คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ฉันจำได้ว่าช่วงโควิดมีเรื่องราวดี ๆ ให้ได้ยินจากเมืองไทยเยอะแยะ มาวันนี้เลยอยากเอาเรื่องอบอุ่นใจในญี่ปุ่นช่วงโควิดมาฝากค่ะ เผื่ออ่านแล้วจะได้อมยิ้มกันบ้าง
จดหมายเปิดจากประธาน “บริษัทโคโรนา” ผู้ใจดี
คำว่า “โคโรนา” ออกจะเป็นคำแสลงหูโดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรกที่โควิดระบาด พลอยทำให้พนักงาน “บริษัทโคโรนา” ซึ่งผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือดร้อน เพราะพวกเขาและลูกหลานโดนคนมองในแง่ลบอย่างไร้เหตุผล ความทราบไปถึงหูของประธานบริษัท เขาจึงเขียนจดหมายเปิดลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดนีงาตะ สรุปใจความได้ดังนี้
“ถึง หนู ที่มีคนในครอบครัวทำงานที่บริษัทโคโรนา
ทั่วโลกยังคงเดือดร้อนเพราะโคโรนากันเนอะ จะไปเล่นข้างนอกก็ไม่ได้ แล้วยังต้องใส่หน้ากากด้วย แต่แม้จะเดือดร้อนกัน แต่ทุกวันพนักงานโคโรนาก็ยังขยันทำงานเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตสะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หรือพี่ ๆ ของหนูก็ตาม ทุกคนต่างก็เป็นพนักงานที่เราชื่นชม แม้ว่าพวกเขาอาจจะเป็นอีกแบบนึงเวลาอยู่บ้านก็เถอะ ถ้าหากการที่ครอบครัวของหนูทำงานบริษัทโคโรนา แล้วทำให้หนูเจอเรื่องแย่ ๆ ละก็ ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ ทั้งครอบครัวหนูและตัวหนูไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเราภูมิใจกับชื่อโคโรนาและภูมิใจกับงานของเรา ครอบครัวที่หนูภูมิใจก็เป็นพนักงานที่บริษัทโคโรนาภูมิใจเหมือนกัน จากประธานบริษัทโคโรนา”
พอลงหนังสือพิมพ์ไปก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด สื่อต่าง ๆ พากันติดต่อมาขอเอาไปออกข่าวทั่วประเทศ กำลังใจจากประชาชนแห่กันมาทั่วสารทิศ ที่ประธานบริษัทประทับใจที่สุดก็คือ คุณครูและครูใหญ่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้นักเรียนฟัง เด็ก ๆ ก็เลยเขียนจดหมายมาหา และตัวเขาเองก็ยังได้เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองให้แก่พนักงานในเวลาเดียวกับที่ลงหนังสือพิมพ์ด้วย ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเต็มไปด้วยความรู้สึกดี ๆ
นอกจากเขาจะแก้ปัญหาอคติในสังคมได้อย่างละมุนละม่อมกันทุกฝ่ายแล้ว และพลอยทำให้ใครต่อใครรู้สึกอบอุ่นไปด้วย ได้ใจคนทีเดียวทั้งประเทศ
เมื่อลูกค้าคืนดีวีดีเช่าไม่ได้เพราะต้องกักตัว
ชายคนหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะจำต้องกักตัวอยู่บ้านสองสัปดาห์เพราะภรรยาติดโควิด นอกจากต้องทำงานบ้านที่ไม่คุ้นเคยและดูแลลูกเล็ก ๆ แล้ว เขายังนึกได้ว่าถึงกำหนดต้องคืนดีวีดีที่ร้าน TSUTAYA ด้วย จึงโทรไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าคนที่บ้านติดโควิด เขาเลยต้องกักตัวและไม่สามารถไปคืนดีวีดีได้
พนักงานตอบกลับมาว่า “ไม่ต้องห่วงนะครับ ว่าแต่คุณลูกค้ากับครอบครัวสุขภาพโอเคไหมครับ” พอเขาตอบว่าไม่เป็นไร ก็ได้รับคำตอบว่า “ค่อยโล่งอกนะครับ ดีวีดีไว้คืนวันหลังได้ครับ เราไม่คิดค่าเช่าเกินกำหนด ขอให้หายไว ๆ นะครับ”
