คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
เมื่อก่อนฉันไม่เคยคิดเลยค่ะว่าไปรษณีย์ของญี่ปุ่นจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ประทับใจ จนกระทั่งได้ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น เคยคิดว่าเป็นเพียงที่ซื้อแสตมป์ ส่งจดหมาย กับส่งของก็เท่านั้นเอง แต่ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นแล้วมีหรือที่จะเป็นแค่ไปรษณีย์ธรรมด๊าธรรมดาได้ เขาทำให้มันสุดยอด น่าใช้บริการอย่างไม่มีที่ติจนได้ มันเป็นอย่างไรฉันจะเล่าให้ฟังค่ะ
เพียงแค่ก้าวแรกที่เดินเข้าไป หากไม่มีใครยืนต่อคิวอยู่ เราจะได้เห็นพนักงานตามเคาน์เตอร์ให้บริการแสดงความกระตือรือล้นเรียกให้เราเข้าไปใช้บริการ แม้บริการแบบนี้อาจไม่ได้มาพร้อมรอยยิ้มหวานเหมือนพนักงานตามร้านกาแฟ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อผู้ใช้บริการแทนที่จะเนือยๆ เฉื่อยๆ ทำหน้าบอกบุญไม่รับ รอให้ผู้ใช้บริการเดินเข้ามาหาเอง
การใช้บริการไปรษณีย์ญี่ปุ่นมีความสะดวกมาก เพราะมีสำนักงานกระจัดกระจายอยู่หลายแห่งทั่วไป ไม่ต้องดั้นด้นไปหาไกล ๆ และไม่ต้องรอเป็นชั่วโมงเวลามีคนมาส่งไปรษณีย์ทีละหลายสิบชิ้น แถมการส่งพัสดุกับไปรษณีย์ญี่ปุ่นก็สะดวกมาก เพราะนอกจากจะส่งพัสดุทั่วๆ ไปได้แล้ว ยังมีบริการรับส่งอาหารสดอย่างเช่น ผลไม้และอาหารแช่เย็น ไปจนกระทั่งถึงจัดส่งไม้กอล์ฟและอุปกรณ์สกีได้ด้วย
เวลาไปส่งพัสดุภายในประเทศที่ไปรษณีย์ ฉันจะถามพนักงานว่าส่งแบบไหนถูกกว่าระหว่างส่งพัสดุธรรมดาหรือ “ยู-พัก-ขุ” ซึ่งอย่างหลังนี้จะมีใบแปะหน้ากล่องโดยเฉพาะซึ่งเป็นสีฟ้า (และสีชมพูเป็นแบบเก็บเงินค่าส่งที่ปลายทาง) เราสามารถระบุวันและช่วงเวลาที่ต้องการให้ส่งถึงที่หมาย รวมทั้งระบุว่าเป็นของแตกง่าย เป็นขวดแก้ว หรือเป็นอาหารสด และเลือกได้ว่าจะให้ไปรษณีย์ส่งใบมาแจ้งหรือไม่ว่าของส่งเรียบร้อยถึงที่หมายเรียบร้อยแล้ว
การส่งแบบยู-พัก-ขุนี้ เราสามารถขอให้ไปรษณีย์มารับของที่บ้านเราได้ แต่ถ้าเราไปส่งที่ไปรษณีย์ด้วยตัวเองเขาจะลดราคาให้เรา 120 เยน แถมถ้าหากภายใน 1 ปีเราส่งของไปที่อยู่เดียวซ้ำกัน เราสามารถเอาใบปะหน้าส่วนที่เขาให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐานในคราวก่อนไปยื่นให้เขาดู เขาจะลดราคาให้อีก 60 เยน ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม แต่ก็ทำให้เวลาจะส่งของจะนึกถึงบริการไปรษณีย์ก่อนเป็นอันดับแรก ๆ (ที่ญี่ปุ่นมีบริการส่งของเจ้าใหญ่ ๆ อยู่อีก 2-3 แห่งที่ไม่ด้อยกว่ากัน)
บริการส่งของทางไปรษณีย์หลายแบบรวมถึงยู-พัก-ขุที่ว่านี้ บุรุษไปรษณีย์จะมาส่งให้ถึงหน้าห้อง เพราะต้องมีการเซ็นรับด้วย ซึ่งเวลาเซ็นรับก็อาจจะใช้ตราประทับแท่งเล็ก ๆ ซึ่งโดยมากเป็นนามสกุลของเราปั๊มลงไปในช่องเซ็นรับ หรือจะใช้ปากกาเขียนชื่อเอาก็ได้
