช่องว่างระหว่างวัยกลับไม่ได้เป็นปัญหาเลย เธอเข้าใจคนรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นอย่างดีทีเดียวเลยนะคะ

แล้วชีวิตประจำวันของคุณยายล่ะเป็นอย่างไร คุณยายบอกว่าไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว เอาแค่ไม่ฝืนสังขารตัวเอง ถึงเวลาหิวก็กิน ง่วงก็นอน ไม่ได้ออกกำลังกายจริงจัง แต่อาศัยว่าออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย เลยได้เดินวันละประมาณ 15,000 ก้าวอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญที่สุดสำหรับเธอคือการใช้ชีวิตให้เป็นเรื่องสนุก และไม่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง หากมีสิ่งที่สนใจก็ลองหัดลองทำดู อะไรที่ไม่รู้ก็ถามไถ่จากผู้รู้เอา ทำให้ได้เพื่อนเพิ่มด้วย

เธอบอกว่าในยุคที่ผ่านมาคนเราอาจคาดเดาได้ว่าช่วงอายุเท่าไหร่ ๆ จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่พออายุขัยคนยืนยาวกว่าสมัยก่อนก็ชักจะคาดการณ์ยากแล้วว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการอยู่กับปัจจุบันให้มีความสุข เธอยังแนะอีกว่าคนที่ตลอดชีวิตมัวแต่ยุ่งกับงาน ไม่มีเวลาทำอะไรอย่างอื่นเลย พอถึงเวลาเกษียณแล้วจะรู้สึกเคว้งคว้าง หาคุณค่าของตัวเองไม่เจอ คุณยายพูดติดตลกว่าผู้ชายจะเป็นโรคคนแก่ขี้โมโห ส่วนผู้หญิงก็จะเป็นโรคเครียดเพราะสามีอยู่บ้านทั้งวัน

แต่การที่่คุณยายดูสนุกกับชีวิตคงเป็นเพราะเธอลองหัดทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอมาตั้งแต่ก่อนเกษียณแล้ว เช่นไปเรียนภาษาอังกฤษเพราะคิดว่าถ้ารู้เอาไว้คงสะดวกดี ที่ผ่านมาเธอไปท่องเที่ยวตัวคนเดียวมาแล้วกว่า 50 ประเทศ ไม่เคยลำบากเรื่องการสื่อสารเลย

ภาพจาก https://sukusuku.tokyo-np.co.jp
คุณยายมองโลกในแง่ดีมาก ๆ ค่ะ เธอบอกว่าแก่แล้วไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องแย่ จริงอยู่ว่าผมอาจจะบางลง ฟันอาจจะหลุดไป กระเป๋าตังค์อาจแฟบลง คนที่รักตายจากไป มีแต่เรื่องสูญเสียเต็มไปหมด แต่แม้จะ “เสียไป” เราก็สามารถจะ “ได้มา” ซึ่งอะไรบางอย่างได้ด้วยเช่นกัน ชีวิตมีอะไรตั้งหลายอย่างให้ลอง ไม่ว่าจะเป็นการไปทัศนศึกษาตามแหล่งเกษตรใหม่ ๆ หัดเต้นรำจนเก่ง เป็นต้น เธอให้กำลังใจว่า “สำหรับผู้ใหญ่แล้วการศึกษาเรียนรู้ถือเป็นงานอดิเรก อยากทำอะไรก็ทำเถอะ ต่อให้ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดี”

คุณยายยังให้ความเห็นอีกว่าโลกใกล้เข้าสู่ยุคที่คนสามารถมีอายุได้ถึงร้อยปีแล้ว ผู้สูงอายุจึงน่าจะหันมาปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเข้าสังคมไว้ ควรศึกษาสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ไอที และวิทยาศาสตร์ อย่าเพิ่งไปมองว่ายาก เช่น คิดว่าสมาร์ทโฟนใช้ยาก ใช้ไม่เป็น เลยไม่ยอมเรียนรู้วิธีใช้ ควรจะให้นักพัฒนารุ่นใหม่ ๆ ได้รู้ว่าทำไมผู้สูงอายุถึงมีปัญหาในการใช้งาน เขาจะได้พัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมา นอกจากนี้หากผู้สูงอายุมีความรู้เรื่องไอทีก็จะเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของตัวเอง ลดปัญหาสมองเสื่อม และยังสามารถส่งต่อภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนให้คนรุ่นหลังผ่านระบบไอทีได้อีกด้วย

นอกจากจะเป็นทั้งนักศึกษา นักคิด และนักพัฒนาตัวยงแล้ว คุณยายยังมีวิถีชีวิตที่สร้างสุขให้ตัวเองทุกวัน แม้ปีนี้จะอายุ 86 ปีแล้วแต่คุณยายก็ยังไม่หยุดอยู่กับที่ เห็นเธอแล้วก็ได้กำลังใจชักอยากลองหยิบจับอะไรใหม่ ๆ ทำและใช้ชีวิตอย่างสดใสดังเช่นคุณยายบ้าง หวังว่าเพื่อนผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจจากคุณยายด้วยเช่นกันนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น