แรกที่ทราบว่าภรรยาติดโควิด ลูกค้าชายคนนี้ก็กังวลมาก เพราะกลัวว่าตัวเองจะสร้างความลำบากให้ที่ทำงาน แต่ด้วยคำพูดให้กำลังใจของพนักงานร้านดีวีดี เขาเลยมองโลกแง่ดีขึ้น
ลูกค้าร้านขายยาที่เห็นใจพนักงาน
ร้านขายยา “ยูทากะฟาร์มาซี” มีสาขาราว 200 แห่ง ให้บริการที่เป็นมิตรกับลูกค้าหลายอย่างตั้งแต่ส่งของให้ถึงบ้านซึ่งอยู่ห่างไกล ช่วยดูแลเด็กที่มาซื้อของกับผู้ใหญ่ และช่วยขนของหนักอย่างน้ำหรือข้าวสารไปส่งให้ถึงรถ ร้านนี้มีนโยบายให้พนักงานเขียน “บันทึกเรื่องราวดี ๆ” ในระหว่างพัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่บ้าน เพื่อให้พนักงานมีกำลังใจ
มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า ช่วงโควิดระบาดหนักทั้งพนักงานและลูกค้าต่างก็ใช้ชีวิตด้วยความเครียด วันหนึ่งลูกค้ามากันแน่นเพราะทางร้านมีหน้ากากอนามัยขายหลังขาดสต็อกไป ลูกค้าคนหนึ่งพูดกับพนักงานแคชเชียร์ว่า “โอะสึกาเรซาหมะเดส” (お疲れ様です) ซึ่งเป็นคำพูดแสดงความชื่นชมอีกฝ่ายที่ทำงานเต็มที่ และบางทีก็เป็นคำทักทายระหว่างพนักงานกันเองด้วย
พนักงานร้านขายยาได้ยินดังนั้น ก็เข้าใจว่าอีกฝ่ายคงเป็นพนักงานจากสาขาอื่น นึกว่าเป็นคำทักทายจึงพูดตอบกลับไปด้วยประโยคเดียวกัน แต่พอลูกค้าชำระเงินเสร็จจะจากไป ก็บอกเธออีกครั้งว่า “ขอบคุณค่ะ โอะสึกาเรซาหมะเดส” จากนั้นเธอก็ได้ยินลูกค้าคนอื่น ๆ พูดด้วยแบบเดียวกัน จึงได้รู้ว่าลูกค้าพากันแสดงความขอบคุณนี่เอง
แม้ปกติพนักงานจะต้อนรับลูกค้าด้วยรอยยิ้ม แต่ช่วงที่เครียดมากตอนโควิดระบาด เมื่อนึกถึงคำว่า “โอะสึกาเรซาหมะเดส” ที่ได้รับจากลูกค้าแล้ว ก็รู้สึกมีกำลังใจทำงานมากขึ้น
ในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเคยลงบทความไว้ว่า “ความรู้สึกขอบคุณในสังคมไม่ได้มีให้เฉพาะกับคนในวงการแพทย์ แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงคนทำงานตามร้านค้าปลีกย่อยด้วย” ถ้าทุกสังคมมีน้ำใจให้กันแบบนี้ โลกคงรื่นรมย์น่าอยู่มากเลยนะคะ
เมื่อลูกชายทำอาหารให้แม่ที่ป่วย
บ้านหนึ่งมีลูกวัยรุ่นสองคนอาศัยอยู่กับแม่ ช่วงโควิดลูก ๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ส่วนแม่ซึ่งทำงานจากบ้านก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งและต้องรับคีโมบำบัด ลูก ๆ กลัวว่าหากตัวเองติดโควิดขึ้นมา ก็จะเอาไปติดแม่ให้ลำบากไปด้วย จึงพากันไปฉีดวัคซีน แม่เองก็ฉีดด้วยหลังจากหมอแนะนำ
วันรุ่งขึ้นหลังจากแม่ได้รับวัคซีนเข็มสอง แม่ไข้ขึ้นสูง หนาวสั่นไปทั้งตัว ลูกชายเป็นห่วงมาก พอตกดึกไข้ก็ลดลง เขาจึงทำอุด้งให้แม่กิน
อุด้งเป็นอาหารโปรดของเขา วันไหนที่อยากกินอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาหารฝีมือแม่ เขาก็จะต้มเส้นอุด้ง ทำน้ำซุปเอง พอแม่เห็นเขาหาอะไรกินเอง ก็จะพูดยิ้ม ๆ ว่า “อ้าว ทำเองเหรอ? เก่งจัง ลูกคงหิวจนรอแม่ทำกับข้าวไม่ไหวสิท่า” เขาได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจเท่าไหร่ เพราะเขาทำอุด้งด้วยเหตุผลอื่นต่างหาก
แต่ตอนที่แม่สร่างไข้แล้ว เห็นเขายกอุด้งมาให้ แม่มีท่าทีดีใจมาก บอกเขาว่า “ไม่คิดเลยว่าลูกชายจะทำกับข้าวให้แม่กินด้วย” เขาคิดในใจว่า “ใช่แล้ว เป็นห่วงแม่เลยทำมาให้” และรู้สึกดีใจที่เห็นแม่เป็นปลื้มกับอุด้งที่เขาทำ