ถ้าหากเราไม่อยู่บ้าน บุรุษไปรษณีย์จะหย่อนกระดาษใบหนึ่งไว้ในตู้รับจดหมายของเราว่ามีไปรษณีย์มาส่งแต่เราไม่อยู่ ต้องการให้มาส่งใหม่วันไหน ช่วงเวลาไหน ให้โทรไปตามเบอร์ที่ระบุ โดยเบอร์นี้จะเป็นระบบอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อโทรไปแล้วเราก็กดปุ่มต่าง ๆ ตามที่ระบบบอกโดยดูใบแจ้งประกอบไปด้วย หรือถ้าไม่โทร ก็เข้าเว็บไปรษณีย์ญี่ปุ่นและระบุข้อมูลต่าง ๆ ให้เขามาส่งใหม่ก็ได้เช่นกัน (เดี๋ยวนี้บนเว็บไซต์มีภาษาอังกฤษระบุในส่วนนี้ให้ด้วย) สะดวกและเอื้อเฟื้อผู้ใช้บริการมาก ๆ เลย
บริการส่งของโดยบริษัทอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยต่างกันในจุดนี้ คือ ส่งพัสดุได้หลากชนิด รับ-ส่งถึงหน้าบ้าน เซ็นรับ และขอให้มาส่งใหม่ได้ บริษัทเหล่านี้ยังมีบริการส่งกระเป๋าเดินทางจากบ้านไปยังสนามบิน หรือจากสนามบินไปที่บ้านให้ด้วย โดยต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนกี่วัน ๆ ก็ว่าไป นับว่าสะดวกดีสำหรับคนที่มีสัมภาระหนักและเดินทางไปสนามบินด้วยรถไฟ
พูดถึงเรื่องการเซ็นรับของนี้ แม้เซ็นด้วยลายมือจะสะดวกกว่าใช้ตราประทับนามสกุล แต่ก็มีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน เมื่อก่อนแม่สามีเคยให้บริษัทหนึ่งส่งน้ำแอปเปิลกระป๋องซึ่งเป็นของดีประจำจังหวัดมาให้สองแพ็คใหญ่ ๆ แต่เรารอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นของมาเสียที คุณแม่ก็เลยสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับคำตอบว่าส่งไปถึงแล้ว แต่เราก็ยืนยันว่าไม่ได้รับ ตรวจสอบไปมาก็พบว่าบริษัทนั้นระบุเลขห้องผิด จึงไปส่งผิดห้อง และห้องนั้นก็ดันเซ็นรับอีกต่างหาก เมื่อบริษัทขนส่งตามไปตรวจสอบที่ห้องนั้นก็ปรากฏว่าย้ายออกไปแล้วเพราะมาอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นรายสัปดาห์ ก็นับว่าเป็นผู้อาศัยที่ไม่น่ารักมาก ๆ ที่เซ็นชื่อรับสมอ้างว่าเป็นของตัวเองแล้วเอาของไปเฉย ๆ สุดท้ายบริษัทนั้นก็เลยส่งของมาให้ใหม่อีกรอบ ถ้าหากทุกบ้านใช้ตราประทับกันหมดเป็นมาตรฐานก็คงยากที่จะมีปัญหาแบบนี้ แต่ก็คงเป็นไปได้ยากอีกเพราะเดี๋ยวนี้คนนิยมความสะดวกรวดเร็วกัน
กลับมาที่ไปรษณีย์กันต่อนะคะ บางคราวฉันเห็นไปรษณีย์ญี่ปุ่นออกแสตมป์ที่ระลึกเป็นการ์ตูนหรืออนิเมชั่นดัง ๆ ด้วย อย่างเช่น โดราเอมอน จิบิมารุโกะจัง วันพีซ นารุโตะ โทเค็นรัมบุ ดราก้อนบอล กุหลาบแวร์ซาย และผลงานของเท็ตสึกะ โอซามุอย่างเจ้าหนูอะตอมเป็นต้น จำได้ว่าหลายปีก่อนเพื่อนญี่ปุ่นเคยเซอร์ไพรส์ฉันด้วยการไปยืนต่อแถวซื้อแสตมป์ชุดโดราเอมอนมาให้ ซึ่งฉันยังเก็บไว้อย่างดีจนบัดนี้ บางทีไปรษณีย์ก็มีขายแสตมป์พร้อมกับแฟ้มพลาสติกของการ์ตูนหรืออนิเมชั่นเรื่องนั้น ๆ เป็นชุด ขนาดตัวเองไม่ได้เป็นแฟนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในที่กล่าวมา บางทีเห็นแล้วยังอยากจะสอยมาเลยค่ะ
นอกจากไปรษณีย์ญี่ปุ่นจะเป็นที่ให้บริการด้านไปรษณีย์แล้ว ยังเป็นทั้งธนาคาร และที่ขายประกันชีวิตด้วย แต่ละบริการก็จะมีเวลาปิดทำการไม่เหมือนกัน เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุให้ฉันต้องไปซื้อและส่งธนาณัติสกุลเงินต่างประเทศ เมื่อไปถึงไปรษณีย์ก็เป็นเวลาปิดทำการของฝ่ายการเงินพอดี พนักงานชายหน้าเคาน์เตอร์บอกว่าเพิ่งปิดให้บริการไปเมื่อ 2 นาทีก่อนนี้เอง คงต้องรอพรุ่งนี้แล้วละ ฉันกับสามีก็เลยจ๋อยกลับไป