วันต่อมาแม่แข็งแรงขึ้นมาก เขาคิดในใจอย่างมีความสุขว่า “ไว้ผมจะทำอุด้งให้แม่อีกนะ”
คนส่งของที่ทำให้เจ้าสาวน้ำตาซึม
เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนช่วงโควิด แต่ประทับใจเลยอยากเล่าให้ฟังค่ะ คือมีสาวคนหนึ่งสั่งคุกกี้ร้านโปรดเอาไว้สำหรับแจกแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน (ที่ญี่ปุ่นเวลางานแต่งงานเลิกแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมายืนทักทายแขกพร้อมแจกคุกกี้) ทว่าหนึ่งวันก่อนที่คุกกี้จะส่งมาถึง มีพยากรณ์อากาศว่าพายุใหญ่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ย่านที่เธออยู่อาศัย ด้วยความกังวลว่าพรุ่งนี้คุกกี้อาจไม่ได้มาส่ง เธอจึงโทรไปบริษัทส่งของคุโรเนโกะยามาโตะที่ร้านคุกกี้ใช้บริการ
เธอเล่าว่าจำเป็นต้องได้รับคุกกี้ในวันพรุ่งนี้หรือวันมะรืนเช้าเป็นอย่างช้า พนักงานที่รับสายบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาพัสดุของเธอท่ามกลางพัสดุเป็นพัน ๆ ชิ้น แต่ก็แนะนำกับเธอว่าถ้าพรุ่งนี้ของไม่มาส่ง ให้โทรไปยังคอลเซนเตอร์ขอให้เขาเอามาส่งตอนเช้าวันถัดไป เธอเลยโทรไปยังคอลเซนเตอร์ แล้วทำใจว่าที่เหลือคงต้องปล่อยเป็นหน้าที่พนักงานส่งของแล้ว แต่สักพักหนึ่งก็มีพนักงานโทรศัพท์มาหาเธอ
“ผมติดใจเรื่องนี้เลยลองสอบถามกับทางศูนย์มาครับ มหัศจรรย์มากเลยที่มีพนักงานคนหนึ่งหากล่องพัสดุของคุณเจอท่ามกลางพัสดุเป็นพัน ๆ ชิ้น วันนี้ผมไปส่งให้เองไม่ได้ แต่จะฝากพนักงานคนอื่นเอาไปส่งถึงบ้านคุณเย็นวันนี้เลยครับ”
หลังจากนั้นด้วยความที่เธอมีธุระเลยไม่ได้อยู่บ้านรับของด้วยตัวเอง พอกลับมาก็เห็นกล่องพัสดุอยู่ในล็อกเกอร์รับของเรียบร้อยแล้ว มีป้ายแปะไว้พร้อมข้อความดังนี้ “ยินดีด้วยนะครับกับการแต่งงาน!! หวังว่าจะได้มาส่งของให้อีกนะครับ! ขอโทษด้วยครับที่ลายมือไม่สวย”
เจ้าสาวผู้ได้รับน้ำใจจากพนักงานที่ยืดหยุ่นเรื่องการส่งของให้ และเห็นข้อความเปี่ยมด้วยมิตรภาพเช่นนั้น ก็ถึงกับน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ก่อนแต่งงานเป็นใครก็คงมีเรื่องให้เครียดเยอะ พอได้รับความอ่อนโยนจากคนแปลกหน้าแบบนี้คงรู้สึกอบอุ่นหัวใจมากเลยนะคะ ตัวพนักงานส่งของเองก็คงมีความสุขที่ได้ทำงานอย่างมีความหมายแบบนี้
เรื่องความยืดหยุ่นและมองนอกกรอบของคนทำงาน ทำให้ฉันนึกถึงความประทับใจที่เคยได้รับจากพนักงานไปรษณีย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือ เคยเล่าเอาไว้ในบทความ “ไปรษณีย์ญี่ปุ่นที่รัก สุดยอดแห่งบริการ” ลองอ่านดูนะคะ
ฉันคิดว่าการให้ความรู้สึกดี ๆ กับคนอื่น เป็นอะไรที่ใช้ต้นทุนต่ำมาก แต่ให้ดอกผลมหาศาล บางครั้งการพูดแสดงความขอบคุณหรือชื่นชมอีกฝ่ายแม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็อาจช่วยให้บางคนยิ้มออกในวันที่มีเรื่องเศร้าก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร พวกเราทุกคนต่างก็สามารถเป็นกำลังใจให้คนอื่นได้เสมอ
มาช่วยกันสร้างโลกที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มกันนะคะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.