เมื่อเรามาใหม่ในวันรุ่งขึ้น เชื่อไหมคะว่าพนักงานคนเดิมรอเราอยู่แล้วพร้อมกับรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งธนาณัติสกุลเงินต่างประเทศที่เขาพิมพ์ออกมาเอาไว้เรียบร้อย สามีฉันเหลือบไปเห็นว่าเอกสารนั้นลงวันที่พิมพ์เมื่อวาน แสดงว่าเขาพิมพ์เตรียมไว้ตั้งแต่เย็นวันที่เราไปหาเขาทีแรกแล้ว เราสองคนรู้สึกประทับใจความไม่ธรรมดาของพนักงานไปรษณีย์คนนี้มาก นอกจากจะพร้อมให้บริการแล้ว ยังศึกษาและเตรียมข้อมูลมาล่วงหน้าเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุด ใจแบบนี้น่านับถือจริง ๆ ค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเพิ่งทราบว่าการจะซื้อธนาณัติสกุลเงินต่างประเทศได้ต้องมีหลักฐานว่าเราอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นด้วย แต่เราทั้งคู่ย้ายไปอยู่สหรัฐฯ แล้วจึงไม่มีเอกสารเหล่านี้ พนักงานก็นิ่งคิดไปวินาทีหนึ่งก่อนจะบอกเราว่า “รอก่อนนะครับ ขอผมตรวจสอบดูว่าจะมีวิธีอื่น ๆ อะไรอีกบ้างไหมที่เราสามารถทำได้” แล้วเราก็เห็นเขาลุกไปคุยโทรศัพท์อยู่นานมาก รวมทั้งง่วนอยู่กับคอมพิวเตอร์อยู่พักใหญ่ ๆ แล้วกลับไปโทรศัพท์อีก เวียนไปเวียนมาอยางนี้ จนกระทั่งเขาหาทางให้เราสามารถซื้อธนาณัติ (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ได้ จึงเดินมาหาพร้อมยื่นเอกสารให้กรอก เขาบอกเราหลายหนว่า “ขอโทษจริง ๆ ครับที่ทำให้ต้องรอนานขนาดนี้” แม้เราจะรอถึงหนึ่งชั่วโมงแต่ก็เป็นการรอด้วยความขอบคุณที่เขาพยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นทั่ว ไปก็อาจจะเพียงทำหน้าเสียใจและบอกว่าขอโทษด้วยที่ทำให้ไม่ได้เพราะเอกสารคุณไม่พอ แล้วก็ให้ลูกค้าไปหาทางเอาเอกสารมาแล้วจะทำให้
พอเราชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาก็ขอโทษเราอีกครั้งที่ทำให้เราเสียเวลา จริง ๆ ไม่ใช่ความผิดเขาเลยสักนิดเดียว แต่ก็คงเป็นมารยาทและเจือด้วยความรู้สึกรับผิดชอบตามสไตล์คนญี่ปุ่นที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน (ในที่นี้คือการให้ลูกค้าคอย) เขาจึงพูดอย่างนี้ เราต่างขอบคุณเขาที่ช่วยเหลือและกลับไปพร้อมกับความประทับใจกองโต
ไปรษณีย์นี้จริง ๆ แล้วเป็นไปรษณีย์ในชนบทที่ประชากรเบาบางจนวัน ๆ แทบไม่เห็นคน ไม่คิดเลยว่าจะเจอพนักงานไฟแรงทำงานแบบเต็มกำลังความสามารถน่าทึ่งแบบนี้ เขาเหมาะกับคำว่า “go above and beyond” ซึ่งเป็นวลีที่อยู่ในสหรัฐฯ จะได้ยินบ่อย ๆ ในการสัมภาษณ์งานหรือเวลาประเมินงานให้บริการ หมายถึง “ทำมากกว่าที่ระบุไว้ในหน้าที่” (ในความหมายดีนะคะ) ฉันว่าเมื่อไหร่ที่ฉันได้ยินคำนี้ก็คงจะนึกถึงพนักงานไปรษณีย์ที่แสนดีคนนี้ไปเสียทุกครั้งแน่ ๆ เลย
นี่ก็เป็นเรื่องราวเพียงส่วนน้อยเกี่ยวกับไปรษณีย์ญี่ปุ่นที่รักของฉัน จริง ๆ แล้วไปรษณีย์ญี่ปุ่นยังมีบริการดี ๆ น่าประทับใจอีกมากมาย แต่เกรงว่าถ้าเล่าเยอะเดี๋ยวเพื่อนผู้อ่านที่รักจะหลับไปเสียก่อน จึงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.